ตามลม(๔๐) : อะไรทำให้ปลาตายนะ….แอมโมเนีย?????

อ่าน: 1560

เมื่อพูดถึงความเค็มที่น้ำมีก็เห็นความแตกต่างระหว่างคู 2 แห่ง เมื่อสังเกตต่อก็เห็นได้ว่า ฟอสเฟต แอมโมเนีย แดด ออกซิเจน และน้ำ เมื่อมาอยู่ด้วยกัน ความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันเป็นวงจรที่ไม่นิ่งเลย

ไหนจะมีเรื่องของระดับน้ำที่ลึก-ตื้น ไหนจะมีเรื่องของความเร็วของการไหล ไหนจะมีเรื่องของสิ่งกีดขวางในคู ไหนจะมีวิ่งมีชีวิตอื่นที่มาอยู่ร่วม ซ่อนตัวอยู่ทั้งมองด้วยตาเห็นและไม่เห็น

ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าวันนี้จะต้องวัดความเค็มของน้ำด้วย จึงไม่มีหน่วยงานไหนเตรียมเครื่องมือไว้ วันนี้จะหาคำตอบว่าน้ำเค็มเท่าไร จึงยังไม่มีคำตอบ  มีเครื่องมือวัดความเค็มแบบภูมิปัญญาไทยที่เรียกว่า “ลูกครั่ง” ไม่รู้ว่าวันนี้ยังมีให้ใช้หรือเปล่า ใครรู้ช่วยบอกหน่อยค่ะจะได้ไปหามาไว้ใช้เพราะดูแล้วใช้ง่ายๆดี

ยังห่วงกังวลกับน้ำที่ปลาอยู่ไม่ได้ จึงไปหาข้อมูลเรื่องเกลือกับปลาเพิ่มมา  ผู้คุ้นเคยกับปลาเขาบอกว่าเกลือใช้เป็นยารักษาปลา ที่ทำให้ปลาสดชื่น ลดความเครียดที่เกิดจากแอมโมเนียในน้ำให้ปลา เขาว่าพิษของแอมโมเนียลดลงเมื่อน้ำมีเกลือ แต่ถ้าเกลือทำให้น้ำมีความเค็มเกิน 20 ppt จะฆ่าปลาได้

เพิ่งรู้นะว่าเวลาปลามีแผล น้ำเกลือนี่แหละเป็นยาที่ใช้ดูแลไม่ให้แผลลุกลาม วิธีดูแลก็แค่แช่ปลาในน้ำที่เค็มราว 3-5 ppt ( 3 ขีด ต่อน้ำ 100 ลิตร) ทุกวัน แผลปลาจะไม่ลาม เขาบอกว่าผลการรักษาเท่าการใช้ยาหรือสารเคมี อืม ตรงนี้เหมือนการรักษาบาดแผลคนนะ

คนรู้นิสัยปลายังบอกด้วยว่า เดี๋ยวนี้ำเขาทำน้ำทะเลเทียมได้แล้ว แค่ใช้วัดความถ่วงจำเพาะของน้ำที่เติมเกลือลงไปตามสูตรก็รู้แล้วว่าเค็มเท่าน้ำทะเลจริงหรือยัง  ความถ่วงจำเพาะที่ต้องการอยู่ที่ 1.020-1.025

เห็นตัวเลขแล้วสะดุ้งวาบ สะกิดให้นึกขึ้นได้ ตัวเลขนี้เท่าความเค็มของฉี่คนที่พบในห้องตรวจบ่อยๆนี่นา ใช่แน่แล้วน้ำในบ่อนี้เค็มปี๋แน่นอน ก็ต้นน้ำมันมาจากของเสียที่คนไข้ที่ไตทำงานเสื่อมแล้วปล่อยลงมา อือฮือ มันจะเค็มขนาดดองเค็มเนื้อได้เลยมั๊ยนี่

หันไปมองสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวที่เจอมากมายอีกรอบ น้ำเค็มบวกสาหร่ายสีน้ำเงิน  นี่มันเป็นปรากฏการณ์แอลจีบลูมเนอะ วงจรน้ำเสียที่นี่กับแอลจีบลูม จะจัดการต่อยังไง ในเมื่อไม่รู้ก็ต้องหาต่อไปทำอย่างไรให้เกิดสมดุล

มีเรื่องที่ทำให้แปลกใจอยู่หน่อยหนึ่ง ที่ทำให้ยังไม่ปักใจเต็มร้อยเรื่องน้ำเค็มปี๋ ตรงใกล้บ่อมีเถาตำลึงขึ้นอยู่กอหนึ่งใบสวยเชียว  อย่างนี้ถ้าน้ำเค็มมากจริงๆ ตำลึงไม่น่างอกงามได้นา  เอาละก็แค่เก็บไว้เป็นข้อสังเกตหนึ่งละกัน

เถาตำลึงสะกิดมุมเกี่ยวกับแดดไว้ ไปดูซ้ำก็ได้เรื่องเพิ่มมาว่า บริเวณบ่อและโดยรอบเป็นมุมหลบแดดดีทีเดียว แดดจะส่องจัดจ้าทั้งวันอย่างไร แดดก็ไม่เคยมีโอกาสส่องลงในน้ำ

ส่วนน้ำในคูรับน้ำไปทิ้งมีส่วนหนึ่งโดนแดดส่องในบางเวลา และบางเวลาก็เป็นที่ร่ม ปรากฏการณ์แอลจีบลูมเกิดในคูมากกว่าในบ่อ

น้ำในคูส่วนที่ตื้นจะมีสาหร่ายสีเขียวเข้มจำนวนมากที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา  ส่วนที่ลึกกว่าน้ำจะสะท้อนสีสาหร่ายเป็นสีเขียวอมน้ำเงินเข้มจำนวนมากเช่นกัน ตรงไหนที่แดดส่องถึงได้ ตรงนั้นจะมีสาหร่ายสีเขียวเข้ม ตรงไหนที่ร่มก็จะเห็นสาหร่ายสีเขียวอมน้ำเงิน

ตรงไหนน้ำไหล และแดดส่องถึง ตรงนั้นสาหร่ายจะบาง ตรงไหนไม่อยู่ในแนวร่องน้ำ และอยู่ในร่ม สาหร่ายจะหนาตัว

คนเลี้ยงปลาสอนเรื่องเกลือลดพิษแอมโมเนียมาแล้ว  ฉี่คนมีแอมโมเนีย ความถ่วงจำเพาะเท่าน้ำทะเล  จะแปลว่าน้ำยังมีฤทธิ์แแอมโมเนียเหลืออยู่อีกก็ได้นะ ได้การแล้วว่าควรดูต่อเรื่องแสงไปด้วย หาความเค็มไปด้วย

นอกจากแอมโมเนียแล้วก็ยังมีไนไตรท์ที่เป็นพิษ วันนี้มีแต่เครื่องมือวัดไนเตรทในน้ำดื่ม ก็คงต้องไปหาเครื่องมือวัดไนไตรท์ในน้ำมาใช้เพิ่ม เพื่อจะได้รู้ให้แน่ไปเลยว่าตัวไหนทำเรื่อง

เพิ่งรู้เพิ่มมาว่าไนเตรทในน้ำทำเรื่องกับปลาได้ โดยภาวะที่น้ำมีคาร์บอนไดออกไซด์เยอะเมื่อไร จะเกิดกรดคาร์บอนิก และกรดนี้แหละที่ทำใำห้ pH น้ำลดลง และจะไปส่งผลให้เกิดกรดไนตริกเพิ่มมาอีกตัวในน้ำ  กรดไนตริกที่เข้มข้นขึ้นๆทำให้ pH ลดลงได้มากถึง 3-4 แต้มทีเดียว

ความร้อนเกี่ยวกับไนไตรท์ ไนเตรท ไนโตรเจนเปลี่ยนร่างแทนกัน อืม งานจุกจิกจริงๆ  เอาเป็นว่าดูแดด ดูตำแหน่งแสงไปก่อนละกันง่ายกว่าไปตามวัดอุณหภูมิเยอะเลย

ที่จริงก็ร้องเฮ้อ เฮ้อ เฮ้อ กับมุมที่ไม่ปลอดโปร่งและติดอยู่กับปัญหา แต่พอหวนกลับไปมองเรื่องปลวกที่ตามรอยไปเจอในห้องไตเทียม ก็เห็นเรื่องอินเทร็นท์ที่เกี่ยวข้อง วันนี้คนไข้ไตวายบางรายมีการล้างไตทางช่องท้องที่บ้านกันแล้ว ของเสียมีปล่อยทิ้งอยู่แน่ๆแล้ว

จะทำยังไงกับของเสียที่คนป่วยล้างทิ้งออกมาทางหน้าท้อง นอกจากเรื่องการฆ่าเชื้อโรค เรื่องที่ทำอยู่นี้น่าจะสามารถนำไปประยุกต์ได้ไม่มุมใดก็มุมหนึ่ง

« « Prev : ตามลม(๓๙) : เกลือในน้ำสำคัญยังไงกับปลา…รู้ไว้หน่อยก็ดีนะ

Next : ตามลม(๔๑) : รู้จักคลอรีนมากขึ้นอีกหน่อยก็ดีนะ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 3 สิงหาคม 2011 เวลา 3:19

    อ่านได้สองย่อหน้า ก็มาตอบก่อน เพราะว่าง่วง และ เหนื่อยมากแล้วในคืนนี้นะหมอเจ๊

    “ลูกครั่ง” พอนึกออก แต่ภูมิปัญญาอีสานคือ “ขี้สูด” ก็คล้ายๆกับลูกครั่งนั่นแหละ เอามาปั้นแล้วเอาไปลอยน้ำที่ชะดินเค็มออกมา เพื่อทำเกลือต้มเพื่อเกลือสินเธาว์ ถ้าน้ำเค็มน้อย ขี้สูด จะจม ก็แสดงว่าดินจืดแล้ว ให้เปลี่ยนดินใหม่

    นี่คือ salinometer ไทยโบราณ ที่ผมได้จัดแสดงไว้ที่ พิพิธภัณฑ์ไทยโบราณ แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย แต่ไม่มีไตผู้ได๋สนใจไปเบิ่ง ยกเว้นสร้างภาพกันครั้งคราว

    ทางฟิสิกส์พวกนี้มันเชื่อมกับ ถพ. และแรงลอยตัวน่ะครับ เด็กมัธยมไทยเรียนกันมาหมด จดจำเพื่อสอบเข้ามหาลัยกันได้แบบนกแก้ว แต่แล้วก็เอามาประยุกต์ใช้อะไรไม่ได้ สู่บรรพชนยังไม่ได้ 55

    ง่ายที่สุดผมเสนอคือ เอาช้อนตักซดเลยครับ แต่อย่ากลืนนะ พอลิ้นรับรส แล้วรีบถุย ไม่ตายหรอก ผมลองชิมน้ำเน่ามาหลายครั้งแล้ว ยังอยู่มาเป็นพยานได้ถึงวันนี้

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 3 สิงหาคม 2011 เวลา 7:43

    ที่ไม่ชิมก็เพราะว่าน้ำตรงนี้เป็นน้ำในสถานที่พิเศษอย่างรพ. มีอะไรอีกหลายอย่างที่ไม่รู้ว่าใครใส่อะไรลงในบ่ออีกบ้าง และเป็นความรู้ที่จะผ่องถ่ายไปให้คนอื่นได้ใช้งานด้วย งานตรงนี้จะมีคนดูแลต่อเนื่อง ไปให้เขาชิมน้ำทุกครั้งที่มาดูแล คงหาคนมาทำงานต่อให้ได้ยากค่ะ

    อาจารย์เล่าเรื่องขี้สูด ทำให้นึกถึงลูกลอย กำลังคิดว่าจะลองผลิตลูกลอยไปลองใช้ดูค่ะอาจารย์

  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 3 สิงหาคม 2011 เวลา 14:34

    ขี้สูด คู่กับ ขี้ซี ของอีสาน ชาวดงหลวงมีอาชีพพิเศษเก็บขี้สูดกับขี้ซีป่ามาขายให้พ่อค้าครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.047173976898193 sec
Sidebar: 0.14768505096436 sec