ตามลม(๓๐) : ไม่ได้มีแต่ 3 ก๊าซต้นตอของกลิ่น แค่นั้นหรอก…..ยังมีตัวอื่นอีก

อ่าน: 1593

ในเมื่อคนไข้ยังยืนยันเรื่องกลิ่นก็ยังต้องตามรอยต่อไป โดยทั่วไปกลิ่นที่รู้จักกันก็เป็นเรื่องของก๊าซ  จำได้ว่าตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยม มีชื่อ “ก๊าซไข่เน่า” เป็นตัวหนึ่งละ โตขึ้นมาอีกหน่อยก็เป็น “แอมโมเนีย” ที่ถูกสอนมาว่าให้กลิ่นที่ไม่ชวนดม

ทั้ง 2 ตัวนี้มีแหล่งปล่อยมาจากลำไส้และกระเพาะปัสสาวะของสัตว์ทุกชนิด น้ำในคูมีอุนจิออกมาปน จึงเป็นอะไรที่ยืนยันได้ว่า ในน้ำมีแอมโมเนียและก๊าซไข่เน่าปนอยู่แล้วระเหยขึ้นมา

ผู้รู้เรื่องน้ำเขาพูดกันว่า สารอินทรีย์ สารอนินทรีย์บางตัว และสาหร่ายบางตัวที่สร้างน้ำมันชนิดที่ระเหยได้เป็นต้นเหตุของกลิ่น ก๊าซไข่เน่า แอมโมเนีย เอมีน คือต้นตอของกลิ่น แล้วยังบอกด้วยว่า อุณหภูมิสูงอาจทำให้จุลินทรีย์เจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว รสของน้ำเกิดจากปริมาณของเกลือ สารประกอบของกรดและด่าง สารประกอบของเหล็กที่ปนอยู่

ค่าเคมีที่บอกความสามารถของกรดหรือด่างที่มีปฏิกิริยากับน้ำ (pH) และ ปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ (DO) ที่วัดอยู่ก็บอกว่า ความสามารถเหล่านี้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ

เมื่อดูภาวะความเป็นกรดของน้ำซึ่งเป็นผลมาจากการปนอยู่ของคาร์บอนไดออกไซด์ เกลือแร่ และกรดอินทรีย์ต่างๆ กับสภาวะความเป็นด่างของน้ำซึ่งเป็นผลมาจากการปนอยู่ของคาร์บอเนต ไบคาร์บอเนต ของธาตุต่าง ๆ  ค่าเคมีของน้ำในคูที่บอกความเป็นกลาง (pH 7 ) รวมถึงการเห็นปลาหางนกยูงอยู่รอดได้ด้วยดี ทำให้ไม่กังวลกับความกระด้างของน้ำในคูหลังตึกแห่งนี้ไปด้วย

เกลือไบคาร์บอเนต คาร์บอเนต คลอไรด์ หรือซัลเฟตของธาตุแคลเซียม แมกนีเซียมที่ปนในน้ำเป็นต้นเหตุให้น้ำกระด้าง ความกระด้างทำให้การใช้สบู่เพื่อการซักฟอกเปลือง และเมื่อน้ำมีอุณหภูมิสูง ก็ตกตะกอนง่าย น้ำในคูไหลออกไปน่าจะไม่สร้างปัญหาเหล่านี้แล้วละ

โดยทั่วไปเมื่อบำบัดน้ำแล้ว ผู้รู้จะยอมรับค่าเคมีของน้ำที่ ช่วง pH 6.5-8.5 ค่าของ pH จึงใช้บอกถึงสารเคมีที่ละลายปนได้ เช่น ถ้ามีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ละลายอยู่ อาจมี pH ต่ำกว่า 5 ถ้ามีคาร์บอเนตละลายอยู่ อาจมี pH สูงกว่า 9 เป็นต้น น้ำที่มีค่า pH ต่ำมาก จะมีฤทธิ์ในการกัดกร่อน อาจทำให้เกิดการกัดกร่อนท่อและอุปกรณ์ได้

ความเกี่ยวพันกับค่าทางเคมีของน้ำตรงบางจุดที่มีน้ำปนผงซักฟอก หรือมีของเหลวที่กัดกร่อนท่อส่งน้ำที่เป็นโลหะได้ที่ผ่านปนมาในคูจากตึกนี้ จึงยังมีเรื่องให้จัดการต่อไป

หยอดลูกบอลน้ำหมักลงไปแล้วน้ำใสขึ้น กลิ่นก็ดีขึ้นด้วย บางจุดที่น้ำใส มียุงบินว่อน บางจุดก็ไม่มี ข้อสังเกตนี้สะท้อนว่ายุงกับน้ำเสียมีอะไรเกี่ยวข้องกัน

กลับไปดูค่าของเคมีน้ำที่วัดได้  อ้าว ใช่เลย ตรงไหนยุงเยอะตรงนั้น ค่า DO ต่ำๆ แค่ 2 กว่าๆ ครูกู้ยืนยันว่าตรงไหนน้ำเสียมาก ยุงเยอะ น้ำเสียที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ละลายน้ำอยู่มาก จะมีออกซิเจนละลายน้ำอยู่น้อย และกลิ่นคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอะไรที่ยุงชอบเอาไว้ด้วย

เจออย่างนี้ก็ขอสรุปเป็นเคล็ดไว้ใช้ว่า “ใช้ยุงวัดน้ำเสียไว้ ตรงไหนที่มีน้ำใสปิ๊ง ถ้ายังเห็นยุงก็อย่าเพิ่งวางใจ  ต้องวัดน้ำและจัดการต่อ เพราะจมูกของคนไม่ไวเท่ายุง”

ครูกู้บอกเรื่องก๊าซว่า ตรงไหนมีน้ำเสียจะมีก๊าซไม่ต่ำกว่าหนึ่งตัวอยู่ร่วมกัน ก๊าซนั้นมีได้ทั้งมีเทน ไนโตรเจนออกไซด์ ก๊าซไข่เน่า แอมโมเนีย

การพบว่ามียุงเยอะในบางจุดของน้ำ ก็เป็นอะไรที่ชี้ว่า ยังมีก๊าซอะไรบางอย่างหลงเหลืออยู่ในน้ำตรงคูตึกนี้ และเจ้าก๊าซตัวนี้มันก็ฟุ้งขึ้นเมื่อน้ำในคูมีจำนวนมาก คนไข้จึงได้กลิ่นชัดขึ้นในยามที่ฝนตก

นอกจากความกระด้างของน้ำแล้ว ผู้รู้ได้เตือนให้สนใจแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น เหล็ก มังกานีส คลอไรด์ แคลเซียม แมกนีเซียม ฟลูออไรด์ รวมไปถึงสารเคมีที่เป็นพิษต่อสุขภาพ เช่น สารหนู แคดเมี่ยม โครเมียม ตะกั่ว ซึ่งเมื่อปนในน้ำ ว่าทำให้น้ำมีค่าทางเคมีเปลี่ยนแปลงด้วย

ตะกอนดำก้นคูมันฟุ้งด้วย  เมื่อน้ำมีจำนวนมาก ตะกอนนี้เป็นแหล่งปล่อยก๊าซไข่เน่า และแอมโมเนีย หรือมีแร่ธาตุ สารเคมีเป็นพิษอยู่ด้วยหรือเปล่า ก็เป็นโจทย์ที่ต้องตามรอยต่อไป

« « Prev : ตามลม (๒๙) : สีตะกอน สารอินทรีย์ สารอนินทรีย์

Next : ตามลม (๓๑) : เกลือแกง ปูนขาว ลดพิษไข่เน่าได้ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 กรกฏาคม 2011 เวลา 21:08

    หมอครับ …บางครั้งผมว่ามียุงดีกว่าไม่มียุงนะ การมียุงแสดงว่าน้ำไม่เป็นพิษ มีธาตุอาหาร ยุงจึงมาวางไข่ให้ลูกมันไม่ตาย และมีอาหารกิน (ลูกน้ำยุงกินอะไรเอ่ย)

    ส่วนน้ำที่ไม่มียุง และไม่มีกลิ่น อาจแสดงว่าเป็นพิษ ยุงยังไม่อยากเข้าใกล้เลย แต่คนตายใจ ก็สูดสารพิษที่ “ไม่มีกลิ่น” กันต่อไป เหอะๆ

    วันนี้ผมแพ้ของหอมมากๆ น้ำหอม ยาดับกลิ่นเต่า ทนไม่ได้จริงๆ จาม อาเจียร ไปเลย
    ส่วนผงชูรส ก็แพ้มากๆ คลื่นไส้ เสลดขึ้นคอ บางครั้งต้องจอดรถลงไปอาเจียรข้างทาง

    ตัวชี้วัด รพ.สีเขียว ประการหนึ่งคือ พนักงาน รพ. ไม่ใส่สารเคมีในตัวเอง และในอาหาร สีที่ทาผนังก็ให้เป็นสีน้ำ ถ้าไม่ทาปล่อยธรรมชาติเลยยิ่งดีนะผมว่า

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 กรกฏาคม 2011 เวลา 7:04

    คนไข้เจ็บป่วยมานอนพักรักษาตัวเพื่อพักผ่อนแล้ว การไม่ได้พักผ่อนเพราะยุงรบกวนอีก มันก็มีวงจรของความหงุดหงิดของคนหมุนวนอยู่ตลอด จากคนไข้ไปสู่ญาติ หรือเจ้าหน้าที่ จากญาติ หรือเจ้าหน้าที่ต่อๆมาตามลำดับ หงุดหงิดกันไป หงุดหงิดกันมา กิเลสเฟื่องฟูให้เกิดความขัดแย้งกันบานเบอะ แทนที่ไข้จะหายเร็ว ก็เกิดไข้ใจแทรกซ้อน อย่างนี้ไม่ดีแน่ค่ะ และนั่นคือเหตุผลที่ให้ความสำคัญกับยุง

    ไม่จัดการไล่ยุงไป จะมีการนำเอายาฆ่ายุงมาใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่หมอไม่อยากให้เกิดขึ้นค่ะ

    ยุงซึ่งเป็นสัตว์นำโรคได้ บินได้ไกลๆ ถ้าให้อยู่ใกล้คนเป็นโรค มันนำโรคไปแพร่ได้ ถึงแม้จะรู้จักยุงกันแล้ว ว่าชนิดไหน นำโรคอะไร ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปร

    ยุงที่เห็นเป็นยุงรำคาญ ซึ่งมีประวัติมาแล้ว ว่าในบางพื้นถิ่นนำโรคไข้สมองอักเสบได้ ยกตัวอย่างเรื่องยุงลาย ที่เคยเข้าใจว่ายุงลายบ้านเท่านั้นที่เก็บเชื้อไข้เลือดออกไว้กับตัวได้ วันนี้ก็ไม่ใช่แล้ว ยุงลายสวนก็นำโรคได้ เป็นต้น

    ธรรมชาติปรับตัวเมื่อไร คนรู้ไม่ทันค่ะ ที่คิดและทำอยู่ก็เพียงแค่ไล่ที่อยู่ ไม่ได้คิดฆ่ายุงค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.087406873703003 sec
Sidebar: 0.43764615058899 sec