น้ำท่วม (๒๒)

อ่าน: 1445

เมื่อเดินทางต่อเข้าไปในหมู่บ้าน ฝนก็ตกลงมาอย่างหนักแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว นึกไปถึงภาพบ้านชาวบ้านคนหนึ่งที่ไปเยี่ยม มีไผ่กอใหญ่อยู่ริมน้ำ ความแรงของน้ำที่ไหลในระยะที่ฝนกำลังตกอยู่อย่างนี้ไม่รู้จะเป็นยังไง

เดินทางเลยต่อไปอีกหน่อย ก็เห็นคนกลุ่มหนึ่งกำลังหลบฝนอยู่ใต้เต๊นฑ์  เต๊นฑ์นั้นกางอยู่ฝั่งตรงข้ามกับบ้านหลังหนึ่งที่กำลังสร้าง ฝนวันนี้ทำให้ชาวบ้านเสียโอกาสเรื่องเวลาไปอีกวัน  คนในเต๊นฑ์ที่เห็นเป็นอาสาสมัครที่มาช่วยกันสร้างบ้าน

บรรยากาศเป็นอย่างนี้ทุกๆวันในพื้นที่ อาสาสมัครที่ลงไปจึงไม่มีงานทำในบางวัน

ไปต่อที่ศูนย์อพยพ เห็นชาวบ้านคุยอยู่กับใครคนหนึ่งคุ้นๆหน้า อดีตเกษตรอำเภอเมืองนี่เอง เพิ่งรู้ว่าเขาย้ายมาเป็นเกษตรอำเภอที่นี่

พี่เขาเล่าว่าเข้ามาพัฒนาพื้นที่ให้ชาวบ้านอยู่สบายขึ้น เริ่มจากทำสวนครัว ขุดบ่อไว้ให้ใช้น้ำก่อน แต่น้ำสีชาเย็นจัดชาวบ้านไม่ยอมใช้กัน ก็เลยใช้มันรดต้นไม้

ได้คุยเรื่องการปลูกต้นไม้ คำตอบทำให้ดีใจ “……หมอมีกล้าไม้กี่ร้อยต้น เอามาเลย ผมปลูกให้ หรือจะชวนใครมาปลูกก็เอา ยินดี ได้กล้ามาแล้วบอกผมนะ…..”

ถามเรื่องที่ดินก็ได้คำบอกว่า ที่ตรงนี้เป็นที่ของกรมป่าไม้ ที่จะให้ยืมสร้างศูนย์อพยพชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงภัย

ศูนย์อพยพที่เห็นในวันนี้มีความเปลี่ยนแปลง ที่โล่งตรงกลางศูนย์มีศาลาหลังคาไม้เกิดขึ้นใหม่ ได้ยินว่าผวจ.มีคำสั่งมาให้สร้างขึ้นไว้ เพราะที่นี่มีเด็กเล็กอยู่อาศัยในหลายครัวเรือน เจตนาที่สร้างก็เพื่อให้เด็กๆได้ไว้เล่น ผู้ใหญ่ได้นั่งคลายเครียด สนทนากัน

ครัวใต้ถุนบ้านชาวบ้านเป็นอย่างนี้เอง ว่างจากกรีดยางในตอนเช้าก็มารวมตัวกันอยู่ที่นี่ ฝนตกทุกวันก็ลงมาอยู่ที่นี่กันไปพลาง

ใต้บ้านหลังหนึ่งมีชาวบ้านกลุ่มใหญ่ทำกิจกรรมบางอย่างกันอยู่ ในขณะที่อีกหลายหลังไม่เห็นใครเลย

ชายนั่งสนทนากัน หญิงรวมกลุ่มทำกับข้าวทั้งๆที่เป็นเวลาเกือบบ่ายสองแล้ว  การทำครัวของที่นี่ใช้แก๊ซถัง  แสงสว่างยามค่ำคืนเขามีไฟฟ้าให้ใช้   ไม่รู้สึกว่าชาวบ้านทุกข์เท่าไร ความกังวลที่เคยพบในครั้งแรกดูเหมือนเบาบางลง เขาบอกว่าทำอาหารไว้เลี้ยงแขกที่มาเยี่ยมเขา

ระบบจัดการของเสียถูกจัดการไว้แบบนี้แหละ น้ำดื่มใช้น้ำขวด น้ำอาบ ทำอาหารใช้น้ำในโอ่งอย่างที่เห็น

บ้านเหล่านี้มีไฟฟ้าใช้ฟรี สิทธิที่จะอาศัยอยู่กันที่นี่นานเพียง ๑ ปีเท่านั้น ครบปีแต่ละหลังก็จะถูกรื้อถอนไป

ที่ศาลามีคนกลุ่มหนึ่งกำลังคราดไถดินให้เรียบ มีเด็กและวัยรุ่นด้วย ทีแรกเข้าใจว่าเป็นชาวบ้านผู้ประสบภัย กลับเป็นจิตอาสาซะนี่  เธอให้ข้อมูลว่า  “ก่อนมาทำงานก่อสร้างกันอยู่ แล้วเถ้าแก่บอก เถ้าแก่บอกให้มาก็มากันเลย หยุดงานก่อสร้างมาช่วยกันที่นี่  นั่งรถบขส.มาเอง พาลูกมาด้วย มาจากระนอง อำเภอสุขสำราญ”

หมู่บ้านนี้มีเด็กๆหลายวัย จิตอาสาที่นี่มีทั้งผู้หญิงและเด็ก สว่างก็มาช่วยกัน มืดก็กลับไปพักผ่อนในศูนย์ช่วยเหลือฯจัดไว้ให้

เมื่อถามเขาต่อว่า ในคราวที่เกิดซึนามิ มีคนที่นี่ไปช่วยเขาหรือเขาจึงลงมาช่วย คำตอบทำให้ซึ้ง “ไม่เคยรู้จักกับคนที่นี่เลย ตอนที่เกิดซึนามินั้นลำบากเหมือนกัน เข้าใจนะ จึงมาช่วย”

คำพูดของใครคนหนึ่งโผล่ขึ้นมาในหัว “คนที่เคยผ่านประสบการณ์คล้ายๆกันมาแล้วเท่านั้นจึงจะเข้าใจกัน คนที่ไม่เคยผ่านไม่เข้าใจหรอก” ใจถึงใจมันเป็นอย่างนี้จริงๆด้วย ชาวบ้านสอนให้อีกครั้งแล้ว ขอบคุณนะคะ

๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔

« « Prev : น้ำท่วม (๒๑)

Next : น้ำท่วม (๒๓) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "น้ำท่วม (๒๒)"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.027771949768066 sec
Sidebar: 0.28529286384583 sec