น้ำท่วม(๑๓)

อ่าน: 1487

ก่อนจากบ้านชายหนุ่ม เราก็หาความเห็นร่วมเรื่องงบประมาณเบื้องต้นที่จะใช้สร้างบ้านใหม่ ความเห็นร่วมมาจากพ่อเขา ตัวเขา และความเห็นของน้องตุ๊กตาที่จะไปทำเรื่องส่งงบมา

สรุปได้หลักเบื้องต้นมาว่า งบขั้นต่ำที่จะทำบ้านใหม่จะใช้งบประมาณราว ๖ หมื่นบาท เป็นบ้านที่สร้างง่ายๆเพื่อจะได้ใช้อาศัยแทนศาลาริมทาง  ฐานบ้านที่จะทำนั้นให้คิดเผื่อ ความต้องการทำบ้านให้ดีกว่านี้ เมื่อมีงบมาเสริมจะได้ต่อยอดในขั้นตอนต่อไปได้เลย งบที่จะหามา ที่ให้แค่นี้เพราะมีเงื่อนไขการช่วยคือ “ไม่มีที่อยู่ก็สร้างที่อยู่ให้ตามความจำเป็น” หรือไม่ก็สมทบค่าซ่อมหากบ้านอยู่เดิมเสียหายไม่มีเงินซ่อม ค่ะ

ฝนที่เห็นตกแค่นี้ ก็สามารถพาน้ำมาแรงและเชี่ยวกรากมากกว่า น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเวลาเรือแล่นผ่าน ลงมาในคลองได้เน้อ

ตกลงกันได้แล้ว ก็พาตัวเดินทางต่อ ลึกเข้าไปอีก ที่ซึ่งเราจากมาเขาเรียกว่า ตำบลเขาดินค่ะ

คราวนี้ที่ๆเราไป เป็นตำบลหน้าเขา ที่เกิดเหตุที่ทำให้คนตายจำนวนมากที่สุด  ไปถึงก็พบชาวบ้าน ๒-๓ คนเดินกันอยู่ เขาเข้ามาบอกว่ายังมีศพที่หาไม่เจออยู่อีกศพ เป็นศพผู้หญิง

ตอนไปถึงสถานที่นั้น ฝนตกปรอยลงมาด้วย น้องมนนั่งตัวแข็ง เอ่ยปากบอกเราว่า “นั่งรอฝนกันก่อน” นั่งรอจนเห็นว่าฝนคงไม่ซาเม็ดเอาง่ายๆ ฉันจึงถามเขาขึ้นว่า ใช้เวลาเท่าไรจึงเดินกันไปถึงที่หมาย เมื่อเขาตอบมาว่า ใช้เวลาเพียงแค่ไม่ถึง ๕ นาที ฉันก็ตัดสินใจชวนกันเดินไป

เขาที่เห็นมีหมอกบัง นั่นแหละเขาพนมเบญจา ต้นตอของเหตุการณ์ค่ะ ที่นั่นคือจุดหมายปลายทางที่เรากำลังจะวิ่งรถเข้าไป

เมื่อเราตัดสินใจลงจากรถ ฝนที่ตกปรอยๆก็ค่อยๆซาเม็ด การเข้าไปดูสถานที่ มีเรื่องให้เปียกเพราะต้องเดินผ่านลำน้ำ และเดินบนไม้ที่วางบนหล่มโคลน สีน้ำที่เราเห็นยังเป็นสีโคลนอยู่เลยค่ะ น้ำที่ไหลอยู่ไม่มากและไม่เชี่ยวแรง  บริเวณนี้ไม่มีสัญญาณมือถือเลยค่ะ

ชมดูสถานที่แล้ว เราก็เดินทางต่อไปดูบ้านน๊อคดาวน์ที่สร้างขึ้นและมีคนอยู่กันแล้ว หมู่บ้านน็อคดาวน์นี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของโรงเรียนบ้านถ้ำโกบ บ้านควนเนียง ม.๗ ต.หน้าเขา  ไปแล้วไม่ใคร่เห็นคน เราจึงบอกน้องมนให้แค่เวียนรถดู

น้องมนวนรถย้อนกลับ แล้วมาจอดให้ลงที่ทางแยกต้นถนน ซึ่งกำลังมีทหารก่อสร้างบ้านเรือนอยู่ เขาให้ข้อมูลว่า บ้านที่เห็นตรงหน้าใช้งบจากช่อง ๓ และงบจากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) มาสร้างในที่ดินผืนเดียวกัน โดยได้ช่างฝีมือจากทหารมาสร้างให้

ระหว่างทางยังคงมีซากของความเสียหายปรากฎให้เห็น เจ้าของบ้านทางขวานั้น ได้รับงบสร้างบ้านใหม่แล้ว และก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ

ฟังมาว่าการสร้างบ้านมีข้อจำกัดอยู่ ๒ เรื่อง คือ รอวัสดุก่อสร้างที่บางช่วงขาดมือทำให้เดินงานต่อไม่ได้ กับเรื่องช่างก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่างอาสาที่เปลี่ยนผลัดกันเข้ามาช่วย ส่วนการช่วยเหลือจากทหารก็เป็นไปได้แค่ ๓ เดือน   บ้าน ๑ หลังมีทหาร ๑๐ คนเป็นแรงงานที่ช่วยสร้างบ้านให้ หลังจากครบ ๓ เดือนแล้วทหารก็ต้องถอยเข้ากรมกองเพราะงบหมด

ชาวบ้านกำลังกังวลกับความเป็นชุมชนที่กำลังเปลี่ยนไป ซ้ายเป็นบ้านในชุมชนเดิม บ้านที่เกิดใหม่จะสร้างที่สูงและเป็นอย่างภาพที่เห็น

เวลาเที่ยงใกล้เข้ามา ด้วยเหตุที่ถ้าหากเข้าไปต่อจะต้องแขวนท้องกัน น้องมนจึงตัดสินใจวนรถกลับมาที่ศูนย์ เพื่อหาข้าวกินกันในตลาดเขาพนม  ระหว่างย้อนรถกลับออกมาจากบ้านควนผึ้ง และควนเนียง  เราแวะที่บ้านอีกหลังหนึ่งที่ควนผึ้ง บ้านหลังนี้มีหญิงชราเป็นเจ้าของ เธอพักอยู่คนเดียว และตอนนี้ลูกสาวเธอมาอยู่ด้วย  ลูกสาวของเธอเป็นอีกครอบครัวที่ประสบความเดือดร้อนจากเหตุการณ์

เราได้เห็นการเตรียมการว่าลูกสาวเธอไม่เดือดร้อนอะไรแล้ว ขั้นตอนต่างๆของการช่วยเหลือถึงมือทุกอย่าง ลูกสาวเล่าว่าเธอเป็นอสม. ในพื้นที่และมีฝีมือพอจะทำสร้างบ้านด้วยตัวเองได้ด้วยอาชีพเดิมคือ รับจ้างก่อสร้าง คราวนี้ยังตกงาน เพราะเครื่องมือหากินไปกับน้ำหมด

อืม ก็เห็นประโยชน์ของการพัฒนาคนให้เป็นอสม.อีกมุมนะ เมื่อยามเดือดร้อน ทำให้มีสติในการจัดการ แล้วคุณความดีที่ทำไว้ก็ช่วยเกื้อหนุนให้เธอเดือดร้อน แบบไม่นานเกินรอ

ยายบอกว่า “หนูเอ๋ย ยายไม่ได้รับค่าช่วยเหลือเลย บ้านนี้ยายอยู่คนเดียว บ้ายยายก็น้ำเข้า หลังน้ำลดก็เป็นอย่างที่หนูเห็น”

ที่ดินที่จะสร้างบ้านใหม่อยู่หลังบ้านแม่เธอ ไกลจากบ้านเดิมราวๆครึ่งกิโลเมตร เธอพาแวะไปดูบ้านเดิมของเธอด้วย ที่นั้นเป็นสวนทุเรียน ไม้ผล และปาล์ม

ก็ได้ไปเห็นเงาะ ทุเรียนกำลังจะตาย ใบทุเรียนหล่นใต้ต้นจนเกลื่อนก่อนตาย เธอเล่าว่าสวนแห่งนี้พ่อของเธอสร้างขึ้น เธอไม่ได้สร้างเพิ่มหรอก  ที่ดินผืนนี้อยู่ตรงริมคลองเช่นกันค่ะ

๒ พื้นที่ที่ไปเห็น พิสูจน์บทเรียนที่เคยถอดจากในเขตเทศบาลไว้เป๊ะเลย รัศมี ๑ กม.จากริมคลอง เป็นพื้นที่ประสบความเสียหายจริงๆด้วย  ความยับเยินไม่แตกต่างกับในเมือง  ริมคลองที่เห็นนั้น ยิ่งพาย้ำให้คิดเรื่องการจัดการลำคลองเชิงป้องกันมากขึ้นอีก ในที่ของเธอนั้น ริมคลองมีแต่ต้นปาล์มเท่านั้น

เธอคนนี้โชคดีกว่าชายหนุ่มคนแรกที่ได้เจอ ภายใต้สถานการณ์อย่างนี้ เธอมีต้นทุนเป็นไม้ทุเรียนที่กำลังจะตายมาช่วยในการสร้างบ้านใหม่ ต้นไม้ที่พ่อปลูกและช่วยเลี้ยงดูเธอมาตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย ก่อนตายยังให้คุณมากมายมหาศาลให้กับเธออีก เห็นคุณต้นไม้ชัดเลยนะคะ

อสม. เธอบอกว่า “ที่ดินอยู่หลังบ้านแม่ ถ้าจะถมให้สูง เดี๋ยวน้ำก็ไหลเข้าบ้านแม่ หนูไม่ถมดีกว่า”

ระหว่างนั่งรถกลับก็มีคนหิ้วเลื่อยยนต์ผ่านหน้าไป ฉันจึงแซวว่า หิ้วกันจะจะอย่างนี้ ไม่โดนจับกันหรือ น้องมนตอบมาว่า เลื่อยยนต์ที่นี่เขามีเลขทะเบียน  แล้วเล่าว่า ในพื้นที่มีการรับจ้างเลื่อยไม้สร้างบ้าน ถ้าจำไม่ผิด ตารางนิ้วละ ๔ บาทด้วยค่ะ นี่คือเศรษฐกิจที่ช่วยประคองชาวบ้านไว้ได้

เมื่อวิ่งรถออกมาจนถึงบริเวณที่มีสัญญาณมือถือ เราก็ติดต่อบังวอญ่ากันทันที เพื่อนัดหมายจุดรับตัว เมื่อเจอตัวกันแล้ว ก็พากันเวียนหาร้านกินข้าว  แล้วก็แป่ว ร้านอาหารอิสลามในตลาดเก็บร้านกันหมดแล้ว  สุดท้ายก็ตัดสินใจแยกกันคนละทาง ให้ทีมงานของฉันซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมกลับกันก่อน  คนที่อยู่ต่อไปหาร้านอาหารกินที่นี่

มีต้นจากและปาล์มปลูกข้างทางเข้าบ้านอสม. จากยังงามแต่ปาล์มเฉาน้ำ ลิบๆข้างต้นปาล์มคือคลองที่ทำน้ำเอ่อล้นมาทำสวนเธอพัง

ก็ไปได้ร้านอาหารริมรั้วรพ.เขาพนม ได้กินข้าวแกงซึ่งเผ็ดจัด นั่งคุยแลกเปลี่ยนความเห็น และวางแผนเดินทางช่วงบ่าย เป้าหมายภาคบ่ายที่เรากำลังจะไปคือ บ้านคลองแห้ง ตำบลหน้าเขา

ระหว่างกิน ฝนก็ตกหนักลงมา   น้องมนนั่งกินข้าวไปพะวงไป ไม่รู้กันว่าเขาพะวงอะไร  ได้ยินแต่เสียงรำพึงว่า “ฝนตก ไม่รู้จะเข้าไปได้หรือเปล่า  และผมมีนัดประชุมทบทวนงานกับทีมงาน”  รอกันจนฝนหยุดตก จึงเดินทางกันต่อ การนั่งรอฝนได้ช่วยคลายเหนื่อยไปในตัว

๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔

« « Prev : น้ำท่วม(๑๒)

Next : น้ำท่วม(๑๔) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "น้ำท่วม(๑๓)"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.073035001754761 sec
Sidebar: 0.84387588500977 sec