พลาสติก (๘) : ทำลาย
เมื่อของที่ใช้หมดประโยชน์จากผู้ใช้ สิ่งที่เห็นเจนตาก็คือการปลดปล่อยมันออกไปจากการครอบครอง เวลานั่งรถไปตามถนนในเขตชุมชน ถ้าสังเกตจึงมักจะเห็นที่ตรงไหนเป็นที่ว่าง ไม่ใคร่มีคนใช้ ตรงนั้นจะมีขยะไปทิ้งเกลื่อน จากคนหนึ่งเริ่มทิ้ง ก็มีคนต่อไปมาร่วมทิ้งด้วย จนขยะขยายกองใหญ่ขึ้น ในกองเหล่านี้ก็ไม่พ้นที่จะมีพลาสติกหมดความหมายมากองร่วม
ที่ว่างที่พูดถึง ไม่ได้มีแต่บนดิน แต่ขยายสู่ท้องน้ำด้วย เมื่อปี ๒๕๑๘ มีงานวิจัยระบุว่า ถุงพลาสติกถูกทิ้งลงทะเลกว่า ๓ ล้านกิโลกรัม ผ่านมาวันนี้คงไม่แปลกที่จะพบถุงพลาสติกในทะเล เพิ่มจำนวนขึ้นอีกหลายล้านกิโลกรัม
ภาพนี้ไปที่ไหนๆที่เป็นชุมชนทั้งชั่วคราวและถาวรก็มักเห็นกัน
บ้านเราเมื่อปี ๒๕๔๕ มีขยะโฟมและพลาสติก ๒.๓ ล้านตันอยู่ในขยะ ๑๔.๓๑๗ ล้านตันที่ผลิตออกมาโดยคนไทย คนมาเที่ยวเมืองไทย และคนที่เข้ามาพักพิงเมืองไทย กลบฝังได้ ๑.๘ ล้านตัน
เมื่อคิดขยะเป็นปริมาตร พลาสติกและโฟมต้องการพื้นที่มาใช้ ๑ ใน ๕ ส่วนของปริมาตรหลุมเลยแหละ เมื่อคิดขยะเป็นปริมาณ พลาสติกและโฟมก็ครองพื้่นที่ถึง ๓ เท่าของขยะอื่นๆ
บ้านเราในวันนี้ ใช้ที่ดินเป็นหลุมขยะอยู่เป็นจำนวนกว่า ๑๕,๐๐๐ ไร่ ที่ดิน ๒๐๐ ไร่ ใช้จัดการกลบขยะได้แค่ ๑๐ ปี ข้อมูลนี้สอนเราว่า การฝังกลบขยะพลาสติกและโฟม เป็นกระบวนการบรรเทาปัญหาขยะล้นชั่วคราว
ขยะนี้ถูกรวบรวมขึ้นมาจากทะเล
วิธีสลายตัวของพลาสติกที่เกิดโดยน้ำและแสงได้ เป็นข้อชวนคิดเรื่องผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารทั้งบนดินและในน้ำ เมื่อมันแตกทำลายเป็นชิ้นเล็กลงๆจนได้ขนาดเป็นอาหารสัตว์ (ไมโครพลาสติก) เพราะสุดท้ายห่วงโซ่นี้ก็ไม่พ้นมาหยุดที่ตัวคน
เต่าในภาพที่ยกมาให้ดูเป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่คนตื่นรู้มาบอกข่าวไว้ ในต่างประเทศมีการให้ข่าว สัตว์กินถุงพลาสติกเข้าไป ทั้งนก เต่า ปลา ปู แล้วเสียชีวิต บ้านเราก็มีเหตุการณ์เสือโคร่งและฮิบโปในสวนสัตว์ตาย เพราะกินถุงพลาสติกมาแล้ว
เมื่อจัดการขยะด้วยการกลบฝัง มันจึงไม่พ้นที่จะต้องห่วงเรื่องห่วงโซ่อาหารให้มากๆๆๆ เนื่องจากเป็นการบริหารการใช้ที่ดินร่วมกันของปัจจัย ๔ (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค)
ไล้เดือนทะเลหรือแม่เพรียง ผู้ล่าที่เป็นตัวชี้วัดหนึ่งเรื่องสิ่งแวดล้อม
นอกจากดินแล้วก็ยังมีเรื่องน้ำ พลาสติกที่ทิ้งลงทะเลแล้วโดนน้ำทะเลย่อยสลายจนกลายเป็นไมโครพลาสติก ได้สะสมผลกระทบกับห่วงโซ่อาหารในทะเลไปแล้ว วันนี้ผลกระทบมากเท่าไรไม่มีใครให้ข้อมูลคืบหน้าไว้ ที่เขารู้ก็เพราะเขาตามรอยการตกตะกอนในทะเลของสารพิษชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสารเคมีก่อมะเร็งได้อีกตัวหนึ่ง เจ้าสารนี้มีชื่อว่า “ฟีแนนทรีน”
การตามรอยทำให้ไปพบว่า ไมโครพลาสติกที่เพิ่มขึ้นในทะเลเพียงจำนวนไม่ถึง ๑ ในตะกอนที่สะสมไม่กี่ล้านตัน เพิ่มการสะสมฟีแนนทรีนในตัวไส้เดือนทะเลสูงขึ้นถึง ๘๐%
ไส้เดือนทะเลเป็นสัตว์หน้าดินนอกจากทำหน้าที่เป็นผู้ล่าแล้ว ยังเป็นผู้ถูกล่าโดยสัตว์ทะเลอื่นๆด้วย สัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็ก ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ไส้เดือนทะเลกินสัตว์เล็กและปลาเล็กเป็นอาหาร
หอย ปู ปลิงทะเล จักจั่นทะเล หอยเม่น สาหร่าย เป็นสิ่งมีชีวิตหน้าดินในทะเลที่เป็นอาหารคน และอาหารสัตว์ทะเลที่ใหญ่กว่าที่เป็นอาหารคน เมื่อย้อนไปมองภาพข้างบนมันก็สอนให้คิดใหม่ ทำใหม่แล้ว ถ้าไม่อยากเป็นมะเร็งโดยไม่รู้ตัว ก็ให้เริ่มจากตัวเองก่อนนี่แหละเธอ…ช่วยจัดระบบการจัดการขยะพลาสติกของตัวเองซะใหม่ให้เหมาะกว่าเดิม
ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต
« « Prev : พลาสติก (๗) : เสื่อมสลาย
Next : พลาสติก (๙) : เอื๊อกๆๆๆ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "พลาสติก (๘) : ทำลาย"