น้ำท่วม (๘)

อ่าน: 1482

ในช่วงเวลา ๒ วันที่ผ่าน วอร์รูมของร.พ.เรายังคงดำเนินงานกันต่อ สิ่งที่ทำร่วมกันแบ่งได้เป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมาว่าได้ก้าวเดินผ่านมาได้อย่างไร ใครบ้างที่ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดอุปสรรค เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประมวลแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง ในระหว่างวันที่ ๑-๓ เมษายนซึ่งยังไม่ได้เล่าสู่กันฟัง เพื่อใช้เป็นบทเรียนในการรับมือต่อไปในวันนี้ ก็ได้รับรู้เรื่องราวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ ๑ เมษายนนั้น ร.พ.พังงาได้ให้ความช่วยเหลือแก่เรามากมาย ทั้งเรื่องรับ-ส่งผ้าใช้แล้วนำไปซักแล้วนำกลับมาส่งให้โดยทางเราไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากจัดการจำนวนบรรจุส่ง ให้เหมาะสมลงตัวกับช่องทางขนส่งเท่านั้นเอง  แม้แต่น้ำดื่มทางนั้นก็บริจาคมาให้เราจนเพียงพอใช้สอย

สำหรับภาคประชาชนนั้น เราก็ได้หน่วยกู้ภัยช่วยนำส่งคนบาดเจ็บมาให้ มีเหตุเกิดเพิ่มในอีก ๑ อำเภอ คือ อำเภออ่าวลึก ที่มีดินสไลด์ รวมความแล้วเส้นทางที่เกิดดินสไลด์ที่เคยพบว่าเกิดขึ้น ๒ เส้นทาง ณ วันนี้กลายเป็น ๑๒ เส้นทางเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ทำให้ต้องมีการอพยพผู้คนไปตั้งศูนย์อพยพ ทีแรกก็ตั้งอยู่ที่โรงเรียนและมัสยิดในตำบลคลองหิน แต่ต่อมาต้องเคลื่อนย้ายไปยังที่อื่น

การขนส่งทางอากาศในวันที่ ๑ เมษายน มีปัญหานำส่งผู้ป่วยไปภูเก็ตไม่ได้เพราะว่า ฮ.ชำรุด  ในช่วงนั้น ร.พ.ทำหน้าที่รับผู้ป่วยจากร.พ.พระแสงและชัยบุรีไว้รักษาด้วย เพราะทั้ง ๒ ร.พ. ไม่สามารถส่งต่อคนป่วยเข้าไปสู่จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้  คนป่วยที่ส่งมาเป็นเรื่องของการป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยคลอดฉุกเฉิน

การจราจรในพื้นที่ประสบเหตุยังคงหนาแน่นตลอดวัน

ต่อมาในวันที่ ๒ เมษายนก็มีเหตุการณ์ดินถล่มซ้ำ จนทำให้ทางสัญจรไปยังจังหวัดนครศรีธรรมราชขลุกขลัก เส้นทางเข้าสู่สุราษฎร์ธานีถูกตัดขาด  เส้นทางสัญจรไปยังหาดใหญ่ยังใช้การได้ดีตลอดสาย ความขลุกขลักของการส่งต่อผู้ป่วยที่เรารักษาไม่ได้จึงไม่เกิดปัญหา

ทีมแพทย์จากส่วนกลางที่ลงมาช่วยเหลือในพื้นที่เขาพนม ได้ส่งต่อคนป่วยมาให้เรารักษาด้วย ครั้งนี้ดีกว่าตอนที่เราพบกับสึนามิตรงที่ การติดต่อสื่อสารระหว่างวิชาชีพ อย่างเช่น แพทย์กับแพทย์ พยาบาลกับพยาบาลคล่องตัว การประสานงานที่คล่องตัวตลอด ๒๔ ชั่วโมงของเราคราวนี้ทำให้ทุกอย่างที่ต้องทำราบรื่นและเป็นไปด้วยดี

ในช่วงของวันที่ ๓ เมษายน ซึ่งพบศพผู้เสียชีวิตแล้ว ๙ รายนั้น ก็มีหน่วยกู้ภัยจาก ๒ อำเภอ คือ อำเภอคลองท่อมและเกาะลันตาเข้าไปช่วยเติมเครื่องอุปโภคบริโภค ให้กับคนที่ยังรอดชีวิตในพื้นที่เขาพนม

ในวันที่ ๓ นั้นร.พ.เขาพนมมีผู้ป่วยผ่านเข้ามาให้ดูแล ๑๒๔ รายแล้ว นอกจากผู้เสียชีวิตก่อนถึงร.พ. ๙ ราย ก็ยังมีสูญหายเหลืออยู่ เท่าที่ทราบกันก็มี ๓ รายในพื้นที่เขาพนมและ ๑ รายในพื้นที่อำเภอเมือง และเช้าวันนี้ก็ได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาว่าพบผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น ๑๐ รายแล้ว

ผู้เจ็บป่วยจากพื้นที่เขาพนมที่ร.พ.เขาพนมและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ส่งต่อมา และรับไว้รักษาที่เรารวมแล้วแบ่งได้เป็น ๔ กลุ่ม กลุ่มที่บาดเจ็บตรงๆจากเหตุการณ์ดินถล่ม มี ๓ ราย การบาดเจ็บเป็นเรื่องของกระดูกหักและศีรษะได้รับความกระทบกระเทือน กลุ่มที่เจ็บป่วยเอง ๒ ราย กลุ่มที่เกิดอุบัติเหตุเอง เช่น ลื่นล้มระหว่างเกิดเหตุการณ์ ๑ ราย และกลุ่มที่ไปช่วยคนอื่นแล้วบาดเจ็บหรือป่วย มี ๒ ราย รายหนึ่งใน ๒ รายนี้อายุ ๗๘ ปีแล้ว บาดเจ็บกระดูกแขนหักเพราะเสียหลัก หล่นลงจากกระบะรถระหว่างจะขึ้นรถเพื่อไปช่วยคนอื่น รวมทั้งหมดแล้วมีคนป่วยส่งมาที่เรา ๘ คน

ในวันนี้เองเราก็ได้รับรู้ข้อมูลจากวอร์รูมจังหวัด ที่ทำให้เห็นภาพความเสียหายชัดเจนขึ้น ผู้คนที่ได้รับผลกระทบที่ได้ข้อมูลบ้างแล้วในเบื้องต้นมีถึงกว่า ๔ หมื่นครัวเรือน เชียวแหละ  บ้านเรือนเสียหายต้องซ่อมแซมกว่า ๑ หมื่นหลัง ต้องสร้างใหม่อย่างน้อย ๑๐๐ หลัง

ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เราตื่นตัวขึ้นมาอีกครั้ง ในช่วงหลังสึนามิ มีผู้คนกว่าร้อยคนเข้ามาที่เราเพื่อขอใบรับรองว่า เขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งจนบัดนี้บทเรียนคงเหลือไว้ให้เรียนรู้ ในบทการบริหารความขัดแย้งที่มีราคาแพงบทหนึ่งของเราก็ยังไม่จบลงเลย ถ้าใช้บทเรียนจากสึนามิ งานของเรายังไม่เสร็จลงหรอก งานอีกระลอกที่ต้องเตรียมรับมือก็เป็นเรื่อง การเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งข้อมูลเชิงประจักษ์ สำหรับพิสูจน์บุคคลเพื่อขอรับผลประโยชน์ในฐานะราษฎร์ไทย เมื่อรัฐบาลเริ่มบทบาทการเยียวยาในรูปแบบต่างๆเหมือนสึนามินั่นแหละ

วันนี้เราคุยกันว่าถึงรอบของการลงมือกลั่นกรอง และให้ความช่วยเหลือด้านสภาพจิตแล้ว ในช่วงของสึนามิเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับโรคเครียดที่เกิดขึ้นหลังประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญของผู้คน ในครั้งนี้ก็ไม่ผิดเพี้ยนเลย ในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องดีตรงที่ทางฝ่ายปกครองใส่ใจกับเรื่องนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอทราบจำนวน และการจัดการจากทีมงานสาธารณสุขทุกวัน

เราได้ทบทวนบทบาทหน้าที่ในด้านการข่าวกันอีกครั้ง เราทำหน้าที่กันแค่เป็นแหล่งข่าว ส่งข่าวเพื่อรายงานสถานการณ์ให้หน่วยเหนือ ได้รับทราบสถานการณ์เท่านั้น ส่วนการข่าวที่เผยแพร่สู่สาธารณะ มีศูนย์ข่าวอยู่ที่ฝ่ายป้องกันภัยจังหวัดที่เดียวเท่านั้น

เจอบ่อน้ำเมื่อไรนอกจากเติมคลอรีนแล้ว ยังต้องประเมินว่าควรล้างบ่อหรือเปล่า สารส้มนำมาใส่เพื่อให้น้ำใสขึ้นใช้สอยได้

วันนี้เราได้ทราบข่าวดีว่า กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีมงานลงไปช่วยในพื้นที่เขาพนมแล้ว ทำให้เราเบาใจลงด้วยทีมงานส่วนใหญ่ของเรา ดูแลในขอบเขตอำเภอของเราเองก็เป็นภาระหนักแล้ว แต่ทีมงานจิตเวชของเราก็สู้ๆ

ที่ดีใจและเป็นกำลังใจให้จิตแพทย์เพียงหนึ่งเดียวของเราอย่างมาก ก็เห็นจะเป็นเรื่องราวของวันนี้ ที่อธิบดีกรมสุขภาพจิตเมตตามาช่วยเรา เยี่ยมตรวจผู้ป่วยจากพื้นที่เกิดเหตุที่เรารับไว้ดูแลในร.พ.ด้วย

นอกจากจะห่วงเรื่องของโรคเครียดเฉียบพลัน ที่กำลังเริ่มแสดงฤทธิ์เดชแล้ว ที่ยังห่วงก็เป็นเรื่องของการเกิดเหตุการณ์ซ้ำในพื้นที่ใหม่ เมื่อคืนวันที่ ๓ เมษายน ราว ๒ ทุ่ม เกิดเหตุหินถล่มในสวนปาล์มที่พื้นที่่บ้านช่องพลี ตำบลอ่าวนาง โชคดีพื้นที่ส่วนนั้นอยู่ไกลจากหมู่บ้านมาก แต่อย่างไรก็ตามชาวบ้านก็เตรียมอพยพอยู่ดี เพราะในช่วงดึกต่อมาในคืนเดียวกันตรงจุดที่หินถล่มนั้น เกิดรอยแยกที่กว้างขึ้น

เมื่อวานนี้ ลูกน้องฉันออกไปสำรวจพื้นที่ซ้ำ เพื่อใช้ข้อมูลเตรียมการต่อเรื่องการควบคุมสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันโรคติดต่อ เธอกลับมารายงานว่า พบเป็ดตายในพื้นที่ด้วย และได้จัดการโรยปูนขาวเพื่อกันการวางไข่ของแมลงไปแล้ว มีบ่อน้ำ ๒ บ่อที่ไม่รู้หรอกว่าชาวบ้านจะใช้สอยหรือเปล่า แต่เพื่อกันเหนียว ก็ได้เติมคลอรีนฆ่าเชื้อโรคไว้แล้ว สัดส่วนที่เติมไปใช้คลอรีนเหลว ๑ ช้อนชาต่อบ่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๘๐ ซม. ลึก ๔ ท่อบ่อ ปล่อยน้ำทิ้งไว้แล้วจะตามไปเก็บน้ำตรวจคุณภาพอีกที

ในทีมที่ออกไปพื้นที่พยาบาลเวชปฏิบัติออกไปค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม ไปครั้งที่ ๒ นี้ก็พบผู้ป่วยขาดยาหรืออุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น ต้องใช้ดูแลสุขภาพตัวเองเพิ่มขึ้น ๓ คน พบผู้ป่วยเป็นน้ำกัดเท้าเพิ่มขึ้นกว่า ๑๐ ราย นอกนั้นก็เป็นไข้หวัด

ในเรื่องของการดูแลคนป่วยนี้ ทีมงานของฉันลงไปทำหน้าที่เติมเต็มให้ชาวบ้าน ทีมงานสาธารณสุขของเทศบาลยังคงทำหน้าที่ของเขาต่อไปในเรื่องของ การสนับสนุนยาสามัญประจำบ้านที่ชาวบ้านจำเป็นต้องใช้  โดยร.พ.ของเราสนับสนุนชุดยาทั้งหมดที่ประสานงานขอมา นับเนื่องมาจนถึงวันนี้ ยาสามัญประจำบ้านได้รับการส่งต่อไปสู่ทีมงานของเทศบาลแล้ว ๘๐๐ ชุด

อัพเดทข้อมูลกันวันนี้แล้ว เราพบว่าศูนย์อพยพในเขตเทศบาลที่เดิมมีถึง ๖ ศูนย์ยุบตัวเหลืออยู่เพียงศูนย์เดียวแล้ว และนอกเขตเทศบาลทุกศูนย์จะใช้งานเฉพาะกรณีอพยพเท่านั้น ศูนย์อพยพนอกเขตเทศบาลมีจำนวนบันทึกไว้ว่ามีผู้เข้ามาสู่ศูนย์กว่า ๔๐๐ คน (เขาคราม ทับปริก ห้วยโต้ ในสระ)

ขยะพวกนี้กองอยู่ริมทางเป็นระยะๆเป็นสิ่งล่อหนูและแมลงสาบ เป็นแหล่งแพร่โรคฉี่หนู ไข้รากสาดใหญ่แบบไม่รู้ตัวได้เลย

วันนี้น้องหมอรองแพทย์แจ้งว่า ทีมงานสาธารณสุขอำเภอขอให้เตรียมสารส้มไว้ให้ ๑๐ กระสอบ แต่ยังไม่ได้ให้ข้อมูลจำนวนบ่อน้ำทั้งหมดที่จำเป็นต้องไปเติมสารส้ม เพื่อให้ใช้น้ำได้ เท่าที่รู้ ณ เวลานี้มีแค่ ๓๗ บ่อที่ตำบลทับปริก

ฉันจึงตัดสินใจว่าขอรอข้อมูลจำนวนบ่อน้ำให้ชัดเจนก่อน แล้วจึงดำเนินการจัดหาและสนับสนุนให้ เพื่อลดงานในการจัดการคลังวัสดุในส่วนงานที่ฉันเกี่ยวข้อง

ที่ตัดสินใจอย่างนี้มีเหตุผลอยู่เพียงแค่ ๒ ข้อ คือ ฉันมีนักวิชาการสำหรับทำงานจัดการเรื่องนี้อยู่เพียง ๑ เดียวเท่านั้น ถ้าเธอต้องพะว้าพะวังห่วงหน้าห่วงหลังจะไม่เป็นผลดีกับผลงาน เหตุผลอีกข้อก็คือ การจัดหาใช้เวลาไม่ถึงวันก็ได้ของ ได้ของมาแล้วระบายออกเลยจะทำให้เหลือเวลาทำงานได้มากขึ้น คิดแค่นี้แหละ

นอกจากสนับสนุนยาสามัญประจำบ้านให้กับเทศบาลแล้ว เรายังทำหน้าที่สนับสนุนเวชภัณฑ์ให้กับร.พ.เขาพนมด้วย แถมด้วยในบางครั้ง เจ้านายตามไปช่วยกลั่นกรองคนไข้ เพื่อขอรับตัวมาให้รักษาที่ร.พ.เราแทนก็มีนะ

ดูๆไปแล้วไม่น่าต้องห่วงเรื่องของโรคระบาด แต่เมื่อเห็นขยะแล้วฉันก็ไม่สบายใจ การจัดเก็บของเทศบาลแม้จะมีประสิทธิภาพ ภายใต้บริบทของงานช่วยเหลือที่มีมากมายในมือ ก็ยังมีขยะค้าง ขยะเศษอาหารไม่้ค้าง ที่ค้างก็เป็นจำพวกเศษไม้จากบ้านพัง ตู้พัง ที่นอน หมอน ผ้าเปียกเลอะเทอะ เหล่านี้ถูกจัดเก็บมารอการขนกำจัด  ที่ไม่สบายใจก็เป็นเรื่องของ “หนู”  เห็นแล้วนึกไม่ออกจะจัดการยังไงให้คนปลอดภัยจากโรคฉี่หนู

น้ำลดไม่มีตอผุดหรอก แต่โคลนหนาเป็นศอก แรงคนตักไม่ไหว ต้องรอรถตักอย่างเดียวแหละ จะไม่ทำให้เครียดยาวได้อย่างไร

ในที่สุดก็จำเป็นต้องยอมรับด้วยกันว่า ไม่มีทางอื่นให้เลือกนอกจากตั้งรับ ด้วยการจัดระบบกลั่นกรองคนป่วยที่สงสัยให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็ว และเติมภูมิคุ้มกันด้วยการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการดูแลกลั่นกรองอาการป่วยด้วยตัวเอง และมารับการรักษาให้เร็ว ช่องทางสื่อสารในยามนี้ เราคิดว่าจะใช้หอกระจายข่าวในชุมชนและรถข่าว “ร่วมด้วยช่วยกัน” ของเอกชนที่มีจิตอาสารายหนึ่งในพื้นที่

หลังจาก ทบทวนร่วมกันแล้วว่าวันนี้สิ่งที่ควรทำต่อไป ครบถ้วนทุกมุมแล้ว เราก็แยกย้ายกันไปทำงาน วันนี้เจ้านายตามตัวเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบมาให้ข้อมูลความช่วยเหลือที่ได้รับรู้จากจังหวัดด้วย

เลิกงานแล้วก่อนกลับบ้าน ฉันก็แวะไปเยี่ยมเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบ ๒ หลัง ก็พบว่า พวกเขาสามารถย้ายตัวเองกลับเข้าไปอาศัยในบ้านแล้ว แต่ติดขัดเรื่องความสะดวกในการเข้าบ้าน ตรงที่รอบบ้านยังมีดินโคลนเต็มไปหมด ถึงแม้ผิวดินจะแห้งแต่ย่ำลงไปก็ยังติดหล่มอยู่  แล้วยังต้องอาศัยข้าวบ้านคนอื่นประทังชีวิตเพราะไม่กล้าใช้ไฟฟ้า เนื่องจากบ้านแช่น้ำทั้งหลังในวันเกิดเหตุ เรื่องของเจ้าหน้าที่ก็นับว่าผ่านไปได้อีกเปลาะ

ในระหว่างที่ไปเยี่ยมพวกเขา ทีมงานเทศบาลกำลังปิดถนนเพื่อตักโคลนล้างโคลนกันขนานใหญ่  ทั้งๆที่ใกล้เวลาพลบค่ำแล้ว เหน็ดเหนื่อยกันน่าดูเลย

๕ เมษายน ๒๕๕๔

« « Prev : น้ำท่วม (๗)

Next : น้ำท่วม(๙) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "น้ำท่วม (๘)"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.029062986373901 sec
Sidebar: 0.11306405067444 sec