ตามลม(๑๔) : จะลดความชื้นที่มีอยู่แล้ว…ยังไงดีนะ

อ่าน: 1355

โครงสร้างและวัสดุต่างๆของตึกที่ไปดูมาอีกรอบบอกความแก่ของมัน ถ้าจำไม่ผิดอายุของมันเลยวัยเบญจเพศแล้ว  นี่ถ้ามีงบประมาณพอ ผู้ใหญ่ของโรงพยาบาลก็คงรื้อสร้างใหม่แทนที่จะบูรณะพื้นที่มั๊ง

ความเก่าของอาคารนอกจากทำให้นึกถึงความเป็นไปได้ของการเก็บความชื้นไว้แล้ว ยังทำให้สงสัยเกี่ยวกับการบูรณะด้วยวัสดุใหม่ว่าจะเป็นตัวเพิ่มความชื้นได้ด้วยไหม ก็เลยไปค้นหาความรู้ในเน็ต ความรู้ที่คัดมานี้ได้มาจากฝรั่งนั่นแหละ

“ความชื้นจากโครงสร้างและวัสดุต่างๆของอาคารจะส่งความชื้นให้ในช่วงปีแรกๆที่อาคารยังใหม่”

“กรอบไม้โดยปกติแล้วมักจะสูญเสียน้ำหนักของมันไปประมาณ ๑๐% จากความชื้นที่มีในตัว”

“คอนกรีตผสมจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่ ประมาณ ๒๐๐ กิโลกรัมต่อตารางเมตร (๔๔๐ ปอนด์) ปริมาณนี้ครึ่งหนึ่งจะกลายเป็นไอน้ำในภายหลัง”

“โดยปกติทั่วไปชั้นใต้ถุนคอนกรีตขนาด ๒๐-๓๐ ตารางเมตร (๗๐๐-๑,๐๕๐ ตารางฟุต จะปล่อยน้ำออกมาหลายพันลิตรในช่วงปีแรกและปีที่ ๒”

“ทำนองเดียวกันพื้นที่คอนกรีตเสริมเหล็กหนาขนาด ๒๐๐ มิลลิเมตร (๘ นิ้ว)ในสำนักงานทั่วไปจะสามารถปลดปล่อยน้ำได้ถึง ๒๐ ลิตรต่อตารางเมตรในช่วง ๒ ปีแรก”

“แท่งคอนกรีต (ซึ่งน้ำจะถูกกักไว้ที่แกนกลางในการก่อสร้าง), ส่วนประกอบของผนัง, สีทาอาคาร, รอยต่อบริเวณพื้น ทั้งหมดล้วนแต่เป็นที่มาของความชื้นในอาคารทั้งสิ้น”

เออนะ สรุปแล้วมีแหล่งความชื้นที่ไม่เคยรู้จักแฝงอยู่หลายจุดเหมือนกันในอาคารหนึ่งๆ รู้แล้วก็คงไปสังเกตต่อเพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจทางเลือกแก้ปัญหาความชื้นที่ตึกนี้แหละนะ

ที่ยังไม่รู้ก็เป็นเรื่องการเคลื่อนที่ของความชื้น (Transport Processes) ซึ่งมีกลไกต่างๆกันในแต่ละสถานะ การพาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือ การไหลโดยแรงดึงดูดของโลก (Liquid Gravity Flow) ประสิทธิภาพต่ำสุดคือ การแพร่ (Vapor Diffusion)  กลางๆ คือ การพา (Vapor Convection) และการไหลแบบคาปิลารี่ (Liquid Water Capillarity) ในพื้นที่แห่งนี้เป็นอย่างไร

มีข้อสังเกตเรื่องของการแพร่ รั่ว ซึม ว่าเหล็ก, กระจก หรือพลาสติกบางชนิดกั้นการเคลื่อนตัวของไอน้ำ  ผนังชื้นเพราะไอน้ำแพร่ผ่าน  ไอน้ำแพร่ผ่านแล้วมีผลกระทบต่อหลังคาและผนังโดยการดูดซึม น้ำฝนที่ถูกดูดซึมลงมาที่วัสดุต่างๆและถูกทำให้แห้งด้วยความร้อนจากแสงอาทิตย์ในเวลาต่อมา ก่อความดันไอที่สูงมากและก่อให้ความชื้นจำนวนมากที่เป็นอันตรายเข้ามาภายในตัวอาคารได้ ความเสียหายนี้จะมากขึ้นถ้ามีการใช้วัสดุป้องกันไอน้ำที่มีประสิทธิภาพต่ำ

หลังคาตึกหลังนี้เก็บน้ำฝนไว้ได้อย่างที่เล่าให้ฟังแล้ว อย่างนี้ก็มีสิทธิแพร่ไอน้ำผ่านเข้ามาในอาคารซินะ แต่ชั้นที่กำลังไปเรียนรู้กับมันอยู่นี้อยู่ชั้นล่างนี่นา มันจะก่อผลได้เชียวรึ

ไอน้ำจะเคลื่อนที่ยาวไปตามท่อและกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ อากาศไหลเล็กน้อยก็สามารถทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของความชื้นเป็นจำนวนมากกว่าที่การแพร่จะทำได้  การพาไอน้ำผ่านช่องเปิดสามารถทำให้เกิดการควบแน่นได้แล้วให้ความชื้นภายในอาคารหลังจากเกิดฝนตกได้

ไม่สงสัยแล้วละ ว่าฝนตกมีผลกับจุดที่คนไข้นอนอยู่เรื่องความชื้นเพิ่มอย่างไร แต่บริบทของตึกแห่งนี้เกี่ยวกับน้ำฝนก็เป็นเรื่องต้องไปดูต่อให้เข้าใจอีกนั่นแหละ

เขาว่าการป้องกันไอน้ำจะต้องควบคุมและกำจัดการพาไอน้ำ ป้องกันการรั่วในช่องลมทั้งหมด และควบคุมความดันในบริเวณต่างๆ ภายในอาคาร เพื่อทำให้อากาศและไอน้ำไม่สามารถเคลื่อนที่ผ่านจุดที่ไม่ต้องการ และถ้ามีพัดลมดูดและส่งอากาศก็ต้องควบคุมการทำงานของมันด้วย

อย่างนี้ก็ยังต้องไปตามดูความชื้นตรงจุดที่ญาติคนไข้เดินสัญจรไปมานอกตึก ตรงประตูที่ใกล้กับจุดที่คนไข้วัณโรคนอนพักรักษาตัวอยู่ด้วยซินะ ก็จุดนี้เวลาฝนตกรับไอฝนเต็มๆ ถ้าได้รู้ว่ามีเรื่องราวเกิดขึ้นขนานกันไปอย่างไรก็ช่วยให้เข้าใจพื้นที่มากขึ้นอีกเนอะ

ชัดขึ้นแล้วว่าการเคลื่อนที่ของความชื้นทั้งหลายที่ผ่านตึกแห่งนี้ไม่ได้มีแบบเดียวแต่ผสมหลายแบบ  ที่ไม่ชัดคือเป็นแบบต่อเนื่องและเกิดขนานกันไปอย่างไรระหว่างน้ำจากใต้ตึกระเหยและเคลื่อนที่โดยความดันอากาศทำหน้าที่พาไอน้ำเข้าสู่พื้นที่ภายในอาคาร การควบแน่นของไอน้ำตรงจุดต่างๆ ตรงจุดที่เห็นตะไคร่น้ำเป็นจุดสะสมของไอน้ำจนกระทั่งหยดลงสู่ผนังใช่หรือเปล่า ฝนทำให้เกิดการสะสมที่เพดานตึกจนซึมลงมาด้านล่างแล้วทำให้เกิดการเจริญเติบโตของเชื้อราอย่างที่เห็นตรงนี้หรือเปล่า

ได้ความคิดขึ้นบ้างว่าแม้จะไม่เข้าใจกระบวนการเคลื่อนที่ของความชื้นทั้งหมด ก็ต้องเตรียมระบบการลดความชื้น (Dehumidify System) หรือระบบระบายอากาศ (Ventilation) ในฤดูฝนไว้เป็นพิเศษสำหรับจุดที่คนไข้ติดเชื้อทางเดินหายใจนอนรักษาตัว แล้วดูแลทิศลมของเส้นทางสัญจรไปมาของญาติตรงประตูใกล้กับจุดที่คนไข้นอนเป็นพิเศษไปด้วย

การลดแหล่งความชื้นภายในตึกก็คงต้องเข้มข้นขึ้น ทำให้ความเปียก แห้งให้เร็ว มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในเรื่องการบริหารพื้นที่เวลาสับเปลี่ยนเตียงให้คนไข้โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ

เอกสารอ้างอิง

John F.Straube,Ph.D.,ASHRAE Journal, Moisture in Buildings”, January 2002.15-19

« « Prev : ตามลม(๑๓) : ความชื้นกับโรคติดเชื้อทางอากาศ…สำคัญนะ

Next : ตามลม(๑๕) : จะคิดอากาศแลกเปลี่ยนได้ยังไง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 มีนาคม 2011 เวลา 18:39

    ก่อนจะใช้กฎ ashrae นั้นต้องระวังด้วยครับ เพราะพวกนี้เขาคิดคำนวณแบบภูมิอากาศอเมริกัน ดังเช่นที่ผมได้เสนอมาแล้วว่าระบบ 25/50 ที่วิศวกรไทยยึดมานานจนบัดนี้ก็มาจาก แอสชเร นี่แหละครับ

    ในเมกาตรงข้ามกับเราบ่อยๆ เช่น ปัญหาของเขาคืออากาศแห้งเกินไป ต้องเติมความชื้น ส่วนของเราชื้นเกินไปต้องทำให้แห้ง ดังนั้นกฎของเขา บ่อยๆ ตรงข้ามกับกฎเรา การจะไปเอากฎเขามาใช้ต้องระวังให้มากครับ

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 มีนาคม 2011 เวลา 22:31

    ขอบคุณในคำเตือนที่สัมผัสได้ถึงความเป็นห่วงที่ส่งไปถึงคนไข้ค่ะ ยกหลักนี้มาเพื่อนำไปวิเคราะห์สถานที่จริงค่ะอาจารย์

    ในความรู้แบบงูๆปลาๆ หมอคงจะใช้วิชาพื้นฐานเรื่องของลม ความร้อน และความชื้นมาทำความเข้าใจปรากฏการณ์ตรงนี้ เพื่อนำไปปรับพื้นที่บริการซะก่อนเท่าที่จะเป็นไปได้

    ตอนนี้มี ๒ พื้นที่ให้เลือก คือ ปรับปรุงห้องแยกโรคเมื่อเข้าใจความสัมพันธ์พวกนี้ แต่มีข้อเสียกับคนไข้ คือ อยู่ห่างเจ้าหน้าที่มากกว่าเดิม คุณภาพการดูแลอาจจะด้อยลง ดูไม่ทั่วถึง อีกทางเลือกคือ ปรับพื้นที่ใช้สอยใหม่ ทั้งส่วนของการใช้ห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ และการจัดโซนวางเตียงคนไข้โรคทางเดินหายใจ

    ที่กำลังคิด กำลังทำ กำลังตามรอยเพื่อแก้ไขนี้ เข้าข่ายเปลี่ยนโลกให้เป็นสีเขียวด้วยมั๊ยค่ะอาจารย์


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.02110481262207 sec
Sidebar: 0.10553407669067 sec