ตามลม(๑๕) : จะคิดอากาศแลกเปลี่ยนได้ยังไง

อ่าน: 1663

การไปตามดูความชื้นของหลายๆจุดในพื้นที่ทั้งในและนอกตึกเพื่อทำความรู้จักพื้นที่ที่กำลังเป็นครู  แล้วจัดการป้องกันการติดเชื้อที่แพร่ได้ทางอากาศชี้มุมว่าการจัดการปัญหาความชื้น ยังไงๆก็หนีไม่พ้นการเติมลมเข้าไปในพื้นที่ตึกจุดใดจุดหนึ่ง

เมื่อหวนกลับไปใช้หลักตรงไหนลมไม่พัด เป็นเพราะตรงนั้นมีความกดอากาศเท่ากัน และตรงที่ลมไม่พัด ยังเพิ่มการสะสมความชื้นได้ ก็ทำให้เข้าใจได้ว่า การติดพัดลมดูด เป่า ติดสุ่มสี่สุ่มห้าจะกลายเป็นสร้างปัญหาเพิ่มถ้าไม่ดูทิศทางลมและสนใจเรื่องความชื้น ณ จุดนั้นๆซะก่อน

ปัญหาตรงนี้แหละมั๊งที่ทำให้มีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนอากาศไว้ให้โดยเฉพาะในหลายๆพื้นที่แบบให้หยิบเอาไปใช้ได้

ทีแรกไม่เข้าใจว่าอากาศแลกเปลี่ยนนี้หมายความถึงอะไร ทำไมต้องใช้มัน นิยามของอากาศแลกเปลี่ยนที่ไปฟังเขามา เขาว่างี้ “Air change คือ ปริมาณอากาศในห้องที่ต้องเปลี่ยนให้หมดภายในกำหนดเวลา”

ส่วนใหญ่ความเร็วของการแลกเขาคิดเป็นจำนวนรอบต่อชั่วโมง หนึ่งรอบคิดเป็นหนึ่งครั้ง

ความเร็วเหล่านี้มีความหมายที่นำไปอิงหาพัดลมมาจ่ายลม-ดูดลมเพื่อให้ได้ลมเติม แล้วยังใช้พิจารณาไปถึงขนาดพัดลม มอเตอร์พัดลมด้วย

ที่ร.พ.เวลาร้องขอพัดลม ขนาดพัดลม ชนิดพัดลม พยาบาลทำหน้าที่ระบุมาให้หมดเลยเบ็ดเสร็จนะเออ  ช่างไฟฟ้าร.พ.ก็ทำแค่ ไปซื้อหาพัดลมตามที่ขอและได้รับอนุมัติวงเงินให้ไปซื้อ ได้มาแล้วก็ติดตั้งให้ตรงจุดที่ขอให้ติดตั้งให้  ทำกันอยู่อย่างนี้มาตลอด

ไม่เคยคำนวณกันหรอกอัตราแลกเปลี่ยนอากาศนะ เมื่อรู้ว่าควรคำนวณซะก่อนไปซื้อหาพัดลมมาก็เป็นอะไรที่รู้แล้วทำให้อึ้ง

รู้แล้วก็เห็นซึ้งขึ้นอีกว่า เรื่องของการจัดการพื้นที่อย่างเช่นโรงพยาบาล ไม่ใช่เรื่องไก่เขี่ยหาข้าวกินแบบง่ายๆอย่างที่ทำกันอยู่  มันต้องการช่างที่มีภูมิรู้ ภูมิหลัง ที่เข้าใจเรื่องราวที่ซับซ้อนเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนรอบอากาศที่ต้องการใช้พัดลมเข้ามาแก้ปัญหาด้วยนะเออ

ไปลองค้นหาวิธีเลือกพัดลมที่เขาใช้อัตราแลกเปลี่ยนอากาศมาดู ที่แ้ท้จำนวนรอบที่ต้องการแลกเปลี่ยนนี้แหละกำหนดสเป็คของพัดลมโดยอัตโนมัติ

เข้าใจขึ้นแล้วละ เมื่อนำไปสร้างความสัมพันธ์กับปริมาตรห้องในเชิงคณิตศาสตร์ ความหมายของจำนวนรอบก็หมายถึงจำนวนเท่าของอากาศที่ต้องการเติมลงไปในปริมาตรห้องนั่นเอง

การเลือกรุ่นของพัดลมและมอเตอร์ของพัดลมจะได้มาจากผลการคำนวณนี้แหละนะ ซึ่งก็ยังงงๆว่าปริมาตรลมกับขนาดของมอร์เตอร์พัดลมมันมาเกี่ยวกันยังไง

ข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนอากาศสำหรับพื้นที่ร.พ.มีอยู่อย่างนี้

จุดนั่งคอยรอตรวจ ห้องน้ำ ห้องหม้ออบไอน้ำ  ห้องที่มีการใช้เครื่องช่วยหายใจ  ห้องล้างฟิล์ม  ๑๐  รอบ

ห้องซักล้าง ห้องผ่าตัด   ห้องครัว                                                                              ๑๕  รอบ

ห้องทำลายเชื้อ                                                                                                    ๑๒  รอบ

สำนักงาน ห้องผู้ป่วย ห้องตรวจโรค                                                                             ๖  รอบ

อยากรู้ขนาดพัดลมก็ให้คำนวณปริมาตรลมที่ต้องใช้แลกเปลี่ยนต่อชั่วโมงโดยเอาจำนวนรอบที่ต้องการแลกเปลี่ยนคูณปริมาตรห้อง ปรับหน่วยเมตรเป็นฟุตด้วยการคูณด้วย ๓๕.๒๘  แปลงผลลัพธ์ต่อเป็นปริมาตรลมต่อนาที จะนำไปสู่ขนาดพัดลม

มีคนระบุไว้ว่า พัดลมระบายอากาศขนาด ๘ นิ้ว ให้ปริมาตรลมได้ ๓๒๑ ลบ.ฟุตต่อนาที พัดลมระบายอากาศขนาด ๑๐ นิ้ว ให้ปริมาตรลมได้ ๕๕๑ ลบ.ฟุตต่อนาที ไม่รู้ตัวเลขตรงนี้ ใช่มาตรฐานของพัดลมทุกยี่ห้อที่มีขายในตลาดเมืองไทยหรือเปล่า

ถ้าสมมติขนาดห้องซักล้างมีปริมาตร ๑๐๐ ลบ.เมตร  คำนวณแล้วก็ได้ว่าถ้าจะเติมลมด้วยอัตราแลกเปลี่ยน ๑๕ รอบ ปริมาตรลมที่จะเติมจะอยู่ที่ ๘๘๒ ลบ.ฟุตต่อนาที

ถ้าตัวเลขข้างบนคือตัวเลขมาตรฐานของพัดลม ไปหาพัดลมดูดอากาศมาก็จะได้พัดลมมา ๒ ตัว ขนาด ๘ นิ้ว และ ๑๐ นิ้ว อย่างละ ๑ ตัว

ได้พัดลมมาแล้ว การติดเข้าไปในห้องตรงไหน สุ่มสี่สุ่มห้าติดก่อนจะรู้จักธรรมชาติของห้องน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าทำต่อไปแล้วหละ

ในห้องมีพัดลมอยู่แล้วเป็นแบบส่าย อย่างนี้ถ้าอยากรู้ว่าจะติดพัดลมเพิ่มเพื่อช่วยเติมลมกี่ตัว จะใช้วิธีย้อนรอยไปวัดขนาดของพัดลมแล้วนำมาคำนวณกลับให้รู้รอบลมที่เติมอยู่เดิม จะกลายเป็นมั่วนิ่มมั๊ยนะ

« « Prev : ตามลม(๑๔) : จะลดความชื้นที่มีอยู่แล้ว…ยังไงดีนะ

Next : ตามลม(๑๖) : ระบายอากาศแบบกะเอาด้วยตา…จะดีหรือ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

5 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 มีนาคม 2011 เวลา 8:42

    โห เรื่องระบายลม พัดลม ความชิื้นไม่ใชเรื่องเล็กๆเลยนะ
    แต่ติดตามอ่านเรื่อง ตามลม แล้ว ใจชี้น คิคิ

  • #2 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 มีนาคม 2011 เวลา 0:34

    พัดลมวางส่ายไว้ในห้องไม่ได้ช่วยให้เกิดการถ่ายเทอากาศมากนักนะครับ แต่อาจช่วยในการหมุนวนอากาศภายในห้อง นอกจากหันหน้าออกไปทางหน้าต่าง ก็จะช่วยดูดลมออกจากห้อง แล้วลมนอกห้องก็จะถูกเหนี่ยวนำเข้ามาแทนที่ ซึ่งลมนอกห้องทีเข้านั้นถ้ามาจากห้องโถง อาจสกปรกยิ่งกว่าอากาศในห้องก็เป็นได้ ถ้าเป็นแบบนี้ควรเปลี่ยนทิศทางการหันหน้าของพัดลมเป็นตรงข้ามครับ

  • #3 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 มีนาคม 2011 เวลา 0:39

    ..อธิบายต่อครับ อย่างเช่นหน้าบ้านหันหน้าสู่ถนนซอย แล้วมีควันมอไซมาก การปิดหน้าต่างหน้าบ้าน เพราะเหม็นควัน เปิดหน้าต่างด้านข้างห้อง จากนั้นติดพัดลมส่ายในห้องนอน แบบนี้ควันชอบมากครับ จะเล็ดลอดเข้ามาตามขอบหน้าต่างที่ไม่มีทางมิดชิด 100% ทำให้ห้องมีควันมอไซมากกว่าไม่ติดพัดลมเสียอีกครับ (ถ้าแทนทีควันด้วยเชื้อโรคก็ทำนองเดียวกันครับ)

  • #4 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 มีนาคม 2011 เวลา 0:49

    พ่อครูค่ะ ตามรอยลมแล้วเจออะไรระหว่างทางมากมาย แล้วได้เพื่อนร่วมทางช่วยลุ้น ช่วยแนะ ช่วยเติมมุมมอง ใจชื้นขึ้นเยอะเลยว่า เรื่องนี้แก้ได้น่า

  • #5 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 มีนาคม 2011 เวลา 0:57

    อาจารย์ชี้แนะเหมือนมาเห็นกับตาเลยค่ะ พัดลมตัวนี้ติดตรงประตูทางเข้า ตรงข้ามหน้าต่างห้องที่เป็นบานเกล็ด นอกหน้าต่างเป็นพื้นที่โล่งอยู่นอกตึก มีลมพัดโกรกพอใช้ ไม่มีฝุ่น ห่างออกไปจากพื้นที่โล่งราว ๑ เมตร เป็นพื้นที่สีเขียวไม่กว้างมาก ปลูกสนอินเดียไว้เป็นทิวแถวราวๆ ๗-๘ ต้น ส่วนพื้นที่นอกประตูก็เป็นโถงหน้าห้องเจ้าหน้าที่พักที่เคยเล่า เวลาเปิดพัดลม ลมมันหมุนวนอยู่แถวนั้นจริงๆด้วย ริบบิ้นตรงประตูห้องก็แค่ส่ายเอวให้ได้จ้องเล่นแหละค่ะ

    ไปดูมาหลายรอบด้วยในใจคิดว่า จะดูดลมจากนอกตึกใส่เข้ามาในห้อง ก็ยังเจอโจทย์ว่าในบางช่วง ที่คนไข้ล้นตึก ตรงนอกตึกด้านหน้านอกหน้าต่าง พยาบาลเขาก็กางเตียงผ้าใบให้คนไข้นอนเรียงกันอยู่ ก็เลยยังให้เวลารอดูการใช้สอยพื้นที่ของพยาบาลเขาอีกหน่อย


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.021277904510498 sec
Sidebar: 0.10683703422546 sec