ตามลม(๑๓) : ความชื้นกับโรคติดเชื้อทางอากาศ…สำคัญนะ
พูดถึงแหล่งความชื้น ก็ได้คิดอีกเรื่อง ตึกที่ไปค้นหาทางแก้ปัญหาแล้วเจอปัญหาเพิ่มขึ้น ได้ความรู้เพิ่มมามากมุมแห่งนี้ แม้จะอยู่ที่ชั้นล่าง แต่หลังคาตึกนี้เป็นแอ่งสามารถรับปริมาณน้ำฝนสะสมบนหลังคาได้ น้ำฝนบนหลังคาจะเป็นแหล่งพาความชื้นมาให้ชั้นนี้ด้วยหรือเปล่าก็เป็นเรื่องต้้องหาความรู้อยู่เหมือนกัน จะได้รู้ว่ามีทางจัดการเรื่องเปียก-แห้งที่ไหนบ้างได้ครบจุด
มีคนบอกว่า “พื้นที่หลังคาสามารถสะสมน้ำฝนได้เป็นปริมาณหลายร้อยถึงหลายพันกิโลกรัมต่อพื้นที่หนึ่งตารางเมตร หรือประมาณได้เป็นตัวเลขเท่ากับ ๒๐๐ ปอนด์ต่อตารางฟุต ผนังโดยทั่วไปสามารถรับภาระความชื้นได้ประมาณ ๒๕-๔๐% และปริมาณ น้ำฝนนี้เพียงจำนวนเล็กน้อยถ้ารั่วซึมเข้าสู่อาคารก็จะเกิดความเสียหายขึ้นได้ในเวลาต่อมา”
ที่มุมหนึ่งเหนือระเบียงตึกชั้นนี้ มีตะไคร่น้ำเกาะในยามหน้าฝน ทำให้นึกถึงความเป็นไปได้ที่น้ำฝนจะเป็นแหล่งส่งความชื้นให้ตึกแห่งนี้ ตรงจุดที่มีตะไคร่น้ำนี้อยู่ในซีกตึกด้านเดียวกับที่คนไข้วัณโรคนอนอยู่ด้วยซิ
มีวิีธีไหนบ้างนะที่สามารถช่วยบอกได้ว่าปริมาณน้ำฝนที่รั่ว-ไหล ซึม ๑ หยดต่อชั่วโมงจะเป็นสาเหตุให้เกิดการเจริญเติบโตของเชื้อราได้เร็วแค่ไหน ก่อให้เกิดความเสียหายให้กับตัวอาคารได้เร็วแค่ไหน ใครรู้แบ่งปันความรู้มาหน่อยนะ
เรื่องไอน้ำที่ระเหยจากน้ำขังใต้ตึกซึ่งเป็นแหล่งให้ความชื้นที่ใหญ่ที่สุดของที่นี่ก็เหมือนกัน แพร่ความชื้นเข้ามาในอาคารด้วยอัตราระเหยอย่างไรต่อวัน เหมือนที่มีคนพบในที่อื่นๆหรือเปล่าที่ว่า “ดินที่อยู่บริเวณฐานรากที่เปียกชื้นหรือไม่มีสิ่งปกคลุมจะมีไอน้ำระเหย ไปในอัตรา ๑๐๐-๕๐๐ กรัมต่อตารางเมตรต่อวัน หรือเฉลี่ย ๔๐๐ กรัมต่อตารางเมตรต่อวัน(ข้อมูลสำรวจจาก ๖๐ แหล่ง)”
ไม่น่าเชื่อเลยว่า ในหลักการควบคุมการติดเชื้อที่โรงพยาบาลต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง จะซ่อนเรื่องราวมากมายที่สอนให้ใส่ใจรายละเอียดอีกหลายเรื่อง
การที่จะสร้างอาคารแห่งหนึ่งให้มีความสมบูรณ์ในแง่ความปลอดภัยของผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อจากอากาศ ต้องใส่ใจในรายละเอียดและมองให้เห็นการใช้สอยพื้นที่ การแบ่งพื้นที่เปียก-แห้ง การจัดการความเปียก ความสัมพันธ์ระหว่างลม-ความร้อน-ความชื้น
การออกแบบระบบปรับอากาศและการออกแบบโครงสร้างของอาคารจึงสามารถเอื้อต่อการควบคุมหรือการจัดการกับความชื้นและลดความเสี่ยงของปัญหาที่เกิดจากความชื้นได้อย่างประหยัดที่สุด ซึ่งจะป้องกันความเสียหายจากความชื้นในส่วนที่เกี่ยวกับการสะสมเชื้อโรคได้สมดุลที่สุด
สมดุลความชื้น (The Moisture Balances) จากการควบคุมสภาวะเปียกและสภาวะแห้งภายในตัวอาคารให้สมดุล ทำให้ไม่เกิดความชื้นสะสม
จะไม่มีปัญหาเกี่ยวเนื่องกับความชื้นเกิดขึ้น ถ้าให้ความสนใจกับปริมาณและช่วงเวลาสะสมของความชื้นของแต่ละที่
จะไม่มีปัญหาสะสมมากมายจนเกิดปัญหาซ้ำซากและแก้ยาก ถ้าทุกคนที่ใช้สอยพื้นที่นั้นๆ สนใจสภาวะเปียก ปริมาณของน้ำฝนที่ไหลซึมและถูกดูดซึมเข้ามาในส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคาร สนใจข้อเสียในส่วนที่มีสภาวะเปียกเกิดขึ้น คุณภาพของระบบท่อต่างๆ สนใจการจัดการหุ้มฉนวนบริเวณข้อต่อต่างๆของอุปกรณ์ทำความเย็นที่อาจจะทำได้ ไม่ดี สนใจทิศทางของหน้าต่างที่มักจะมีจุดที่เกี่ยวข้องกับการรั่ว การไหลของอากาศและไอน้ำในอากาศ เมื่ออาคารถูกสร้างขึ้นมาและเข้าไปใช้สอยแล้ว
ตามรอยลมมาถึงวันนี้ เข้าใจซึ้งขึ้นว่า ทำไมบรรพบุรุษจึงใช้คำเรียกสถานที่รับคนไข้ไว้รักษาว่า “โรงพยาบาล” แล้วละ ก็มันเป็นเหมือนบ้านอีกแห่งที่พยาบาลเป็นเจ้าของ และเป็นแม่บ้านเลยนะนี่
« « Prev : ตามลม(๑๒) : ชักเอะใจว่าจะมีเรื่องก๊าซเรือนกระจกมาเกี่ยวด้วย
Next : ตามลม(๑๔) : จะลดความชื้นที่มีอยู่แล้ว…ยังไงดีนะ » »
3 ความคิดเห็น
การสร้างโรงพยาบาล ต้องมี building code ต่างจากอาคารทั่วไป ผมไม่ทราบว่าเรามีกฎหมายนี้หรือยัง ถ้ามีเราบังคับใช้กันเข้มข้นเพียงใด
ถ้าเรามีกฎและบังคับใช้กฎกันให้ดีเสียแต่แรกก่อนสร้าง หมอสาวตาก็ไม่ต้องมาเหนื่อยยากปานนี้หรอกครับ
โดยเฉพาะสถานีอนามัยในตจว. งบก็จำกัด แถมยังถูกหัวคิว ก็ยิ่งต้องวางกฎเผื่อไว้แบบไทยๆ นอกจากผู้เขียนกฎต้องมีความรู้ด้านวิศว แพทย์ และว ยังต้องรู้วัฒนธรรมไทยอีกด้วย เช่น มันมักง่าย ยืนฉี กันริมๆ ตึกเป็นประจำ ถุยน้ำลายกันทั่วไป ต้องนำมาเป็นปัจจัยในการออกกฎทั้งสิ้น
เพื่อนผมเพิ่งมาบ่นให้ฟัง ขนาดรพ.ในเมืองใหญ่ มันถุยน้ำลาย ทิ้งขยะกันเกลื่อนไปทุกที่ ทั้งคนรากหญ้า และไอ้ที่ดูเหมือนยอดหญ้า
ดังนั้นหมอต้องดูด้วยว่า ความชื้นจากน้ำลาย ขยะมีปริมาณเท่าใด
เมื่อวานนี้ก็รายงานเจ้านายไปแล้วว่า ตึกตรงนี้มีปัญหาจากของเสีย รวมทั้งน้ำเสีย เจ้านายดูเหมือนจะตามรอยเพื่อหาทางแก้อยู่เหมือนกัน เพราะตอบมาว่า แก้ปัญหาเรื่องน้ำขังใต้ตึกไปแล้วเรื่องประปารั่ว พอบอกข้อมูลให้รู้ว่าเจออะไรอีก ดูเหมือนพี่เขาจะงง
หมอรอค่าวัดก๊าซอยู่ว่าจะเจออะไรตรงนอกตึกนี้บ้าง จะได้หาวิธีง่ายๆบรรเทาไปก่อน สัปดาห์นี้ศูนย์สิ่งแวดล้อมเขตจะมาช่วยวัดให้
เท่าที่ตามรอยดูนั้น ยังพอเห็นทางว่าจะผ่อนปัญหาด้วยการใช้วิชาเคมีง่ายๆได้บ้างค่ะ เรื่องขยะนั้นเห็นๆอยู่ค่ะอาจารย์ ตึกนี้เขามีจุดวางขยะรวมไว้ที่ลานข้างตึก ใต้ต้นไม้ที่อยู่ด้านข้างของตึก ก็กำลังแยกแยะอยู่ว่า มีขยะอะไรที่จะจัดการระบายให้เร็วได้บ้าง
มีหลายเรื่องที่มองเห็นว่าควรใจเย็นตามรอยไปช้าๆ ให้ได้ข้อมูลที่มีน้ำหนัก เพราะมีระบบงานบางอย่างที่ถ้าเสนอความเห็นไปแล้ว อาจจะมีคนค้านการเปลี่ยนแปลงเพราะอาจจะต้องลงทุนเรื่องกำลังคนเพิ่ม
มีฝ่ายที่ต้องปรับระบบงานที่มาสนับสนุน เช่น โรงครัวกับการบริการจัดเก็บภาชนะใส่อาหารที่บริโภคแล้ว การจัดการขยะสดในบริเวณอาคารแห่งนี้ ซึ่งต้องให้เวลากับการจับเข่าคุย อยู่คนละสายงานกัน ก็ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ไข
ตอบอาจารย์ว่า เรื่องกฏหมายอาคารนั้น เท่าที่ค้นๆดูมีบังคับแค่เรื่องลานจอดรถ ส่วนรายละเอียดเรื่องอาคารโรงพยาบาล อาคารของสถานีอนามัย ไม่เคยเห็น
อาคารส่วนใหญ่ในสังกัดภูมิภาคกระทรวงสาธารณสุข เห็นมีแต่กองแบบของกระทรวงสาธารณสุขออกแบบไว้ให้เป็นชุดกลาง ไม่เคยมีการเขียนแบบจากการศึกษาพื้นที่จริงๆ เวลาเขียนแบบก็ต้องการแค่ขนาดที่ดินอย่างเดียว อย่างอื่นไม่เคยมีการขอข้อมูล
หลวงไม่มีงบค่าเขียนแบบให้ค่ะ เวลาจะสร้างตึกก็ไปหยิบแบบที่เขามีกันอยู่แล้ว มาประยุกต์ให้พอดีกับที่ดินที่มี จะแบ่งห้องยังไงกั้นห้องยังไงก็ไม่เคยเลยที่คนจะใช้ มีโอกาสให้ความเห็น สร้างเสร็จ ก่อนส่งมอบโน่นแหละจึงชวนคนใช้ตึกมาคุยกันเรื่องเฟอร์นิเจอร์ จึงเป็นเรื่องตามแก้กันเรื่อยมาอย่างนี้แหละ
แต่ก่อนสถานีอนามัยไม่มีปัญหาเรื่องการระบายอากาศกัน แต่ยุคนี้ที่เริ่มมีการพัฒนาเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ปัญหาเรื่องโรคติดเชื้อทางอากาศจากสถานที่ให้บริการ น่าจะซับซ้อนขึ้น เพราะว่าส่วนใหญ่ติดแอร์กันไปแล้วก็มี การตามรอยเรียนรู้จากตึกนี้ คงให้ประโยชน์ในการช่วยสถานีอนามัยได้ด้วยค่ะ