ตามลม(๑๒) : ชักเอะใจว่าจะมีเรื่องก๊าซเรือนกระจกมาเกี่ยวด้วย

อ่าน: 1336

ทบทวนกันก็ได้ข้อมูลเพิ่มมาว่า ในช่วงเวลาของวันบันทึกทิศทางลมไว้แล้วพบลมไม่พัดตรงจุดที่คนไข้วัณโรคนอนอยู่ในวันนั้นๆ มีฝนตกในช่วงเวลาใกล้ๆกับที่ได้บันทึกอุณหภูมิมาให้

ได้ข้อมูลเพิ่มมาอีกหน่อยอย่างนี้ก็ต้องไปสังเกตต่อว่าตรงนี้จะมีความชื้นสูงเกือบ ๑๐๐% ในช่วงเวลาฝนตกหรือเปล่า เวลาอื่นๆความชื้นเป็นอย่างไร ก่อนที่จะไปจัดการต่อเรื่องทิศทางที่จะจัดการเติมลม-ดูดลมด้วยพัดลมดูดอากาศ  อืม เรื่องราวซับซ้อนจนทำให้รู้สึกยังไงๆ

เอาน่าบอกตัวเองให้ใจเย็นๆ  เรื่องนี้เป็นมานานแล้ว เรื่องที่สะสมมานาน จะสะสางให้ได้เร็วเป็นไปไม่ได้หรอก ให้เวลาหน่อยกับการเรียนรู้เพื่อการจัดการที่ลงตัว ทำอะไรที่ดีกว่าได้โดยไม่เสียหายกว่าเดิมก็ทำไปก่อนละกัน

เตือนตัวเองแล้วก็กลับไปดูอีกทีตรงจุดที่เป็นที่พักผ่อนของเจ้าหน้าที่ช่วงพัก  ไปพบว่าบริเวณนั้นมีแหล่งเติมความชื้นภายในตึกอยู่ใกล้ๆด้วย ห้องหนึ่งซึ่งอยู่ตรงข้ามกัน ประตูเข้าออกตรงกันพอดีกับห้องนี้  เป็นห้องที่ใช้ล้างเครื่องมือ ตากเครื่องมือ

ดูทิศลมเข้าออกของห้องล้างเครื่องมือแล้วลมนิ่งเหมือนกัน ในห้องมีพัดลมติดผนังแบบส่ายอยู่ตัวหนึ่ง เวลาพัดลมเปิดลมจะพัดวนอยู่ในห้องบ้าง เป่าออกจากห้องบ้างแต่ไม่แรง  เวลาลมเป่าออกมีลมไหลเข้าในห้องพักเจ้าหน้าที่บ้างถ้าประตูเปิดแต่เบา ทิศทางของริบบิ้นที่อยู่หน้าห้องพีกเจ้าหน้าที่แค่ส่ายเบาๆแบบหมุนวน  เห็นแล้วก็อึ้งไปเลย จุดนี้เป็นอีกจุดหนึ่งนะนี่ที่เจ้าหน้าที่เขาเสี่ยงกับเชื้อโรคกว่าที่อื่นๆ

บางเวลาของจุดหน้าห้องเจ้าหน้าที่ที่ลมนิ่งก็มีลมจากในอ้อมตัวแอลผ่านโชยมา ทิศของริบบิ้นที่ติดไว้ตรงประตูออกของตึกพริ้วออกนอกตึก เรื่องอย่างนี้จะเกิดใกล้บ่าย ซึ่งประตูห้องล้างเครื่องมือจะเปิดอ้าอยู่ มีพัดลมเปิดค้างไว้ ประตูห้องของเจ้าหน้าที่ปิดสนิท  ส่วนเวลาที่ลมนิ่งจะเกิดในช่วงบ่ายสามโมง

เอาละซีอาจารย์ทวิชแนะมาให้เรียนรู้เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนอากาศด้วย มีหลายช่องลมเข้า-ออกมาเกี่ยวข้องอย่างนี้ มีความต่างของการไหลของลมจะดูต่อยังไงละนี่

ตัดสินใจเหมือนอีกจุด ดูไปก่อน เรียนรู้ไปก่อน ที่เคยคิดว่าน่าจะจัดการปัญหาด้วยพัดลมดูดอากาศก็ต้องหยุดความคิดไว้ก่อนอีกแหละ ค่อยว่ากันต่อเมื่อเข้าใจพื้นที่ดีกว่านี้ละกัน

กลับไปดูเรื่องความชื้นเจ้าปัญหาดูหน่อยทำอะไรได้ก่อนบ้าง  มีคนเขาแนะนำไว้ว่า “การแก้ปัญหาอันเกี่ยวเนื่องจากความชื้น มีสภาวะที่เกี่ยวกับการแก้ไขอย่างน้อย ๔ สภาวะด้วยกันที่ควรใคร่ครวญ  ได้แก่ แหล่งความชื้น  เส้นทางเคลื่อนที่ของความชื้น  แรงขับในการเคลื่อนที่ของความชื้น  และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ไวต่อความเสียหายจากความชื้น”

ข้อที่ห่วงเรื่องเชื้อโรคสะสมในพื้นที่ตรงนี้ก็ต้องไม่อยู่เฉยๆ รู้แหล่งความชื้นแล้วนี่นา เอาละชวนเจ้าหน้าที่จัดการกับแหล่งความชื้นใกล้ตัวที่ตัวเองผลิตเองก่อนดีกว่า

จึงชี้แนะไปว่าให้ช่วยกันดูแลตัวเองเท่าที่ลงมือทำกันได้ด้วยการนำหลักการของ ๕ส. เข้ามาใช้กับพื้นที่ใช้สอยในห้องล้างเครื่องมือของเขาและพื้นที่ที่พวกเขาและคนไข้ครองไว้ใช้สอย

ให้จัดการความเปียกให้แห้งให้เร็วที่สุด ใช้น้ำเท่าที่จำเป็นต้องใช้ล้างสิ่งของ  เพิ่มคุณภาพการจัดการความสะอาดกับความแห้งของพื้นตึก และเพิ่มความเข้มข้นของการจัดการกับอณูฝุ่นที่เกาะเกี่ยวอยู่กับวัตถุแขวนลอยอยู่ในตึกเพื่อลดการเป็นที่เกาะของไอน้ำ จัดการพื้นเปียกของห้องน้ำที่อยู่ตรงนอกอ้อมกอดตัวแอลให้แห้งให้ได้มากที่สุด นานที่สุดไปก่อน

ระหว่างรอตัดสินใจเรื่องลมก็ให้ลูกน้องในฝ่ายไปค้นหาคำตอบว่ามีอณูของก๊าซเรือนกระจกรอบๆตึกอยู่หรือเปล่าที่สามารถเป็นปัญหาซ้อนเข้ามาหนุนเสริมให้ความชื้นคงอยู่นานและสะสมอยู่

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ลองให้ลูกน้องเก็บน้ำที่ขังใต้ตึกไปตรวจแล้วพบว่าน้ำตรงนี้เป็นน้ำเสียปนน้ำดี คุณภาพของน้ำที่ตรวจได้มีอ๊อกซิเจนพอให้ปลาอยู่ได้ มีความเป็นกรด-ด่างที่รับได้สำหรับน้ำเสีย แต่มีกลิ่นโชยขึ้นมาบางจุด มีความเปลี่ยนไปของจำนวนประชากรปลาที่นำมาปล่อยไว้

ปลาที่เคยมีอยู่เยอะลดน้อยหายไป บางจุดก็ไม่พบปลาที่เคยว่ายเวียนวนมาให้เห็น ปลาที่ว่านี้คือปลาหางนกยูง ปล่อยไว้เพื่อให้ช่วยจัดการลูกน้ำยุงที่อาจจะมาเติบโตอยู่ในน้ำใต้ตึกตรงนี้ ปรากฏการณ์นี้เตือนให้เอะใจเรื่องภาวะก๊าซเรือนกระจกที่อยู่อาจจะอยู่เหนือน้ำตรงนี้ขึ้นมา เรียนรู้กับมันหน่อยก็ดี

« « Prev : ตามลม(๑๑) : สมใจกับความร่วมมือ

Next : ตามลม(๑๓) : ความชื้นกับโรคติดเชื้อทางอากาศ…สำคัญนะ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 มีนาคม 2011 เวลา 18:20

    หมอครับ เรื่องนี้มันยากมากนะครับ ผมคงไม่อาจช่วยอะไรได้มากไปกว่านี้ เพราะมันเป็นพหุวิทยาการทางการแพทย์ผสมวิศวกรรมศาสตร์อีกหลายแขนง

    ผมเสนอว่าให้หมอไปขอทุนทำงานวิจัยกับทาง สสส. ครับ โดยทางผมยินดีร่วมมือทำโครงการด้วยครับ เครื่องมือเราคือการจำลองการไหลด้วยคอมพิวเตอร์ ความเร็ว ความชื้น อุณหภูมิ ณ จุดต่างๆ เราทำได้หมดครับ แล้วเอามาดูว่าจะมีผลต่อการโตของเชื้อโรคต่างๆ อย่างไร ต้องติดพัดลม ดูด เป่า ขนาดเท่าไร กระจายอยุ่กี่จุด จึงจะพอ

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 มีนาคม 2011 เวลา 21:51

    ขอบคุณอาจารย์มากๆค่ะที่ให้ใจ เท่าที่อาจารย์ตามมาช่วยเติม ช่วยเตือนให้มองต่างมุม ก็ช่วยได้มากมายแล้วค่ะ

    รู้ว่าเรื่องมันยากก็เลยแกะรอยทีละมุม ๒ มุม เพื่อให้เกิดความกระจ่างใจกับฝ่ายบริหาร จะได้เคลียร์การตัดสินใจการปรับโครงสร้างที่คิดกันง่ายเกินไป มองมุมเดียวให้ชะลอด้วยไม่ด่วนใจเร็วทำโดยไม่เรียนรู้

    ภายใต้ยุคที่ชาวบ้านชอบฟ้องเรียกเงินหมอ ได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดที่สามารถทำให้คนไข้ได้ภายใต้ข้อจำกัดที่มี ด้วยความคิดไม่เบียดเบียนเขา ห่วงใยเขา ก็ไม่ละอายใจแล้วละคะ

    ไม่เบียดเบียนตัวเองกับสิ่งที่รู้ว่าเป็นข้อจำกัด ก็เลยใช้เป็นโอกาสเรียนรู้ไปด้วย แก้ไปด้วยลองไปด้วย รู้ว่าเจอเรื่องยากแต่ก็สนุกกับการตามรอยค่ะ

    ตามรอยแล้วเรียนรู้ก็พบว่ามีหลายประเด็น ที่ถ้าลงมือทำก็ช่วยคืนความปลอดภัยมาได้มากกว่าเดิม แค่ทุกคนลงมือช่วยทำเรื่องง่ายๆให้สม่ำเสมอก็ช่วยได้มากมายแล้ว

    ดีใจที่อาจารย์ชวนทำวิจัย เรื่องงบประมาณอาจารย์คิดว่าน่าจะใช้มากน้อยอย่างไร สนใจนะคะ

    งานวิจัยจะเป็นประโยชน์สำหรับโรงพยาบาลเวลาจะสร้างตึกใหม่ และเขียนแปลนตึกทดแทนตึกแห่งนี้ได้เลยค่ะ

    ตอนนี้มีตึกใหม่ที่จะใช้สอย ก่อนใช้สอยจะได้ทบทวนการใช้สอยพื้นที่ สอนให้คนคิดแบบองค์รวม และเป็นนักวางแผนที่ดีโดยเรียนจากของจริงคู่กันไปเลย ตึกนี้จึงเป็นครูให้กับใครอีกหลายคนเชียวค่ะ

    เป็นเรื่องยากๆที่ทำให้รู้สึกสนุกมากกว่าค่ะอาจารย์ ไม่เหนื่อยกับการตามรอยเพราะแค่แวบเดินไปเมียงมองแล้วก็กลับ ไม่เบียดเบียนตัวเองค่ะ แล้วข้อมูลที่ได้ก็มีประโยชน์ช่วยคนให้สบายใจไม่มุมใดก็มุมหนึ่ง อย่างน้อยน้องๆที่ตึกเห็นแวะไปดูให้บ่อยๆเขาก็สบายใจขึ้นค่ะ

    ไม่กี่วันก่อนไปคุยกับครูไว้ จะขอแรงนักเรียนที่ไม่ใคร่รู้ว่าตัวเองมีคุณค่า สามารถเรียนรู้ได้มาเป็นจิตอาสาช่วยบันทึกข้อมูลต่างๆ มองไปที่การสร้างเด็กเหล่านี้ให้เรียนจากของจริง เห็นว่าสิ่งที่กำลังสาวรอยช่วยปูพื้นการเรียนวิทยาศาสตร์ได้ ได้หมดเลยจะ เคมี ชีววิทยา แสง เสียง ความร้อน ภูมิศาสตร์ ฯลฯ อยู่ที่โจทย์ที่ให้เด็ก ครูเขาตอบรับมาว่าได้เลย ผู้ช่วยงานวิจัยระดับนี้ใช้ได้มั๊ยค่ะอาจารย์

  • #3 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 มีนาคม 2011 เวลา 0:41

    ว่าไปแล้ว จริงๆ “สามัญสำนึก” แบบพื้นๆ ทางการแพทย์ ผนวกกับวิศวะ ก็ช่วยไปได้ 90% แล้วโดยไม่ต้องทำอะไรมากให้ยุ่งยาก เช่น

    ระดับการระบายอากาศในห้องต่างๆ ห้องตรวจวินิจฉัย ห้องนั่งรอ ห้องพัก ห้องผ่าตัด ต้องมีระดับการระบายอากาศที่เพียงพอ รวมทั้งมีแรงดันอากาศที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งกำหนดได้ด้วยตำแหน่งและกำลังของพัดลม ทั้งหมดนี้ต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมภายนอกประกอบด้วย

    ระบบน้ำดี น้ำเสีย ห้องน้ำ โรงอาหาร ต้องคิดแบบบูรณาการกันหมด

    แค่นี้เราก็ได้ building code แบบไทยๆ แล้ว ครับ

    นอกจากนี้ วัฒนธรรมสะอาด ก็สำคัญมากครับ ผมเห็นหมอหลายคน สกป.มากๆ อย่างเหลือเชื่อ เช่น เอาเทอร์โมมิเตอร์ให้คนไข้อมต่อกัน โดยไม่ฆ่าเชื้อเสียก่อน ส่วนหมอฟันก็เอาถ้วยเหล็กใบเดิมๆ ให้คนไข้บ้วนปากต่อกันอยู่นั่นแหละ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.039047002792358 sec
Sidebar: 0.12664389610291 sec