ตามลม(๑๑) : สมใจกับความร่วมมือ

อ่าน: 1416

ลมพัดเกิดจากความต่างของความดันอากาศต้นทางกับปลายทาง แล้วลมก็เป็นตัวพาความร้อนไปด้วย  อุณหภูมิสื่อถึงความร้อนที่ถูกพาไปกับลม ร้อน-เย็นเป็นผลของการวัดอุณหภูมิ สูงกว่าก็คือร้อน ร้อนน้อยกว่าก็คืออุ่น-เย็น ร้อน-อุ่น-เย็น เป็นคำแปลความรู้สึกที่แปลมาจากความรับรู้ของคน

ไอไม่ได้หมายถึงร้อนเท่านั้น เย็นก็มีไอได้ ไอที่เห็นมีอณูน้ำที่เปลี่ยนตัวเองจากของเหลวเป็นก๊าซและเข้ามาอยู่กับลมด้วย

ความร้อนมีดวงอาทิตย์เป็นต้นแหล่ง ลมนำพาความร้อนมาแบ่งปันให้มวลสารในโลก เวลามีความร้อนที่ตรงไหนตรงนั้นก็มีการนำพาความร้อนมาปล่อยออกไว้

ความร้อนในอาคารที่อยู่ชั้นล่างที่ไปเห็นมา ไม่น่าจะมาจากความร้อนที่ดวงอาทิตย์เป็นต้นแหล่งทั้งหมด แต่น่าจะมีแหล่งความร้อนมาจากที่อื่น แต่ที่เห็นก็ไม่มีแหล่งให้ความร้อนนอกจากคนป่วยและคนทำงานที่อยู่ในอาคาร

ไปพบว่าอุณหภูมิที่วัดได้ในอาคารตรงจุดที่อยู่เหนือลมของคนไข้กับใต้ลมมีอุณหภูมิแตกต่างกันเพียง ๑ องศาเซนติเกรด และในยามที่จุด ๒ จุดมีอุณหภูมิต่างกันอยู่เพียงแค่นี้ ตรงจุดนั้นก็ไม่มีลมพัดให้รับรู้เลย

ที่รู้ทิศลมกันก็เพราะช่วยกันใช้วิธีง่ายๆมาช่วยให้เห็นทิศทางลม คือ ใช้ริบบิ้นเล็กๆติดสกอตเทปไว้กับขื่อประตู แล้วจดบันทึกเวลาและทิศทางที่ริบบิ้นปลิวเข้าออกไว้พร้อมอุณหภูมิ แล้วนำข้อมูลกับสิ่งที่เห็นความสัมพันธ์ของประตูลมมาดูกัน

สิ่งที่ทำให้อึ้งก็คือ ตรงจุดหนึ่งที่ไปพบลมนิ่ง อยู่ตรงหน้าห้องพักผ่อน กินอาหารของเจ้าหน้าที่ ตรงนี้จะนิ่งตั้งแต่เช้ายันบ่ายของทุกวัน

ในหลักการของการสะสมเชื้อนั้น เชื้อโรคที่ติดต่อสู่คนผ่านอากาศจะลอยอยู่ในอากาศก่อนโดนแรงดึงดูดของโลกดูดตกลงมาที่พื้น

จุดนี้เป็นจุดที่เจ้าหน้าที่จะเคลื่อนไหวตัวน้อยที่สุด เพราะใช้งานมันยามพัก  อากาศก็ไม่เคลื่อนไหว คนก็เคลื่อนไหวน้อย เจอะกันแล้วจะเหลืออะไร  อากาศนิ่งๆอย่างนี้ทุกๆวันก็มีหวังสูดเชื้อโรคเข้าไปทุกวันซินะ ไม่ได้นึกเลยว่าจุดตรงนี้เองที่เป็นเรื่องต้นเหตุที่แฝงกายอยู่เงียบๆ

อีกจุดที่ลมนิ่งนั้นน่ากลัวกว่า ตรงที่เป็นโซนที่คนไข้วัณโรคนอนรักษาตัวกันอยู่ ตรงนั้นเป็นจุดที่เจ้าหน้าที่เดินไปทำงานเท่านั้นจึงจะอยู่ตรงนั้นนานๆ แต่คนไข้อยู่ด้วยกันนานๆ

เมื่อนึกถึงข้อเตือนใจที่เคยสรุปไว้ “แรงกดของอากาศ บอกถึงความสามารถของอากาศในการรับสิ่งของมาปนอยู่ในเนื้อของมัน  ตรงไหนที่ลมไม่พัด ความชื้นสัมพัทธ์ยังเพิ่มได้ จะเพิ่มได้มากแค่ไหนไม่ขึ้นกับความกดอากาศตรงจุดนั้น ระหว่างจุดที่ลมไม่พัด กับจุดที่มีลมพัดไป-มา ถ้ามีความชื้นสัมพัทธ์สูงเท่ากัน จุดที่ลมไม่พัดจะมีเชื้อโรคที่ชอบความชื้นอยู่ได้นานกว่า”

ตามลมไปก็ได้ความรู้จากของจริงมาอย่างนี้แหละ ตอนนี้ก็กลับมานอนก่ายหน้าผากคิดหนัก

๒ จุดที่ว่านี้อยู่ที่ประตูคนละจุด  เยื้องกันอยู่ในทิศของปลายขาตัวแอลหัวตั้งคนละขากัน  พื้นที่ภายใต้มุมของตัวแอลเป็นจุดที่ลมถ่ายเทไปมาได้ดี คนไข้และเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ที่ทำงานอยู่จะครองตนอยู่ตรงพื้นที่ในอ้อมกอดนี่แหละทั้งกลางวันกลางคืน

ใต้ตึกมีน้ำขังคอยให้ความชื้นสัมพัทธ์ จะเป่าลมไล่อากาศออกมาจากตึกก็มีคนที่สามารถรับเชื้อโรคเข้าไปต่อได้ เพราะพื้นที่ส่วนของนอกประตูนั้นเป็นทางสัญจรไป-มาของผู้มาเยี่ยมไข้และญาติ จะลดความเสี่ยงจากความชื้นสัมพัทธ์ก็ต้องเติมลมเข้าไปเปลี่ยนความความกดอากาศ ๒ จุดให้ต่าง ลมพัดจะได้พัด แล้วจะเติมลมทิศไหนดีละนี่ ….เฮ้อ

อุณหภูมิที่วัดได้ว่าลมมันนิ่งอยู่ที่ ๒๘ องศาเซสเซียส ทั้ง ๒ จุด เหมาะทั้งสำหรับเชื้อก่อตัวอยู่กับไอน้ำในอากาศและเหมาะทั้งให้คนอยู่สบาย จะติดพัดลมดูดออากาศเหนือประตูทั้ง ๒ จุดนี้จะช่วยอะไรได้มั๊ยนะเรื่องการเปลี่ยนความกดอากาศ   ใครก็ได้ช่วยให้คำแนะนำหน่อยเหอะ

« « Prev : ตามลม(๑๐) : เอะใจว่าน้ำขังส่งผลกับโรคทางเดินหายใจหรือเปล่า

Next : ตามลม(๑๒) : ชักเอะใจว่าจะมีเรื่องก๊าซเรือนกระจกมาเกี่ยวด้วย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 กุมภาพันธ 2011 เวลา 15:13

    เรื่องความนิ่งของลมนี่ อ่านแล้วใจนึกถึงเรื่องชี่ ค่ะ

    “ที่ไหนนิ่งที่นั่นเน่า”

    ที่ห้องทำงานก็เหมือนกันเมื่อก่อนนั่งกันหลายคน มักจะต้องเปิดแอร์ เพราะของมาก สะสมกันเยอะ ปิดทางระบายลม อากาศไม่ถ่ายเท..ร้อน อึดอัด และเป็นภูมิแพ้กันทั่วถึง

    ตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลง เพราะมีการย้ายเข้า ย้ายออก นั่งกันน้อยลง เก้บกระดาษที่กองสะสม ขายโล๊ะไปเยอะ เก็บทุกอย่างในไฟล์ ใช้กระดาษน้อยลง เปิดประตู หน้าต่างโล่ง อากาศกลับสบายกว่าแอร์ค่ะ

    พอมีประสบการณ์เรื่องห้องพักที่ทำงาน ทีนี้เลยยิ่งนึกถึงโรงพยาบาลสมัยก่อนที่ทำตึกห่างๆกัน ใช้ทางเดินเชื่อมระหว่างอาคาร (2 ชั้น) ใต้ถุนยกกันน้ำท่วม ลมโกรกได้ดี แดดส่องทั่วถึง…

    แตกต่างกับตึกสมัยนี้ แออัด มีจุดอับลมมากมายไปหมด….โรงพยาบาลต่างๆ ก็เลยยิ่งดูเหมือนจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อมากขึ้น (อาจจะยกเว้นโรงพยาบาลที่เขาจัดสภาพได้ดี)

    …..

    อยากอ่านคำแนะนำการปรับแก้ปัญหาสภาพตึกที่พี่เขียนมาเหมือนกันค่ะ ..เพราะคงได้ประโยชน์กับอีกหลายหน่วยงานที่เจอปัญหาใกล้เคียงกันค่ะ

  • #2 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 กุมภาพันธ 2011 เวลา 17:44

    เรื่องนี้ต้องไปดูพื้นที่จริงครับ ไม่อยากให้ข้อมูลผิดๆ เพราะเข้าใจผิด แต่เท่าที่จับมากระเดียดได้นั้น ผมว่า ติดพัดลมดูดจะดีกว่าพัดลมเป่านะครับ (หมายถึงว่าดูดมาจากด้านนอก แล้วเป่าเข้ามายังจุดอับลม)

    เพราะถ้าติดพัดลมเป่า มันจะดูดเอาอากาศที่เคยพัดดีๆ แถวมุมตัวแอลเข้ามา อาจส่งผลให้บริเวณมุมตัวแอลมีลมช้าลง แถมยังส่งเชื้อออกไปยังคนมาเยี่ยมไข้อีกด้วย

    แต่ถ้าเป่าออก (ดูดมาจากด้านนอก)ก็ดีหมดทุกอย่าง ยกเว้นอาจร้อนหน่อยถ้าอากาศข้างนอกร้อน

    อนึ่ง ปริมาณการระบายอากาศก็ต้องคำนึงนะครับ ว่าต้องกี่ ACH (ว่าเข้านั้น = Air change per hour) ระดับรพ.แบบนี้ผมว่าน่าจะไม่ต่ำกว่า 30 ACH (พอๆ กับห้องน้ำ)

  • #3 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 กุมภาพันธ 2011 เวลา 18:59

    #1 ที่อุ๊ยว่านี่ก็โอเคเลยที่ว่า เดี๋ยวนี้โรงพยาบาลมันแออัดมากขึ้น แต่ละที่แต่ละแห่งเจอเอาเรื่องขยายโรงพยาบาลลำบากเพราะที่ดินแพง ต่างก็เลยสร้างตึกให้แน่นเข้าไว้ มาจับเรื่องที่ปรึกษามาคราวนี้ เห็นภูมิปัญญาคนรุ่นเก่าชัดเลย ทั้งเรื่องคน เรื่องของ เรื่องการบริหารที่ดิน ล้วนแต่ใช้ภูมิปัญญาไทยที่สั่งสมผนวกกับความรู้ใหม่ที่นำมาใช้จัดการให้กับบ้านเกิดเมืองนอน….อ้าว ออกไปนอกเรื่องแล้ว

    แต่ก่อนเวลามีปัญหาแบบนี้มา หน่วยของพี่ก็จะโบ๊ยไปให้ฝ่ายบริหารจัดการกันเอง หรือไม่ก็ไปหานักวิชาการของหน่วยอื่นมาดูๆแนะๆ แล้วก็ไป คราวนี้ที่ไปหยิบจับก็เพราะว่า เอะใจกับเรื่องราว ตึกแห่งนี้เมื่อ ๑๐ ปีก่อนเคยมีเจ้าหน้าที่เป็นวัณโรคปีละคน ติดต่อกัน ๒ ปี

    ตอนนั้นฝ่ายพี่ก็จัดการด้วยการระดมคนที่มีโอกาสติดเชื้อง่าย ทั้งที่ไม่ดูแลตัวเอง ประมาทตน และภูมิคุ้มกันตนเองไม่ดีอยู่แล้วมาเติมความรู้ให้เข้าใจเส้นทางการเกิดโรคและเห็นตัวเองว่ามีพฤติกรรมอะไรที่ส่งเสริมให้เป็นโรคได้

    ทำไปแล้วหลังจากนั้นก็มีระบบเฝ้าระวังภูมิคุ้มกันวัณโรคให้ คนเป็นโรคก็หายไปเลยไม่มีติดต่อกันอยู่นานกว่า ๕ ปี จนเมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมาบังเอิญได้ยินมาแว่วๆว่ามีเจ้าหน้าที่เป็นอีก

    ไปสืบเรื่องราวก็พบว่าไม่ได้มาจากสถานที่ทำงานหรอก จนคนสุดท้ายเมื่อไม่เกินปีนี้เองที่สืบยังไง เหตุการณ์ก็ยังชี้ว่ามาจากที่ทำงาน

    ตอนที่รู้ก็มีหมอคนอื่นเขาดูแลคนป่วยอยู่แล้ว ประกอบกับระบบที่เคยเฝ้าระวังเรื่องภูมิคุ้มกันที่เคยทำๆมาบอกว่าคนมีภูมิกันเป็นส่วนใหญ่ ก็เลยไม่ได้เข้าไปเกี่ยวด้วย

    ที่มาของการขอคำปรึกษาจากผู้รู้เรื่องความชื้นก็มาจากการเคยเกิดเหตุการณ์ ตอนนั้นแก้กันด้วยการจัดการเรื่องการจัดคนไข้เข้าเตียง เพราะรู้แล้วก็ยังแก้ไม่ออกเรื่องความชื้น ที่ไม่รู้ว่ามาจากไหน

    เพราะตึกมันเก่า ก็เคยย้ายไปทำงานอีกตึกเพื่อซ่อมครั้งหนึ่งแล้ว ตอนย้ายตึกไปก็ไม่มีใครป่วย ปรากฏว่าคนป่วยไปโผล่ที่หน่วยงานอื่น คนๆนั้นเคยทำงานอยู่ที่ตึกเก่าก่อนย้ายไปอยู่หน่วยงานใหม่ก็เลยเอะใจว่าจะมีเรื่องเกี่ยวกับสถานที่ ก็เลยกลับมาทบทวนอีกครั้งว่าจะช่วยอะไรได้บ้างมั๊ยด้วยการใช้ความรู้พื้นฐานเรื่องบรรยากาศนี่แหละ

    พอดีมีเรื่องของไข้หวัดนกเข้ามา เจ้าหน้าที่ตรงหน่วยนี้รับคนไข้ติดเชื้อทางเดินหายใจไปก็พากันขวัญเสียกันไป ที่จริงก็มีทีมงานทำกันอยู่แล้ว แต่ดูเหมือนจะบานปลายในความคิดถึงขั้นจะติดปล่องไล่ลมกัน เจ้านายก็หาทางออกยังไม่ได้ รู้แล้วก็อดไม่ได้ตามประสาพี่ที่จะเข้าไปแบกเรื่องมาใส่บ่าด้วย

    พอแกะรอยเอาความรู้เดิมมาใช้งาน ก็สนุกดี ตามต่อไปเรื่อยๆก็ใจชื้นว่า อืม พอช่วยได้ ก็เลยมีแรงทำต่อ ทำแล้วก็ไปลอง ก็ได้มุมมาค้นหาความรู้ในตัวเองต่อว่า รู้อะไรที่นำไปใช้ได้บ้าง ไม่รู้อะไรก็รอๆไว้เติมข้อมูลไปก่อนไม่รีบตัดสินใจ ก็มาได้ข้อสรุปอย่างที่เขียนในบันทึกนี้แหละ

    อาจารย์ทวิชช่วยทำให้พี่ใจชื้นว่า เรื่องพื้นฐานนี่แหละ ถ้าแกะรอยให้เป็น ทำอะไรไปได้เยอะ และทำด้วยความเข้าใจด้วยนะ ไม่ใช่มั่วตามความเห็นของใคร

  • #4 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 กุมภาพันธ 2011 เวลา 19:20

    #4 ที่อาจารย์ช่วยเติมความรู้ว่า “ติดพัดลมแล้ว ดูดอากาศออกก็ได้ เข้าก็ได้” ทำให้มั่นใจในความคิดที่กำลังจะตัดสินใจมากเลยค่ะ

    ยังยั้งใจอยู่อีกหน่อยก็เรื่องลมที่ดูดเข้าจะร้อนนี่แหละค่ะ เพราะว่าตรงพื้นที่นอกอาคารตรงปลายสุดของขาตัวแอลข้างหนึ่ง ตรงจุดเลยประตูห้องพักของเจ้าหน้าที่นั้น เป็นที่ซึ่งมีลมเป่าจากเครื่องดูดลมแอร์อยู่ ๒ ตัว ห่างออกไปราวๆ ๓ เมตร ดูดลมร้อนนี้เป่าเข้าไปแล้ว จะทำให้ภายในตึกอากาศร้อนขึ้นแค่ไหน

    ดูๆไปแล้วลมร้อนนี่ดีตรงไล่ความชื้นสัมพัทธ์ตรงนี้ให้ได้ ซึ่งคิดว่ายอดเยี่ยมเลย กลัวเรื่องทำให้เขาร้อนกว่านี้ก็เลยยังรอไปสังเกตต่อ

    ขอบคุณอาจารย์ที่ช่วยเฉลยข้อสงสัย ว่าพัดลมเป่าทำให้อากาศหมุนวนและเป่าลมไปที่ญาติคนไข้ได้ จะนำไปใช้สังเกตทิศทางลมเวลาเปิดพัดลมเป่าเวลาคนไข้ร้อนค่ะ

    อาจารย์ช่วยเติมแค่นี้ก็มีเืรื่องให้ไปเล่นต่ออีก แล้วจะนำมาเล่าให้ฟังต่อค่ะ

    ตอนนี้รอค่าความชื้นสัมพัทธ์ตรงจุดที่ลมนิ่ง ว่าเป็นยังไงบ้าง ต่างกันยังไงเวลาฝนตก ครึ้มฝน และฝนไม่ตก ตรงจุดที่คนไข้นอน

    ส่วนจุดของห้องพักพยาบาล ไปต่อได้อีกหน่อยเมื่อรู้ทิศลมร้อนนอกห้องที่มาจากแอร์ ๒ ตัว

    ว่าจะถ่ายภาพมาให้ดู ก็เห็นว่าวิดิโอดีกว่า แต่ตอนนี้ก็ฝีมือโลเทคในเรื่องวิดิโอ ก็เลยใช้วิธีสื่อสารเรื่องตัวแอลมาปรึกษา ซึ่งก็เดาๆไว้ก่อนว่าอาจารย์ช่วยได้แน่ๆ ก็ช่วยได้จริงๆนั่นแหละ ขอบคุณมากๆ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.049482822418213 sec
Sidebar: 0.11822104454041 sec