ตามลม(๖) : เข้าใจเรื่องที่ซับซ้อนของลมก่อนจะดีกว่าเยอะเลย

อ่าน: 1736

ในที่ซึ่งร้อน เขาว่าอากาศขยายตัวง่าย ถ้านึกว่ามวลอากาศคือคน การขยับตัวของคนทำได้ง่ายเมื่อมีคนไม่แน่น หรือมีคนน้อยอยู่ในที่แคบๆ อย่างนี้อากาศที่ร้อนขยับตัวง่าย ก็เพราะมีมวลอากาศไม่แน่นหรือมีจำนวนน้อยในที่แคบซินะ

อากาศมีน้ำหนักในตัวมันกดลงมาที่พื้นโลก รับรู้ได้ผ่านของเหลวบนโลก เพราะของเหลวเคลื่อนไหวตัวง่ายกว่าของแข็งอย่างพื้นดินหรือหิน ถ้าคิดถึงคน การขยับตัวง่ายก็ขึ้นกับน้ำหนักตัวคนด้วย คนไหนเบาก็เคลื่อนตัวง่ายกว่า อย่างนี้อากาศร้อนก็มีน้ำหนักเบา คนตัวเบากระโดดได้สูงกว่าคนตัวหนัก อากาศก็คงเหมือนกัน มิน่าอากาศร้อนจึงอยู่ในระดับที่สูงกว่าอากาศเย็น กระโดดตัวขึ้นไปง่ายกว่านี่เอง

น้ำหนักของอากาศที่ร้อนเบา ก็หมายถึงอากาศตรงนั้นมีความกดอากาศน้อยหรือต่ำด้วย

อากาศในหุบเขานี่เป็นยังไงนะ ต่างจากอากาศในพื้นราบยังไง เวลาไม่มีลม อากาศเย็นจึงเกิดหมอก หรือละอองหมอก

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต

คนเขาอธิบายไว้ว่า เวลากลางวัน แสงอาทิตย์ทำให้ไหล่เขาร้อนกว่าหุบเขาตรงจุดที่พื้นดินของทั้ง ๒ พื้นที่มีความสูงเท่ากัน ความต่างของความกดอากาศของ ๒ จุดนี้จึงเกิดขึ้น  ลมจึงพัดจากเชิงเขาขึ้นสู่ลาดเขา  ซึ่งเรียกกันว่า “ลมหุบเขา”  หลังดวงอาทิตย์ตก ไหล่เขาร้อนน้อยลงเรื่อยๆจากแดดที่ลดลง และพื้นดินไหล่เขาลดร้อนได้เร็วกว่าในหุบเขา หุบเขาจะร้อนกว่าไหล่เขา ความต่างของของความกดอากาศของ ๒ จุดที่เกิดขึ้นทำให้ลมพัดจากไหล่เขา ลาดเขาลงไปในหุบเขา  ซึ่งเรียกกันว่า “ลมภูเขา”

การที่ลมไม่พัดเกิดจากความกดอากาศทุกทิศทางไม่แตกต่างกัน อย่างนี้หมายถึงที่พื้นที่แบบหุบเขาไม่มีลมพัด เป็นเพราะความกดอากาศระหว่างหุบเขากับไหล่เขาที่ระดับความสูงนั้น เท่ากันนะซินะ

หมอก ละอองหมอก เกี่ยวข้องตรงๆกับไอน้ำในอากาศ เมื่อไรไอน้ำไม่มีที่แทรกในอากาศแล้วมันก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ไอน้ำจะแทรกตัวได้มากก็ต่อเมื่ออากาศไม่แห้ง  ยิ่งอากาศเปียกเท่าไร ไอน้ำก็ยิ่งแทรกตัวได้น้อยเท่านั้น การเกิดหยดน้ำก็ง่ายขึ้นเท่านั้นเช่นกัน อย่างนี้แปลว่า ตรงเวลาที่เกิดหมอกนั้น ความชื้นสัมพัทธ์เกือบใกล้ ๑๐๐% แล้วซินะ

แรงกดของอากาศ บอกถึงความสามารถของอากาศในการรับสิ่งของมาปนอยู่ในเนื้อของมัน  อย่างนี้เวลาที่เห็นหมอก บอกกันได้เลยว่าการไม่มีลมพัดในหุบเขา ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการรับไอน้ำเข้าไปในอากาศ สรุปอย่างนี้เอาไว้ก่อนละกัน

มาถึงตรงนี้ ได้ข้อเตือนใจว่า “ตรงไหนที่ลมไม่พัด ความชื้นสัมพัทธ์ยังเพิ่มได้ จะเพิ่มได้มากแค่ไหนไม่ขึ้นกับความกดอากาศตรงจุดนั้น ระหว่างจุดที่ลมไม่พัด กับจุดที่มีลมพัดไป-มา ถ้ามีความชื้นสัมพัทธ์สูงเท่ากัน จุดที่ลมไม่พัดจะมีเชื้อโรคที่ชอบความชื้นอยู่ได้นานกว่า”

อืม ที่เตือนตัวเองว่าเมื่อเห็นลมพัด ให้มองทะลุว่ามี ๓ เรื่องแฝงอยู่ ความร้อน(รังสีจากดวงอาทิตย์) ความชื้น(ไอน้ำ) และ ความกดอากาศ (ผลรวมของแรง ๓ ทิศทางที่ดันมวลอากาศ) เวลานำมาเชื่อมกัน พอจะเห็นความสัมพันธ์ว่ามีหลายมิติที่ซ้อนทับกันอยู่ แล้วความซับซ้อนก็ยิ่งเพิ่มมาอีกชั้นเมื่อมีเรื่องเชื้อโรคเข้ามาเกี่ยวด้วย

เห็นแล้วว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับอากาศสะอาดนี่ ยิ่งเป็นเรื่องซับซ้อนเข้าไปอีกหลายชั้นเลย ยิ่งพื้นที่ตรงไหนมีผู้ป่วยอยู่ด้วย ตรงนั้นยิ่งซับซ้อนมากเข้าไปใหญ่เลย แค่ผู้ป่วยคนเดียวก็เหลือเฟือแล้วกับการตามรอยไปดู

« « Prev : ตามลม(๕) : ร้อน-เย็น แรงดันลม กับไอน้ำ มันเกี่ยวกันนะ

Next : ตามลม(๗): อึดอัด….อากาศ….ความร้อน…ไอน้ำ….มีความเกี่ยวพันกันนะ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม(๖) : เข้าใจเรื่องที่ซับซ้อนของลมก่อนจะดีกว่าเยอะเลย"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.11988711357117 sec
Sidebar: 0.5767228603363 sec