ตามลม(๕) : ร้อน-เย็น แรงดันลม กับไอน้ำ มันเกี่ยวกันนะ
ที่ผ่านมาก็นึกถึงแต่ลมในแนวราบเวลาที่คนพูดถึงลม นึกถึงความดันอากาศเมื่อคนพูดถึงพายุหรือลมบนหรือกระแสลม และนึกถึงอากาศเมื่อพูดถึงลมหายใจ
อืม ต่อไปก็ยังนึกอย่างนี้ได้ แต่ต้องเปลี่ยนความเข้าใจใหม่เวลาเห็นความเคลื่อนไหวของอากาศว่า ที่เห็นรูปร่างนั้นมันเคลื่อนไหวไปก็เพราะว่ามีแรงเข้ามาดันตัวมันให้เคลื่อนไป
ทิศที่เคลื่อนไปก็จะเป็นทิศที่โดนผลักโดยแรงที่แกร่งกว่าไปยังแรงที่อ่อนกว่า ลมที่พัดจะแรงหรืออ่อนก็อยู่ที่ความต่างของแรงที่ดันมัน
เมื่ออุณหภูมิที่ ๒ จุดต่างกันแล้วเกิดลมขึ้น เวลาเห็นวัตถุเคลื่อนไหวตามลม ต่อไปอย่าลืมก็แล้วกันว่ามีเรื่อง ๓ เรื่องซ่อนอยู่ หนึ่งคือ ความร้อน-เย็น หนึ่ง คือ แรงดันลม และ อีกหนึ่ง คือ ไอน้ำในอากาศ
ถ้าเปรียบเทียบมวลสารของลมเป็นคน ร้อน-เย็น ชื้นก็เหมือนของฝากที่ถูกเตรียมไว้ตรงที่หนึ่งๆอยู่แล้ว เมื่อคนถูกดันหรือผลักให้เคลื่อนที่มาเจอก็ถูกยัดใส่มือติดตัวไปด้วย เมื่อรับฝากจนรู้สึกว่าหนัก เวลาผ่านไปตรงไหน นิสัยคนก็จะผ่องถ่ายฝากต่อไว้ตรงที่สามารถฝากได้ ยังไม่อยากฝากก็กอดติดตัวไปมากๆไว้ มากๆเข้าก็ต้องปลดของฝากทิ้งจากตัวอยู่ดี ทิ้งไอน้ำก็กลายเป็นน้ำค้าง หมอก ฝน ทิ้งร้อนให้กับเย็น ทิ้งเย็นให้กับร้อน กลายเป็นความอุ่นสบาย เย็นสบาย
การผ่องถ่ายความร้อน การควบแน่นของไอน้ำ คือการปลดระวางของติดตัวที่หนักทิ้งไปของมวลอากาศนี่เองเนอะ ธรรมชาตินี่ไม่ธรรมดาจริงๆ
เพิ่งรู้ว่าลมเป็นมวลอากาศที่เกิดจากแรงผลักในแนวราบ กระแสลมเป็นมวลอากาศที่เกิดจากแรงผลักในแนวดิ่ง กระแสลมที่เห็นพัดเฉไปเฉมาก็เพราะการหมุนรอบตัวเองของโลกแล้วมีแรงที่หมุนตัวเองเข้ามาหา มาผลักมันในมุมตั้งฉาก แล้วทำให้มันถูกดันให้เคลื่อนที่ไปในแนวนอน (นักวิชาการเขาเรียก “แรงคอริออลิส” ) ถ้าพัดอยู่ในซีกโลกเหนือ แรงนี้จะทำให้มันเฉไปทางขวา ถ้าเป็นซีกโลกใต้ ก็เฉไปทางซ้าย แรงนี้เพิ่มขึ้นเมื่อละติจูดสูงขึ้น จึงแรงที่สุดที่ขั้วโลกทั้งสอง และเป็นศูนย์ที่เส้นศูนย์สูตร
ความแรงของแรงที่เข้ามาดันมาผลักมวลอากาศ เขาใช้ค่าความสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนักกับพื้นที่เป็นตัวบอก หน่วยพื้นที่ที่ใช้เป็นค่าตารางนิ้ว หน่วยน้ำหนักที่ใช้เป็นปอนด์ แปลมาเป็นน้ำหนักอากาศหรือแรงที่กดทับลงไปบนผิวน้ำทะเลที่อยู่เป็นระดับปานกลางของพื้นโลก
แรงอากาศที่กดลงบนปรอทเมื่อปะทะกับแรงไหลของปรอท เมื่อเท่ากันแล้วปรอทหยุดไหล จะเหลือปรอทในแท่งแก้วอยู่ ๗๖๐ มิลลิเมตร
มีคนลองใช้ปรอทบรรจุในแท่งแก้วทรงสูงปลายเปิดแล้วคว่ำลง พบว่าเวลาคว่ำปรอท ปรอทที่ไหลออกมาไม่ได้ไหลเทออกหมด ตรงจุดที่หยุดไหลเหลือปรอทอยู่ในแท่งแก้ววัดได้สูง ๗๖๐ มิลลิเมตร
ถ้านึกถึงแรงดันกับแรงผลัก แปลว่า ณ เวลาที่ปรอทไม่ไหลออก ถ้ามีแรงดันลงบนปรอท แรงนั้นก็เท่ากับแรงไหลของปรอท
เข้าใจแล้วว่า ทำไมจึงใช้ของเหลวมาประยุกต์ใช้วัดความดันได้ เออ ตรงนี้น่าจะนำไปประยุกต์ใช้ง่ายๆได้แบบบ้านๆ
แต่นึกไม่ออกว่าที่ใช้น้ำหนักอากาศเป็นค่าแรงดันของอากาศที่กดลงบนพื้นที่นั้นๆ ก่อนมีเครื่องวัดความดันอากาศ เขาชั่งน้ำหนักอากาศกันยังไง
« « Prev : ตามลม(๔):ดูทิศทางลมไว้หน่อยก็ดีนะ
Next : ตามลม(๖) : เข้าใจเรื่องที่ซับซ้อนของลมก่อนจะดีกว่าเยอะเลย » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม(๕) : ร้อน-เย็น แรงดันลม กับไอน้ำ มันเกี่ยวกันนะ"