ตามลม(๗): อึดอัด….อากาศ….ความร้อน…ไอน้ำ….มีความเกี่ยวพันกันนะ

อ่าน: 1422

โดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน เวลาพูดถึงความร้อน-เย็น ก็ไม่ใคร่นึกไปถึงอุณหภูมิเท่าไร เว้นแต่เมื่อไรอยากรู้ว่าร้อน-เย็นมากน้อยแค่ไหนจึงคิดถึงคำว่า “อุณหภูมิ” แล้วไปวัดมาดู

ลืมไปแล้วว่า อุณหภูมิที่วัดได้เขาแปลผลอะไรออกมา จนต้องใช้งานใหม่นี่แหละ ก็เลยมีการทวนความเข้าใจให้ตรงกัน

อุณหภูมิ คือ ค่าความร้อนเย็นของมวลสารที่เกิดจากความสัมพันธ์กันของการส่งผ่านและรับการถ่ายพลังงานความร้อนจากคลื่นความร้อนและรังสีจากดวงอาทิตย์เป็นทอดๆมาให้กับมวลสาร ความร้อนเย็นของมวลสารจึงแปรเปลี่ยนไปตามเวลาที่สัมผัสพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์

เช้าถึงเที่ยงเป็นช่วงขาขึ้นของอุณหภูมิ ช่วงที่รับพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์มากที่สุดเป็นช่วงเที่ยง ช่วงบ่ายแม้แสงอาทิตย์จะผ่อนลง แต่ยังมีพลังงานความร้อนแผ่ลงมาจากดวงอาทิตย์ ช่วงที่อากาศร้อนที่สุดจึงกลับเป็นบ่าย และช่วงที่เย็นลงเป็นช่วงเย็นโพล้เพล้

มุมที่แสงอาทิตย์ตกกระทบพื้นผิวโลกเปลี่ยนแปลงไปตามการหมุนตัวของโลก เที่ยงวันดวงอาทิตย์อยู่สูงเหนือขอบฟ้ามากที่สุด แสงอาทิตย์ตกกระทบพื้นโลกเป็นมุมฉาก ลำแสงมีความเข้มสูง

เช้า-เย็น ดวงอาทิตย์อยู่ด้านข้าง แสงตกกระทบพื้นโลกเป็นมุมเฉียง ลำแสงครอบคลุมพื้นที่กว้างกว่า ความเข้มของแสงน้อยกว่า ความเข้มของแสงลดลงโดยถูกบรรยากาศกรองแสงไว้ มุมลาดคือเหตุที่ทำให้ระยะทางผ่านชั้นบรรยากาศของแสงไกลขึ้น

เมื่อแสงจางลงๆ อุณหภูมิก็เย็นลงๆ  อย่างนี้พลังงานความร้อนก็จางลงตามระยะทางที่เกิดจากมุมลาดที่แสงผ่านด้วยหรือเปล่า

ตัวคนก็มีอากาศ อากาศในตัวคนไม่ได้อยู่แค่ในปอด แต่แทรกอยู่ในทุกตารางนิ้วของร่างคน เขาว่าการที่คนอยู่ได้ในวิถีประจำวันโดยไม่รู้สึกว่ามีอากาศกดลงบนตัวและไม่อึดอัด เพราะอากาศที่กดลงบนตัวคนเวลานั้นๆเท่ากับแรงของอากาศที่อยู่ในตัวที่ต้านแรงกดจากอากาศภายนอกตัวไว้

พอจะเอาตรงนี้ไปใช้สังเกตเฝ้าระวังอันตรายให้คน “เมื่อความรู้สึกของร่างกายไม่อึดอัด หรือเมื่อร่างกายคนไม่ระเบิดออก เดาได้ว่าแรงกดอากาศนอกตัวคนกับในตัวคนเท่ากัน”

เมื่อแวบนึกถึงร่างกายที่ระเบิดกระจุยเพราะวัตถุระเบิด  ก็เก็บเพิ่มมาได้อีกว่า “เมื่อคนรู้สึกได้ว่าอึดอัดตรงไหน ตรงนั้นคือจุดที่มีความต่างของแรงกดอากาศภายนอกกับภายในตัว   และถ้าความต่างนี้มีค่าสูง เนื้อเยื่อในร่างกายก็จะระเบิดแตกออกมาด้วยทนแรงกดอากาศที่อัดร่างกายอยู่ไม่ได้”

เวลาขึ้นที่สูงบนยอดเขาเวลาเช้า อากาศเย็น ไปอยู่ใกล้น้ำ เวลาแดดออก อากาศเย็น ไปอยู่ใต้ต้นไม้ อากาศเย็น  เวลาเอามาเชื่อมกับ ๓ เรื่องที่แฝงอยู่ในลม ความร้อน(รังสีจากดวงอาทิตย์) ความชื้น(ไอน้ำ) และ ความกดอากาศ (ผลรวมของแรง ๓ ทิศทางที่ดันมวลอากาศ)  ก็เห็นความสัมพันธ์หลายมิติที่ซ้อนทับกันอยู่

เขาอธิบายเรื่องความกดอากาศสูง-ต่ำไว้ว่า ตรงที่ความกดอากาศสูง กระแสลมจะพัดตามเข็มนาฬิกาออกจากศูนย์กลาง และที่ตรงนี้จะมีสภาพท้องฟ้าแจ่มใส อากาศเย็น  ตรงที่ความกดอากาศต่ำ กระแสลมจะพัดทวนเข็มนาฬิกาเข้าหาศูนย์กลาง สภาพท้องฟ้าจะมีเมฆมาก ถ้าความกดอากาศต่ำมากก็จะเกิดพายุต่างๆ ขึ้น

เวลาไอน้ำเข้าไปปนในอากาศจับตัวกันมากขึ้นๆเราก็เห็นเป็นเมฆ ตรงไหนที่มีเมฆอยู่แล้วไม่มีไอน้ำไปเติมเพิ่ม เมฆนั้นก็จะสลายตัวไป การจับตัวของไอน้ำให้เห็นเป็นเมฆเกิดอยู่ที่หลายระดับความสูง

พูดถึงไอน้ำที่เจือปนในอากาศแล้วกลั่นตัวเป็นหยดน้ำให้เราจับต้องได้ ก็นึกได้ว่ามีหลายรูปแบบที่ตาเห็น มือจับได้ น้ำค้าง หมอก แม่คนิ้ง เมฆ ฝน หิมะ น้ำแข็ง เป็นอะไรที่เราคุ้นเคย

ถ้าเมฆคือไอน้ำที่ลอยตัวปนอยู่ในอากาศเหนือพื้นโลก อย่างนี้ไอน้ำที่ลอยตัวปนอยู่ในอากาศเหนือพื้นโลกในระยะประชิดเกือบติดดินอย่างหมอกก็คือเมฆที่เราไม่เคยคิดเลยว่าเป็นเมฆเลยเนอะ  หมอกจะเกิดขึ้นในขณะที่ลมสงบ หนาวและพื้นที่มีลักษณะแบบหุบเขา

เวลามองหมอก เมฆ ละอองหมอกจะมองทะลุได้ไม่เท่ากัน ทั้งหมดเป็นรูปของการจับกลุ่มเกาะตัวกันของไอน้ำที่ใช้บอกถึงการจับตัวกันแบบ “หลวม-แน่น” ของไอน้ำที่สื่อถึงปริมาณที่เจือปนอยู่ในแต่ละระดับความสูงจากพื้นดินที่มีความเย็นกับลมเข้ามาเกี่ยวด้วย

เมื่ออากาศอิ่มตัวด้วยไอน้ำในขณะหนึ่งๆ การก่อเมฆและหมอกจากไอน้ำเปลี่ยนตัวเป็นหยดน้ำจะเกิดก็ต่อเมื่อมีแกนมวลสารให้เกาะตัว

หมอก ละอองหมอก เกี่ยวข้องกับการไม่มีลม มีความเย็น มีพื้นที่แบบหุบเขา และการอยู่ใกล้ชิดกับดิน เข้ามาเป็นปัจจัยสัมพันธ์ ไอน้ำที่เห็นเป็นควันหรือไอขาวหลังความเย็นปะทะความร้อน หรือเห็นเหนือน้ำ หรือสภาพฟ้าหลัว เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของหมอก

เมฆ เกี่ยวข้องกับลม ความเย็น พื้นที่บนท้องฟ้า และการอยู่ห่างจากพื้นดิน เข้ามาเป็นปัจจัยสัมพันธ์ ระยะทางเหนือพื้นดินขึ้นไปภายใน ๑๐ กิโลเมตรแรก เมื่ออากาศมีความสัมพันธ์กับไอน้ำในอากาศจนเกิดเมฆ จะพบเมฆได้ถึง ๑๐ ชนิดทีเดียว

อย่างนี้ถ้าไอน้ำที่อยู่ใกล้คนใช้เชื้อโรคที่ปนในอากาศเป็นแกนเกาะตัว ละอองน้ำที่เกิดขึ้นก็มีขนาดเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แถมเบาจนปลิวตามลมไปได้เรื่อยเปื่อยซิ  ความชื้นของอากาศน่ากลัวตรงนี้เองสำหรับคน

« « Prev : ตามลม(๖) : เข้าใจเรื่องที่ซับซ้อนของลมก่อนจะดีกว่าเยอะเลย

Next : ตามลม(๘) : มีความชื้นก็ต้องหาแหล่งกำเนิดความชื้นให้เจอ…อยู่ที่ไหน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม(๗): อึดอัด….อากาศ….ความร้อน…ไอน้ำ….มีความเกี่ยวพันกันนะ"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.016427993774414 sec
Sidebar: 0.11093997955322 sec