ตามรอยน้ำพุร้อน (๑)

อ่าน: 2316

อ่านเรื่องภูเขาไฟของ iwhale แล้วกระตุกความคิด การเตรียมรับภัยพิบัติทางการแพทย์ว่าในพื้นที่ของกระบี่มีอะไรอีกที่ควรเตรียมการต่อหลังจากมีประสบการณ์กับสึนามิ

หลักฐานหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเขาใช้บอกว่าภูเขาไฟที่ใกล้จะมอดแล้วหรือดับลงจะมีน้ำแร่ร้อนประทุออกมา เรียกว่า น้ำพุร้อน แล้วบางครั้งก็มีลักษณะควันไฟพุ่ง เรียกว่า ฟูมาโรลส์

กระบี่มีน้ำพุร้อนอยู่หลายแห่งและมีลักษณะพิเศษคือมีทั้งน้ำพุร้อนจืดและน้ำพุร้อนเค็ม

แล้วทางจังหวัดตั้งแต่ผู้ว่าฯลงมาจนถึงอปท.ก็คิดอ่านจะโปรโมทให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว  จึงเป็นโจทย์ใหญ่ให้ใคร่ครวญทวนหันมามองระบบที่ทำงานอยู่เรื่องศักยภาพการบริการฉุกเฉินที่ควรมองซะตั้งแต่เดี๋ยวนี้ จะเกิดอะไรขึ้นจะได้ไม่เจอชะตาเหมือนตอนเจอสึนามิ

สึนามิเกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว  ก็ไปได้เรื่องการเตรียมพร้อมเรื่องแผ่นดินไหวที่คุณสุรเดช เหลี่ยววงศ์ภูธร ถอดบทเรียนไว้เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๙ เกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่แม่ริม เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๙  ก็เลยคัดมาไว้ใช้งาน

บทเรียนจากประเทศไทย :

คุณอดิศร ฟุ้งขจร หัวหน้าสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา คือ หนึ่งในผู้ที่เคยศึกษาและมีองค์ความรู้ด้านแผ่นดินไหวของบ้านเรา

คุณอดิศรศึกษาในเรื่องมุมของการประเมินว่าการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในตำนานและประวัติศาสตร์ถ้าจะเทียบเคียงกับมาตราวัดที่ใช้ในปัจจุบันจะเป็นอย่างไร

พบว่าพื้นที่ประเทศไทยเคยเกิดแผ่นดินไหวและมีข้อยืนยันในตำนานและประวัติศาสตร์ (ก่อนการตั้งสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหว) อยู่ ๓ ครั้ง ดังนี้

๑. เวียงหนองล่ม (พ.ศ. ๑๐๐๓) มีบันทึกในตำนานไว้ดังนี้

“สุริยาอาทิตย์ก็ตกไปแล้วก็ได้ยินเสียงเหมือนดังแผ่นดินสนั่นหวั่นไหว (Fore Shock) ประดุจดังวังเวียงโยนกนครนี้ที่นี้จักเคลื่อนจักพังไปแล้ว และแล้วก็หายไปครั้งหนึ่ง ครั้นถึงมัชฌิมยามก็ดังซ้ำมาเป็นคำรบสอง (Main Shock) แล้ว ก็หายไปนั้นแล ถึงปัจฉิมยามก็ซ้ำดังมาอีกเป็นคำรบสาม หนที่สามนี้ดังยิ่งกว่าทุกครั้งทุกคราวที่ได้ยินมาแล้ว จากนั้นเวียงโยนกนครหลวงที่นั้นก็ยุบจมลง เกิดเป็นหนองอันใหญ่ ยามนั้นคนทั้งหลายอันมีในเวียงที่นั้น มีพระมหากษัตริย์เป็นประธานก็วินาศฉิบหายไปในน้ำทั้งสิ้น (ประชุมพงศาวดาร ภาค ๖๑, ๒๕๑๕)

๒. บันทึกเชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๐๒๕) บันทึกว่า

“เวลาค่อนรุ่ง เกิดแผนดินไหวอย่างรุนแรงและมีเสียงดัง” (โชติสุขราศ ๒๕๑๖ พ.ศ. ๒๐๘๘ ยอดพระเจดีย์หลวง (ความสูงทั้งหมด ๘๖ เมตร) หักลงมาเหลือแต่ ๖๐ เมตร (ศรีสวัสดิ์ ๒๕๐๔)

๓. บันทึกสุโขทัย พ.ศ. ๑๙๐๕ “พระธรณีเจ้าก็บันดาลกัมปนาทหวาดไหว” พ.ศ. ๑๙๐๙ “ปัถพีหวั่นไหวยิ่งใหญ่ทั่วทุกทิศ” (ประชุมศิลาจารึกภาค ๑, ๒๕๑๕)

เมื่อการตรวจวัดแผ่นดินไหวละเอียดและแม่นยำมากขึ้นเพราะได้ความรู้ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านรอยเลื่อนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และได้เครื่องตรวจวัดเป็นระบบดิจิตอลจากอเมริกามาเปลี่ยน ก็พบว่าบริเวณรอยเลื่อนต่างที่มีในประเทศไทยที่เชื่อว่าสงบแล้ว มีปรากฏการณ์แผ่นดินไหวขนาดเล็ก (Micro Scale: 1-4 Righter) ในบริเวณแนวเชียงแสน-อันดามัน

ถอดบทเรียนจากโกเบมาใช้กับประเทศไทย : ผิดแล้วเป็นครู

แผ่นดินไหวรุนแรงวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๓๘ เกิดขึ้นในบริเวณที่ที่มีแนวของรอยเลื่อนที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กๆ แต่เชื่อมกับรอยเลื่อนใหญ่ เลยไม่ได้รับการเอาใจใส่ที่จะติดตาม และในที่สุดก็เกิดความเสียหายจากการไม่ระมัดระวัง

เหตุการณ์โกเบทำให้มีการประเมินสภาวะการณ์ของประเทศไทยสรุปได้ดังนี้ ประเทศไทยยังมีร่องรอยที่บ่งชี้ว่ามีพลังงานใต้พิภพอยู่(น้ำพุร้อน) มีตำนานและประวัติศาสตร์เกี่ยวกับแผ่นดินไหว(เวียงหนองล่ม, เจดีย์หลวง) การศึกษาทางธรณีพบรอยเลื่อนเชื่อมต่อกับรอยเลื่อนด้านอันดามัน พม่าและยูนาน ดังนั้น การสร้างองค์ความรู้ เพื่อใช้ในการบริหารสาธารณภัยในพื้นที่เสี่ยงภัย และการติดตามแผ่นดินไหวจึงมีความสำคัญ

วิธีคิดแบบองค์รวมหรือระบบแผ่นดินไหว

การเกิดแผ่นดินไหวไม่ได้มีปัจจัยเฉพาะจุด เพราะความรู้พื้นฐาน คือ การพิจารณาทั้งแนวรอยเลื่อน ซึ่งถ้าจะนำมามองแบบมุมกว้าง(Bird eye view) ก็ ควรจะเป็นระบบรอยเลื่อนที่สัมพันธ์กัน ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดที่เกิดแผ่นดินไหวที่เชียงใหม่บ่งชี้ว่า ระบบรอยเลื่อนและปรากฏการณ์แผ่นดินไหวของไทย เป็นระบบเดียวกันกับรอยเลื่อนในมหาสมุทรแปซิฟิก-อันดามัน (แผ่นดินไหว ๘ ธ.ค. ๒๕๔๙ (หมู่เกาะคูริน) ๙ ธ.ค. ๒๕๔๙ (สุมาตรา ๒ ครั้ง หมู่เกาะคูริน ฟิลิปปินส์) ๑๐ ธ.ค. ๒๕๔๙ (Ryukyu) ๑๒ ธ.ค. ๒๕๔๙ (ทะเลมะละกา) ๑๓ ธ.ค. ๒๕๔๙ (แม่ริม ชม. สุมาตรา)

ข้อคิดเห็นของคุณสุรเดช : ท่าทีและการสร้างองค์ความรู้

๑. การเตรียมพร้อมและสร้างองค์ความรู้ที่จะทำให้อยู่กับสถานการณ์แผ่นดินไหวได้อย่างปลอดภัยมีความจำเป็น

๒. สถานการณ์ปัจจุบัน เรื่องแผ่นดินไหวได้พัฒนาระดับความรุนแรงและส่งผลต่อประเทศไทยอย่างชัดเจนแล้ว คือ กรณี ซึนามิ

๓. ปรากฏการณ์แผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องไกลตัวของประเทศไทยอีกต่อไป เพราะ

๓.๑ ความถี่ของการเกิดแผ่นดินไหว ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก, มหาสมุทรอินเดีย และในทวีปเอเชีย เป็นส่วนใหญ่ (รายละเอียด: www.tmd.go.th: ๒๕๔๖ ๒๙ ครั้ง, ๒๕๔๗ ๖๑ ครั้ง, ๒๕๔๘ ๓๘๐ ครั้ง, ๒๕๔๙ (๑๓ ต.ค.) ๒๒๔ ครั้ง)

๓.๒ พลังงาน ที่เกิดจากแผ่นดินไหวจะถูกส่งออกเป็นรูปคลื่น ทั้ง ๓ ระนาบ (ซ้าย-ขวา, หน้า-หลัง, และบน-ล่าง) ประกอบกับอยู่ภายใต้กฎของฟิสิกส์ ที่ว่าพลังงานและสสารไม่สูญหายไปไหน ดังนั้นการเกิดแผ่นดินไหวใน Tectonics plate ที่ประเทศไทยตั้งอยู่และ Plate ที่เกี่ยวเนื่องกัน ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาของรอยเลื่อนในประเทศไทยไม่มากก็น้อย

๔. การจัดองค์กรและบุคลากร เรื่องแผ่นดินไหวเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนมาก ดังนั้นบุคลากรที่จะเข้ามาทำงาน ผู้บริหารระดับสูงจะต้องมีความจริงใจและจริงจัง ที่จะ Put the right man to the right job. โดยตัดระบบอุปถัมภ์ที่อยู่บนฐานของผลประโยชน์ออกไปอย่างเด็ดขาด เนื่องจากบุคลที่จะมาทำหน้าทีนั้น เมื่อเกิดข้อผิดพลาดหรือบกพร่องแล้วอาจจะมีความสูญเสียที่ประมาณค่ามิได้ เช่น ซึนามิในภาคใต้ ประกอบกับต้องเป็นคนใฝ่รู้ สร้างองค์ความรู้ได้ พร้อมกับนำองค์ความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้อย่างทันท่วงที

๕. การเผยแพร่ความรู้เรื่องการอยู่ภายใต้ปรากฏการณ์แผ่นดินไหว จะต้องทำอย่างไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก ประชาชนมีความเข้าใจและสามารถนำมาใช้เมื่อเกิดเหตุการณ์

๖. จากการศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติเพื่อมาใช้งาน พบว่า การเกิดเหตุการณ์ต่างจะมีวันและเดือนที่ค่อนข้างคงที่ (เป็นช่วง)ในแต่ละพื้นที่เพียงแต่ว่าจะเกิดในปีใดเท่านั้น

๗. บทความนี้จะเป็นบทความที่เป็นการรำลึกถึงซึนามิที่เกิดในอดีตที่คนไทยมักจะเลือกกับไม่เลือก แต่มีมิติการเตรียมพร้อมน้อย และชอบพูดว่า “บอกแล้วไม่เชื่อ” กับ “กระต่ายตื่นตูม” หวังว่าบทความจะทำให้เกิดการเตรียมพร้อมอย่างมีสติ

ก็เป็นอะไรที่ชี้ให้เห็นว่ามีเรื่องในระบบงานที่ต้องเตรียมอีกเยอะเลย

ที่มาของเรื่องราว : แผ่นดินไหว : การเตรียมความพร้อมที่ควรมี

« « Prev : พบลูกประดู่ก่อนนอน

Next : ตามรอยน้ำพุร้อน (๒) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามรอยน้ำพุร้อน (๑)"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.68630909919739 sec
Sidebar: 0.5325779914856 sec