ไม่ใช่เสือ
นักวิชาการ ๒ ท่านได้แลกเปลี่ยนความรู้มาให้พวกเราได้เรียนเพิ่มเรื่องของมาตรา ๖๗ วรรค ๒ ท่านหนึ่งคือ ศ.ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ผู้โด่งดังเรื่องรณรงค์การใช้จักรยาน และทำงานด้านสิ่งแวดล้อม อีกท่านหนึ่งคือ ศ.ดร. เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต จากจุฬาฯ ท่านแรกมีบทบาทอยู่ในคณะกรรมการสี่ฝ่าย ท่านหลังมีบทบาทอยู่ในองค์การอิสระ องค์การสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพ
ศ.ดร.ธงชัย เล่าว่า เวลาตีความเพื่อใช้ มาตรา ๖๗ วรรค ๒ ของรธน. ๒๕๕๐ มีความต่าง อยู่ตรงคำว่า “และ” ซึ่งตีความได้ว่า สามฝ่าย แต่ฝ่ายสิ่งแวดล้อม แปลความเป็น “หรือ” ข้อกำหนดก็คือ ถ้าอาจจะก่อผลกระทบรุนแรงจำเป็นต้องทำ EIA/HIA ฟังความเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ใช่รอให้กระทบชุมชนก่อน เพราะเจตนารมย์ของมาตรานี้อยู่ที่ ผลกระทบด้านสุขภาพ สังคม และสิทธิชุมชน
และการใช้มาตรานี้ มิได้เจาะจงใช้กับพื้นที่หนึ่งๆเท่านั้น แต่หมายรวมทั่วไปทั้งประเทศ พื้นที่ไหนก็แล้วแต่ที่เกี่ยวข้องกับการให้ความเห็น ความเห็นก็เป็นแค่ความเห็น คือ เป็น second opinion ไม่ใช่ข้อตัดสินเห็นชอบ (approve) เพราะผู้ที่มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบเป็นรัฐ
ทิวทัศน์บนเส้นทางไประยองก่อนเข้าถึงเขตมาบตาพุด ภาพนี้ถ่ายก่อนสิบโมง
เวลาโครงการเข้าไปติดอยู่ในรายการ/ชื่อต่างๆ ประชาชนอยากให้ใส่ นักธุรกิจไม่อยากให้ใส่ เพราะเข้าใจว่าติดแล้วเกิดโครงการไม่ได้ แต่จริงๆเป็นแค่กระบวนการและขั้นตอนที่เพิ่มขึ้น
ท่านว่าเมื่อใส่เข้าไปแล้ว เน้นรุนแรงไม่ได้หมายความว่าจบ ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะว่าความสำคัญของมาตรานี้ไม่ได้อยู่ที่เน้นรุนแรงเป็นคำตอบ แต่อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายได้
การปฏิบัติตามมาตรา ๖๗ วรรค ๒ มีเรื่องเข้าข่ายหลายกรณี เผาป่า หมอกควัน เดินขบวน เหล่านี้เข้าข่ายด้วย เวลาใช้มาตรการนี้ ขั้นตอนมากขึ้น
ท่านว่าแต่ก่อนถ้าบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาที่เกิดขึ้นวันนี้คงไม่มี แล้วการแก้กฎหมายหรือเขียนกฎหมายใหม่ไม่ได้แก้ปัญหา คำว่า “โครงการรุนแรง” เป็นคำอันตราย เพราะสร้างความกลัวให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้องแล้วค้าน
สะดุดตากับเมฆบนฟ้า ยิ่งใกล้มาบตาพุดเมฆยิ่งหนาตัวแล้วอยู่ต่ำๆ ดูยังไงก็ไม่เหมือนเมฆฝนที่เคยคุ้น มันเมฆอะไรกัน
ท่านได้เล่าให้ฟังด้วยว่า บทบาทของกรรมการสี่ฝ่ายอยู่ที่โครงการระดับประเทศ ทำหน้าที่พิจารณา “ประเภทโครงการ” เวลาพิจารณาโครงการจึงไม่รู้เลยว่าโครงการนี้อยู่ในพื้นที่ไหน ชุมชนใด และโครงการนี้อยู่ที่ไหน ถ้าท้องถิ่นเจอโครงการที่กระทบพื้นที่รุนแรง ก็ให้ใช้ช่องทางผ่านเรื่องทางองค์กรที่เรียกว่า “คณะกรรมการวินิจฉัย”
ท่านเสนอว่าควรใช้คำว่า “โครงการที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม” แทนสำหรับโครงการระดับท้องถิ่น และใช้คำว่า “โครงการรุนแรง” กับโครงการระดับชาติ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ สำหรับอันตรายในความเห็นท่านมี ๒ มิติ คือ ระดับความรุนแรง และ โอกาสความเสี่ยง
เรื่องการทำ EIA สำหรับในพื้นที่อ่อนไหว อย่างเช่นเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ อุทยานแห่งชาติ ขึ้นกับว่าชาวบ้านร้องเรียนหรือเปล่า ถ้าไม่มีร้องเรียนก็เข้ากระบวนการทำ EIA แบบทั่วๆไป ถ้าร้องเรียนอาจเข้าข่ายโครงการที่ต้องปฏิบัติตาม
ท่านเล่าว่ามีเวลา ๔๕ วันให้ข้อมูลชาวบ้านและรับฟังเพื่อกำหนดขอบเขตของ EHIA จึงร่างรายงานแล้วจัดกระบวนการรับฟังเพื่อทบทวนรายงานก่อนส่งให้คกก.ชำนาญการพิจารณา HIA ถ้าส่งแล้วไม่ผ่านก็ปรับแก้แล้วส่งใหม่ ถ้าผ่านก็ส่งต่อให้องค์การอิสระให้ความเห็น องค์การอิสระพิจารณารายงานแล้วยังมีการหาข้อมูลเพิ่มและรับฟังความเห็นซ้ำจึงจะเสนอความเห็นให้กับครม.
(ยังมีต่อ)
๑๕ กันยายน ๒๕๕๓
« « Prev : เจตนารมย์เพื่อชุมชนนะจ๊ะ
ความคิดเห็นสำหรับ "ไม่ใช่เสือ"