ต้องอยู่กับชุมชนซิ

อ่าน: 1414

ในเรื่องของมาบตาพุด ศ.ดร.ธงชัย มีความเห็นว่าปัญหาอยู่ตรงที่มีการสะสมมลพิษแล้วไม่ได้แก้ไข ระบบติดตามเฝ้า (monitor) EIA ไม่เดิน บังคับใช้ด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงานไม่ได้ ผังเมืองถูกแก้ แนวกันชน (Buffer Zone) หาย ชาวบ้านไม่ไว้ใจ ไม่รู้ขีดความสามารถของพื้นที่ในการรองรับผลจากปัญหาสารระเหยง่ายพวกเบนซีน และ “ชาวบ้านดั้งเดิม” รู้สึกว่าต้องเสียสละมากเกินไปจึงเรียกร้องเขตควบคุมมลพิษ ความไม่ไว้ใจมาจากโดนแย่งสิ่งที่เคยเข้าถึง เช่น เตียงร.พ. ที่นั่งเรียนในโรงเรียน ระบบประปา

ท่านเล่าว่าแผนปฏิบัติการเพื่อลด/ขจัดมลพิษทำมาตั้งแต่สมัยอดีตนายกสุรยุทธ์ กำหนดสัดส่วน ๘๐ : ๒๐ โดยเอกชนลงทุน ๒๐ แต่ขาดการตรวจสอบ ชาวบ้านเลยฟ้องศาลปกครองให้ประกาศเขตควบคุม ศาลประกาศเขตควบคุมมลพิษ แต่ระยะนั้น มีการอนุมัติโครงการอีก ๗๔ โครงการ ชาวบ้านเลยฟ้องศาลปกครอง

ท่านได้ชี้มุมว่า ปัญหามาบตาพุดเป็นความรับผิดชอบของเรา เรา่ปล่อยให้มันเกิดขึ้น ที่ท่านว่าอย่างนี้ ท่านอุปมาว่าคล้ายๆเราทำดี เพื่อนทำไม่ดี แล้วเราก็โดนว่าด้วย แต่เราก็ปล่อยไป ไม่กล้าบอกสังคมว่าเพื่อนไม่ดี

ทิวทัศน์ที่เห็นนี้คือแนวเขตทะเลของมาบตาพุด ที่เห็นลิบๆอยู่ในน้ำนั้นไม่ใช่เกาะ แต่เป็นสิ่งก่อสร้างต่างๆที่สร้างขึ้นในทะเล

แล้วท่านก็ชี้มุมต่อว่า เรื่องราวคล้ายๆมาบตาพุดยังมีอีกหลายพื้นที่ เช่น เหมืองโปแตชที่อุดรที่ยังเกิดไม่ได้

ท่านว่าโรงงานต้องอยู่กับชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ภายใต้วิกฤตของมาบตาพุดนี้ยังมีทางออก ถ้าโรงงานให้โอกาสชุมชนร่วมเดินไปด้วยกันข้างหน้าและส่งเงินกลับไปให้ชุมชนบ้าง

ท่านยกตัวอย่างการเตะฟุตบอลที่ใช้ได้ขาเดียว เตะ ๒ ขาเมื่อไรฟาวล์ เป็นโจทย์ ถ้าชุมชนมองแง่ร้ายแบบ “มึงสร้างกูเผา” จะเตะ ๒ ขาอยู่เรื่อย โครงการก็เกิดไม่ได้ เมื่อไรมีชุมชนจัดตั้งเมื่อนั้นก็ทะเลาะกันไม่เลิก ประเทศก็ไปไม่ได้ แต่ถ้ามองแง่บวก เตะขาเดียวไปเรื่อยๆ อีกหน่อยก็ชิน ชินแล้วก็เป็นเรื่องง่ายๆทำได้ ก็จะเดินไปด้วยกันได้ภายใต้กติกาเดียว อาจช้าลง แต่จะรอบคอบขึ้น เวลานี้เป็นเรื่องของลูกตุ้มที่กำลังแกว่ง ระหว่างหาเงินกับห่วงสุขภาพ อีกหน่อยเมื่อแกว่งช้าลง สมดุลก็จะเกิด

ท่านทำความเข้าใจเพิ่มให้พวกเราว่า เรื่องของ SEA เป็นเรื่องของการกำกับดูแลทรัพยากรในระดับต้นทาง ที่สูงกว่าระดับโครงการ ช่วยกำหนดทิศทาง ช่วยดูว่าอุตสาหกรรมควรเกิดหรือไม่ ควรเกิดประเภทใด ควรเน้นการท่องเที่ยวหรืออุตสาหกรรมในพื้นที่นั้นๆ ใช้มากว่า ๑๐ ปีแล้ว เป็นการได้คุยกันเอาไว้ก่อน ถ้าไม่มี SEA มาก่อน โครงการอาจลงหรือเข้ามาในพื้นที่ไม่ได้ การเข้ามาได้/ไม่ได้นั้นไม่เกี่ยวกับมาตรา ๖๗ วรรค ๒

แล้วก็รู้จากท่านนี่แหละว่าเขาใช้ SEA คุยกับชาวบ้านให้รู้เรื่องว่า “ทิศทาง” เป็นอย่างไร โครงการควรเกิดหรือไม่

เห็นเมฆเยอะดี ก็เลยถ่ายมาฝากคนที่ชอบดูเมฆ

ท่านย้ำว่า กระบวนการสำคัญอยู่ที่ทำให้ชาวบ้านไว้ใจซึ่งผู้ประกอบการต้องสร้างให้เกิดให้ได้ แผนขจัดมลพิษมีอยู่แล้ว แต่ชาวบ้านผิดหวัง เพราะไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม แล้วไปโทษกรรมการสี่ฝ่าย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลภาพใหญ่ทั่วประเทศ ไม่ใช่รายโครงการ

ท่านชี้ให้คิดว่า แนวคิดการป้องกันการกระจายมลพิษในพื้นที่ใกล้ๆกับชาวบ้านต้องมีการช่วยเชิงจิตวิทยา เช่น ๓๐-๖๐ เมตรทำเป็นเขตกันชน ปลูกต้นไม้ ปัจจุบันตั้งไว้มีพื้นที่กันชน ๒ กม. แต่มีชาวบ้านอาศัยอยู่อยู่แล้ว คำถามคือจะแก้อย่างไร สมัยก่อนหลักการเรื่องแนวกันชน (Buffer Zone) มีอยู่แล้ว และก็มีม.บูรพาเตรียมผลิตบุคลากร แต่ก็ไม่ได้ทำตามที่คิด เป็นอะไรที่บอกว่าคนไทยเก่งคิด แต่อาจไม่เก่งทำ

ท่านแลกเปลี่ยนมุมนี้ว่า เรื่องของภาษี ท้องถิ่นควรได้โดยตรง ด้วยขบวนการทางกฎหมาย ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดการจ่ายภาษีในพื้นที่ได้ และยังมีปัญหาในเชิงที่ “ธุรกิจ” ไม่ได้ดูแลกำกับกันเอง

ท่านว่า “การไม่ให้มีโรงงานเพิ่มในพื้นที่อันนี้ก็ลำบากเพราะเสียหายหลายแสนล้านหากไม่ให้เขากดปุ่ม แต่หากบอกว่า เพิ่มเท่าที่เพิ่มตอนนี้แล้วพอ ชุมชนรับได้ไหม ด้านผู้ประกอบการกำลังคิดลงทุนในประเทศอื่นๆ นี่อาจเป็นปัญหาต่อ” แล้วลงท้ายว่า ปัญหาต่างๆ เกิดจาก “ไม่มีข้อมูล” เพราะผู้บริหารประเทศไม่เชื่อและไม่ใช้นักวิจัย

คุยเรื่อยๆมาถึงตรงนี้ท่านก็ถามขึ้นมาว่า “แล้วประเทศจะเดินหน้าได้อย่างไร” ซึ่งพวกเราได้แต่ฟัง ไม่มีคนลุกขึ้นมาแลกเปลี่ยน

สภาพการจราจรบนเส้นทางสู่มาบตาพุดในยามเช้าของวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๓ เวลาประมาณ ๙ โมงเศษ

ท่านได้เล่าถึงกิจการอันตรายให้ฟังว่า ที่ทำ list ไว้ จริงๆแล้วเป็นการปรับลดจัดกลุ่ม เดิม ๑๙ รายการ ลดเป็น ๑๘ รายการ เป็นการจัดกลุ่มจากการฟังมากขึ้นทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ มีการนำข้อมูลของต่างประเทศมาใช้ร่วมด้วย ตอนนี้มีการปรับเหลือ ๑๑ รายการ มี ๒ รายการตัดทิ้งไป คือ การสูบน้ำเกลือใต้ดินกับชลประทานในพื้นที่

ก่อนจบท่านทิ้งท้ายคำถามเรื่องความเห็นชอบและองค์การอิสระไว้ ใครก็ได้ช่วยกันออกความเห็นแลกเปลี่ยนกันบ้างก็ดีนะเออ

๑. หากจะทำโครงการ ถ้าดูเฉพาะวงในก็ไม่ชอบ แต่ถ้าถามวงนอก เป็นไปได้ไหมว่าจะมีการประเมินวงนอกให้กว้างขึ้น
๒. กรรมการอิสระ เป็นใคร

เมื่อถึงคิวศ.ดร. เปี่ยมศักดิ์ เล่าบ้าง ท่านก็เล่าสั้นๆแค่ที่มาว่าองค์การอิสระ (กอสส.) เกิดมาจากมาตรา ๖๗ วรรค ๒ โดยคกก.ชุดของคุณอานันท์ เป็นคนทำหน้าที่ทำคลอด

แล้วก็เล่าว่า กอสส. ทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อโครงการที่อาจทำให้เกิดผลกระทบและส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้เสียและองค์กรตามมาตรา ๑๘ มีส่วนร่วมรับฟัง ตลอดจนส่งเสริมให้มีการศึกษาด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพที่จำเป็นกับการให้ความเห็นขององค์การอิสระ รวมทั้งเสนอแนะต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการปรับแก้ไขประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ

ก่อนถึงปากทางเข้ามาบตาพุด จะผ่านพื้นที่สีเขียวหลายแห่ง บางแห่งก็เป็นพื้นที่จัดสวน บางแห่งก็เป็นสวนสมุนไพร

ในความหมายของคำว่ามลพิษในกรณีที่กรรมการฯเสนอรัฐบาล ท่านบอกว่า หมายถึงมลพิษที่เกี่ยวข้องกับมลพิษจากอุตสาหกรรม เกษตร ชุมชน และเกิดตามธรรมชาติ (เช่น ภูเขาไฟระเบิด)

มุมมองต่อปัญหามาบตาพุด ท่านพูดเหมือน ศ.ดร.ธงชัยเปี๊ยบเลยว่า เกิดจากการขาดความไว้วางใจกันระหว่างประชาชนกับผู้ประกอบการ

ท่านเสนอว่า ทางออกจึงน่าจะเป็นการดูแลกันเอง เน้นการบริหารจัดการและตั้งกองทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนมีส่วนได้ส่วนเสียและได้ลงมือกันเอง ส่วนผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ที่เป็นเจ้าของกิจการแล้วต้องไปหาทั้งประเทศคงไม่ยอมและควรเป็นหน้าที่ของรัฐ

ท่านให้ความเห็นว่า ถ้าทำ SIA ก่อนจะง่ายกว่า ส่วน HIA มีซ่อนอยู่ในกระบวนการ EIA อยู่แล้ว ท่านชมด้วยว่า HIA ไทยนั้นล้ำหน้าที่สุดในโลก กำหนดโดยสมัชชาสาธารณสุขแห่งชาติ (สช.) ฟังตรงนี้ฉันแปลกใจว่าจริงๆหรือนี่ แล้วก็แอบดีใจว่าใช้ได้เลยภาคส่วนสาธารณสุขเรานี้

ท่านพูดถึงเรื่องการรองรับ Capacity ต่างๆ ว่าต้องคำนวนดูโครงสร้างเชิงระบบในการดูแลพื้นที่ และเรื่องความไว้ใจ (Trust) จำเป็นต้องแก้

ก่อนจบก็โยนคำถามไว้ว่า เรื่อง EIA ที่ไม่ work ทำไมไม่ทำให้ work ผนวกความเห็นเพิ่มว่า ระยะเวลารายงานผล HIA ไม่เกิน ๖ เดือน ถือว่านานเกินไป แล้วก็จบดื้อๆ

ฟังนักวิชาการ ๒ ท่านเล่าแล้ว มึนงงมั๊ยค่ะ ฉันมึนกับโครงสร้างที่มีคกก.นั่นนี่ อาทิ คกก.เชียวชาญ คกก.วินิจฉัย ว่าอยู่ในส่วนไหน โยงใยมาเกี่ยวข้องกันและกันอย่างไรในเชิงบริหารของรัฐค่ะ เห็นโครงสร้างแล้ว ร้องเฮ้อแทนชาวบ้าน เยอะแยะไปหมด กว่าจะเข้าเรื่องได้ กว่าจะส่งเรื่องเดินถูกช่อง ต้องอดทนมากและต้องเรียนรู้มากมาย ทำไมต้องเป็นอย่างนี้ใครช่วยตอบได้ไหม

๑๕ กันยายน ๒๕๕๓

« « Prev : ไม่ใช่เสือ

Next : เป็นอย่างนี้…จะทำไงละ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ต้องอยู่กับชุมชนซิ"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.026887893676758 sec
Sidebar: 0.11662912368774 sec