เจตนารมย์เพื่อชุมชนนะจ๊ะ
เรื่องเล่าให้ฟังในห้องประชุมนั้นบอกว่าการลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ ใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไข
นักวิชาการอิสระที่มาเล่าให้ฟัง เป็นผู้หนึ่งที่ทำหน้าที่อยู่ในคณะกรรมการประสานงานการให้ความเห็นขององค์การอิสระ
องค์ประกอบของคณะกรรมการนี้มีสมาชิกทั้งหมด ๑๘ คน ประธานคือ อดีตนายกอานันท์ ปันยารชุน
หน้าที่หลักของคณะกรรมการฯ (คกก.) คือ ประสานงานและเป็นที่ปรึกษา
หน้าที่รองคือช่วยตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะกรรมการที่องค์การอิสระมอบหมาย และปฏิบัติหน้าที่ที่ครม.มอบหมาย
องค์กรที่คกก.นี้ประสานเข้าหากันก็คือ คณะกรรมการอิสระ กับครม. คำปรึกษาที่ให้นั้นให้กับทั้ง ๒ องค์กรและองค์กรภาครัฐ คกก.มีบทบาทอยู่แค่ในช่วงแรกที่มีการตั้งองค์การอิสระเท่านั้น
คกก.ทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนให้องค์การอิสระสามารถดำเนินงานได้ผ่านวิธีการประสานงานกับครม.
ฟังกันทั้งวันด้วยบรรยากาศอย่างนี้แหละนะ
ฟังมาตั้งแต่เช้าจดเย็นจะได้ยินคนพูดเรื่องมาตรา ๖๗ วรรค ๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ อยู่เรื่อยๆ ได้ยินว่าแม้แต่ชาวบ้านก็พูดเรื่องมาตรานี้กันด้วย
ที่ชาวบ้านพูดเรื่องมาตรานี้ก็เพราะรู้ว่าเจตนารมย์ตามกฎหมายมาตรานี้ต้องการให้ชุมชนได้รับความคุ้มครองมิให้ถูกกระทบอย่างรุนแรงจากการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใด
ลองอ่านรายละเอียดของมาตรานี้กันหน่อย มาตรา ๖๗ วรรค ๒ ว่าไว้ดังนี้
“การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว”
ไม่ต้องแปลกใจกับท่าทีของพวกเรา ก็เรื่องราวที่ได้ฟังมีความซับซ้อนทางเทคนิคจนทำให้ต้องช่วยกันทำความเข้าใจนี่นา
เจตนารมย์นี้ทำให้องค์การอิสระเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการลดความขัดแย้งอันเนื่องมาจากผลกระทบที่ชุมชนได้รับ ไม่ว่าด้านไหน การถือกำเนิดขององค์การอิสระมีกฎหมายที่เรียกว่า พระราชบัญญัติองค์การอิสระกำกับอยู่
การปฏิบัติต่างๆที่มีรายละเอียดอยู่ในกม.ฉบับนี้ มีลำดับอยู่หลายขั้นตอนทีเดียวและมีเงื่อนไขเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ตัวอย่างตามแผนภูมิที่ทำมาโชว์บอกว่าบางขั้นตอนใช้อย่างน้อยๆก็ไม่ต่ำกว่า ๑๕ วัน ในบางขั้นตอนมีการส่งต่อกลับไปกลับมาอีกมากกว่าหนึ่งตลบ
เห็นขั้นตอนทั้งหมดแล้วตาลายและรู้สึกว่าขั้นตอนมีความเยิ่นเย้อไปหน่อยถ้าตัวเราเองต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ ยิ่งถ้าองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีความเฉื่อยชาหรือขัดขากันด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่
กว่าที่คำตอบจะออกมาได้เป็นความเห็นชอบหรือไม่ชอบ เขาว่าเบ็ดเสร็จแล้วให้เวลาสำหรับคกก.อิสระเสนอความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพภายใน ๖๐ วัน
ฟังเหนื่อยแล้วก็พักซะหน่อย เดินไปกินข้าวกันที่สโมสรของที่นี่แล้วกลับมาใหม่
ผู้แทนของกนอ.มาเล่าให้ฟังว่า ภาพรวมทั่วประเทศมีนิคมอยู่ทั้งหมด ๔๓ แห่ง ดำเนินการแล้ว ๓๕ แห่ง อยู่ในภาคตะวันออก ๑๓ แห่ง ภาคอื่น ๒๕ แห่ง ที่เหลืออยู่ที่มาบตาพุด ทั้งหมดมีโรงงาน ๓,๕๐๕ แห่ง ลงทุนมูลค่า ๒.๒ ล้านล้านบาท ใช้แรงงานทั้งหมด ๔๖๕,๐๐๐ คน
มาบตาพุดมี ๕ นิคม ๑ ท่าเรือ ๑๔๗ โรงงาน มูลค่าลงทุน ๐.๙ ล้านล้านบาท ใช้แรงงาน ๓๐,๐๐๐ คน นิคมทั้ง ๕ นิคม มีความหนาแน่นของโรงงานไม่เท่ากัน
พื้นที่เขตนิคมในภาพรวม ๑๘,๘๔๗ ไร่ ท่าเรือ ๒,๙๑๕ ไร่
นิคมที่มีขนาดเล็กที่สุดที่นี่ มีพื้นที่ ๕๔๐ ไร่ มีโรงงานอยู่ ๔ ราย
นิคมที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดที่นี่ มีพื้นที่ ๑๐,๒๑๕ ไร่ มีโรงงานอยู่ ๖๗ ราย และไม่ใช่พื้นที่ที่มีโรงงานหนาแน่นที่สุด
นิคมที่มีโรงงานหนาแน่นที่สุด มีพื้นที่ ๓,๓๑๒ ไร่ มีโรงงานอยู่ ๔๕ ราย
นิคมที่มีโรงงานหนาแน่นน้อยที่สุด มีพื้นที่ ๓,๒๒๐ ไร่ มีโรงงานอยู่ ๑๐ ราย
ท้องฟ้าเหนือพื้นที่โรงงานเป็นอย่างนี้เอง รู้สึกว่าเมฆที่นี่หน้าตาแปลกๆ
การพัฒนาที่นี่เกิดขึ้นตามมติครม. แบ่งเป็น ๒ ระยะ ระยะแรกปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ระยะที่ ๒ ปีพ.ศ. ๒๕๓๕ แต่ละระยะกำหนดให้พัฒนาในพื้นที่เพียง ๑,๔๐๐ ไร่โดยประมาณ
ปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมีให้แก้มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ เริ่มจากเรื่องกลิ่นรบกวนจากโรงงานปิโตรเคมีและโรงกลั่น ปัญหาเป็นไปอยู่ ๓ ปี แก้ได้ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย
ปี ๒๕๔๘ มีปัญหาใหม่เรื่องภัยแล้ง น้ำไม่พอใช้ แก้ไปได้โดยการจัดหาแหล่งน้ำเพิมเติมให้พื้นที่
ปี ๒๕๔๙ เป็นต้นมามีปัญหาใหม่อีกเรื่องศักยภาพในการรองรับของพื้นที่ สารระเหยที่เป็นมลพิษ สุขภาพคนที่เสื่อมถอย แก้โดยแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ การจัดการสารระเหยที่เป็นมลพิษให้ลดลงจากเดิม ๑๐-๒๐% กากของเสียอันตรายกำจัดให้ได้ ๔๖๑,๙๗๔ ตัน น้ำเสียกำจัดให้ได้ ๗ แสนลบ.เมตร และหาความสามารถในการรองรับมลพิษของพื้นที่ (Carrying Capacity)
ท้องฟ้าแถบเมืองระยองนี่แปลก มีแต่เมฆหนาๆครึ้มๆคล้ายเมฆฝน แต่ไม่มีฝน รู้สึกว่าอากาศไม่ปลอดโปร่งเอาซะเลย คนอยู่ อยู่กันได้ไงนะ
สิ้นปี ๒๕๕๒ การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการทะลุเป้า มีแต่เรื่องของ Carrying Capacity ที่ยังหาคำตอบไม่ได้ ฟังว่าที่หาคำตอบไม่ได้เพราะไม่รู้จะเอาค่าตัดสินของประเทศไหนมาใช้ดี จะใช้แบบผสมผสานก็ไม่แน่ใจว่าใช้ได้ไหม ทำนองนี้แหละ
ปี ๒๕๕๓ เป็นต้นไป พื้นที่มาบตาพุดจัดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ขอบเขตพื้นที่อยู่ใน ๖ ตำบลของ ๓ อำเภอและทะเลภายในแนวเขต ได้แก่ ตำบลมาบตาพุด ห้วยโป่ง เนินพระ และทับมา ของอ.เมือง ตำบลมาบข่า ของอ.นิคมพัฒนา ตำบลบ้านฉางของอ.บ้านฉาง
จากปี ๒๕๕๓ ต่อไป ๓ ปี มีงบประมาณที่ตั้งไว้ดำเนินการลดและขจัดมลพิษแล้วจาก ๓ ส่วน (รัฐ กนอ. และสถานประกอบการ) ๑๕,๗๔๘.๖๒ ล้านบาท
เป็นส่วนจากภาครัฐ ๒,๑๖๔ ล้านบาท ภายใต้โครงการ ๗๐ โครงการ
สวนสนแห่งนี้อยู่ติดสโมสรของนิคมมาบตาพุด แต่ละต้นไม่สดชื่นเลย ไกลออกไปเลยทิวสนเห็นน้ำทะเลที่มีแนวโคลนอยู่ติดฝั่งทิวสน
เป็นส่วนจากกนอ. ๖๑๑ ล้านบาทภายใต้โครงการ ๑๒ โครงการ เป็นโครงการจัดการน้ำ ๑๒๐ ล้านบาท โครงการพัฒนาระบบความปลอดภัยในเขตนิคม ๓๐๐ ล้านบาท ตรงนี้ทำให้เกิดโครงการ CSR ของกนอ. มีการเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมตรวจสอบการดำเนินการของกนอ.ได้ และ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ๑๗๗.๙ ล้านบาท ซึ่งทำให้เกิดศูนย์เฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยด้านสิ่งแวดล้อมและภาวะฉุกเฉินขึ้น รวมทั้งมีการพัฒนาธรรมาภิบาลขององค์กรอย่างกนอ.จนทำให้ได้รับรางวัล
เป็นส่วนจากผู้ประกอบการ ๑๒,๙๗๓.๖๒ ล้านบาท ภายใต้แผนปรับลดมลพิษ ๗ ด้าน เป็นการลงทุนเรื่องการจัดการลดการปล่อยสารระเหยมลพิษซะมากกว่าเรื่องอื่นๆ
จากนั้นก็มีรายละเอียดทางเทคนิคที่ผู้เล่าได้เล่าให้ฟังมากมาย ฟังแล้วเมาหัวมาก จนรู้สึกไม่อยากฟัง รับรู้แต่เพียงว่าฟังเรื่องมาทั้งเช้าและบ่ายแล้วดูเหมือนว่าทุกๆคนต่างมาให้ข้อมูลในแง่มุมว่า “ฉันทำดีแล้ว” ทั้งนั้นเลย
แต่ฉันกลับรู้สึกว่ายังมีปัญหาที่เหลืออยู่และไม่รู้ว่าใครจะเป็นเจ้าภาพที่จะแก้ต่อไป ก็ที่เล่าๆมาล้วนลงมือในเขตแดนนิคมฯที่ตัวเองรับผิดชอบ แล้วในส่วนพื้นที่นอกนิคมฯซึ่งก็มีโรงงานละ ไม่ได้ยินใครพูดให้ฟังเลยว่าเข้าไปแก้ไขปัญหาคล้ายๆกันไปแล้วอย่างไร มาตรการที่กนอ.รับรู้และลงมือทำมีการขยายผลออกไปนอกนิคมฯโดยหน่วยงานไหนเป็นเจ้าภาพหนอ
เห็นสิ่งเหล่านี้แล้วนึกเดารายได้ของที่นี่อยู่ในใจ บ้านพักสุดหรูชวนให้มาอยู่ รถที่เห็นก็ป้ายแดงทั้งนั้นเลย
เรื่องหนึ่งที่ย้ำกันมากและทำให้ฉันไม่สบายใจเมื่อได้ฟังคือความพยายามที่จะหาความสามารถของพื้นที่ว่ายังรองรับสารพิษในบรรยากาศได้อีกเท่าไรหรือไอ้เจ้าค่า Carrying Capacity ฟังแล้วรู้สึกว่าเป็นความพยายามหามาเพื่อใช้เป็นเหตุผลให้เปิดโรงงานเพิ่มได้อีกอย่างไรก็ไม่รู้
ไม่เข้าใจเลยว่า ในขณะที่ปัญหาที่เกิดอยู่มีเรื่องของมลพิษให้ตามแก้อยู่ชัดๆแล้ว ไหงภาครัฐยังไม่ยอมให้ยุติการขยายโรงงาน และหันมาแก้เรื่องที่ชาวบ้านเขาขอซะก่อนจะเดินหน้าต่อไปนะเออ
๑๕ กันยายน ๒๕๕๓
2 ความคิดเห็น
ผมอาจจะมีส่วนใช้มาตรานี้ครับ หวาดเสียวจริงๆ
บางเรื่องก็ไม่น่าเชื่อว่าเข้าข่ายมาตรานี้ค่ะพี่ อย่างเช่นเรื่องก่อม็อบ