เหยียบตะวันออก
วันนี้ตื่น ๖ โมงครึ่งจึงมีเวลาจัดการตัวเองก่อนออกเดินทางไปยังที่นัดหมายไม่มาก ไม่ได้เดินทางคนเดียวเหมือนเคยแต่มีเพื่อนจากภาคใต้ ๓ คน มีน้องซอล (ไพศาล อาแซ) ปาเรซ(มูฮำมัดปาเรซ โลหะสัณห์) การิม (อับดุลการิม รามันห์สิริวงศ์) เดินทางไปพร้อมกัน
ที่ศูนย์ราชการมีรถบัสคันใหญ่ ๒ คันรออยู่แล้วพร้อมเพื่อนๆหลายคน ส่งกระเป๋าไปให้ติด tag ให้ แล้วก็ขึ้นรถไปเลือกที่นั่ง โชคดีที่มีที่นั่งริมหน้าต่างว่าง เพื่อนๆพี่ๆกลุ่มหนึ่งกำลังโซ๊ยข้าวเหนียวนึ่งหมูทอดเป็นอาหารเช้ากันอยู่อย่างเอร็ดอร่อยบนรถ
ที่จุดนัดพบในศูนย์ราชการยามเช้าของวันเดินทาง บรรยากาศเป็นอย่างนี้แหละ
ถึงเวลา ๘ โมงพวกเราก็เริ่มออกเดินทาง เช้านี้ถนนแจ้งวัฒนะไม่ใคร่มีรถวิ่งบนถนน รถวิ่งได้สักครู่ฝนก็พรมลงมาแต่ไม่หนัก เป้าหมายแรกที่จะเดินทางไปให้ถึงคือ นิคมมาบตาพุด
จ่ายแจกเสบียงแก้หิวให้กันแล้ว กิจกรรมภายในรถก็เริ่มขึ้น น้องยะ(สุริยะ ดีตะวันฉาย)ชวนฟังเพลงจากดีวีดีที่เขาผลิตขึ้น ตามมาด้วยพี่ดวง(ดวงกมล ทรงวุฒิชัย)สลับฉากกับลุงเอกชวนคุยยามเช้า สมาชิกในรุ่นหลายคนออกมาแลกเปลี่ยนเล่าสู่กันฟังยามเช้าด้วย พี่สืบ (สืบพงษ์ ม่วงชู) เริ่มเป็นคนแรก ต่อด้วยอาจารย์โฉ (ดร.ปาริชาติ สถาปิตานนท์) น้องทร (พันตำรวจเอก สุนทร เฉลิมเกียรติ) และอาจารย์แดน (ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์)
การจราจรบนถนนเมืองกรุงในเช้าวันนี้เบาบางกว่าที่คาดทั้งๆที่มีฝนตกพรมๆลงมาด้วย
วิ่งมาสักครู๋รถก็จอดพักริมทางด่วนจุดที่ ๑ ใช้เวลาอยู่ที่นี่ประมาณ ๑๕ นาทีจึงเดินทางต่อ คุณติ๋วซึ่งแจ้งว่าจะมาช้าจึงตามมาสมทบกันที่นี่ได้ทัน
บนถนนสายมาบตาพุดมีรถวิ่งไม่มาก บนฟ้าครึ้มแน่นไปด้วยเมฆสีขาวปนสีเทาคล้ายเมฆฝน ไม่มีลม เห็นเมฆคล้ายเมฆฝนครึ้มไปหมด มีไม้ต้นใหญ่ปลูกเรียงรายกันอยู่สองข้างทางที่รถวิ่งผ่าน เป็นไม้กระถินที่ปลูกเป็นทิวแถวบ้าง เป็นไม้สักปลูกห่างๆบ้าง ขึ้นอยู่ติดถนนบ้าง ขึ้นบนเนินดินสันถนนบ้าง สลับกันไป
แวะพักซะหน่อยให้คนอายุน้อย(ลง) ได้ยืดเส้นยืดสาย เฮ้อ สบาย!
๑๑ โมงเศษ รถก็วิ่งมาถึงป้ายแนะนำตัวเองของนิคมมาบตาพุดซึ่งอยู่ตรงปากทาง ทางเลี้ยวเข้าสู่นิคมฯเป็นถนนที่ว่างยานพาหนะ ตลอดเส้นทางมีต้นไม้เขียวชะอุ่มเรียงรายอยู่ทั้งบนเกาะกลางถนนและสองข้างทาง
เมื่อเข้าสู่เส้นทางภายในของนิคมฯจริงๆ สิ่งแรกที่ตาเห็น คือ ท่อที่มีโยงใยเต็มไปหมด รถพาวิ่งผ่านปากทางนิคมอุตสาหกรรมผาแดงซึ่งเป็นกิจการของเอกชน ตรงไปลานจอดรถรอบห้องประชุมสมเจตน์ สำนักการนิคมอุตสาหกรรม ที่ห้องประชุมคุณจ๋า (เยาวนุช จิตตินันทน์ ) และทีมรอพวกเราอยู่แล้ว
เช้านี้พวกเรามารับฟังข้อมูลจากนักวิชาการอิสระและฝ่ายโรงงาน ได้ฟังเรื่องมาตรา ๖๗ วรรคสอง เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ EIA (Environmental Impact Assessment) และ HIA (Health Impact Assessment) ที่ผู้พูดได้มาชี้มุมให้พวกเราได้เห็นปมของความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามกฎหมาย
ได้รับรู้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการองค์กรอิสระที่มีส่วนในการให้ความเห็นที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งขั้นตอนของการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ
ถึงแล้วก็ตรงดิ่งไปห้องประชุมรับรู้ที่ไปที่มาและความเป็นไปของการจัดการลดความขัดแย้งจากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย
ได้รู้จักคำใหม่อีกคำ SEA (Strategic Environmental Assessment) ตลอดจนลักษณะของโครงการที่คณะกรรมการองค์กรอิสระเกี่ยวข้องว่ามีทั้งโครงการที่ต้องเสนอขอรับความเห็นจากคณะรัฐมนตรีและไม่ต้องเสนอ
ฟังกันจนเกือบบ่ายจึงพักกินข้าวกัน มื้อนี้พวกเรากินข้าวกันที่สโมสรของนิคมฯ อาหารที่จัดไว้ให้มีข้าวหมกไก่ต้มและบะหมี่ อิ่มแล้วก็กลับมาที่ห้องประชุมกันใหม่
รอบบ่ายผู้ว่าราชการจังหวัดระยองให้เกียรติมาเล่าประสบการณ์ระหว่างทำหน้าที่อยู่ที่นี่ให้ฟัง สิ่งที่บอกเล่าบอกความเป็นผู้มีประสบการณ์ตรงที่ทำงานคลุกกับปัญหาจริง เมื่อท่านเล่าจบแล้ว คิวต่อมาก็มีผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับกนอ.มาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง
ต่อจากนั้นพวกเราก็ไปดูสถานที่จริง ไซด์ที่พวกเราได้เข้าดูสถานที่จริงในนิคมฯเป็นไซด์ของปตท.และ SCG
มองไปรอบๆนิคมฯแล้วเห็นแต่โลหะรูปร่างกลมบ้าง เป็นแท่งบ้าง เต็มไปหมด
รถพาเราวนไปดูพื้นที่ต่างๆโดยพวกเรามองผ่านหน้าต่างรถได้เท่านั้น มีเจ้าหน้าที่ของนิคมฯร่วมทางมาในรถเพื่อให้ข้อมูลด้วย ได้ยินเสียงเพื่อนๆป้อนคำถามอยู่แว่วๆ แต่ภายในรถมีเสียงดัง จุดที่ฉันนั่งจึงไม่ได้ยินว่า่เจ้าหน้าที่นิคมฯเล่าอะไรให้ฟัง
ดูสถานที่ที่นิคมฯอนุญาตให้ดูครบจุดแล้ว พวกเราก็แยกตัวเดินทางไปที่พัก โรงแรมที่พักที่เช่าไว้หรูหรามาก มีครัวในห้องพักด้วย ห้องนอนใหญ่มากกกกกกกกกก นอนได้ทั้งครอบครัวสบายๆ
๑๕ กันยายน ๒๕๕๓
Next : เจตนารมย์เพื่อชุมชนนะจ๊ะ » »
2 ความคิดเห็น
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่นักลงทุนแห่มาลงทุนในประเทศไทยนั้น ก็คือ เรื่องการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมนี่แหละครับ ในอารยประเทศ งบลงทุน และดำเนินการด้านนี้สูงมาก อาจถึง 30% ของงบทั้งหมด
พอมาไทย ลดเหลือเพียง 5% ก้ได้กำไรเพิ่มขึ้น 25%
ปกติกำไร 5% ของงบลงทุน พอมาได้เพิ่ม 25% ก็ได้กำไร 30% เท่ากับว่ากำไรเพิ่มขึ้น 6 เท่า
นี่มันยิ่งกว่ายูโตเปียนะครับ
พอขรก.ไทยมาตรวจแต่ละปี ก็ยัดเงินกัน 1-10 ล้านแล้วแต่ขนาดของโรงงาน คิดเป็น 1% ของผลกำไร ขนหน้าแข้งไม่ร่วง แต่ปลาไทยไม่มีที่วางไข่ ตายกันหมดอ่าวไทย ชาวประมงรายได้ลดลง 10 เท่า
ไอ้ปลาที่พอจับได้ก็เต็มไปด้วยสารพิษจากโรงงานต่างชาติ ตายกันระนาว สังเวยความโง่ของนักการเมือง และ ดร. เศรษฐศาสตร์ที่ส่งเสียไปเรียนกลับมาด้วยทุนจากภาษีชาวนาอีสาน
ไปเห็นไปรู้เรื่องราวของที่นี่ แล้วนึกถึงบาปกรรมที่คนตัดสินใจจะได้รับผลในบั้นปลายชีวิตขึ้นมาเลย
เห็นแล้วก็รู้สึกปลงกับความเป็นผู้นำของคนในอดีต รู้น้อยแล้วเชื่อตัวเองว่ารู้มาก จึงพาคนจำนวนมากมาจนมุมอย่างไม่ควรเป็นเลย
บทบาทคนรุ่นหลังในการจัดการปัญหาที่นี่หนักหนาจริงๆค่ะ
ทราบมาเลาๆเหมือนกันว่ารายได้จากที่นี่เป็นแสนล้านเลยเชียว แต่ข้อมูลจริงๆตอนมาดูงานคราวนี้เขาไม่ได้บอกค่ะ