ทำไมไม่เห็นเลยละ

อ่าน: 1813

ทีแรกทีเข้าเมืองอัคราจนเดินทางมาถึงเมืองนี้นั้น ไม่ได้เอะใจเลยว่าแผ่นดินที่เห็นๆผ่านตานั่นแหละหนาเป็นโอเอซิสที่เคยได้ยินจากตำรา พอรู้ก็ตะลึงไปเลย ของจริงต่างจากที่ตำราเล่าไว้มากมายทีเดียว

ที่จริงน่าเอะใจตั้งแต่ได้ยินน้องนุชเล่าว่าอากาศกลางคืนกับกลางวันที่นี่ต่างกันมากมายแล้ว  ยังดีที่ไม่เชยจัดจนไม่รู้ตัวว่ากำลังอาศัยอยู่บนพื้นที่ทะเลทราย ไม่งั้นเสียหายครูบาอาจารย์ที่เคยสั่งสอนได้เลย

ป่าที่เห็นมักจะเป็นอย่างในภาพ อย่างนี้ละมังที่เรียกว่า “ป่าโปร่ง”

เขาว่าดินแดนทะเลทรายเป็นดินแดนที่ปิดล้อมด้วยเทือกเขาแล้วทำให้อิทธิพลจากมหาสมุทรแผ่เข้ามาไม่ถึง จึงทำให้มีฝนในปริมาณน้อย ปีหนึ่งตกไม่เกิน ๑๐ นิ้ว

ที่ไหนเป็นเขตชายขอบทะเลทรายก็จะเห็นพื้นที่ทุ่งหญ้าที่โล่งตาสลับกับป่าโปร่ง  ทุ่งหญ้าเป็นเอกลักษณ์ที่มีชื่อวิชาการว่า “ทุ่งหญ้าสเตปป์กึ่งโซนร้อน”

คนที่อยู่แถวๆนี้ก็จะเลี้ยงสัตว์ไว้กินเนื้อ ทำการเพาะปลูกโดยอาศัยระบบชลประทานเข้ามาช่วย ต้นไม้มักมีหนาม

นึกถึงทะเลทรายทีไรก็จะนึกถึงนิยายอาหรับราตรีทุกทีไป ในนิยายเหล่านั้นมักจะอ้างเสมอว่าโอเอซีสจะอยู่กลางทะเลทราย จะเหมาได้มั๊ยนี่ว่าเมืองนี้อยู่ตรงกลางทะเลทรายธาร์

เคยดูในหนังก็มักจะเห็นโอเอซีสมีต้นปาล์ม แต่ไหงไม่เห็นที่นี่เลยนะ ทางไหนเคยผ่านมีแต่ทุ่งนาหรือไม่ก็แปลงเกษตรที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีบ้างข้างถนนที่เห็นต้นอินทผาลัม หรือว่าต้นปาล์มมีแต่ต้นอินทผาลัม ยู้ฮู ต้นปาล์มในโอเอซีสของอินเดียอยู่ที่ไหนกันจ๊ะ

พูดถึงปาล์มแล้วก็นึกขึ้นมาได้ อินเดียเป็นแหล่งผลิตน้ำมันปาล์มใหญ่ของโลก แต่ว่านำเข้าน้ำมันพืชเป็นอันดับ ๒ ของโลก ที่ไม่ใคร่เห็นการปลูกปาล์มที่นี่ ทั้งๆพื้นที่มีมากพอให้ปลูก แปลว่าที่นำเข้านั้นเป็นน้ำมันปาล์มดิบหรือ

รู้แล้วนึกสงสัยทำไมไม่ปลูกละ ในเมื่อมันเป็นพืชที่ทนต่อภัยธรรมชาติดีออก แถมยังให้ผลผลิตนานถึง ๒๐ ปีเชียวแหละ หรือว่าเป็นด้วยเขาเคยปลูกแล้วเพิ่มผลกระทบเรื่องขาดน้ำ เออนะเรื่องนี้น่าค้นหาคำตอบ บันทึกไว้ตรงนี้เพื่อค้นต่อไปละกัน

ต้นคล้ายปาล์มที่เห็นเหนือหลังคารถ เป็นอินทผาลัมหรือเปล่านะ

อินเดียนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบมากลั่นเอง   โรงกลั่นน้ำมันอินเดียมีศักยภาพสูงในการผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ น้ำมันปาล์มดิบที่นำเข้าอินเดียไม่เก็บภาษี  ภาษีน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์มีอัตราร้อยละ ๗.๕

ปี ๒๕๕๐ อินเดียนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ ๖.๙ ล้านตัน และปี ๒๕๕๒ เพิ่มขึ้นเป็น ๘.๕ ล้านตันใน ๑๑ เดือนแรก

อินเดียเป็นตลาดหลักของมาเลเซียในการส่งออกปาล์มน้ำมัน

ตลาดหลักของน้ำมันปาล์มดิบของโลก ณ วันนี้อยู่ที่ จีน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา อินเดีย ญี่ปุ่น บังกลาเทศ อาหรับเอมิเรต บาเรนท์ คูเวต โอมาน กาตาร์ และซาอุดิอาระเบีย

เห็นตลาดแล้วจึงตาสว่างว่าทำไมเขาจึงต้องมีตลาดซื้อขายล่วงหน้าของน้ำมันปาล์มดิบกันด้วย ความเคลื่อนไหวของตลาดดูแล้วเหมือนตลาดหุ้นเลยแฮะ ตลาดใหญ่ของน้ำมันปาล์มดิบใกล้บ้านเราอยู่ที่มาเลเซีย ตลาดใหญ่ที่อยู่ไกลบ้านอยู่ที่รอตเตอร์ดัม

ปี ๒๕๔๙ มาเลเซียส่งออกน้ำมันปาล์มให้อินเดีย ๑.๑๒ ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า ๒๖.๗๖ พันล้านบาท

เห็นตัวเลขนี้แล้วจึงเชื่อว่าทำไมความต้องการน้ำมันพืชจะเป็นตัวกำหนดการขับเคลื่อนความเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนา และเห็นบางแง่มุมที่ไปเกี่ยวข้องกับการจัดการประชากรที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจด้วยแหละ

มีเรื่องที่น่าสนใจตรงที่สัดส่วนตลาดส่งออกน้ำมันปาล์มของมาเลเซียเป็น ตลาดในเอเซีย อเมริกาและยุโรปมากกว่าตลาดตะวันออกกลางราวๆ ๓ เท่า ปี ๒๕๔๙ มาเลเซียส่งออกน้ำมันปาล์มไปตะวันออกกลาง ๑.๕๔ ล้านตันใกล้เคียงกับส่งออกไปอินเดียเลยนะ

ต้นปาล์มที่นี่คล้ายต้นมะพร้าวแฮะ

เดี๋ยวนี้มีความเคลื่อนไหวเรื่องการปลูกปาล์มในประเทศเพื่อนบ้านที่เกี่ยวกับตลาดอินเดีย จึงขอนำมาบันทึกไว้หน่อย

ได้ยินมาว่ามีคนไทยจากเชียงรายเข้าไปปลูกปาล์มในสปป.ลาวแล้ว พื้นที่นำร่องปลูกคือแขวงบ่อแก้วซึ่งอยู่ในลาวตอนเหนือและอยู่ตรงข้ามกับสบรวก ต.เวียง อ.เชียงแสน ปลูกปีแรก ๕ หมื่นไร่ ใน ๔ ปีขยายเป็นกว่า  ๒ แสนไร่ และจะตั้งโรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มแบบครบวงจรมูลค่าลงทุน ๘๐๐ ล้านบาทด้วยเมื่อผลผลิตเพียงพอ  ตลาดที่หวังจะส่งออกไปขายเป็นจีนและอินเดีย โดยใช้เส้นทางถนน R3a ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ BIMSTEC ที่เคยเล่า

นักลงทุนฝ่ายไทยคือ นายกษิดิศ สิทธิสังข์ ประธานบริษัทสี่ภาคในสยามทัวร์ จำกัด นักลงทุนฝ่ายลาว คือ ท่านบุญแปง แก้วดอนพัน จับมือกันทำแบบร่วมทุน ตั้งเป็นบริษัทใหม่ชื่อสามเหลี่ยมทองคำปาล์มออยล์ จำกัด ไทยถือหุ้น ๘๐% ลาว ๒๐%  แบ่งสัดส่วนส่งออก ๙๐%  ใช้ภายในสปป.ลาว ๑๐%  ผลผลิตที่คาดว่าจะให้ผลในปีแรกอยู่ที่ ๑ ล้านตัน ๔ ปีขยายเป็น ๕ ล้านตัน

มีกลุ่มทุนจากมาเลเซีย เกาหลี เยอรมนี และออสเตรเลีย ด้วยนะที่เข้าไปลงทุนเรื่องปาล์มในสปป.ลาว พื้นที่ที่เป็นเป้าหลักของเขาเป็นแขวงทางตอนใต้ของ สปป.ลาว

สำหรับมาเลเซียนั้น เขาเข้าไปลงทุนที่พม่าแล้วด้วยไม่ต่ำกว่า ๒ แสนไร่  พื้นที่ที่เข้าไปลงทุน คือ ตะนาวศรี ที่มีพรมแดนติดกับจังหวัดระนอง  อีกหน่อยตลาดพม่าซึ่งไทยส่งออกน้ำมันปาล์มกลั่นแล้วในสัดส่วนถึง ๕๐% คงมีมาเลเซียมาเป็นคู่แข่งแบ่งตลาดแล้วละ

สำหรับในบ้านเรา นอกจากภาคใต้แล้ว ในภาคเหนือก็มีการรวมตัวกันตั้งสหกรณ์ปาล์มน้ำมันล้านนา จำกัด ขึ้น ส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีทางเลือกในการปลูกพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ที่มั่นคง และมีโครงการปลูกปาล์มน้ำมันนำร่องที่อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย แล้ว ๒ หมื่นไร่ ภายใน ๒-๓ ปีก็เก็บผลผลิตได้แล้ว

ต้นปาล์มน้ำมันที่ใต้ หน้าตาอย่างนี้ ไม่รู้พันธุ์เดียวกันกับภาพข้างบนหรือเปล่า

ที่อินเดียต้องนำเข้าน้ำมันปาล์มสูงเพราะภัยแล้งทำให้ผลผลิตพืชน้ำมันของตัวเองลดลง

บ้านเราไปเกี่ยวกับน้ำมันปาล์มตรงที่ บ้านเรา อินโดนีเซีย และมาเลเซียเป็นประเทศที่ใช้น้ำมันปาล์มมาก และเป็นประเทศส่งออกมาก ต่างตรงที่มาเลเซียและอินโดนีเซียผลิตมากกว่าเราถึง ๑๕ เท่า เราผลิตอยู่ที่ ๓% ของการผลิตทั้งโลกเท่านั้น ๗๐% ของการผลิตของเราอยู่ที่ภาคใต้ ๓ จังหวัด กระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร และเราใช้มันทั้งบริโภค (๖๐%)  ทำน้ำมันไบโอดีเซล (๒๐%) และส่งออกไปมาเลเซียและอินโดนีเซียและเราได้ประโยชน์จากการผลิตน้อยเพราะเทคโนโลยีการผลิตพัฒนาไม่ทันมาเลเซีย

ตามฟังเรื่องของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันแล้วจึงรู้ว่า เวลาเก็บผลปาล์มได้แล้ว ต้องส่งเข้าโรงงานเพื่อกลั่นภายใน ๒๔ ชั่วโมงจึงจะดีที่สุดและไม่ควรเกิน ๔๘ ชั่วโมง  พื้นที่ที่จะปลูกปาล์มได้ผลดีต้องมีความชื้น อย่างภาคเหนือของเราีความชื้นน้อย ยังต้องจัดการลงทุนเรื่องน้ำให้เพียงพอ อย่างนี้นี่เล่าอินเดียจึงไม่กล้าปลูกปาล์มเอง

วันนี้บ้านเรามีพื้นที่ปลูกปาล์มอยู่ ๑.๕ ล้านไร่ เป็นพื้นที่ในประเทศ ๑.๒ ล้านไร่ ใครก็ไม่รู้ฝันว่า ใน ๑๐ ปีข้างหน้า จะให้บ้านเรามีพื้นที่ปลูกปาล์ม ๑๐ ล้านไร่

ไม่รู้มองด้านเดียวหรือเปล่า

๘ สิงหาคม ๒๕๕๓

« « Prev : ที่แท้เป็น “ฝาย” ในโอเอซีส

Next : สนใจหน่อยก็มองออก » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 ธันวาคม 2010 เวลา 16:14

    หมอจำได้อย่างไร ข้อมูลเยอะแยะมากมายจริงๆ

    ตกลงผมบอกยกเลิก สสสส3 ไปแล้วครับ
    เพราะ ต้องไปอยู่ เมืองไชยบุรี ลาว ไม่สดวกจะเดินทางไปมา
    แต่เปลี่ยนเขาสนใจ เมื่อสิ้นสุดงานที่ลาวแล้ว อยากขอลุงเอกมาเรียนในรุ่นต่อๆไปด้วยครับ
    ได้ส่งเมล์ไปบอกลุงเอกแล้วครับ

    เสียดายจริงๆ เสียใจด้วย

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 ธันวาคม 2010 เวลา 14:38

    ความอยากรู้เป็นที่มาของการได้ข้อมูลเหล่านี้มาค่ะพี่ ถามมาบ้าง หาอ่านบ้าง แล้วบันทึกไว้ ก็เลยมีโอกาสนำมาบอกต่อกัน

    ได้เรียนลุงเอกให้แล้วทั้งเรื่องของพี่ อ้ายเปลี่ยน และพี่ตึ๋งค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.082787036895752 sec
Sidebar: 0.17146706581116 sec