ที่แท้เป็น “ฝาย” ในโอเอซีส

อ่าน: 1516

ระหว่างทางเราผ่านพระราชวังกลางน้ำด้วย เห็นอูฐนั่งอยู่ข้างถนนหลายตัว มีหมูเป็นฝูงเดินอยู่บนถนนด้วย ตรงนี้แหละที่แปลกใจ ฮินดูกับมุสลิมอยู่กันได้อย่างไรเวลามีหมูมาเพ่นพ่าน ฮินดูทำยังไงกับประชากรหมูที่เพิ่มจำนวนขึ้น

พระราชวังกลางน้ำมีน้ำล้อมอยู่โดยรอบ ดูเข้าไปแล้วไม่รู้สึกว่ามีคนอยู่  วังนี้คนอินเดียเขาเรียกกันว่า “วังสายน้ำ” อยู่กึ่งกลางระหว่างวังหลวงที่พวกเราไปชมกับวังเก่าบนเขา เขาสร้างมันขึ้นเพื่อใช้เป็นพระราชวังฤดูร้อน แผ่นน้ำกว้างดูคล้ายทะเลสาบ ที่นี่ไม่ใช่วังสายน้ำเดียวกับที่เป็นข่าวใหญ่เรื่องข้อพิพาทระหว่างย่า-หลานที่เคยเล่า

ตึกในน้ำที่เห็นนั่นหละ วังสายน้ำ ที่นี่ไม่ใหญ่โตโอฬารเหมือนที่ที่เป็นข่าว สีอิฐแดงเป็นแนวนั้นเป็นหินทรายที่นำมากั้นเป็นเขื่อนของฝาย

ความกว้างใหญ่ของทะเลทรายธาร์ที่เมืองนี้ปักหลักอยู่จัดเป็นอันดับที่ ๑๘ ของโลก พื้นที่กว้างตั้ง ๒ แสน ตารางกม.เชียวหละ ด้วยความเป็นพื้นที่ทะเลทรายจึงไม่แปลกถ้าเมืองนี้จะมีปัญหาเรื่องน้ำ  ที่น่ารู้คือเขาจัดการน้ำอย่างไรที่ทำให้เขามีน้ำเพียงพอใช้

แผ่นน้ำกว้างรอบๆวังที่เห็นนั้นไม่ใช่ทะเลสาป แต่เป็นฝายที่เก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ในพระราชวังบนเขาด้วยระบบฝายทดน้ำ น้ำที่ไหลจากภูเขาบางส่วนจะถูกกักไว้ในฝายที่มีหินทรายสีแดงเป็นแนวกั้น เห็นหรือยังว่าปัญญาคนอินเดียเขาลึกซึ้งแค่ไหน

ทิวทัศน์ริมฝายกับทิวทัศน์บนเขา เหล่านี้เป็นถิ่นแดนในถิ่นโอเอซีส  ลักษณะบางอย่างก็มีพื้นที่บางจังหวัดในบ้านเรา็คล้ายนะ

วังในน้ำที่เห็นสร้างขึ้นมาทีหลังเพื่อใช้สอยในฤดูร้อนนั้น คงเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดการน้ำมากกว่าอื่นใด

เมื่อความแห้งแล้งของพื้นที่เพิ่มขึ้น มีประชากรเพิ่มขึ้น แล้วความจำเป็นด้านยุทธศาสตร์ในสงครามหายไป การอยู่ในป้อมปราการใหญ่ก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็น  การสร้างเมืองใหม่ขึ้นในที่ราบ และสร้างวังหลวงใหม่ขึ้นและใช้สอยมาจนถึงวันนี้จึงเป็นอะไรที่บ่งบอกถึงปัญญาของผู้นำของเขา

พวกเราได้เวลาพิเศษจากลุงเอกให้แวะเก็บภาพเป็นที่ระลึกกันได้ ประเมินไอร้อนที่สัมผัสตัวแล้ว ที่นี่ร้อนใกล้เคียงกับที่บ้านฉันนะ ต่างกันก็ตรงเป็นร้อนแบบแห้งๆ

เขาว่าที่นี่ี้ถ้าร้อนจัด คลื่นความร้อนทำให้ไฟฟ้าดับได้ด้วย แล้วยังมีพายุฝุ่นที่ก่อตัวขึ้นด้วย ถึงมีความชื้นฝุ่นก็ไม่ลดลง ตรงนี้ต่างจากที่บ้านฉัน ซึ่งถ้ามีคลื่นความร้อน ฝนตกและไม่มีฝุ่น

อยู่เมืองนี้ได้ใช้ร่มกันแดด อยู่่โกลกาตาและเดลีได้ใช้ร่มกันฝน เป็นความต่างที่ได้มีประสบการณ์ครบ ร่มใช้ประโยชน์ได้คุ้มกับที่ให้ขนมา

เรื่องของฝนมีคนเล่าว่าเป็นเดิมพันของเกษตรกรทั่วอินเดียเลยหละ การเกษตรของเขาต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก ชีวิตเกษตรกรผูกพันชีวิตกับธรรมชาติมากเลย มิน่าอินเดียจึงกระโดดเข้าเป็นหัวหอกรณรงค์โลกร้อน ก็มันกระทบประชาชนของเขาเต็มๆ

บรรากาศในภาพเป็นเวลาเกือบๆสิบเอ็ดโมง หันหน้าเข้าหาฝั่งก็เห็นเขาสูงอยู่ลิบๆ นั่นคือที่ตั้งของวังบนเขา

เขามีภูมิปัญญาเดิมพยากรณ์น้ำฝนด้วยตำราโหราศาสตร์ด้วยนะ ตำรานี้ชื่อว่า “ปัญจังกัม” มีรายละเอียดเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของกลุ่มดาวตามคติจักรวาลวิทยาของฮินดูเขียนไว้ ทำนายการมาถึงของฤดูมรสุมและเวลาเพาะปลูก ใช้กันมาหลายชั่วคนแล้ว พอมาถึงยุคนี้ เขาเริ่มหวั่นไหวกับการใช้ตำรานี้ทำนายซะแล้ว

เมื่อฤดูมรสุมมาเยือนบ้านเมืองเขาแบบไม่แน่นอน เกษตรกรหลายคนก็หมดเนื้อหมดตัวไปกับการเป็นหนี้เพื่อเตรียมเมล็ดพันธุ์สำหรับใช้ในช่วงฝนแรกและซื้อปุ๋ย ฝนช้าเมื่อไรเขาก็ตายหยังเขียด

นักวิชาการบ้านเขาเผยแพร่ข้อมูลไว้ว่า ฝนที่ตกบ้านเขาในช่วง ๕๐ ปีหลังนั้น ตกแค่สั้นๆและรุนแรงมากขึ้น ฝนที่ตกพรำคั่นกลางลดลง ปริมาณน้ำฝนในภาพรวมไม่เปลี่ยนแปลง  ฝนที่ตกอย่างนี้ชดเชยน้ำให้ไม่ทันเพราะี่เกษตรกรของเขาสูบน้ำขึ้นมาใช้เร็วเกินไป ปริมาณน้ำใต้ดินที่เคยมีจึงลดลงฮวบฮาบ บ่อหลายแห่งที่เคยมีก็ใช้ไม่ได้แล้ว  ผลตามมา็คือเกษตรกรอพยพย้ายถิ่นเข้าเมืองหาอาชีพใหม่ หาที่ดินใหม่ทำกินปีละเป็นร้อยล้านคน

ที่ไหนเห็นสตรีอินเดีย ที่นั่นมักจะเห็นเด็กๆอยู่ใกล้ๆ เด็กชาวอินเดียถูกฝึกให้อดทนแต่เล็กๆ เด็กไทยของเราหละถูกฝึกตั้งแต่เมื่อไร

ฟังเรื่องนี้แล้วนับถือผู้นำที่ทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองของเขาขึ้นมาทันที ตัวเลขนี้น่าสะดุ้งนะคะ การอพยพย้ายถิ่นเฉพาะคนของเขาเองปีละเป็นร้อยล้านคนเข้าไปแล้ว ไหนจะมีคนจรอย่างเราอพยพชั่วคราวเข้าไปเที่ยว เข้าไปเรียนอีก ทำได้ไงให้ประเทศตัวเองอยู่รอดมีน้ำใช้พอ ต้องเจ๋งจริงๆจึงทำได้นะเออ

๘ สิงหาคม ๒๕๕๓

« « Prev : สีชมพูมีที่มา

Next : ทำไมไม่เห็นเลยละ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ที่แท้เป็น “ฝาย” ในโอเอซีส"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.10209393501282 sec
Sidebar: 0.56139898300171 sec