สีชมพูมีที่มา

อ่าน: 1622

ปัจจุบันยังมีพระมหาราชาอยู่ ทรงทำหน้าที่แค่เพียงในรัฐพิธี ผู้คนในราชสถานยังให้ความเคารพนับถือในพระองค์ด้วยยังมีความเชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากพระราม ซึ่งเป็นองค์อวตารของพระวิษณุ วันดีคืนดีผู้ที่มาท่องเที่ยวก็ได้ชมขบวนเสด็จของพระองค์ แต่ไม่ใช่พวกเรา เพราะวันที่มาถึงกันนั้นเย็นแล้ว  ดูเหมือนมหาราชาองค์ปัจจุบัน จะมีพระนามว่า “มหาราชา ซาไว บาห์วานี สิงห์” นะคะ

ตรงประตูเข้ามีแผนผังวัง เดินเข้าประตูไปก็พบแขกกับงูเล่นโชว์กันอยู่ เดินตามลูกศรเข้าไปก็เจออาคารสีส้มสวยลายสวยอย่างในภาพ

เคล็ดในการสร้างวังนี้มีว่า วังเสมือนพระอาทิตย์  บ้านเรือนตัวเมืองเหมือนหมู่ดาว มิน่าจึงเห็นความหลากหลายของพื้นที่ในเมืองเยอะซะจริง

ความที่ชุมชนของที่นี่มีพระราชาที่นับถือฮินดูปกครองมายาวนาน ประกอบกับประสบการณ์ของการครองแคว้นสืบทอดมาหลายชั่วคน ผสมผสานกับเรื่องราวทีี่่่มีผู้เล่าให้ฟังเรื่องความเจริญในยุคราชวงศ์โมกุล ทำให้ฉันไม่แปลกใจที่บ้านเรือนร้านตลาดในเมืองชัยปุระเป็นศิลปะการก่อสร้างแบบฮินดูผสมมุสลิม ซึ่งตัวตึกมียอดเป็นโดมคล้ายของมุสลิม ซุ้มที่เป็นช่องทำเป็นลวดลายโค้งเว้าเป็นสิบเว้าแบบฮินดู

มันยืนยันให้ฉันเห็นภาพบารมีของมหาราชองค์ที่ ๒ ของอินเดียด้วยซ้ำไป มรดกความคิดของการหลอมรวมคนฮินดูและอิสลามให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขส่งต่อมาถึงผู้นำรุ่นหลังได้อย่างนี้เป็นด้วยความใจกว้างของพระองค์แท้ๆเชียว

สีสันเสื้อผ้าดึงดูดตา วิชาเพ๊นท์เฮนน่าดึงดูดใจ อยากลองจนต้องใส่ส่าหรีก็ยอม อีกมุมหนึ่งก็มีปืนใหญ่และพระราชรถโบราณรวมไว้ให้ชม

วังนี้มีของสวยๆและของแปลกตามากมายจัดแสดงไว้ภายใน ล้วนเป็นของเก่าทั้งนั้น มีมุมและห้องที่จัดแสดงอาวุธต่างๆไว้ด้วย

ที่แปลกใจกับสิ่งของที่นี่ก็เห็นจะมีสีสันของเครื่องแต่งกายสตรีที่คอยต้อนรับ ทำไมต้องใช้สีชมพูด้วยนะ หรือว่ามันสวยดี หรือว่ามันเกี่ยวกับเรื่องวรรณะ

เคยอ่านเรื่องที่อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์เล่าไว้ว่า  นอกจาก ๔ สี ขาว แดง เหลือง ดำ ที่ใช้สื่อถึงวรรณะแล้ว ในแต่ละวรรณะยังมีสีซอยย่อยลงไปอีกเหมือนกีฬาสี ทำให้การใช้สีกลายเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่บอกอัตลักษณ์และส่งผลให้เกิดเอกภาพในการรวมกลุ่มของผู้คนที่อยู่ในสังคมอินเดีย

เขาแบ่งโดยใช้ฐานของความเคารพในพระเจ้าของเขาไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้าแบ่งเอง เป็นการสถาปนาเอกภาพด้วยกระบวนการทางสังคมที่น่าสนใจทีเดียวสำหรับการทำความเข้าใจชุมชนอินเดีย

ความงามอันหลากหลายที่ปรากฎอยู่ภายในวังหลวงแห่งนี้มีชีวิตนะ

เรื่องนี้ทำให้ฉันเห็นกระบวนการทางสังคมที่มีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงสังคมภายในของอินเดียจนทำให้สามารถละลายจนเปลี่ยนผ่านให้ความเป็นเชื้อชาติมีความสำคัญรองลงมาจากวรรณะได้ และเป็นฐานหนึ่งที่ทำให้ระบบวรรณะในอินเดียอยู่มาได้นานเป็นพันปีเลยเชียวนะ

ได้รู้จากเรื่องเล่านี้ว่าราชวงศ์ที่ปกครองเมืองชัยปุระเป็นเจ้าราชบุตรและเป็นมองโกลอยด์เหมือนต้นราชวงศ์โมกุล ต่างกันก็แต่เจ้าราชบุตรนับถือฮินดู ที่เลือกใช้สีชมพูเป็นสีบ้านเมืองเพราะไม่ต้องการตามอย่างคติของชาวอารยันเดิม

ได้มุมมองเรื่องสีสันของเสื้อผ้าด้วย ก่อนมีเรื่องเหลือง-แดง คนไทยไม่ได้คิดอะไรมากกับสีผ้า ได้สีอะไรก็ย้อมไป มีพืชพันธุ์ต้นไม้อย่างไรก็ย้อมสีนั้นไป แต่คนอินเดียเขาต้องคิด เพราะเวลาที่เขาจะทำพิธีกรรมอะไรบางอย่าง เขาจะต้องใช้สีให้มันเหมาะสมกับสภาพการณ์แห่งความเชื่อของเขา

กว่าจะได้มาซึ่งความงดงามเหล่านี้ ไม่รู้ว่าใช้แรงงานไปเท่าไร แต่สัมผัสได้ว่าผู้คนยุคนั้นมีความสุข ใจสงบ เข้มแข็งแต่ไม่แข็งกร้าว

เวลาใช้สีอะไรแล้วต้องคิดและต้องใช้ให้เหมาะสมกับความเชื่อ การเลือกใช้สีของคนอินเดียจึงต้องมีการตีความเสมอ เมื่อพัฒนาการทางด้านศิลปะของอินเดียก้าวหน้าและละเอียดจนไม่มีปัญหาเรื่องการตีความสี  ก็เกิดการแสวงหาสีให้ครบตามความเชื่อ ทำให้เกิดกระบวนการผลิตอันเป็นที่มาของความหลากหลายด้านสีสันวรรณะที่อลังการไปด้วยสีที่เป็นเอกลักษณ์

รับรู้วัฒนธรรมอินเดียว่าสีมาจากฐานความเคารพในพระเจ้าที่ชี้ทางการทำดีให้กับพวกเขาแล้ว ชวนให้หาคำตอบเรื่องสีของบ้านเราว่ามีฐานที่เหมือนและต่างกับคนอินเดียอย่างไรในแง่ของวัฒนธรรมและวิธีคิดเนอะ

ข้างในมีห้องสะสมวัตถุโบราณเหมือนในบ้านเศรษฐีทั่วไป  มีห้องหนึ่งรวบรวมอาวุธทั้งมีด ดาบ ปืนและชุดนักรบไว้ให้ชม ขนาดของดาบเห็นแล้วนึกถึงความแข็งแรงของคนถือได้เลย มารู้ทีหลังว่าพระมหาราณี คยาตรี เทวีนั้นเ็ป็นนักแม่นปืนมือฉกาจ จึงไม่แปลกใจแล้วกับรสนิยมของผู้ที่สะสมสิ่งเหล่านี้ไวู้

ซ้ายสุดคือไหเงินที่เล่าถึง ศิลปะฮินดูผสมอิสลามนี่สวยงามประณีตชวนให้ศึกษาความหมายที่ซ่อนเร้นเหมือนกันเนอะ

ฝีมือยิงปืนของพระราชมาตาการันตีได้ตั้งแต่พระชันษาเพียง ๑๒ ปี ทรงยิงเสือดาวตัวแรกในพระชนม์ชีพได้ ซึ่งทำให้พระมารดาของพระองค์ที่โปรดปรานนิยายผจญภัยของ เซอร์ไรเดอร์ แฮกการ์ด อย่างมาก ทรงตั้งพระนามเล่นให้พระองค์ตามชื่อนางเอกนิยายเรื่องโปรดว่า Ayesha

จุดที่ได้เข้าไปชมมีเสื้อผ้าฉลองพระองค์และท้องพระโรงจัดโชว์ไว้ด้วย มีหม้อน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกสร้างด้วยเงินบริสุทธิ์บรรจุน้ำได้ใบละพันลิตร(หนึ่งตัน) ให้ชมด้วย หม้อนี้สร้างเพื่อใช้บรรจุน้ำจากแม่น้ำคงคาใส่เรือไปกรุงลอนดอนเพื่อไว้ให้มหาราชาใช้เสวยและสรงก่อนเสด็จไปในพระราชพิธี่ โลหะเงินที่ใช้สร้างเบิกมาจากท้องพระคลัง ตัวหม้อหนักราวๆ ๓๕ กก.

ภาพที่เห็นต้องเงยหน้าสู้ฟ้า พาเข่าติดดินจึงจะอิ่มตาอิ่มใจ ศิลปะที่นี่ปราณีตกว่าที่อัคราเนอะ ขวาสุดคือลานที่ศิลปินมานั่งผลิตงานขาย

ที่นี่มีลานกว้างอยู่ในห้องชั้นล่างจัดไว้เป็นห้องขายสินค้าพวกหัตถกรรมและภาพวาด มีสาธิตการวาดภาพและระบายสีด้วยสีที่ฝนได้จากอัญมณีให้ดู มีภาพสวยๆขาย ตาไม่ถึงก็ดูไม่ออก ภาพไหนใช้สีฝนจากอัญมณีบ้าง

วังนี้ก็ใช้หินอ่อนในการสร้างเช่นกัน ได้ยินว่ารัฐนี้มีหินอ่อนเยอะ ลวดลายที่แกะสลักปราณีตบรรจง อ่อนโยน อ่อนช้อย ปราณีต และเนียนกว่าที่ทัชมาฮาล ป้อมอัครา และวังฟาห์เตปุระ ลวดลายมีหลากหลาย น่าสนใจตรงช่องลมต่างๆที่ละเอียดยิบ หน้าตาเหมือนเหล็กดัดแต่เป็นหิน

๘ สิงหาคม ๒๕๕๓

« « Prev : จุดเกาะเกี่ยวกับไทยที่น่าสนใจ

Next : ที่แท้เป็น “ฝาย” ในโอเอซีส » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.080343008041382 sec
Sidebar: 0.32596182823181 sec