ความรักเปลี่ยนวิธีคิด

อ่าน: 1609

ฟังเรื่องวิธีคิดริเริ่มศาสนาใหม่ของพระเจ้าอักบาร์แล้วสนใจ ตามหาคนเล่าจนได้ความมาเล่าสู่กันฟังต่อ

อารยธรรมอิสลามในอินเดียไม่ได้มีอยู่มาแต่เดิม แต่นำเข้าผ่านเปอร์เซียมาสู่ชนชั้นขุนนาง คำที่ตะวันตกกล่าวหาในสมัยโน้นว่าอิสลามกดขี่ทางเพศก็มาจากชนชั้นขุนนางรับอิทธิพลจากศาสนาอิสลามซึ่งเข้มงวดกับผู้หญิงฮินดูเข้ามาใช้ในชีวิต

การนำเข้าอารยธรรมนี้ทำให้อินเดียได้ภาษาราชการที่เรียกว่า “อูรดู” มาใช้ ภาษานี้มีไวยากรณ์เป็นอินเดียและศัพท์เป็นอาหรับ-เปอร์เซีย ภาษาใหม่ก็เกิดขึ้นหลายภาษา เช่น ฮินดี เบงกาลี ปัจจาบี มาราตี ฯลฯ

มีกวี นักประวัติศาสตร์และนักปราชญ์ชาวเปอร์เซียเข้ามาทำงานในพระราชวังให้กษัตริย์  ราชวงศ์โมกุลเป็นสกุลที่หนุนให้อารยธรรมจากเปอร์เซียนี้หลอมรวมกับอินเดีย

พระนิสัยสนพระทัยในการศึกษา การเรียนรู้ที่พระเจ้าอักบาร์ทรงมีอยู่ในตัวพระองค์ เป็นเรื่องสืบทอดทางสายเลือดหรือการหล่อหลอมจากการเลี้ยงดูหรือเปล่าน่าสนใจ

ต้นราชวงศ์โมกุลก็สนพระทัยการศึกษา พระองค์มีพระนิพนธ์บันทึกความทรงจำด้วยหละ เห็นความทันสมัยมั๊ยละ การเขียนไดอารี่เกิดขึ้นในอินเดียตั้งแต่เมื่อ ๕๐๐ กว่าปีก่อนเชียวนะ

สิ่งที่เห็นในรูปแบบตามภาพ เป็นอะไรที่บอกถึงอัตลักษณ์เปอร์เซีย ผสมมุสลิม ส่วนไหนบอกอัตลักษณ์ใด เรียนรู้กันเองเนอะค่ะ

ฟังเรื่องแล้วฉันรู้สึกว่าพระเจ้าอักบาร์ทรงโปรเสด็จปู่และใกล้ชิดมากจนมองเป็นฮีโร่เลยมั๊ง จึงทรงรับเอานิสัย “ชอบเรียน” ติดตัวมาจนสร้างความยิ่งใหญ่อย่างที่พวกเราไปเห็น

พระเจ้าอักบาร์ทรงจัดระบบการศึกษาใหม่ด้วย ห้องสมุดและมหาวิทยาลัยหลายแห่งถูกสร้างขึ้น ด้านศิลปกรรมนั้นมีการเลียนแบบการวาดภาพขนาดย่อจากเปอร์เซีย

ประวัติศาสตร์บอกว่าคนยุโรปรู้จักวรรณคดีอินเดียแล้วในยุคนั้น มีการแปลหนังสืออุปนิษาทเป็นภาษาเปอร์เซีย โดย Dara Shokoh มหากาพย์รามายณะได้รับการปรับปรุงเป็นภาษาฮินดี  เกิดนิกายขึ้นหลายนิกายในหมู่คนฮินดู เช่น ตันตริก ซิก มาดวา ฯลฯ

ลานด้านใน ประตูโค้ง ราชวัง สุเหร่ามุก สุเหร่าที่เห็นผ่านตามาแล้ว คือหลักฐานอิทธิพลด้านสถาปัตยกรรมที่รับมาจากเปอร์เซีย

หินมีค่าสีขาวที่ประดับไว้บนยอดทัชมาฮาลก็ใช่  ความเข้ากันได้อย่างงดงามของเส้นทุกเส้นกับสวนและน้ำพุจนทำให้เป็นสถาปัตยกรรมที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในโลกก็ใช่

จิตรกรรมบนผนังส่วนใหญ่เป็นดอกไม้และรูปทรงเรขาคณิต รูปลายปูนปั้นเล็กใหญ่ที่เล่นลวดลายอ่อนช้อย ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้มีแต่หินกับปูน

การแบ่งชั้นวรรณะเกิดขึ้นในอินเดียมานานแล้ว ก่อนยุคราชวงศ์โมกุลถือกำเนิดซะอีก สมัยก่อนคนอินเดียนับถือศาสนาพราหมณ์ ฮินดู พุทธมากมายหลายอย่าง มีมหาราชาของแต่ละแคว้นเป็นผู้ปกครอง

จนกระทั่งเมื่อต้นราชวงศ์โมกุล ผู้มีบิดาเป็นเชื้อสายของอามีร์ ติมูร์ (Amir Timur) แห่งอุซเบกิสถานและมารดาซึ่งสืบเชื้อสายราชวงศ์จากเจงกิสข่านแห่งมองโกลซึ่งขณะนั้นเป็นผู้นำชนเผ่าเร่ร่อนแถบเอเซียกลางได้เริ่มสร้างอาณาจักรเล็กๆของตนขึ้นใน Turkestan และขยายเข้ายึดครองอัฟกานิสถานได้ในปี พ.ศ. ๒๐๔๗ (ค.ศ. ๑๕๐๔) และรวบรวมไพร่พล ๑๒,๐๐๐ คนบุกข้ามแนวเขาเข้ามายึดอัคราได้

คำเรียกผู้นำว่า “สุลต่าน”  มีมาแต่ยุคไหนไม่รู้หรอก รู้แต่ว่าสุลต่านองค์สุดท้ายก่อนเปลี่ยนผ่านสู่ยุคโมกุล ชื่อ เดลี

พูดง่ายๆได้เลยว่า ราชวงศ์โมกุลนี่ก็คือเชื้อสายมองโกลของเจงกิสข่านที่หลงเหลือในแถบดินแดนเตอร์กิสถานซึ่งรับเอาวัฒนธรรมและศาสนาของเปอร์เซียเข้ามาหลอมรวมกัน

น่าสนใจว่าน้ำพุที่ลานสรงน้ำนี้ ทดน้ำมาใช้อย่างไรในที่สูงจากพื้นกว่า ๒๐ เมตรอย่างป้อมนี้

ทายาทรุ่นแรกของราชวงศ์โมกุลไม่เข้มแข็งและไม่เก่งในการสงครามเท่าไร เมื่อกษัตริย์ต้นราชสกุลสิ้นพระชนม์ อาณาจักรอันยิ่งใหญ่ก็สูญเสียดินแดนไปจนเกือบหมดและกษัตริย์ต้องลี้ภัยไปอยู่เปอร์เซีย

๕๐ ปีหลังการสูญเสียดินแดนไป การรวบรวมกำลังพลขึ้นต่อสู้ใหม่อีกครั้งเกิดขึ้น และนั่นก็คือสมัยของพระเจ้าอักบาร์  การยึดคืนดินแดนเริ่มจากอัครา เดลี ฮินดูสถานและอัฟกานิสถาน

มีหลายเรื่องที่พระมเหสีของพระองค์เป็นแรงบันดาลใจให้พระองค์ลงมือเปลี่ยนแปลงการบริหารบ้านเมือง มเหสีที่ทรงรักมากพระองค์นี้เป็นชาวฮินดู การผ่อนผันให้แต่ละแคว้นสามารถนับถือศาสนาของตนเองได้ การยกเลิกภาษีต่างศาสนา ยกเลิกการขึ้นศาลอิสลามในการพิจารณาโทษและมอบอำนาจให้แต่ละแคว้นพิจารณาได้เอง การตัดสินคดีความด้วยกฎหมายของตัวเอง

เหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงด้านการปกครองที่เกิดจากแรงบันดาลใจจากความรักและปัญญาแห่งความเป็นมนุษย์ในตัวพระองค์ สมแล้วที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “มหาราช”

๒ กษัตริย์ของอินเดียสะท้อนว่า ถ้าใช้ความรักในเชิงบวก อะไรๆที่ดีก็เกิดขึ้นได้มากมาย ยิ่งถ้าใช้มันด้วยปัญญาเพื่อสังคมยิ่งทำอะไรที่ดียิ่งกว่าได้เลย

บ่อข้างกำแพงไม่ใช่บ่อ แต่เป็นพื้นที่รองรับน้ำที่ช่วยระบายน้ำไม่ให้ท่วมป้อม  เวลาที่เราจากป้อมมาพระอาทิตย์ยังฉายแสงอยู่

แล้วพวกเราก็ออกจากวังนี้กลับโรงแรมพักผ่อนกัน ก่อนจะขึ้นรถกลับกัน พี่อู๊ด (ประกายรัตน์ ต้นคีรีวงศ์) เจอดี เกือบโดนพ่อค้าอินเดียรุม ด้วยพี่เขาไม่เข้าใจภาษาว่าราคาที่พ่อค้าบอกเป็นดอลล่าร์ จ่ายเงินเป็นรูปีให้ พ่อค้าไม่ยอม ซื้อแล้วคืนก็ไม่รับ กลับชวนพวกมารุม กดดันให้ขวัญหาย จนต้องนั่งยองๆลงต่ำด้วยความกลัว ถ้าไม่มีน้องยะ(สุริยะ ดวงสุริชัย)เข้าช่วย ก็ไม่รู้จะเป็นยังไง

เรื่องนี้ฟังมาเล่าต่อไม่เห็นกับตาเอง แต่ฟังแล้วน่ากลัวนะ เรื่องอย่างนี้ถ้าเกิดกับตัวเอง ฉันก็ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน

วันนี้กินข้าวเย็นที่โรงแรม เมนูอาหารเทียบกับเดลี โกลกาตา มีรสชาดที่แตกต่างไป  ที่นี่ไม่ใคร่มีผักสดให้ เมนูเห็นแต่ถั่วที่ปรุงแล้วซะมากกว่า เนื้อสัตว์ไม่ต้องพูดถึงมีน้อยมาก เมนู “ไข่” มี “ไข่ต้ม” ปลาแห้ง อาหารแห้งจากเมืองไทย จึงช่วยให้ผ่านมื้อนี้กันไปได้หลายคนเลย

๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

« « Prev : ไม่รู้หนังสือก็ยิ่งใหญ่ได้

Next : ดูไม่ออก » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2010 เวลา 10:07

    ทุกเรื่องในอินดี อลังการณ์เสมอ

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2010 เวลา 22:07

    ที่น่าสนใจอยู่ตรงนี้ค่ะพ่อครู
    เพื่อนมุสลิมเขาเล่าว่าอิสลามสอนให้ไม่ยึดติดจึงไม่มีประเพณีของการสร้างวัตถุอะไรก็แล้วแต่ที่แสดงความยิ่งใหญ่
    แล้วทำไมกษัตริย์ ๓ พระองค์ซึ่งเป็นมุสลิมจึงสร้างสิ่งเหล่านี้ไว้
    เรื่องราวที่เล่าต่อๆมามีเหตุผลเดียวที่บอก “ความรัก” คือที่มาของสิ่งเหล่านี้
    ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ทำไมผู้นำยุคนั้นจึงไม่ทำตามหลักที่ศาสนาสอนไว้
    หรือว่าการแหกกฎเป็นเรื่องยอมได้
    ถ้าเข้าใจตรงนี้ก็อาจจะได้ know how บางอย่างไปใช้แก้ปัญหาในภาคใต้ของบ้านเราได้บ้าง


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.031803131103516 sec
Sidebar: 0.19356489181519 sec