ไม่รู้หนังสือก็ยิ่งใหญ่ได้

อ่าน: 1636

ป้อมอัคราและทัชมาฮาลที่เห็นชวนสนใจวิธีคิดของผู้นำอินเดียในยุคนั้น ฉันเลยขอผู้รู้ให้ช่วยเล่าให้ฟัง ฟังแล้วก็ขอนำมาเล่าสู่กันฟังไปด้วย

ไม่น่าเชื่อว่าพระเจ้าอักบาร์ขึ้นครองราชย์ในขณะมีพระชันษาเพียง ๑๓ ชันษา ที่ไม่น่าเชื่อยิ่งกว่าก็คือ พระองค์ไม่รู้หนังสือ  จึงอยากชวนมารู้จักพระองค์กันหน่อยดีกว่า

พระองค์เป็นทายาทรุ่นหลานของต้นตระกูลราชวงศ์โมกุล  ด้วยเหตุเพราะสถาปัตยกรรมแบบโมกุลได้แผ่ขยายไปทั่วในอินเดีย ยุคนี้จักรวรรดิโมกุลรุ่งเรืองมากที่สุด คนรุ่นหลังจึงยกย่องว่ายุคของพระองค์เป็นยุคเรเนสซองของวรรณกรรมเปอร์เชีย

อารธรรมผสมผสานอินเดีย เปอร์เซีย ฮินดู อิสลาม ผสมผสานไปปรากฏบนสิ่งเหล่านี้แหละค่ะ

ได้มีพระดำริให้สร้างเมืองหลวงใหม่บนสันเขาสิครี(Sikri)เพื่อรำลึกถึงชัยชนะที่พระองค์มีต่อแคว้นคุชราต (Gujarat) เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๑๕ (ค.ศ. ๑๕๗๒) เมืองหลวงใหม่นี้มีชื่อว่า ฟาเตห์ปุระ (Fatehpur) อยู่ใกล้ๆอัคราเมืองหลวงที่เสด็จปู่ของพระองค์ทรงสร้างขึ้น

ในปีที่ชนะแคว้นคุชราตนั้น บ้านเมืองของเรามีเหตุการณ์ศึกที่ปัตตานี ศึกนี้เป็นศึกสายเลือดระหว่างผู้นำมุสลิมที่ผู้เป็นพี่ต่างมารดาต้องการครองแผ่นดินจึงลงมือทำการแย่งบัลลังค์น้อง  ยุคนี้เป็นยุคที่มีผู้สำเร็จราชการหญิงเกิดขึ้นครั้งแรกที่ปัตตานี ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ

พระเจ้าอักบาร์เรียนผ่านการฟังโดยมีผู้ช่วยอ่านหนังสือให้ฟัง ความเป็นผู้กระหายความรู้ทำให้ทรงรอบรู้เท่าเทียมกับปราชญ์ทั้งหลายผู้คงแก่เรียนมากที่สุด

พระองค์สามารถแผ่ขยายอาณาจักรด้านตะวันตกไปได้ไกลถึงอัฟกานิสถาน ด้านใต้ไปถึงแม่น้ำโกดาวาร์ (Godavar)  ยึดดินแดนของฮินดูได้ทั่ว ได้ครอบครองดินแดนเกือบจะทั่วภาคเหนือของอินเดียและอัฟกานิสถาน

การชนะศึกของพระองค์มาจากการชี้แนะของไบรามข่าน (Bairam Khan) แสดงว่าความเป็นนักรบผู้สามารถของพระองค์เกิดจากการฟังเช่นกัน พระปรีชาสามารถที่เกิดจากการฟังทำให้ฉันทึ่งกับวิธีเรียนของผู้นำอินเดียพระองค์นี้มาก

ไม่กี่จุดที่เห็นโซ่-ซี่กรง เขาว่าการระบายน้ำของป้อมนี้เร็วมากด้วยรางที่เห็นในภาพขวาสุด  ภายนอกใช้ทราย ภายในใช้หินอ่อน คนอยู่สบายตา สบายใจ

ในปี พ.ศ. ๒๐๙๙ ที่พระองค์สืบราชสมบัติต่อจากพระบิดา มีแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงประมาณ ๘.๐ ริกเตอร์และเกิดอาฟเตอร์ช็อกติดตามมาหลายครั้งนานถึง ๖ เดือนที่เมืองหัวเสียน มณฑลส่านซี ประเทศจีน มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๘๓๐,๐๐๐ คน แต่ว่าอินเดียไม่วิตกกับภัยธรรมชาติที่เกิดในประเทศเพื่อนบ้าน ยังคงมีการทำสงครามอยู่ น่าสนใจว่าทำไมพระองค์ไม่หวั่นต่อภัยธรรมชาติที่เกิดในปีนั้นเลย

วิธีบริหารงานของท่านก็น่าทึ่ง พระองค์ปราศจากอคติทางด้านศาสนา เมื่อทรงแต่งตั้งขุนนางและข้าราชการต่างๆจะไม่มีอคติเรื่องศาสนา งานวรรณกรรมและนักปราชญ์ราชบัณฑิตต่างๆพระองค์ก็ทรงอุปถัมภ์ ราชสำนักของพระองค์จึงเกิดกลุ่มนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงไว้พัฒนาบ้านเมือง รู้จักกันในชื่อ “อัญมณีทั้งเก้า มณีนพเก้า หรือ นวรัตนะ (Nava Ratna)”

พระองค์ทรงเป็นมุสลิมที่ใจกว้าง ให้เสรีภาพการนับถือศาสนาแก่ประชาชนแล้วยังทรงเป็นผู้ริเริ่มศาสนาใหม่ที่เรียกว่า “ดินอิอิลาฮี (Din-i-Ilahi) หรือศาสนาแห่งพระเจ้า (The Religion of God)”  ซึ่งพยายามหลอมรวมศาสนาอิสลามเข้ากับ ฮินดู คริสต์ เชน และศาสนาอื่นๆเข้าด้วยกัน

ชาวฮินดูซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์ไว้วางใจและให้ความสนับสนุน  ทรงชนะใจชาวฮินดูด้วยการให้ตำแหน่งสำคัญทางการทหารและพลเรือน ให้เกียรติอย่างเป็นทางการ อีกทั้งยังทรงยอมรับการแต่งงานกับเจ้าหญิงฮินดูทั้งๆที่พระองค์เป็นมุสลิม จนทำให้พระองค์มีมเหสีมากกว่า ๔,๐๐๐ องค์

พระเจ้าอักบาร์ทรงมีพระโอรส ๓ พระองค์  มี ๒ พระองค์สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์   ๔ ปีสุดท้ายแห่งรัชสมัยของพระองค์ พระโอรสองค์โตได้ก่อการกบฏขึ้นทำให้พระองค์ต้องลงมือปราบปราม

พื้นที่นี้บอกให้รู้ว่าป้อมนี้โดนลม โดนฝนอยู่เป็นประจำ และเป็นจุดที่มีความชื้นสูงอยู่โดยรอบ

เมื่อไร้พระโอรสก็ได้ทรงร้องขอต่อชาย์ค ซาริม คสิติ (Shayk Salim Chishti) นักบวชผู้ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาอิสลาม ซึ่งก็สมหวังในพระทัย ทรงให้กำเนิดพระโอรสองค์ใหม่นามว่า จาฮันเกอร์ (Jahangir) พระบิดาของพระเจ้าชาห์ จาฮาน

หลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ๕ เดือน ยุคที่รุ่งเรืองที่สุดในประวัติศาสตร์อินเดียนี้ก็สิ้นสุดลง พระองค์ประชวรและสิ้นพระชนม์จากยาพิษ ในวันที่ ๒๗  ตุลาคม พ.ศ. ๒๑๔๘

เรื่องนี้กระตุกให้ฉุกคิดว่าภายใต้การพัฒนาในแต่ละยุคของผู้นำมุสลิมในอินเดีย  มีความขัดแย้งเชิงอำนาจแฝงฝังอยู่เป็นธรรมชาติ และเมื่อไรที่ความแรงปะทุออก เมื่อนั้นอำนาจของการทำลายล้างก็สูง ใครที่เป็นเป้าของการทำลายล้างนั้นถึงกาลแตกดับของชีวิตได้เลย แล้วก็เลยนึกสงสัยว่าอิสลามถ่ายทอดวิถีปฏิบัติเรื่องความเมตตาปราณีไว้อย่างไรนะ

ป้อมอัครารวมธรรมเนียมประเพณีของสองศาสนา คือ อิสลามและฮินดูเข้าด้วยกัน มีอาคารภายใน ๕๐๐ หลัง ส่วนใหญ่สร้างเพิ่มเติมในสมัยหลัง ใช้หินอ่อนเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง  กว่าป้อมนี้จะแล้วเสร็จใช้เวลาถึง ๘ ปี เสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๑๑๖ ( ค.ศ. ๑๕๗๓) เปลี่ยนผ่าน ๓ รัชสมัยสู่สมัยของพระเจ้าชาห์ จาฮาน

ป้อมแห่งนี้ถูกสร้างชิดติดแม่น้ำตั้งแต่แรกแล้ว จึงมีบันไดลงไปสู่ท่าน้ำอยู่จำนวนมาก ใช้เป็นที่ถ่ายเทสินค้าที่ขนส่งทางน้ำบ้าง ใช้เป็นท่าสำหรับสนมนางในผ่านบ้าง ท่าที่ใช้สำหรับนางในจะมีหลังคาคลุมมิดชิด

ข้อมูลที่ปะติดปะต่อจากเรื่องเล่าชวนให้สงสัยเรื่องแผ่นดินไหวกับขนาดของป้อมที่เห็นและการปฏิสังขรณ์ที่เกิดขึ้น

ไม่มีทัชมาฮาลมองไปก็เวิ้งว้าง เห็นหลังคานั่นวังมะลินะ อยู่อย่างนี้เรียกว่าจับขังได้ยังไง คิดเล่นๆหน่อยเหอะว่าพ่อรู้สึกอย่างไรเมื่อถูกลูกชายกักบริเวณ

ที่จริงป้อมนี้มีอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. ๑๖๔๓ (คศ. ๑๐๘๐) โดยไม่รู้ว่าใครสร้าง รู้อยู่แต่ว่า  Sikandar Lodhi (พ.ศ. ๒๐๓๐ - ๒๐๖๐) สุลต่านองค์แรกของเดลีได้ใช้เป็นวังขณะพระองค์ปกครองประเทศ เมื่อพระเจ้าอักบาร์ชนะศึกขึ้นครองราชย์แทนในปี พ.ศ. ๒๑๐๑ และให้ปฏิสังขรณ์ ตกแต่งป้อมใหม่ด้วยหินทรายสีแดงล้วน ใช้คนงานและช่าง ๔,๐๐๐ คน เป็นไปได้มั๊ยที่เกิดภัยธรรมชาติแล้วป้อมพังเสียหายบางส่วน

น่าสนใจอีกตรงที่ว่าทำไมกษัตริย์ในยุคนั้นต้องสร้างป้อมใหญ่ขนาดนี้ด้วย สร้างไว้รองรับฤดูน้ำหลากจนน้ำท่วมเกิดอุทกภัยรุนแรงอย่างที่เรารับรู้ข่าวบ่อยๆในสมัยนี้  อย่างนั้นหรือเปล่า

๗ สิงหาคม ๒๕๕๓

« « Prev : สีแดงสวยแปลก

Next : ความรักเปลี่ยนวิธีคิด » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2010 เวลา 19:56

    แหม เรื่องนี้ทำให้นึกถึงคำโบราณปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ชั่ว-ดีเป็นตรา ขึ้นมาติดหมัดเลยล่ะค่ะ…คงเป็นสิ่งยืนยันได้อย่างดีนะคะว่าหนังสืออาจเป็นทางเลือกรองถ้ารู้จัก”ใช้ตัวเป็น” ^ ^

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2010 เวลา 21:57

    เบิร์ดไม่รู้สึกคุ้นๆบ้างเหรอว่า ปราชญ์ชาวบ้านหลายคนของบ้านเราก็ใช้วิธีเรียนอย่างนี้ เพียงแต่ครูของปราชญ์ผู้น่าเคารพของบ้านเราไม่ได้มีเพียงแต่ผู้คนหากแต่มีธรรมชาติอันยิ่งใหญ่คอยสอนสั่ง หลักคิดของบรรดาปราชญ์ที่พี่เรียนรู้ก็คือ “หยิบจับความรู้ที่อยู่รอบตัวมาใช้เป็น” พวกท่านก็เลยเก่งได้อย่างน่าทึ่ง


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.10780382156372 sec
Sidebar: 0.21135520935059 sec