นอกจารีตอย่างนี้…ดีมั๊ย
โลงพระศพที่วางอยู่บนแท่นภายในอาคารทำให้ฉันสะกิดใจต่อธรรมเนียมปฏิบัติบางอย่างตามวิถีมุสลิมขึ้นมา เพิ่งมานึกเห็นภาพกุโบร์ตอนเขียนบันทึกนี้เอง เก็บอะไรๆที่เห็นบนดินออกให้หมด ทัชมาฮาลก็คือกุโบร์ดีๆนี่เอง
พระเจ้าชาห์ จาฮาน ปฏิบัติถูกจารีตอิสลามในเรื่องคุณธรรมของสามี แต่ในมุมพิธีกรรมพระองค์ปฏิบัติผิดจารีตอิสลามหละ เพื่อนมุสลิมเคยบอกว่าจารีตการฝังศพที่ถูกของอิสลาม คือ ห้ามโบกปูนหรือสร้างอาคารถาวรบนหลุม ทำได้แค่ทำมูลดินสูงขึ้นมาและปักไม้ไว้ที่หัวหรือท้ายหลุมศพเท่านั้น เวลาฝังศพให้ฝังในท่านอน หันศีรษะไปทางนครเมกกะ
มีผู้เล่าว่าการล่มสลายของราชอาณาจักรอินเดียเริ่มจากยุคของราชวงศ์โมกุล ตั้งต้นหลังจากสร้างทัชมาฮาลเป็นต้นมาเมื่อพระเจ้าชาล์ล ออรังเซบยึดอำนาจการปกครองจากพระบิดาและขึ้นครองราชย์แทน ฟังแล้วสะกิดใจกับความเคร่งศาสนาที่ทำให้พระโอรสต้องยึดอำนาจจากพระบิดา
ความกว้างขวางของพื้นที่ที่เห็นอยู่ในราว ๑๒๕ ไร่
ผ่านมาจนถึงวันนี้เรื่องนอกจารีตมุสลิมที่พระเจ้าชาห์ จาฮานสร้างไว้ได้กลายเป็นมรดกโลกซึ่งได้สร้างรายได้และหนุนเศรษฐกิจของอินเดียอย่างมากมาย
ไหนๆก็เอ่ยเรื่องมรดกโลกขึ้นมาแล้ว ขอเล่าซะเลยว่ามี ๖ เกณฑ์ที่ใช้เป็นหลักของการพิจารณา คือ
๑. เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์
๒. เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
๓. เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
๔. เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนา ทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
๕. เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของวัฒนธรรมมนุษย์ ขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งเสื่อมสลายได้ง่ายจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมตาม กาลเวลา
๖. มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์
ความเป็นป่าเล็กๆในอุทยานแสดงออกมาในรูปแบบนี้เอง
กรุงศรีอยุธยาที่มีการพัฒนามาในยุคเดียวกับทัชมาฮาลได้เป็นมรดกโลกโดยใช้เกณฑ์ ๖ ข้อนี้สรุปเช่นกัน
ร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ งดงาม และทรงคุณค่า ที่สะท้อนให้ระลึกถึงภาพความโอ่อ่าสง่างามของปราสาทราชวัง วัดวาอาราม ป้อมปราการ บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวกรุงศรีอยุธยาในอดีต ที่ยังบอกได้ถึงความชาญฉลาดของชุมชนหนึ่งซึ่งบังเกิดขึ้นนับแต่การเลือกที่ตั้งชุมชนในบริเวณที่มีแม่น้ำสามสายมาบรรจบกันเพื่อให้เป็นแหล่งอาหารและแหล่งเกษตรกรรมอันอุดมสมบูรณ์พร้อมๆไปกับเป็นปราการธรรมชาติในการป้องกันข้าศึกศัตรูจากภายนอก รวมไปถึงผลงานด้านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ประณีตศิลป และวรรณกรรม ที่เป็นประจักษ์พยานแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดของอารยธรรมแห่งชุมชนหนึ่งในช่วงเวลาระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๔ ที่เรามีนั้น เมื่อเทียบกับทัชมาฮาลแล้วก็เป็นเรื่องคนละแนวกันเลย
๗ สิงหาคม ๒๕๕๓
« « Prev : ได้รู้ ได้เห็นอีกมุม
ความคิดเห็นสำหรับ "นอกจารีตอย่างนี้…ดีมั๊ย"