ได้รู้ ได้เห็นอีกมุม

อ่าน: 1355

มองเขาแล้วมามองบ้านเรา พื้นที่ที่รัฐบาลกลางดูแลมีบริเวณกว้างเหมือนกันแผนที่ข้างล่างบอกมาอย่างนั้น พื้นที่เขตเมืองนั้นกว้างใหญ่ จะไม่ให้แปลกใจได้ไงว่า เห็นทิวทัศน์ริมถนนแล้วไม่น่าเชื่อว่าเมืองอย่างนี้ จะสามารถสร้างอะไรที่อลังการขนาดนี้ได้

ไม่รู้ต่อไปในแถบนี้ จะมีคอมเพล็กซ์สำหรับนักท่องเที่ยวเกิดขึ้นเหมือนเมือง FARIDABAD อีกหรือเปล่าที่แถวๆแถวทะเลสาบเกิด Badkhal  Suraj Kund Tourist Complex ขึ้น มีกอล์ฟคลับอย่างเช่น Aravaliเกิดขึ้น

ลืมเล่าไปว่าเมืองอัคราอยู่ในรัฐอุตรประเทศ (Uttar Pradesh) หนึ่งรัฐที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย เสน่ห์ของรัฐนี้ก็คงมีที่มาจากกลิ่นอายแห่งความรักที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยือนครั้งแล้วครั้งเล่า

เมืองนี้เป็นหนึ่งในเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในอุตรประเทศและเคยเป็นศูนย์กลางการปกครองของอินเดียในสมัยราชวงค์โมกุล  แม่น้ำยมุนาที่ไหลผ่านมีทัชมาฮาลตั้งอยู่รอให้ผู้คนไปยล

การตั้งอยู่บนริมแม่น้ำ ทำให้ทัชมาฮาลเสี่ยงจะถูกน้ำท่วมถ้าระดับน้ำในแม่น้ำยมุนาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เวลาที่ฝนตกหนักในฤดูมรสุมตั้งแต่เดือน ก.ค.ของทุกปี ทางการท้องถิ่นจะเตรียมมาตรการรับมือไว้

หออาซานสูง ๑๖๒.๕ ฟุตบอกความเป็นมุสลิม สมมาตรทุกด้านและความละเอียดบอกนวตกรรมของสถาปัตยกรรมอินเดีย

พระนางมุมตัสเดิมนั้นเป็นธิดาของรัฐมนตรีของจักรพรรดิ ชาห์ ชหานชีร์ จักรพรรดิองค์ที่สี่แห่งราชวงศ์โมกุล  เมื่อพระชนมายุได้ ๑๔ พรรษา พระนางได้พบกับเจ้าชายชาห์ จาฮาน ผู้สั่งให้สร้างทัชมาฮาล เจ้าชายองค์นี้เป็นโอรสในพระจักรพรรดิ เพ็ชรมูลค่า ๑๐,๐๐๐ รูปี ได้ถูกส่งมาเพื่อขอพระนางแต่งงานแบบรักแรกพบ เพียงแค่รู้ข้อมูลนี้ก็ไ่ม่น่าแปลกใจว่าทำไมทัชมาฮาลจึงอลังการอย่างที่เห็น

ในปีที่มีพิธีอภิเษกคือ พ.ศ. ๒๑๕๕ (ค.ศ. ๑๖๑๒)  เหตุการณ์สำคัญหนึ่งที่ถูกบันทึกไว้โดยคณะผู้แทนการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษบอกให้รู้ว่ากรุงศรีอยุธยาและปัตตานีมีการค้ากับอินเดียแล้วในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

เรื่องราวที่บันทึกเป็นเรื่องพายุหมุนที่เกิดในอ่าวไทยเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๑๕๕

บันทึกนั้นมีว่า “ก่อนที่จะออกเดินทางจากประเทศ สยามไม่นานนักดินดอนสามเหลี่ยมของแม่น้ำเจ้าพระยาถูกพายุไซโคลน เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๖๑๒ (พ.ศ.๒๑๕๕)…..ได้เกิดพายุไซโคลนขึ้นอย่างที่ชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ไม่เคยเห็นปรากฏมาก่อนเลย พัดจนต้นไม้ถอนรากถอนโคน และพัดเอาอนุสาวรีย์กษัตริย์ตกลงมา อนุสาวรีย์ดังกล่าวนี้พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างถวายพระราชบิดาของพระองค์ ด้วยสติปัญญาความสามารถของนายเรือ เรือจึงเกือบหนีรอดพ้นได้ ถึงกระนั้น สมอเรือ ๒ ตัวถูกพัดไปเสีย… พายุนี้สิ้นสุดลงใน ๔ หรือ ๕ ชั่วโมง และต่อจากนั้นทะเลก็ราบเรียบ ประหนึ่งว่าไม่ได้เกิดพายุขึ้นเลย”

เรื่องนี้ฉันไม่ได้รู้เอง แต่มีผู้รู้มาเล่าให้ฟัง เขาได้มาจากตามรอยบันทึกชาวต่างชาติจากอ่าวสยามสู่ลำน้ำเจ้าพระยา พิมพ์เผยแพร่ โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร พ.ศ.๒๕๕๑ ค่ะ

สวนแบ่งด้วยธารน้ำ แท่นยกพื้นเหมือนบัลลังค์ พระศพฝังใต้ดินต่ำลงไปจากสุสาน มัสยิด โดม ที่รับรองแขก ผสานความสมมาตรให้เข้ากันได้ประณีตอย่างน่าทึ่ง

พ.ศ. ๒๑๗๑ ที่พระเจ้าชาห์ จาฮาน ขึ้นครองราชย์นั้น เป็นช่วงที่น่านของเราตกอยู่ภายใต้อำนาจของพม่า และกรุงศรีอยุธยาผลัดเปลี่ยนแผ่นดินเพราะพระเจ้าทรงธรรมเสด็จสวรรคตเป็นยุคของพระเชษฐาธิราช ซึ่งพระองค์ก็ได้ปกครองแผ่นดินสยามอยู่เพียง ๑ ปีก็เสด็จสวรรคต และพระเจ้าอาทิตยวงศ์ขึ้นครองราชย์แทน

ในปี พ.ศ. ๒๑๗๔ (ค.ศ. ๑๖๓๑) ที่พระนางมุมตัสสิ้นพระชนม์ ในบ้านเราเองก็สิ้นรัชสมัยของราชวงศ์สุโขทัยเปลี่ยนแผ่นดินเข้าสู่ยุคของราชวงศ์ปราสาททองผ่านไปแล้ว ๑ ปีและกรุงศรีอยุธยามีความสัมพันธ์ทางการทูตกับญี่ปุ่นแล้ว

ช่วงที่การเจริญสัมพันธไมตรีทางการทูตกับญี่ปุ่นเริ่มดำเนินไปนั้นเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแผ่นดินจากสมัยพระเชษฐาธิราชมาสู่สมัยของพระเจ้าปราสาททอง

กว่าทัชมาฮาลจะสร้างแล้วเสร็จ พระเจ้าปราสาททองปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์อู่ทองก็ทรงครองราชย์ย่างเข้าปีที่ ๑๙

หลังจากทัชมาฮาลสร้างแล้วเสร็จได้ ๙ ปี พระเจ้าชาห์ จาฮานก็ทรงพระประชวร แล้วอินเดียก็เปลี่ยนกษัตริย์ที่ปกครองในปีต่อมา โดยพระโอรสโอรังเซบ ขึ้นครองราชย์แทน

ความสงบ ความรัก และสวรรค์ ที่แสดงออกผ่านลายภาพดอกไม้ ลายเส้นอักษร รูปเรขาคณิต บนผนัง กรอบและขอบต่างๆ

อย่างประณีต บ่งถึงสังคมของอินเดียว่าช่วงนี้มีความสงบ สันติอยู่ทั่วไป ได้มั๊ย

ขณะที่พระเจ้าชาห์ จาฮาน ขึ้นครองราชย์ การสานสร้างความเป็นมรดกโลกไว้ให้ลูกหลานไทยได้เริ่มขึ้นแล้ว ในยุคนี้ศิลปะสุโขทัยจะเด่นและมีอิทธิพลสูงในบ้านเรา

เมื่อทัชมาฮาลเริ่มสร้าง บ้านเราก็ตกอยู่ยุคแห่งการสงคราม ศิลปอารยธรรมของบ้านเราเริ่มผสมผสานวัฒนธรรมที่หลากหลายจนกลายมาเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะอยุธยาอย่างแท้จริง

ช่วงเวลา ๒๒ ปีที่อินเดียสร้างทัชมาฮาล บ้านเราก็มีการติดต่อสัมพันธ์กับชาวตะวันตก ร่องรอยอารยธรรมตะวันตกเริ่มปรากฏในศิลปะไทยอย่างชัดเจนในช่วงนี้แหละ

จนเมื่อทัชมาฮาลผ่านฝนผ่านหนาวมาครบ ๑๐๐ ปี บ้านเราก็เข้าสู่ยุคแห่งความเสื่อมโทรมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และศิลปอารยธรรม (พ.ศ. ๒๒๗๖ - ๒๓๑๐)

ทัชมาฮาลซึ่งมีความหมายว่า พระราชวังของกษัตริย์ สะท้อนภาพของการปฏิบัติตัวตามหลักของศาสนามุสลิมในเรื่องครอบครัวและการปฏิบัติต่อสตรีไว้ด้วยนะ

ผู้รู้บอกว่าเมื่อมองเห็นผ่านการปฏิบัติของพระเจ้าชาห์ จาฮาน พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของคุณธรรมในตัวผู้เป็นสามีตามหลักการปฏิบัติของศาสนาอิสลามโดยแท้

เมื่อได้ไปรู้มาว่าราชวงศ์โมกุลเป็นผู้ริเริ่มการสร้างอนุสาวรีย์บรรจุศพ (mausoleum) ที่หรูหรา มีอุทยานใหญ่ๆที่อยู่ท่ามกลางป่าเล็กๆ มีสวนดอกไม้ น้ำพุ และธารน้ำ ทำให้ได้คำอธิบายอีกมุมว่าทำไมสุสานจึงใหญ่จัง

แล้วก็เลยได้ความรู้เติมมาอีกว่า รูปแบบสถาปัตยกรรมที่นำมาใช้มีทั้งแบบอาหรับและแบบยิว  แปดเหลี่ยมแปดมุม ที่เกิดจากสี่เหลี่ยมสองรูปไขว้กันเป็นแบบอาหรับ หกแฉกที่เกิดจากสามเหลี่ยมสองรูปไขว้กันแบบดาวเดวิดเป็นแบบยิว

๗ สิงหาคม ๒๕๕๓

« « Prev : สุดยอดในอัครา

Next : นอกจารีตอย่างนี้…ดีมั๊ย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ได้รู้ ได้เห็นอีกมุม"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.033818960189819 sec
Sidebar: 0.16615796089172 sec