สุดยอดในอัครา
น้องนุชให้รถบัสนำเรามายังที่แห่งหนึ่งเืพื่อเปลี่ยนรถเพราะตรงเข้าไปถึงด้านหน้าทัชมาฮาลไม่ได้ ตรงจุดที่ต้องต่อรถมีทั้งรถม้า แท็กซี่และมินิบัส
เมื่อจะเปลี่ยนรถกันอีกทอด เธอก็บอกว่าไม่ให้เอาสิ่งของติดตัวไปด้วย แม้แต่กระเป๋าใบใหญ่ๆอย่างกระเป๋ากล้องก็จะไม่ให้เอาเข้าเลย แต่พวกเราก็มีคนฝืนถือไปด้วย เธอแจกถุงสวมรองเท้ามาแจกคนละคู่ให้ด้วย ได้ยินแว่วๆว่าเพื่อจะได้ไม่ต้องถอดรองเท้า เวลาเข้าไปก็ให้เอาสวมรองเท้าเข้าไปเลย
บรรยากาศระหว่างมีการเปลี่ยนรถอีกทอด ผู้มาเยือนจะถ่ายภาพกันหน่อย ผู้เหย้าก็มาโชว์ละครพื้นบ้านให้ดู
ไปถึงประตูด้านหน้าก็เห็นฝูงชนจำนวนมากอยู่ภายในแล้ว ช่วงที่ก้าวพ้นประตูหน้าเข้าไปยังใส่รองเท้ากันได้ ทัชมาฮาลที่เห็นใหญ่โตจริงๆ เห็นแล้วนึกถึงการอยู่จริงๆของผู้คน ใหญ่โตขนาดนี้ กว้างขวางขนาดนี้ สมัยนั้นจะมีผู้คนอยู่มากยังไง
ความเป็นสุดยอดแห่งประดิษฐกรรมของสิ่งที่อยู่ตรงหน้าน่าทึ่งกับฝีมือประดิษฐ์ของมนุษย์ในยุค ๓๐๐ กว่าปีก่อนซะจริงๆ ผู้คนอย่างกับมดเห็นน้ำตาลเป็นหลักฐานที่บอกว่าคนเห็นคุณค่าของการมาเยือนและยลด้วยตัวเอง
รถพามาปล่อยให้เดินต่อ เบียดแขกหาคิวเข้า แขกเบียดขอเข้าก่อน ค้นกระเป๋า ลูบตัว คือบทเรียนก่อนผ่านเข้าไปเห็นทัชมาฮาล
อานุภาพแห่งรักของผู้ชายที่่มีพลังและความเป็นมนุษย์สูงนี่ยิ่งใหญ่จริงๆ เสียดายไม่รู้พระชนมายุของเจ้าชายชาร์จาฮานตอนที่สร้างทัชมาฮาล เห็นทัชมาฮาลแล้วนึกถึงอรชุมันท์ พานุ เพคุม หรือที่เรียกกันว่า พระนางมุมตัส มาฮาล มเหสีผู้เป็นแรงจูงใจว่าน่าจะเป็นสตรีที่มีความน่ารัก มีเสน่ห์ มีความเป็นธรรมชาติสูง สดใส เก่งและมีน้ำใจมากมายด้วยมั๊ง ชายหนุ่มคนหนึ่งจึงรักนางอย่างลึกซึ้งขนาดนี้
ตามประวัติที่เล่าว่าพระมเหสีติดตามพระองค์ไปทุกที่แม้แต่ในสนามรบและสามารถแนะนำพระองค์ในเรื่องราชการของประเทศ บอกถึงความเก่งและความผูกพันที่สามีภรรยามีต่อกัน ในความผูกพันเยี่ยงนี้จะไม่ให้รู้สึกซาบซึ้งใจต่อกันอย่างยิ่งก็น่าคิด
บรรยากาศโดยรอบทัชมาฮาล ณ วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๓ บ่าย ๓ โมงครึ่ง จะขึ้นไปเดินบนลานหินอ่อนก็ให้สวมถุงกันก่อน
เมื่อฟังต่อว่าเมื่อพระมเหสีสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๑๗๔ (ค.ศ. ๑๖๓๑) หลังจากให้กำเนิดทายาทองค์ที่ ๑๔ และการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ทำให้พระสวามีโศกเศร้าอยู่ถึงสองทศวรรษ ยิ่งย้ำว่าสตรีท่านนี้เก่ง ดี สวยไปทั้งตัวและหัวใจ สมดังชื่อ “อัญมณีแห่งราชวัง” ที่ได้รับนามกล่าวขาน และย้ำถึงความผูกพันลึกล้ำที่มีต่อกัน นี่แหละจินตนาการที่แวบขึ้นมาในหัวฉันว่าใช่เลย พระราชาองค์นี้มีหัวใจของความเป็นมนุษย์อย่างเปี่ยมล้น
เรื่องราวยังบอกฉันด้วยว่าในยุคราชวงศ์โมกุลน่าจะมีสตรีอินเดียที่เป็นนักรบหลายคน หลายรุ่น เห็นภาพผู้นำสตรีขึ้นมารำไรแล้วนึกไปถึงพระศรีสุริโยทัยวีรสตรีผู้กล้าของบ้านเราขึ้นมาเลยแฮะ
เห็นลางๆจากเรื่องนี้ว่าชนชั้นสูงในสังคมอินเดียสมัยนั้นแม้จะใช้ชีวิตตามวิถีมุสลิมเป็นหลัก คนรวยเกี่ยวดองกับกษัตริย์ รวมไปถึงสังคมที่ไม่ปิดกั้นการให้โอกาสสตรีมีความเสมอภาคกับชายบ้างในยุคนั้น มุมนี้หรือเปล่าที่ทำให้อินเดียมีผู้นำด้านการเมืองเป็นสตรีมากมาย มุมนี้หรือเปล่าที่การศึกษาอินเดียจึงมีอะไรพิเศษๆให้สตรีของเขา
ถึงแม้เส้นทางที่เดินทางผ่านจะเห็นอะไรที่โกโรโกโสมากมายบังหน้า แต่หินอ่อนสีขาว อัญมณีล้ำค่าที่ประดับประดาอยู่บนอาคาร สถาปัตยกรรมทั้งหมดที่อยู่ตรงหน้าก็ได้โผล่ออกมาบอกว่าอินเดียมีความเจริญอยู่ในประเทศของเขามาอย่างยาวนาน และกษัตริย์ในยุคสมัยก่อนของเขาร่ำรวยมาก
ความอลังการที่เห็นมุสลิมทั้งนั้นเป็นหลัก งานนี้ต้องใช้เครื่องจักรช่วยจึงทำสำเร็จ แต่นี่ใช้แรงงานคนกว่าสองหมื่นคนโดยไม่มีเครื่องมือทันสมัย ทำได้ไง
ประวัติการสร้างไม่เคยพูดถึงการเกณฑ์คนมาสร้างปราสาท ขนาดของปราสาท กว้าง ยาว สูง ๑๐๐ : ๑๐๐ : ๖๐ เมตร กว่าจะต่อยอดจากฐานขึ้นไปสูงได้ขนาดนี้ ต้องใช้ความสามารถของผู้คนและปัญญาไม่เบาเลย เห็นอย่างนี้ก็นึกไปถึงภาพคนอียิปต์ในพิพิธภัณฑ์อินเดียหรือว่าในสมัยนั้นอินเดียกับอียิปต์ดองอะไรกันอยู่ แล้วอินเดียได้รับการถ่ายทอดวิชาก่อสร้างมาให้
คำตอบคือ ไม่ใช่หรอก ฝีมือการก่อสร้างที่เห็นเป็นของสถาปนิกและวิศวกรชาวอินเดีย เติร์ก และเปอร์เชีย ทำงานร่วมกันตะหาก
ความเป็นไข่มุกแห่งอัครา หนึ่งในสถาปัตยกรรมที่สวยที่สุดในโลกและอนุสรณ์แห่งความรักที่ยิ่งใหญ่ของที่แห่งนี้ เป็นอะไรที่บริสุทธิ์และสะอาดที่บอกถึงใจคนอินเดียเลยว่าให้ความสำคัญกับความสุขในใจคนมากเลยนะ ดูเหมือนกษัตริย์และประชาชนไม่ได้อยู่ห่างไกลกัน แม้จะมีการแบ่งวรรณะ แบ่งชนชั้นผู้คน ใช่มั๊ยนะ
เราเข้าประตูทัชมาฮาลกันประมาณบ่าย ๓ โมงเศษและนัดเวลากันว่าจะออกมาเจอกันตอนประมาณ ๔ โมงเย็นเพื่อไปอัครา ฟอร์ทต่อ ว่าแล้วก็แยกย้ายกันไปเก็บภาพความงดงามของทัชมาฮาลในมุมต่างๆตามแต่ใจ
๗ สิงหาคม ๒๕๕๓
« « Prev : เชื่อแล้วว่าอยู่ใกล้
Next : ได้รู้ ได้เห็นอีกมุม » »
ความคิดเห็นสำหรับ "สุดยอดในอัครา"