ไม่น่าเชื่อ
เห็นมะม่วงที่โรงแรมเตรียมไว้แล้วแปลกใจ มะม่วงเนื้อเละอย่างนี้โรงแรมเขายังเอามาวางให้แขกกินด้วยเรอะ เห็นแล้วก็นึกขึ้นได้ ท่านทูตบอกว่ามะม่วงอินเดียอร่อยที่สุด เมื่อคืนไม่ได้ชิมข้าวเหนียวมะม่วงที่ท่านเลี้ยงเพราะท้องมันอิ่มเกินไป เช้านี้ลองชิมซะหน่อย อืม..อร่อย งั้นกินสัก ๒ จานแล้วกัน
พูดถึงมะม่วงแล้วมีเรื่องเล่าให้ฟังต่อ เชื่อกันมั๊ยว่าอินเดียเป็นประเทศที่ส่งออกมะม่วงมากที่สุดของโลก กว่า ๕๐% ของมะม่วงในตลาดโลกไปจากอินเดีย พี่ไทยเราส่งออกเป็นอันดับรองจากอินเดียและจีน แม็กซิโก อินโดนีเซียเป็นรองบ้านเรา ปากีสถานเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงแซงเป็นอันดับ ๖ ของโลกแล้ว
อินเดียเคยส่งมะม่วงสดไปอเมริกาเหมือนไทยมาก่อนแต่ตอนนี้ไม่ส่งไปแล้วอาจจะเพราะสู้ต้นทุนสูงทั้งจากการต้องผ่านรังสีและค่าขนส่งทางอากาศไม่ไหวเหมือนบ้านเรา
ตลาดมะม่วงภายในของอินเดียเจอเรื่องบ่มสารเคมีคล้ายๆกับบ้านเราเหมือนกัน คนที่มาเรียนอินเดียเล่าว่า ตำรวจอินเดียเคยเจอพ่อค้าหัวใสใช้สารบ่มมะม่วงเป็นแก๊สบ่มผลไม้เร่งให้สุกไวที่เรียกว่า Calcium carbide ซึ่งบ้านเราก็นิยมใช้กัน เจ้าตัวนี้บางประเทศห้ามใช้เพราะก่อให้เกิดมะเร็งได้ ช่วยเร่งให้ผลไม้สุกแล้วยังมีสารพิษปะปนและมีผลต่อระบบประสาทได้ด้วย
เขาจับพ่อค้าได้ที่โกดังแห่งหนึ่งในเขต Mangalwar Peth โดยได้รับแจ้งเตือนจากนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่จับตาดูเรื่องนี้อยู่ พบว่าใช้สาร Calcium carbide ทั้งแบบผงและน้ำ ยึดมะม่วงได้ ๒๒ กล่อง โดยสารชนิดน้ำถูกฉีดเข้าไปในเนื้อมะม่วงด้วยไซริงก์และใช้ผงวางในกล่องเพื่อเร่งให้มะม่วงสุกด้วย แล้วจะมีพ่อค้ารายย่อยมารับไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง
มะม่วงพันธุ์ อัลฟองโช ขอบคุณภาพจากเว็บไซด์ http://www.onefineday.in.th
ได้ยินเรื่องอย่างนี้ อย่าลืมระวังเวลาจะซื้อน้ำมะม่วงในอินเดียกินนะคะ เพราะจะเกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ง่ายๆโดยไม่รู้ตัวเลยละ
อินเดียเป็นประเทศที่ปลูกมะม่วงมานานกว่า ๔,๐๐๐ ปี น่าทึ่งเนอะ ปัจจุบันอินเดียมีพื้นที่ปลูกมะม่วงมากที่สุดในโลก คือ มากกว่า ๘ ล้านไร่ ให้ผลผลิต ๑ ใน ๓ ของมะม่วงทั่วโลก แต่ละปีมีผลผลิตไม่ต่ำกว่า ๑๑ ล้านตัน
สายพันธุ์มะม่วงอินเดียที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ พันธุ์ “อัลฟองโช” ได้ชื่อตามผู้ว่าการอัลฟองโช เด อัลบูเคอร์กี ชาวโปรตุเกส ซึ่งปกครองอาณานิคมโปรตุเกสในอดีตซึ่งเป็นผู้ริเริ่มให้มีการเพาะพันธุ์มะม่วงในแคว้นกัง ผลสุกมะม่วงอัลฟองโช มีผิวสีชมพูสดใส รสชาติดีเป็นที่นิยมทั่วโลก คนญี่ปุ่นนิยมบริโภคน้ำมะม่วงอินเดียสายพันธุ์นี้กันมากเนื่องจากมีกลิ่นหอมพิเศษ
เนื้อมะม่วงอัลฟองโชมักมีเยื่อฟ่ามๆที่กินไม่ได้ เพราะเนื้อฟ่ามละมั๊ง คนอินเดียต้นตำรับจึงคลึงมะม่วงบนโต๊ะอาหารจนข้างในนิ่มแล้วจึงใช้ปากกัดหัวขั้ว ดูดเอาน้ำเหลวเข้าปาก วิธีกินคล้ายการกินมะม่วงดูดทางใต้เลยอ่ะ
มะม่วงพันธุ์นี้ติดผลไม่สม่ำเสมอเลยมีคนลองผสมข้ามพันธุ์กับมะม่วงนีลัมกลับไปกลับมาจนได้มะม่วงพันธุ์ใหม่ชื่อสินธุ มีรสชาติเช่นอัลฟองโชแต่ไม่มีเยื่อฟ่ามและเมล็ดลีบจนเกือบจะเรียกมะม่วงไม่มีเมล็ดก็ได้ อีกไม่นานมะม่วงสินธุอาจกลายเป็นมะม่วงขวัญใจคนทั่วโลกแทนที่อัลฟองโชก็เป็นได้
สงสัยว่าที่ได้ชิมเมื่อเช้านี้ น่าจะเป็นพันธุ์จอซ่า (Chausa) หรือเปล่า
มีคนเล่าว่ามะม่วงอินเดียนี่แปลก เอาเมล็ดมาปลูกเมืองไทยกว่าจะมีลูกใช้เวลาตั้ง ๑๐ ปีเชียวนะ แถมเวลาออกลูกดอกจะออกที่โคนต้นแล้วกลายเป็นผลให้กิน เรื่องนี้เล่ามาจากลุงต๊อก คนบ้านหนองตะพาน ระยอง แกได้เมล็ดมาปลูกโดยลูกชายนำมาฝากค่ะ
นอกจากมะม่วงพันธุ์ดี อินเดียยังมีมะม่วงพันธุ์แปลก เช่น อังคุรทานเป็นมะม่วงหายากที่เล็กกว่าลูกพุทรา หรือมะม่วงยักษ์จัมเอจัม ลูกหนักเกือบ ๒กิโลกรัม ด้วยนะคะ
คนฮินดูถือว่ามะม่วงเป็นต้นไม้สำคัญในศาสนาของเขาเหมือนที่พุทธศาสนาให้ความสำคัญ ชื่อมะม่วงในภาษาสันสกฤตคือคำว่า “อัมรา (Amra)” มีความหมายว่า อาหารหรือเสบียง ถือเป็นมงคลนามและเป็นเครื่องหมายประกอบความดีเช่นเดียวกับต้นไม้ที่มีกลิ่นหอม เขาใช้ส่วนต่างๆของมะม่วงในพิธีบูชาและบวงสรวงเทพเจ้า เช่น ดอกมะม่วงใช้ในการบวงสรวงพระสุรัสวดี (Goddess of Wisdom and of the Fine arts)และพระศิวะ (One of the Hindu Trinity) เป็นต้น
ในสมัยพุทธกาล นางวิสาขาใช้นมสดเป็นปุ๋ยมะม่วง โดยนางเลี้ยงโคนมไว้ทั้งหมด ๕๐๐ ตัวแล้วนำโคนม ๕๐๐ ตัวมาเลี้ยงโค ๒๕๐ ตัว และรีดนมจากโค ๒๕๐ ตัวมาเลี้ยงโค ๑๒๕ ตัว ลดลงตามลำดับจนถึง ๑ ตัวและนำน้ำนมนั้นมารดต้นมะม่วงต่างปุ๋ย และปรากฏว่ามะม่วงนั้นให้ผลดก มีผิวสีทอง และมีรสหอมหวานเป็นอย่างมาก
มีภูมิปัญญาอีกเรื่องหนึ่งที่คนอินเดียเขายังใช้อยู่นั่นก็คือ การใช้ใบมะม่วงมาตากแห้งป่นเป็นผงใช้รักษาโรคท้องร่วงและเบาหวาน น่าสนใจนะคะ
มีคนสันนิษฐานว่ามะม่วงในบ้านเราน่าจะมาจากอินเดีย เข้ามาผ่านการติดต่อทางการค้าและทางวัฒนธรรมพร้อมๆกับการเผยแพร่พระพุทธศาสนาจากอินเดียเข้าสู่ไทยจนกลายเป็นผลไม้พื้นเมืองของไทย
พูดถึงตลาดมะ่ม่วงสดแล้ว อินเดียมีจีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่อีกแห่งด้วยนะ ปัจจุบันพันธุ์ส่งออกที่สำคัญ คือ Dasahari, Langra, และ Chausa เจ้าพันธุ์หลังนี้แหละที่ท่านทูตเล่าว่าอร่อยคล้ายมะม่วงอกร่องบ้านเรา
บันทึกเป็นความจำไว้ว่าครั้งแรกที่ได้ลิ้มรสมะม่วงอินเดียคือที่นี่แหละ
กว่าที่อินเดียจะส่งมะม่วงไปจีนได้ก็ใช้เวลากว่า ๑๐ ปีในการพัฒนาสายพันธุ์ ที่จีนยอมเปิดตลาดผลไม้สดให้แก่อินเดียเป็นผลมาจากการเยือนจีนของนาง Pratibha Patil ประธานาธิบดีอินเดีย และนาย Anand Sharma รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อินเดีย จีนและอินเดียเป็นประเทศคู่ค้าเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยในปี ค.ศ. ๒๐๐๘ และ ๒๐๐๙ มีมูลค่าการค้าร่วมกว่า ๔๒ พันล้านเหรียญสหรัฐ
นอกเหนือจากมะม่วงซึ่งเป็นสินค้านำร่องอันดับ ๑ แล้วยังมีลิ้นจี่ ลูกแพร์ แอปเปิ้ล และผักสดที่อินเดียได้พัฒนาการเพาะปลูกและพร้อมที่จะส่งออกไปยังตลาดของจีนด้วยเช่นกัน
อีกตลาดที่อินเดียส่งผลไม้สดไปจำหน่าย คือ EU มูลค่าปีละประมาณ ๒๑๗ ล้านยูโร มีองุ่น seedless ที่ได้รับความนิยมในอันดับต้น
EU นำเข้าผลไม้สดมากที่สุดจากสหรัฐอเมริกา ตุรกี อาฟริกาใต้ ชิลี คอสตาริกา และโคลัมเบียตามลำดับโดยมีมูลค่าการนำเข้ารวมจากทั่วโลก ๑๕,๙๐๐ ล้านยูโรต่อปี ซึ่งไทยมีส่วนแบ่งตลาด ๓๐ ล้านยูโรต่อปี (สถิติปี ค.ศ. ๒๐๐๙ จาก Export Helpdesk EU)
ตลาดผลไม้ที่เห็นในประเทศของอินเดียที่เห็นเป็นอย่างนี้
ในเรื่องนี้ไทยควรติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะว่าในอนาคตอินเดียคงเร่งพัฒนาคุณภาพของผลไม้สดในการส่งออกไปยังตลาดเป้าหมาย เพิ่มมากขึ้นโดยจะมิใช่เฉพาะแต่จีนเท่านั้น
แม้ว่าผลไม้สดของอินเดียที่ส่งออกนั้นไมใช่ผลไม้เดียวกับที่ไทยส่งออกไปยังตลาดเป้าหมาย แม้ว่าผลไม้ไทยจะมีมาตรฐานไม่เป็นรองผลไม้อินเดีย แต่ไทยก็เป็นรองด้านราคาและปริมาณนะเออ
มีผู้รู้เล่าว่าที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียมีฟอสซิลใบไม้คล้ายมะม่วงที่คาดว่าเก่าแก่ที่สุด มีอายุประมาณ ๗๐-๖๐ ล้านปี (สมัย Paleocene) ชื่อว่า Eomangiferophyllum damalgiriensis เป็นหลักฐานแสดงว่ามะม่วงอยู่ในประเทศอินเดียมาเนิ่นนานกว่าบ้านเรานานมากแล้ว
๗ สิงหาคม ๒๕๕๓
1 ความคิดเห็น
เมืองไทยส่งไปน้อยนะครับ 30 ล้าน ยูโร กระทรวงพานิชย์และฑูตพานิชย์ต้องทำการบ้านอีกเยอะเลยนะครับ