บางอย่างก็เหมือน

โดย สาวตา เมื่อ 31 ตุลาคม 2010 เวลา 20:32 ในหมวดหมู่ สวนป่า, เล่าสู่กันฟัง, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1591

วันนี้ตื่นกันแต่เช้าเพื่อจัดการกับสัมภาระด้วยว่าจะมีการเดินทางย้ายเมืองกันอีกครั้ง โดยใช้เส้นทางสามเหลี่ยมทองคำอินเดียในการเดินทาง ซึ่งแปลว่าเมื่อสิ้นสุดทางแล้วเราจะวนกลับมาที่เดลีอีกครั้ง จึงไม่จำเป็นต้องนำสัมภาระติดตัวไปทั้งหมด พี่แดงและน้องนุชได้จัดการเรื่องการฝากสัมภาระไว้ให้แล้ว พวกเราแค่จัดการแบ่งกระเป๋าใบเล็กที่จะนำของติดตัวไปพอใช้เท่านั้น

บรรยากาศตอนเช้าภายนอกและภายในโรงแรม Country Inn Suites กระโจมที่เห็นนั้นเขาเอาไว้ตรวจผู้หญิงก่อนให้ผ่านประตูเข้ามา

เสร็จกันแล้วก็ไปพบกันที่ห้องอาหารเช้า อาหารที่นี่เป็นมังสวิรัติทั้งหมด  คนที่ชอบกินเนื้อสัตว์จึงค่อนข้างจะลำบากอยู่สักหน่อย แต่สำหรับฉันสบมยห. อร่อยไปหมดค่ะ

อิ่มกันแล้วเราก็เริ่มเดินทางกัน เส้นทางที่ผ่านมีผู้คนหลากหลาย ตลอดทางจะเห็นชีวิตผู้คนแปลกตามากมาย  จุดหมายของการเดินทางวันนี้คือเมืองอัครา เมืองที่ตั้งของอนุสรณ์แห่งรักที่มีชื่อก้องโลกค่ะ

อัครามีชื่อเสียงไปทั่วโลกเพราะทัชมาฮาล เมืองนี้เขาว่ามีฝุ่นมาก ตัวเมืองอยู่ภาคเหนือของอินเดีย แถมยังมีสถานที่ชวนเที่ยวอีกหลายแห่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอยู่ด้วย

คนและของมีสีสันจัดจ้านพอๆกัน เห็นบรรยากาศแล้วเดาว่าที่คนรวยอินเดียไม่ชอบเที่ยวในบ้านตัวเองไม่ใช่เพราะสไตล์โรงแรมหรอก

อัคราอยู่ห่างจากเดลี ๒๐๐ กม. ถ้าเป็นเมืองไทยเราวิ่งรถอย่างช้าที่สุด ๒ ชั่วโมงครึ่งก็ถึง แต่เมื่ออยู่ในอินเดียที่รถวิ่งได้แค่ ๔๐ กม./ชม.เท่านั้น เมื่อได้รู้ว่าจากเดลีไปอัคราจะใช้เวลา ๔-๕ ชั่วโมง พวกเราก็ทำใจแม้จะร้องเฮ้อ..เฮ้อ..อยู่ในใจ

นั่งรถบัสกันไป ๒ คันเช่นเคย วิ่งรถได้ซักพักก็เห็นบรรยากาศสองข้างทางที่เต็มไปด้วยฝุ่น ฤดูนี้อากาศร้อนและแห้งแล้งไม่เบา อากาศร้อนระอุเอาการทีเดียว อุณหภูมิถึงแม้ไม่สูงมากแต่ก็ทำให้คนที่คุ้นชินกับห้องแอร์ทนร้อนแทบไม่ไหว

เส้นทางที่ผ่านไปมีวิถีชีวิตของผู้คนสองฝั่งถนนแปลกไปจากเส้นทางโกลกาตา  ร้านขายของพื้นเมืองมีรูปร่างเหมือนกล่องที่ตั้งอยู่กลางฝุ่น คนสัญจรใช้รถสาธารณะและมอร์เตอร์ไซดเป็นพาหนะ ไม่ใคร่เห็นจักรยานเหมือนโกลกาตา

ตลาดของหมู่บ้านมีผลผลิตที่เหมือนและแตกต่างกันไป ทิวทัศน์ดูเพลินไปอีกแบบ

ผลไม้ที่เห็นทั่วไปมีสาลี่ มะละกอ แตงโม และมะม่วง รสหวานอร่อยมาก

ชาวบ้้านกินผลไม้อะไรในโรงแรมเราก็กินอย่างนั้น เมนูขวาสุดคล้ายข้าวเหนียวเปียก เป็นเมนูแทนข้าว ชื่อ Poha Kheer

เส้นทางสามเหลี่ยมทองคำนี้ประกอบด้วยเมืองเดลี อัคราและชัยปุระ เรียกว่าถนนทุกสายของการท่องเที่ยววิ่งไปชนกันที่ ๓ เมืองนี้ก็ได้เลยมั๊ง

คนสัญจรสองข้างทางอยู่กันเป็นกลุ่มๆในชุดสีส้มบ้าง แบกเครื่องบูชาบ้าง เป็นอะไรที่ฉันมารู้ชัดในภายหลังว่า เทศกาลที่กำลังเห็นอยู่นั้น เป็นช่วงหนึ่งใน ๓ ช่วงเวลาที่คนอินเดียบวงสรวงพระกฤษณะ  ไหนๆก็รู้มาแล้ว ขอนำมาแบ่งกันเป็นความรู้รอบเอวก็แล้วกันค่ะบูชาพระกฤษณะ

คนอินเดียเขาบวงสรวงพระกฤษณะซึ่งเป็นอีกภาคหนึ่งของพระวิษณุหรือพระนารายณ์เพื่อขอพรแห่งชัยชนะและขอความสมหวัง  เขาแยกการบวงสรวงบูชาพระกฤษณะออกมาจากการบวงสรวงบูชาพระนารายณ์ คนที่บูชาพระกฤษณะนั้นเชื่อในลัทธิไวษณพ ลัทธินี้เริ่มมาตั้งแต่ราชวงศ์คุปตะ มีเทศกาลที่เกี่ยวข้องอยู่ ๔ เทศกาล คือ โฮลี  กันมามาสธามี  ทิวาลี และ กันสะดาเมล่า

“โฮลี” เทศกาลรำลึกถึงการรบที่พระกฤษณะชนะนางยักษ์ที่มาตามล่าพระองค์   เริ่มปลายเดือนกพ.-มีค. จะมีการร้องรำทำเพลงที่ลานหมู่บ้านและเผาหุ่นหรือรูปปั้นจำลองของนางยักษ์หลังพิธีกรรมสวดมนต์สรรเสริญบูชาพระกฤษณะในเทวลาลัยกันแล้ว และมีการเอาสีฝุ่นโดยเฉพาะสีแดงมาสาดซัดหรือป้ายกันเป็นที่ครึกครื้นคล้ายๆการสาดน้ำสงกรานต์ของบ้านเรา

“กันมามาสธามี” เทศกาลรำลึกถึงวันประสูติของพระกฤษณะ   เริ่มปลายเดือนกค.- ต้นเดือนสค. จะมีการการขับกล่อมเสียงเพลงอย่างสนุกสนาน มีการร่ายรำถ่ายทอดเรื่องราวเหตุการณ์เมื่อพระกฤษณะเต้นรำกับหญิงเลี้ยงวัวหรือนางโคปีกลางทุ่งวัววนดาบันในช่วงที่
เพิ่งเติบโตจากวัยเด็กเข้าสู่วัยรุ่นหนุ่มด้วยลีลาอินเดียที่สวยงามตั้งแต่แดดร่มลมตกล่วงไปจนถึงเที่ยงคืนเป็นประจำทุกวันจนหมดเทศกาล  หนุ่มสาวชาวฮินดูจะพิถีพิถันกับการแต่งเนื้อแต่งตัวให้สวยงามด้วยเสื้อผ้าใหม่ ๆ หรือสีสันสวยงามต่าง ๆ มาร่วมประกอบพิธีในงานนี้และจะมีการจับคู่เต้นระบำรำฟ้อนกันอย่างสนุกสนานกลางลานกว้างหลังจากทำพิธีสวดมนต์บูชาพระกฤษณะเรียบร้อยแล้ว

“ทิวาลี” เทศกาลรำลึกถึงเหตุการณ์ต่างตอนหนึ่งที่พระกฤษณะแสดงพลังยกภูเขาโควันนะไปบังฝนและพายุเพื่อช่วยเหลือฝูงวัวและคนเลี้ยงวัวทั้งหลายไม่ให้เป็นอันตรายจากพายุที่พระอินทร์บนสรวงสวรรค์ชั้นฟ้าบันดาลให้เกิดเพราะกริ้วที่พวกเขาไม่ทำการบวงสรวงบูชาพระองค์ตามที่พระกฤษณะแนะนำ เริ่มปลายเดือน ตค. - ต้นเดือนพย.

เห็นแล้วนึกถึงงานฝีมือของคนบ้านเรา ไม่รู้ “พาหุรัด” เกี่ยวข้องกับสีสันที่เห็นอย่างในภาพหรือเปล่าเนอะ

“กันสะดาเมล่า” เทศกาลรำลึกถึงช่วงที่พระกฤษณะและพระพลรามทำการประหารพญากงได้หลังจากที่พญากงได้ตามจ้องล้างผลาญมุ่งหมายชีวิตมาตั้งแต่แรกเริ่ม  นิยมจัดที่เมืองมิถราซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของพระกฤษณะ เริ่มปลายตค.-พย.เช่นเดียวกับ “ทิวาลี” จะมีการปั้นหุ่นจำลองของพญากงขนาดใหญ่วางใส่รถเทียมม้าที่มีเด็กชายที่น่ารัก ๒ คน สมมติว่าเป็นพระกฤษณะและพลรามในตำนาน แต่งตัวและแห่เคลื่อนไปกับรถจนถึงลานพิธี   เมื่อเคลื่อนรถเทียมม้ามาถึงลานพิธีกรรมเด็กน้อยทั้ง ๒ คนก็จะลงจากรถมาเป็นผู้โยนคบเพลิงใส่หุ่นจำลองของพญากงนั้นเพื่อเผาหุ่น ชาวบ้านที่มาร่วมพิธีกรรมก็จะนำคบเพลิงของตนโยนใส่หุ่นจำลองของพญากงด้วย แล้วจึงเริ่มต้นพิธีรื่นเริงบันเทิงใจโดยจะมีการเล่นดนตรีร่ายรำระบำฟ้อนกันเป็นที่เอิกเกริกครึกครื้น

ฉันเพิ่งรู้ว่าเครื่องบวงสรวงบูชาพระกฤษณะคล้ายๆสิ่งที่บ้านฉันใช้บวงสรวงศาลพระภูมิแฮะ ที่เหมือนก็เห็นจะเป็นข้าวตอก ดอกไม้หอมอีก ๓ ชนิด ขนมต้มแดงต้มขาว ขนมหวาน ๕ - ๘ ชนิด ที่ไม่เหมือนก็เป็น นมเปรี้ยว นมสด  ขลุ่ย รูปปั้นปูนหรือไม้เป็นรูปวัว ผลไม้ ๕-๘ ชนิดและพวงมาลัยดาวเรือง

๗ สิงหาคม ๒๕๕๓

« « Prev : ขอต้นโพธิ์คุ้มครองและอวยชัยให้

Next : ไม่น่าเชื่อ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "บางอย่างก็เหมือน"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.024121999740601 sec
Sidebar: 0.11568403244019 sec