จากเชียงใหม่สู่ทัชมาฮาล

อ่าน: 1314

เมื่อเทียบยุคสมัยการปลูกมะม่วงในอินเดียกับเหตุการณ์ในเมืองไทยแล้วก็ทึ่งกับความสัมพันธ์ระหว่างเมืองเรากับเมืองเขา แท้จริงแล้วเรากับเขามีความสัมพันธ์กันทางด้านวัฒนธรรมมาก่อนการทูตซะอีก

เมื่อวันที่  ๑ สิงหาคม ๒๕๕๐ ที่ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับอินเดียผ่านเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ (๖๐ ปี) แล้วเราไปคิดว่าเพิ่งรู้จักกันแค่ชั่วคนรุ่นเดียวนั้นคิดผิดแล้ว

ฟังจากผู้รู้เกี่ยวกับพระธาตุศรีจอมทองแล้วขอบอกว่าความสัมพันธ์ทางศาสนาเชื่อมเรากับอินเดียได้รู้จักกันมากนาน  ๒ พันกว่าปีแล้ว ไม่เชื่อลองมาฟังซิ

ดอยจอมทองหรือศรีจอมทองซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุศรีจอมทองเป็นยอดดอยที่ในสมัยพุทธกาลมีเมืองอังครัฏฐะตั้งอยู่ใกล้ๆ ผู้ครองเมืองในยุคนั้นชื่อ พระยาอังครัฏฐะ ได้ยินเรื่องราวของพระพุทธเจ้าจากพ่อค้าชาวอินเดียที่เข้ามายังเมืองแห่งนี้  จึงตั้งจิตอธิษฐานขอให้พระองค์มาโปรด

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบโดยพระญาณ พระองค์ก็เสด็จมาสู่เมืองอังครัฏฐะพร้อมด้วยภิกษุสาวก ได้ทรงรับอาหารบิณฑบาต แสดงธรรมโปรด และตรัสพยากรณ์ไว้ว่า เมื่อทรงเสด็จนิพพานแล้ว ธาตุพระเศียรเบื้องขวา (พระทักษิณโมลี) ของพระองค์จะมาประดิษฐานอยู่ที่ดอยจอมทองนี้ เมื่อพระิองค์เสด็จกลับไปแล้ว เจ้าเมืองจึงสร้างสถูปเจดีย์ขึ้นด้วยหวังจะให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุตามที่พระพุทธองค์พยากรณ์ไว้ และรอคอยตราบสิ้นรัชกาล

จนเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานและพระสรีระถูกถวายพระเพลิงแล้ว พระบรมธาตุของพระองค์ก็ถูกแบ่ง พระมหากัสสปะเถระผู้เป็นพระสังฆะเถระในที่นั้นได้ขอพระทักษิณโมลีธาตุจากพระเจ้ามัลล กษัตริย์เมืองกุสินารา และอธิษฐานขอให้พระบรมธาตุเจ้าเสด็จไปประดิษฐานอยู่ที่ดอยจอมทองตามที่ทรงพยากรณ์ไว้

แทบไม่น่าเชื่อว่าวัดพระธาตุศรีจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ แห่งนี้เก่าแก่กว่าทัชมาฮาล

๒๑๘ ปีหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน พระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จมาที่ดอยจอมทองและสั่งให้ขุดคูหาเป็นอุโมงค์ใต้พื้นดินดอยจอมทองและให้สร้างสถูปไว้ภายในคูหานั้น แล้วจึงอัญเชิญพระบรมธาตุเจ้าจากสถูปที่ยอดดอยมาประดิษฐานไว้ในสถูปใหม่นี้ ก่อนกลับก็สั่งให้เอาหินปิดปากถ้าคูหาไว้พร้อมกับอธิษฐานว่า ต่อไปข้างหน้าถ้ามีพระเจ้าแผ่นดินและประชาชนที่เลื่อมใสและศรัทธาในพระพุทธศาสนา ขอให้พระธาตุเสด็จออกมาปรากฏแก่ผู้คนให้ได้กราบไหว้สักการะบูชา

ต่อมาในปี พ.ศ. ๑๙๙๕ โดยสามีภรรยาคู่หนึ่งที่มีบ้านอยู่ใกล้ๆดอยนั่นเอง สามีชื่อ นายสร้อย ภรรยาชื่อ นางเม็ง ร่วมกันสร้างวัดศรีจอมทองขึ้นมา

การสร้างวัดไม่เสร็จดีทั้งคู่ถึงแก่กรรมเสียก่อน รอมาอีก ๑๔ ปี จึงมีผู้มาบูรณะต่อจนเสร็จ มีเจ้าอาวาสองค์แรกชื่อ พระสารีบุตร ไม่แน่ใจว่าเป็นพระองค์เดียวกับพระสารีบุตร สาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าหรือเปล่า แต่ดูจากเวลาแล้วไม่น่าจะใช่

๔๐ กว่าปีต่อมา ( พ.ศ. ๒๐๔๒) มีตาปะขาวคนหนึ่งมาเรียนพระธัมมปัญโญเถระ เจ้าอาวาสวัดในปีนั้นว่า เทวดามาเข้าฝันและบอกว่าใต้พื้นวิหารพระบรมธาตุประดิษฐานอยู่ เจ้าอาวาสจึงอธิษฐานจิตอัญเชิญพระบรมธาตุให้เสด็จออกมา วันต่อมาพระบรมธาตุเจ้าจึงเสด็จออกมาอยู่ในรูพระเกศโมลีของพระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในวิหารของวัด

หลังจากปรากฏแล้วพระบรมธาตุเจ้าก็ถูกเก็บรักษาไว้เงียบๆอยู่ ๑๖ ปี จนพระเถระจากเมืองพุกาม ชื่อ พระมหาพุทธญาโน ให้พระลูกศิษย์ชื่อ พระอานันทะ มาสืบหาพระบรมธาตุและให้ทำการสักการะอธิษฐานจิต พระมหาสัลปัญโญ เจ้าอาวาสวัดศรีจอมทองในขณะนั้นจึงต้องนำพระบรมธาตุที่เก็บรักษาต่อๆกันมา ออกมาแสดงให้ทราบ

พระดิลกปนัดดา (พระเมืองแก้ว) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในสมัยนั้นได้ทรงทราบเรื่องราวจากพระอานันทะและพระมหาพุทธญาโน จึงสั่งให้ปฏิสังขรณ์และสร้างพระวิหารขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมธาตุในปี พ.ศ. ๒๐๖๐ ขณะนั้นดำรงยศเป็น พระรัตนราช ใช้เงินหนึ่งหมื่นเป็นค่าอุปกรณ์ก่อสร้าง

๑ ใน ๗ มหัศจรรย์ของโลกสิ่งนี้ สะท้อนความละเอียดอ่อนและเข้มแข็งที่อยู่ในใจผู้นำมุสลิมอย่างกลมกลืนทีเดียว

พระวิหารที่สร้างขึ้นนี้มี ๔ มุขเหมือนวิหารวัดชัยศรีภูมิ มีปราสาทในท่ามกลางพระวิหารก่อขึ้นด้วยหลังหนึ่งให้เหมือนปราสาทที่อยู่ในอุโบสถวัดมหาโพธิหลวง (วัดเจ็ดยอด) เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุเจ้า เมื่อการก่อสร้างเสร็จลงแล้ว พระเมืองแก้วซึ่งมีความปิติกับการปรากฏของพระบรมธาตุบนแผ่นดินของพระองค์ก็ให้สุวรรณช่างทองสร้างโกศทองคำน้ำหนัก ๕๖๐ คำ เพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ  เมื่อทรงบรรจุพระบรมธาตุไว้ในโกศแล้ว พระองค์ก็ถวายวัตถุไทยทานและเครื่องแห่ไว้กับพระบรมธาตุเป็นอันมาก อีกทั้งยังถวายข้าคน ไร่นาตามเขตป่า ที่ดิน ย่านน้ำไว้สำหรับการปฏิบัติรักษาทำนุบำรุงพระบรมธาตุให้เจริญถาวรสืบต่อไป

พระบรมธาตุเจ้าองค์นี้เคยอันตรธานสูญหายไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๔ และได้เสด็จมาปรากฏในคูหาปราสาทอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๓๒๒ จากการอธิษฐานอาราธนาถึง ๓ ครั้งของพระยาวิเชียรปราการ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่

มาเห็นทัชมาฮาลแล้วทึ่งกับความใหญ่โต  เทียบยุคกันแล้วทัชมาฮาลเกิดหลังพระธาตุจอมทอง ๑๑๔ ปี

๗ สิงหาคม ๒๕๕๓

« « Prev : ถึงเมืองอัครา

Next : เชื่อแล้วว่าอยู่ใกล้ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2010 เวลา 12:36

    ดีใจที่ได้อ่านประวัติความเป็นมาค่ะ พี่

    ในเชียงใหม่และลำพูน มีตำนานเช่นนี้อีกหลายแห่ง …เป็นเรื่องราวพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับรอยพระบาท ก็มีค่ะ

    ปัจจุบันพระบรมสารีริกธาตุ เสด็จมาอยู่เชียงใหม่ก็หลายแหล่ง ..ทั้งที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกาด้วยค่ะ

  • #2 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2010 เวลา 12:48

    ชอบจังเลยค่ะ ^ ^

    ไทย-อินเดียใช่อื่นไกล การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การค้า และศาสนาเกิดขึ้นมานานนม เพราะสมัยก่อนโน้นการแบ่งแขตประเทศ เขตเมืองก็ไม่เหมือนปัจจุบันเเนาะคะ…เอ แต่สงสัยว่าอินเดียมีกล้วยยยแขกขายเหมือนไทยมั้ยคะพี่ตา


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.19202899932861 sec
Sidebar: 0.29069995880127 sec