BIMSTEC เอื้อให้
เมื่อไทยเป็น ๑ ในกลุ่มประเทศ BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for MultiSectoral Technical and Economic Cooperation) ๗ ประเทศ ซึ่งมีบังคลาเทศ อินเดีย พม่า ศรีลังกา ไทย ภูฏาน และเนปาล โอกาสก็เปิดให้เกิดความร่วมมือกันในด้านเศรษฐกิจและอื่นๆรวมถึงศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว
ดูๆไปแล้ว ถ้าไม่เห็นคนใส่ส่าหรี โพกหัว ก็อาจจะหลงนึกว่าที่เห็นเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเรา
เมื่อกรมศิลปากรของอินเดีย หรือ ASI (Archaeological Survey of India) ได้ออกประกาศอัตราค่าเข้าชมโบราณสถานต่างๆ สำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการล่าสุดไว้ คนไทยก็ได้ความคุ้มครองอัตราค่าเข้าชมแหล่งโบราณสถานต่างๆในอินเดียไปด้วย
อินเดียให้ความคุ้มครองไว้อย่างนี้ค่ะ
การเข้าชมแหล่งมรดกโลก (World Heritage site) ยกเว้นทัชมาฮาล นักท่องเที่ยวท้องถิ่นและจากกลุ่มประเทศ SAARC และ BIMSTEC จ่ายเพียง ๑๐ รูปี ต่างชาติอื่นๆจ่าย ๒๕๐ รูปี ได้แก่ Fatehpur Sikri, Humayun’s Tomb, Agra Fort, Red Fort, Qutub Minar, Buddhist Monuments at Sanchi, Western Group of Temples at Khajuraho, Sun Temple at Konarak, Ajanta Caves, Ellora Caves, Elephanta Caves, Group of Temples-Pattadakal, Group of Monuments-Hampi and Group of Monuments-Mamallapuram
ที่เมืองอัครานี้แหละที่ได้เห็นหญิงอินเดียนอกบ้านเยอะหน่อย โชห่วยที่เกลื่อนตาไม่รู้เมื่อมีห้างใหญ่เพิ่มจะสูญเหมือนบ้านเรามั๊ย
การเข้าชมแหล่งโบราณสถานอื่นๆซึ่งต้องซื้อตั๋วเข้าชม นักท่องเที่ยวท้องถิ่นและจากกลุ่มประเทศ SAARC และ BIMSTEC 5 รูปี ต่างชาติอื่นๆ ๑๐๐ รูปี
การเข้าชมทัชมาฮาลมีค่าภาษีจ่ายเพิ่มบวกด้วย นักท่องเที่ยวท้องถิ่น ๒๐ รูปี (รวมค่าภาษี ADA toll tax ๑๐ รูปี) กลุ่มประเทศ SAARC และ BIMSTEC ๕๑๐ รูปี (รวมค่าภาษี ADA toll tax ๕๐๐ รูปี) ต่างชาติอื่นๆ ๗๕๐ รูปี (รวมค่าภาษี ADA toll tax ๕๐๐ รูปี)
ความเป็นครอบครัว ความผูกพันธ์เป็นสังคมมาเห็นชัดๆก็ที่นี่แหละ
เวลาไปชมให้นำข้อมูลติดตัวไปหรือขอดูแผ่นพับของสถานที่ท่องเที่ยวโดยตรงจากเจ้าหน้าที่จะได้ใช้ประโยชน์ ถ้าเจ้าหน้าที่ขายตั๋วแพงกว่าราคาที่ประกาศให้ใช้พาสปอร์ตแสดงตัวว่ามาจากประเทศไทยและชี้ให้ดูอัตราค่าเข้าชมซึ่งมีระบุไว้ตอนท้ายแผ่นพับทุกแห่ง
FARIDABAD เมืองอุตสาหกรรม (ภาพชุดล่าง) บรรยากาศต่างไปเลยกับอัครา เมืองวัฒนธรรม (ภาพชุดบน) อยากเป็นเมืองแบบไหนละ
องค์การ UNESCO ประกาศให้ทัชมาฮาลเป็นมรดกโลกในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ( ค.ศ. ๑๙๘๓) ถ้าทัชมาฮาลเป็นคน ก็เป็นคนยุคเดียวกับคนกรุงศรีอยุธยาที่เกิดในช่วงปีแรกที่สมเด็จพระยากลาโหมสุริยวงศ์ผู้ซึ่งเกิดในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรและกำลังอยู่ในวัย ๓๐ ปีได้ทำการยึดอำนาจจากพระอาทิตย์วงศ์แล้วขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระนามว่าพระเจ้าปราสาททอง
ยุคนี้พระมหากษัตริย์ไทยมีปัญหาขัดแย้งกับพระยาเสนาภิมุข (ออกญาเสนาภิมุข หรือยามาดะ) เจ้ากรมทหารอาสาญี่ปุ่น ซึ่งไม่พอใจที่สามัญชนขึ้นเป็นกษัตริย์
ทรงรู้พระองค์จึงคิดแก้ปัญหาโดยส่งให้พระยาเสนาภิมุขลงไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชพร้อมกับทหารญี่ปุ่นทั้งหมดที่อยู่ในกรุงศรีอยุธยา ต่อมาพระยาเสนาภิมุข(ยามาดะ) เกิดเป็นแผลที่ขาแล้วถูกวางยาพิษในผ้าปิดแผลจนถึงแก่อนิจกรรมที่เมืองนครศรีธรรมราช พวกญี่ปุ่นไม่พอใจต้องการจับคนวางยาพิษมาลงโทษให้ได้ จึงเกิดการสู้รบกับชาวเมืองนครศรีธรรมราช ทำให้มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก พวกญี่ปุ่นสู้ไม่ได้พากันทิ้งเมืองหนีลงเรือเดินทางไปทางกัมพูชา
นี่ก็เป็นอีกบรรยากาศของเมืองอุตสาหกรรม FARIDABAD
ในปีที่พระองค์ครองราชย์ พระเจ้าสุทโธธรรมราชาของพม่าได้ขึ้นครองราชย์และทำการปราบปรามหัวเมืองไทยใหญ่และตีได้บ้านเมืองลงมาตามลำดับจนถึงเมืองเชียงใหม่ ในตอนนั้นเมืองเชียงใหม่ไม่ขึ้นกับอาณาจักรสยาม เมื่อเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาไม่ได้คอยป้องกันดูแลเมืองเชียงใหม่อย่างแต่ก่อน พม่าจึงยกกองทัพเข้าตีเมืองเชียงใหม่ พระยาเมืองเชียงใหม่สู้รบไม่ได้จึงตกเป็นของพม่าและหัวเมืองทั่วทั้งเขตลานนาก็กลับไปขึ้นกับพม่าตามเดิม ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์นี้อินเดียยังไม่เริ่มสร้างทัชมาฮาล
เมื่ออินเดียเริ่มสร้างทัชมาฮาลไปได้ ๑ ปี สมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็โปรดให้สร้างพระราชวังขึ้นที่บางปะอิน พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ในพระบรมมหาราชวัง และโปรดให้มีการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณปากเกร็ด (พ.ศ. ๒๑๗๔)
ในขณะที่การสร้างทัชมาฮาลย่างเข้าปีที่ ๒ ภายในกรุงศรีอยุธยาก็เกิดกรณีพิพาทระหว่างอาณาจักรสยามกับพวกญี่ปุ่นที่อยู่ในพระนคร ทำให้หมู่บ้านญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยาถูกไฟเผาและถูกยิงด้วยปืนใหญ่ทำลายหมด พวกญี่ปุ่นถูกฆ่าหรือลงเรือหนีจากอาณาจักรสยามไปทางกัมพูชา
เมื่อบทบาทของญี่ปุ่นในราชสำนักสยามถูกกำจัดลงจนเกือบหมดสิ้นเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๑๗๕ โชกุนโตกูกาวะแห่งญี่ปุ่นไม่พอใจมาก สั่งให้ตัดสัมพันธ์ไมตรีกับอาณาจักรสยาม ส่งผลกระทบกระเทือนทางการค้าต่างประเทศของกรุงศรีอยุธยามาก
ชีวิตในถนน กลางถนน และริมถนนในเมืองอัครา
พระเจ้าปราสาททองทรงไว้พระทัยพวกฮอลันดามาก เมื่อพระเจ้าออเรนจ์ กษัตริย์ฮอลันดาส่งทูตมาเฝ้าในปีเดียวกัน จึงทรงโปรดให้จัดการต้อนรับอย่างใหญ่ยิ่ง พระราชสาส์นเจริญสัมพันธไมตรีถูกแห่แหนด้วยกระบวนเรือพระราชพิธี ๑๒ ลำ และทรงมีพระราชสาส์นตอบพร้อมส่งมงกุฎทองคำ ๓ ชั้นประดับพลอยแดงน้ำเงินและเพชรตาแมวเป็นเครื่องราชบรรณาการไปถวายกษัตริย์ออกเรนจ์ด้วย
ขณะที่ทัชมาฮาลถูกสร้างผ่านไปปีแล้วปีเล่า กรุงศรีอยุธยาได้พยายามส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่น ๒ ครั้ง (พ.ศ. ๒๑๗๘ , พ.ศ. ๒๑๘๓) แต่ญี่ปุ่นไม่ยอมเจริญพระราชไมตรีด้วย
ในปี พ.ศ. ๒๑๗๘ เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ลุกลามไปทั่วกรุงศรีอยุธยา เหตุจากอสุนีบาตต้องมหาปราสาทแล้วเกิดเพลิงไหม้ ดีบุกหลังคาไหลลงห้องคลัง เรือนหน้า เรือนหลังไปถึง ๑๐๐ หลังคา ไฟจึงดับลง
ครั้งนั้นพระองค์ได้โปรดให้สร้างคลังเรือน (เรือนท้องพระคลัง) ภายใน ๓ เดือนและให้สถาปนาพระมหาปราสาทสำเร็จภายใน ๑ ปี เมื่อเสด็จแล้วทรงพระราชทานพระนามว่า พระวิหารสมเด็จ
ลองเอาบรรยากาศเมืองหลวงอย่างเดลีมาลองเปรียบเทียบดู เห็นความหลากหลายของอินเดียในอีกมุมเลยเนอะ
ยุคที่ทัชมาฮาลกำลังสร้าง ชาวต่างชาติเข้ามาเป็นทหารอาสาให้กรุงศรีอยุธยาหลายชาติ เช่น อิหร่าน โปรตุเกส ญี่ปุ่น มลายู และฮอลันดา กองทัพถูกส่งออกไปโจมตีเมืองปัตตานี เมืองลำปาง และมีการผูกสัมพันธไมตรีกับราชวงศ์อินเดีย จามปา จีน อังวะ มอญ และล้านช้างด้วย
ปีที่เกิดเพลิงไหม้ เมืองปัตตานีเป็นกบฏคบคิดกับแขกที่ปลายแหลมมลายูยกกำลังมาตีเมืองสงขลาและเมืองพัทลุง กรุงศรีอยุธยาจึงต้องส่งกองทัพออกไปสู้รบ รบกันอยู่หลายปีจึงสามารถตีเอาเมืองปัตตานีคืนมาได้ ที่สามารถชนะได้เป็นเพราะบริษัทการค้าฮอลันดาได้ส่งเรือรบมาช่วยทำการโจมตีเมืองปัตตานี ๖ ลำ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่า ต้องยอมให้ฮอลันดาผูกขาดการซื้อหนังกวางและไม้ฝางเพื่อส่งไปขายต่างประเทศแต่ผู้เดียว
ครั้งแรกกรุงศรีอยุธยาไม่ยินยอม ฮอลันดาจึงนำเรือรบสองลำเข้ามาปิดปากอ่าวเมืองตะนาวศรีมิให้เรือสินค้าของชาติอื่นเข้ามาทำการค้าขายได้ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงกริ้วมาก ทรงโปรดให้ประกาศห้ามคนไทยและมอญทำงานให้กับฮอลันดา แต่เมื่อฮอลันดาขู่ว่าจะย้ายสถานีทำการค้าขายไปอยู่ที่กัมพูชา ก็จำต้องยอมโอนอ่อนตามที่เรียกร้อง
ในส่วนของกัมพูชาทรงยกกองทัพออกไปปราบปรามเมืองเขมรแล้วตีได้กัมพูชามากลับมาเป็นของอาณาจักรสยามตามเดิม
ทัชมาฮาลใช้เวลาสร้างระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๗๔-๒๑๙๑ จึงเสร็จลง ๗ ปีต่อมาพระจ้าปราสาททองก็ทรงประชวรหนักและเสด็จสวรรคต ก่อนสวรรคต ๓ วันได้ทรงมอบราชสมบัติและพระแสงขรรค์ชัยศรีให้เจ้าฟ้าไชย พระโอรสองค์ใหญ่
ประวัติศาสตร์ไทยตอนนี้บอกให้รู้ว่าสมัยที่ราชวงศ์โมกุลของอินเดียรุ่งเรือง อาณาจักรสยามกับอินเดียมีการติดต่อกันแล้ว แล้วชาวต่างชาติอื่นๆก็เข้ามาในประเทศไทยหลายเชื้อชาติแล้วด้วย
๗ สิงหาคม ๒๕๕๓
ความคิดเห็นสำหรับ "BIMSTEC เอื้อให้"