ท่าไปสู่ที่เจ้าแม่

อ่าน: 1661

ขึ้นรถกันมาแล้ว ในรถบัสหนึ่งก็มีเสียงฮาเฮแหย่เย้า คุณนก (ร.อ. ชิดชนกสิทธิ์ วัฒนศิริธร) ผู้นำคนสำคัญในเขตมีนบุรี อดีตเภสัชกร สังกัดราชนาวี ผู้ผันตัวเองออกมาทำธุรกิจส่วนตัวเป็นผู้ทำหน้าที่ป่วนผู้ใหญ่ทั้งหลาย ผู้ที่ถูกป่วนมากที่สุด บ่อยที่สุด มีพี่หงวน พี่จุก (บุญศรี สุธรรมานุวัฒน์) ผอก.และเลขาฯมูลนิธิบิ๊กซี พี่เปี๊ยก ( ประดิษฐ์ สุคนธสวัสดิ์) รองผู้ว่าจ.นนทบุรี อาจารย์หน่อย (ดร.ชมพูนุช บัวบังศร) และ น้องกุ้งนาง (ณฐพร ชลายนนาวิน) คนสวยจากภาคไลอ้อนส์  บรรยากาศในรถทำให้คลายร้อนไปเยอะเลย

รถพาเราผ่านหมู่บ้านไปอีกที่หนึ่ง ระหว่างทางก็เห็นบ้านหลังหนึ่ง มีคนเข้าแถวยาวเหยียดเหมือนรอซื้ออะไร เสียดายถ่ายรูปไม่ทัน ถามไกด์ก็ได้รับคำอธิบายว่า ก๊าซหุงต้มขาดแคลน รัฐบาลท้องถิ่นจึงใช้วิธีแจกคูปองให้มาซื้อไปใช้ มีระบบโควต้าให้  ตอนนี้แหละฉันจึงรู้ว่าที่นี่เขาใช้ระบบการปกครองแบบสังคมนิยม  เห็นแล้วก็ทึ่งที่เขาประยุกต์มาใช้กับบ้านเมืองเขาได้เหมาะ ไม่สุดโด่งหารเท่ากันไปหมดทุกเรื่อง  ที่สนใจมีอยู่เรื่องหนึ่ง ระบบแบบนี้กันกองทัพมดเข้ามาเวียนเทียนซื้อไปขายในตลาดมืดหรือเปล่า ถ้ากันได้ ก็น่าสนใจวิธีของเขานะคะ

สองข้างทางที่ผ่านไปมีตึกรุ่นๆเดียวกับตึกแถววังหินอ่อนแทรกตัวอยู่กับตึกรุ่นใหม่ประปราย สภาพจราจรในยามสายเริ่มติดขัด ซึ่งน่าจะเป็นปกติของเส้นทางนี้มากกว่าเพราะเป็นเส้นทางไปสู่สถานที่ท่องเที่ยว

สภาพถนนในยามสายและใกล้เที่ยงเทียบกับยามเช้าในภาพขวาสุด เห็นสตรีในสัดส่วนน้อยกว่าชายเหมือนที่เคยเห็นอยู่ดี

แล้วรถก็พาเรามาหยุดลงตรงที่แห่งหนึ่ง  ก่อนลงจากรถ น้องนุชก็เตือนพวกเราว่า เมื่อเข้าไปสู่ที่หมาย ห้ามถ่ายรูป(อีกแล้ว)  ฟังว่าที่นี่คือวิหารเจ้าแม่กาลีค่ะ ชื่อว่า “กาลีฆัต” แปลว่า “ท่าไปสู่ที่เจ้าแม่กาลี”

น้องนุชเล่าให้ฟังว่า เจ้าแม่่กาลีกับพระนางอุมาเทวีชายาของพระศิวะเป็นคนเดียวกัน  คนโกลกาตานับถือมาก พระนามของพระนางมีผู้เรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นของผู้นั้น เช่น ปารวตี อุมาเทวี และเจ้าแม่กาลี เป็นต้น  คนอินเดียเคารพศรัทธาพระนางในฐานะเทวีผู้นำความสงบมาสู่โลกในยุคที่อสูรก่อความไม่สงบให้โลก

วิถีอย่างนี้แหละมั๊งที่เป็นที่มาแห่งชื่อ “กาลีฆัต” สุดทางเดินที่เห็นลิบๆนั่นแหละทางเข้าวิหารเจ้าแม่  ไปอินเดียอย่าลืมนำร่มไปด้วยนะคะ

ลองฟังตำนานที่เล่าขานนะคะ “ครั้งหนึ่งเหล่าอสูรได้รับพรวิเศษจากพระพรหมให้เป็นอมตะ ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ ถ้าเลือดของอสูรหยดลงพื้นดินเพียงหยดเดียวก็จะเกิดอสูรขึ้นหนึ่งตน เหล่าอสูรจึงหลงอำนาจพากันระรานและเกี้ยวพาเหล่านางฟ้าแบบไม่เกรงใจเหล่าเทวดา ทำให้เหล่าเทวดาเดือดร้อนจนต้องนำเรื่องไปร้องเรียนพระพรหม พระพรหมจึงร้องขอให้พระศิวะผู้เป็นเทพเจ้าแห่งการทำลายเป็นผู้ไปกำราบเหล่าอสูร แต่พระชายาของพระศิวะอาสาปราบเหล่าอสูรแทน ทรงอวตารเป็นเจ้าแม่กาลีมาทำสงครามกับเหล่าอสูรเป็นเวลานาน และในขณะสู้รบกันพระนางตัดสินใจแลบลิ้นของตนรับเลือดเหล่าอสูรตลอดระยะเวลาที่พระนางทำสงครามกับเหล่าอสูรนั้น เพื่อไม่ให้เลือดของอสูรที่เกิดจากการสู้รบตกลงสู่พื้น พระนางจึงสามารถปราบอสูรได้สำเร็จ หลังจากที่พระนางปราบอสูรได้แล้ว ผู้คนก็จัดงานฉลองเพื่อรำลึกถึงพระคุณของพระนางโดยเซ่นบวงสรวงบูชาด้วยเลือดสดๆ”

ลงรถก็เห็นบรรยากาศโดยรอบเป็นอย่างนี้แหละ มีผู้คนใส่เสื้อผ้าสีส้มเห็นเด่นชัดเต็มไปหมด

ตำนานที่เล่ามาอย่างนี้แหละค่ะที่บันดาลให้รูปปั้นเจ้าแม่กาลีอยู่ในท่าแลบลิ้นที่เปื้อนเลือด มีศีรษะมารห้อยคอต่างพวงมาลัยและมีนิ้วมือมารประดับไว้รอบเอว เลือด ศีรษะและนิ้วมือนั้นเป็นของเหล่าอสูรที่เล่าในตำนาน  การบูชาด้วยเลือดสดๆก็มาจากตำนานเช่นกัน

เล่ากันว่าในยุคแรกๆเลือดบริสุทธิ์จากลำคอของสตรีพรหมจารีเป็นเครื่องทำพลีกรรมบูชา การพลีกรรมนี้ถูกยกเลิกไปเมื่ออังกฤษเข้าปกครองอินเดีย เหลือเพียงการนำแพะมาใช้ในการบูชาแทน

ผ่านทางเข้าเข้าไปแล้ว ฉันจึงเห็นว่าวิหารนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำฮูคลี่ย์ ริมฝั่งมีทิวทัศน์สวยงาม ที่นี่น่าจะเป็นที่ที่ครอบครัวคนอินเดียมาไหว้พระแล้วเที่ยวด้วยกันซะเลยเหมือนคนไทยไปไว้พระแล้วเที่ยววัด ทางเดินเท้าลาดปูด้วยซีเมนต์ เวลาเดินๆกันไปก็มีเสียงเตือนกันว่า “ระวังเหยียบระเบิด” ช่วยกันดูช่วยกันพาเลี่ยงระหว่างแวะถ่ายภาพกันจึงไม่เกิดเรื่องให้ต้องเปลี่ยนรองเท้าใหม่

ทิวทัศน์ริมฝั่งแม่น้ำฮูคลี่ย์  มองไปจะเห็นสะพานฮูคลี่ย์อยู่ลิบๆ  สะพานแห่งนี้อายุน้อยกว่าสะพานพระรามหกของบ้านเรานะคะ

เขาให้ถอดรองเท้าทิ้งไว้เดินเข้าไปกันด้วยเท้าที่เปล่าเปลือย  ธุรกิจรับฝากรองเท้าที่นี่อยู่ในรูปเต๊นท์ รองเท้าที่ถอดวางกองๆไว้ตามใจชอบได้เลย  ตรงทางเข้าน้องนุชจึงยืนรออยู่เพื่อจัดการนับคู่รองเท้าและจ่ายค่าฝาก

เข้าไปแล้วก็เห็นคนเข้าคิวกันแน่นขนัดเป็นหางพญานาคขดหลายขนด ใครไม่เข้าคิวก็จะมีคนมองหน้า ไม่มีเสียงว่าขานหรอกค่ะแค่มองหน้า คิวขยับไปได้เรื่อยๆจนกระทั่งถึงลานตรงหน้าจุดที่วางรูปปั้นเจ้าแม่

ตรงนี้แหละที่แน่นขนาดกลับตัวแทบไม่ได้ เพื่อนๆบางคนที่เผลอแยกตัวออกจากแถวก็ถูกแยกไปเข้าแถวในคิวใหม่กับคนอินเดียไปเลย

เดินตามๆกันเข้าไป แล้วก็เห็นช่องในผนังลึกเข้าไปซึ่งในช่องมีเทวรูปวางอยู่เป็นรูปคู่ ไม่ทันพิศคนเฝ้าที่ก็ไล่ให้เลื่อนตัวออกมาซะ

สตรีสัญจรมาเยอะทีเดียว เห็นที่มาของกับระเบิด เห็นผู้คนลงไปอาบน้ำกัน ไม่เห็นซากอะไรที่อุจาดตา เดินผ่านไม่มีกลิ่น
สงสัยเพราะใกล้น้ำ

พ้นจากคิวกันมาแล้ว บางคนก็ถือโอกาสขึ้นไปสำรวจดูว่าโดมที่เห็นบนกำแพงเป็นอะไร ในโดมเล็กๆนั้นไม่มีอะไรน่าสนใจเท่าไร มีรูปปั้นเล็กๆวางไว้ให้บูชาแค่นั้นเอง

ตอนที่เดินเข้าไปในบริเวณวิหาร ท้องฟ้าครึ้มฝนเต็มที่แล้ว ลมพัดแรงทีเดียว สักครู่ฝนห่าใหญ่ก็ตกลงมา  ได้เรียนรู้จากฝนอินเดียเลยว่า ถ้ามือไม่มีแรง มีร่มก็มีหวังเปียกซก ฝนที่เข้ามาขัดจังหวะทำให้คนชอบช๊อปมีโอกาสได้เลือกของชอบระบายเงินในกระเป๋าอีกครั้ง

ฝนที่ตกลงมานี้ช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างพวกเราด้วยการที่คนไม่มีร่มได้อาศัยร่มของคนที่มี ช่วยกันถือช่วยกันกาง ปกป้องกันไม่ให้ตัวเปียก ฝนอินเดียนี่แปลกดี ตกแบบเทน้ำเทท่า แป๊บเดียวก็หยุดสนิทเลย

สภาพคิวและช่องว่างระหว่างตัวคน ตัวคิวที่แอบถ่ายมาให้ดูกัน แหกกฏเป็นครั้งที่เท่าไรจำไม่ได้ค่าาาาาา…อิอิ

ช่วงที่เดินกลับมาขึ้นรถเพื่อเดินทางต่อ ก็มีสตรีหลายคนถือขันบ้าง ถ้วยบ้างเดินตามมาและคุยด้วย แปลจากภาษากายที่แสดงออกได้ความว่า เธอชวนป้ายสีหน้าผาก

ทีแรกฉันเข้าใจว่าบริการฟรีเป็นธรรมเนียมเรียนรู้วัฒนธรรมแบบบ้านเรา มีหลายคนยิยยอมให้ป้าย แล้วคนป้ายก็แบมือออกมาตรงหน้า น่านแหละจึงรู้กันว่า “ต้องจ่าย”  แต่พอจ่ายก็จะมีคนที่ ๒….๓….๔  เข้ามากวนให้ป้ายอีก บอกว่าป้ายแล้วก็ไม่ยอมเข้าใจ ชวนอยู่นั่นแล้ว นี่แหละคนอินเดียที่เจอใกล้ๆละ

ฟังคำเล่าที่เขาบอกเรื่องการบูชายัญแพะ วันนี้ที่เข้าไปไม่เห็นเลยค่ะ มีแต่กลิ่นพวงมาลัยและธูปเท่านั้น ไม่มีกลิ่นคาวเลือด สงสัยยังไม่ถึงเทศกาลบูชาเจ้าแม่มั๊งเนอะ เห็นเขาว่าเทศกาลบูชาเจ้าแม่จะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม แต่ฉันก็แปลกใจนะที่เห็นคนอินเดียใส่ผ้าสีส้มกันทั่วไป นี่ถ้าใส่เสื้อขาวก็คงเหมือนๆการกินเจที่บ้านฉันเลยหละ

น้องนุชเล่าในรถว่า สีส้มเป็นสีที่ใช้สำหรับบูชาพระศิวะแต่ไม่ได้เล่าว่าทำไมสีพระศิวะจึงเป็นสีส้ม ฉันอยากรู้เบื้องหลังของสีก็เลยหาผู้รู้มาเล่าให้ฟังได้ความมาว่า สีเกี่ยวกับการจัดวรรณะในอินเดียด้วย

มีสมบัติกันอยู่แค่นี้ รัฐบาลอินเดียก็ให้โอกาสคนอินเดียสร้างอาชีพแล้ว แล้วโอกาสของคนไทยในเมืองไทยละเป็นอย่างไร

กลับมาเล่าต่อเรื่องนิสัยคนที่นับถือเจ้าแม่กาลีอีกหน่อยดีมั๊ย มีผู้รู้เล่าว่าเจ้าแม่กาลีเหมือนราหูที่ทำให้ผู้บูชาเกิดความมัวเมา นิยมความรุนแรงมากขึ้น  ใจร้อนขึ้น เอาแต่ใจตัวเองมากขึ้น หยิ่งทะนงและเริ่มไม่เห็นคนอื่นในสายตา เวลามีเรื่องกับใครก็ไม่ยอมกัน จะเอาชนะให้ได้ ไม่มีการใช้น้ำเย็นเข้าลูบ ลักษณะแบบนี้ถ้าเกิดกับคนในครอบครัวเดียวกันก็ลำบาก ทำให้ในบ้านไม่ค่อยปรองดองกัน ทะเลาะกันง่าย

แล้วยังทำให้มีตัณหาแรงขึ้นหรือมักจะได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกามารมณ์มากขึ้น  ถ้าเรื่องเกิดกับสามีภรรยาที่ชีวิตคู่ราบเรียบจืดๆชืดๆอาจทำให้เกิดสมดุลย์ขึ้นได้ แต่ถ้ามากเกินไปก็อาจทำให้แต่ละฝ่ายเริ่มคิดจะแสวงหาความตื่นเต้นใหม่ๆ ทีนี้ก็จะอันตราย

แง่ดีก็มีตรงที่ใจนักเลง เวลาคุ้มครองแล้วคุ้มครองจริง ใครจะมาเบียดเบียนให้ผู้บูชาได้รับทุกขเวทนาด้วยประการต่างๆ ท่านก็จะทำลายผู้นั้น ใครเป็นศัตรูกับผู้บูชาท่าน คนนั้นจะโชคร้ายในที่สุด

เวลาผู้บูชาอยากได้อะไรถ้ากล้าขอท่านก็กล้าให้ แต่ต้องมีของไปแลก เช่น สมมุติว่าอยากมีความก้าวหน้าในด้านการงาน ขอท่านท่านก็ให้ ให้โดยขจัดคนที่ขวางทางอยู่ออกไป เพราะวิธีแก้ปัญหาของท่านเป็นแบบโผงผาง เรื่องที่จะประนีประนอมหรือบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นนั้นไม่มี

ในหลายพื้นที่เห็นอย่างนี้แหละ เมื่อแวบถึงตึกเก่าๆในภูเก็ตและทิศทางที่อินเดียกำลังดันเรื่องการท่องเที่ยว ใครเป็นหมู่ ใครเป็นจ่า ชวนให้ลองนึกดู

เจ้าแม่เป็นเทพแห่งสันติสุขก็จริง แต่การได้มาซึ่งสันติสุขของท่านต้องทำลายล้างสิ่งที่เป็นปัญหาไปเสียก่อน แล้วท่านก็นิยมความรุนแรงเพราะเป็นเทพปีศาจ ภาวะของท่านจึงเป็นแบบปีศาจ แบบอสูร แบบยักษ์ ฟังเรื่องเล่านี้แล้วนึกถึงคนสมัยนี้อย่างไรบ้างค่ะ

ได้ยินน้องนุชเล่าแว่วๆว่าผู้มีบุตรยากมาขอบุตรเจ้าแม่กาลีแล้วจะสำเร็จด้วย แต่ไม่ได้ยินคำอธิบายว่าทำไมคนจึงเชื่อและศรัทธาเจ้าแม่ในเรื่องนี้ค่ะ

เอาฝีมือคนขับรถบัส ๑ มาโชว์ว่าฉมังแค่ไหน ท้ายรถที่เห็นอยู่ในภาพนั่นนะเป็นอัตลักษณ์ของรถบรรทุกในอินเดียทุกคันเลย

๕ สิงหาคม ๒๕๕๓

« « Prev : เอ๋อ….เหวอ….เอาไงดี

Next : แดง-เหลืองในอินเดียก็มี » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ท่าไปสู่ที่เจ้าแม่"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.25028014183044 sec
Sidebar: 0.97786998748779 sec