เอ๋อ….เหวอ….เอาไงดี

อ่าน: 1720

รถนำเรามาปล่อยที่หน้าสวนแห่งหนึ่ง ลงจากรถกันแล้ว เสียงผู้หญิงก็ถามหาห้องน้ำกัน แล้วก็มีคนตัดสินใจเข้าห้องน้ำกันก่อนเมื่อทราบจากไกด์ว่าผ่านเข้าไปในสวนแล้วห้ามถ่ายรูป  ค่าธรรมเนียมเข้าเท่าไรไม่รู้ น้องนุชเป็นคนจัดการให้หมด

อากาศเป็นใจให้ถ่ายรูป พวกเราหามุมถ่ายรูปกันก่อนถึงทางเข้า  ได้ภาพกันมาพอเป็นหลักฐาน แดดจ้าต้องกางร่มเดินเข้าไป

ไปเข้าห้องน้ำก็เจอเรื่องให้ตัดสินใจ เจอห้องน้ำที่มีลักษณะพิเศษแบบไม่คาดฝัน เห็นแล้วอึ้ง ใครทุกหนักเข้าไปใช้สงสัยแย่ ห้องน้ำผู้ชายเป็นอย่างนี้ด้วยหรือเปล่าไม่มีเพื่อนผู้ชายเอ่ยเล่าเลย

จากปากทางเข้า เดินลึกเข้าไปราวๆหนึ่งกิโลเมตรก็ถึงฝั่งแม่น้ำฮูคลี่ย์ ก่อนถึงแม่น้ำจะเห็นเทวาลัยใหญ่อยู่ทางซ้ายมือ

ที่นี่เขาเรียกว่าเบลูร์มัฐ (Belur Math-headquarter) ศูนย์กลางของรามกฤษณะ ชื่อนี้ทำให้ฉันงงเมื่อไปเห็นหุ่นขี้ผึ้งโยคีใหญ่ขนาดตัวคนในเทวาลัยกลางสวน

มาหายงงเมื่อรู้ว่า ศาสนาฮินดูไม่ได้ถ่ายทอดคำสอนโดยศาสดาเหมือนศาสนาอื่น คำสอนต่างๆถูกถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่นผ่านคัมภีร์พระเวทที่พราหมณ์หรือฤาษีผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้บันทึกไว้และช่วยกันเผยแพร่  หุ่นขี้ผึ้งที่เห็นนั่นคือ สวามีรามกฤษณะ นักปราชญ์สำคัญคนหนึ่งของศาสนาฮินดู

สวามีรามกฤษณะ เป็นหนึ่งในพราหมณ์ผู้นำทางความรู้และการปฏิบัติคนสำคัญ เกิดในรัฐเบงกอล เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ กำพร้าพ่อเมื่ออายุ ๗ ขวบ  มีจิตแน่วแน่อยากพบเจ้าแม่กาลี สนใจฝึกจิตทำสมาธิภาวนาทุกวันจนกระทั่งอายุ ๒๐ ปีก็พบความอัศจรรย์ของชีวิต จึงบวชเป็นโยคีและมีวิถีโยคีอยู่จนอายุ ๕๐ ปีก็เสียชีวิต

ทิวทัศน์ด้านหน้าของศูนย์รวมใจแห่งนี้

สวามีรามกฤษณะนี้เป็นผู้เผยแพร่หลักคิดของโยคะที่เป็นเส้นทางเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า ๓ ประการ คือ กรรมโยคะ ( ศาสนาทุกศาสนาถือเป็นเส้นทางไปสู่พระผู้เป็นเจ้าหรือความหลุดพ้น ) ภักติโยคะ( การจะเข้าถึงภาวะอย่างนั้นได้ต้องมีจิตใจมุ่งมั่นมีความเพียรเป็นไปติดต่อโดยไม่มีวันหยุด มีศรัทธาอย่างแรงกล้า) และญาณโยคะ (ความจงรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้ามาก่อนต่อไปจึงเป็นความรักในเพื่อนมนุษย์ เพราะผู้ที่รักเพื่อนมนุษย์อย่างสุดจริตใจนั้นต้องกำจัดความยึดถือตัว ความกำหนัดยินดี และความเห็นแก่ตัวเป็นต้น)

ลูกศิษย์ของท่านสวามีวิเวกานันทะ สรัสวดี ผู้ซึ่งมีอนุสาวรีย์ตั้งตระหง่านอยู่หน้ามหาวิทยาลัยเดลลี ได้จัดให้มีขบวนการราม-กฤษณะมิชชันขึ้นเพื่อเป็นเครื่องอนุสรณ์ถึงท่านไว้ที่นี่

ห้องน้ำเป็นอย่างที่เห็นในภาพ มีเก็บค่าเข้าใช้ด้วย แต่เราไม่ได้จ่าย ภาพที่ ๒ จากขวาเป็นที่รองน้ำดื่ม อาคารในภาพขวาสุดรับฝากรองเท้า

สวามีวิเวกานันทะเป็นชาวโรมาเนียที่มาบวชที่ประเทศอินเดีย เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณรุ่นต่อมาจากสวามีรามกฤษณะ และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่หลักคิด และหลักปฏิบัติของโยคะ

ใครที่เข้าไปในเทวาลัยจะต้องถอดรองเท้า เข้าไปแล้วจะเงียบและรู้สึกได้เลยว่ามีความสงบ คนอินเดียที่มาที่นี่เขามาเพื่อภาวนากัน ใครที่ไม่ภาวนาจะเดินหรือพักผ่อนกันอยู่นอกเทวาลัย

เหลียวไปรอบๆจะเห็นผู้คนที่มาที่นี่ปะปนกันทั้งนักท่องเที่ยวและคนอินเดีย  คนอินเดียที่เห็นอยู่นั้นไม่ได้มาคนเดียวค่ะ ส่วนใหญ่จะมาเป็นกลุ่ม เดาว่าน่าจะเป็นคนในครอบครัวเดียวกันเพราะว่ามีทั้งหญิงชาย

ทิวทัศน์ริมฝั่งแม่น้ำดูโล่งสบาย พื้นที่กว้้างคนไม่มาก จึงดูไม่แน่นขนัด มองลงมาจากบ้านพักของท่านจะเห็นสวนไม้ประดับในภาพขวาสุด

ตรงบ้านที่พำนักของท่านรามกฤษณะ มีโยคีนั่งบำเพ็ญเพียรกันตรงลานว่างๆใต้ชายคาบ้านหลายคน  ขึ้นบ้านไปก็เห็นที่นอน ตะเกียง และโต๊ะทำงานจัดไว้เรียบร้อย ตัวบ้านไม่เก่าเท่าไร

ที่นี่มีเขื่อนกั้นตลิ่งเป็นซีเมนต์ มีขั้นบันไดให้เดินลงไปถึงน้ำในแม่น้ำได้ด้วย บริเวณริมเขื่อนโล่ง ลมแรงทีเดียว ฟ้าที่มีแดดจ้าอยู่ในตอนแรกเริ่มครึ้มเมื่อเมฆฝนตั้งเค้าขึ้นมา

น้องนุชให้เวลาพวกเราชมที่นี่ครึ่งชั่วโมง แต่ไม่สามารถควบคุมเวลากันได้ด้วยความที่สถานที่กว้างขวางมาก ใครที่เดินดูรอบๆหมดแล้ว เดินกลับกันไปที่รถ บ้างแวะเข้าในร้านขายของที่ระลึก ในร้านมีภาพวาดและหนังสือ

บรรยากาศริมฝั่งแม่น้ำฮูคลี่ย์  มีคนลงไปอาบน้ำด้วย เขาลงไปเล่นแบบวักน้ำล้างแขนขาหน้า ไม่ได้แช่ตัวกัน

ฉันแวะตามเข้าไปด้วย เลือกได้หนังสือมาอ่านเรื่องหนึ่ง เขียนหลักปรัชญาภาษาอังกฤษไว้ง่ายๆ ไม่มีเงินรูปีติดตัวอยู่เลยจึงขอยืมเงินจากน้องต่อ (อนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์) มา ๕๐๐ รูปี จ่ายให้กับคนขายไป

คนขายเป็นเด็กหนุ่มคนหนึ่งและผู้ใหญ่ ๒ คน ตอนจ่ายเงินนั้น มีคนรอจ่ายเงินอยู่ ๕-๖ คน เป็นคนอินเดีย ร้านใช้เครื่องคิดเงินเหมือนห้างสะดวกซื้อที่เห็นๆกัน

แล้วก็มีเรื่องทำให้แปลกใจ เด็กรับเงินไปแล้วทอนเงินไม่ถูก ดูเหมือนงงอยู่นานเชียว แล้วฉันก็ไม่เข้าใจนะว่าทำไมเขาไม่คิดจะใช้เครื่องคิดเงินช่วย  ผู้ใหญ่ที่อยู่ด้วยเห็นเด็กงงก็ช่วยคิด เขาใช้วิธีนับเงินทอนโดยไม่ใช้เครื่องคิดเลข ปรากฏว่าคิดเลขไม่ถูกเช่นกัน

ทีแรกไม่เข้าใจว่าทำไมเขาคิดเงินไม่ถูก  ยืนดูอยู่นานจึงเข้าใจ  ที่แท้ฉันให้เงินเขาใบใหญ่ไป คนอินเดียอื่นๆเขาให้เงินราคาพอดีๆ ไม่มีใครต้องทอน เงินที่ใ้ช้ก็ใบเล็ก ไม่มีใครใช้ใบ ๑๐๐ รูปีกันเลยด้วย  นี่ฉันให้เงินไปตั้ง ๕๐๐ รูปี ซึ่งคนใช้ไม่บ่อย คนรับเงินก็เป็นงงซิ

กว่าจะได้เงินทอนมาแทนที่คนขายจะเหงื่อตก ฉันซึ่งเป็นคนซื้อกลับเหงื่อตกซะเอง ก็ฉันเป็นคนสุดท้ายที่ทุกคนรออยู่  ดีนะที่ยืมเงินจากน้องต่อ  น้องต่อจึงรู้ว่าฉันอยู่ในร้าน ไม่งั้นโดนทิ้งไว้ตรงนั้นเอง ขอบคุณน้องต่อจริงๆที่ช่วยไว้ ๒ เด้งเลย  ล้อเลื่อนออกจากที่นี่เวลาสิบเอ็ดโมงกว่าค่ะ

๕ สิงหาคม ๒๕๕๓

« « Prev : ชวนให้นึกถึงบ้านเราแฮะ

Next : ท่าไปสู่ที่เจ้าแม่ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "เอ๋อ….เหวอ….เอาไงดี"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.061498880386353 sec
Sidebar: 0.20712304115295 sec