แดง-เหลืองในอินเดียก็มี
เมื่อคนขึ้นรถกันครบแล้ว พวกเราก็เดินทางเข้าเมืองมากินอาหารเที่ยงที่ร้านอาหารจีนชื่อ Tong Fong อาหารที่จัดให้เป็นเมนูบุฟเฟ่ห์ ไปถึงที่ร้านเขายังไม่ได้ทำอาหารอะไรไว้เลย สงสัยพวกเรามาถึงก่อนเวลานัด พี่แดงและน้องนุชใช้กำลังภายในพอสมควรเร่งให้ร้านทำอาหารให้ทันใจ รสชาดอาหารที่นี่อยู่ในขั้นอร่อยสำหรับฉัน มีเมนูผักเยอะดี กินกับน้ำพริกมะขามที่พี่แดงติดกระเป๋าไปด้วยแจ๋วไปเลย
ความเร็วของการเสิร์ฟเครื่องดื่มอยู่ในระดับเหมือนในร้านอาหารบ้านเราที่มีคนมากินเยอะมาก ทั้งๆที่คนมากินจริงๆไม่เต็มร้าน
กินเสร็จแล้วการเดินทางก็เริ่มอีกครั้ง คราวนี้ไปที่พิพิธภัณฑ์อินเดีย ไปถึงที่นั่นบ่ายมากแล้ว และก็เช่นเคย ห้ามผู้เข้าไปชมถ่ายภาพ กฏที่นี่เคร่งครัด ไม่ให้ผู้ที่เข้าไปมีอะไรติดมือเลย กระเป๋าเงินพอจะพาเข้าไปได้ถ้าใบไม่ใหญ่
คนเฝ้าประตูให้เดินเรียงเดี่ยวเข้าไป ตรวจตั๋วเข้าชมแบบนับหัวกัน ที่ส่วนหน้ามีซากแมมมอธใหญ่สต๊าฟตั้งไว้ ไกด์ท้องถิ่นกังวลกับพวกเรามาก ดูเหมือนพวกเราทำให้เขาเหนื่อยกับการไม่ใคร่อยู่รวมกลุ่มกัน
ในพิพิธภัณฑ์มีส่วนของปราสาทจำลองที่น่าทึ่ง ชะลอเข้ามาเก็บในตึกได้อย่างไรใหญ่ซะขนาดนั้น พี่เสริฐกับฉันดูกันแล้วเดาว่า สงสัยโครงสร้างอาคารที่เราเห็นนั้นถูกสร้างครอบของโบราณซะมากกว่าสร้างตึกก่อนแล้วชะลอเข้ามาเก็บ ได้แต่เดาไม่มีคำเฉลยค่ะ
พิพิธภัณฑ์อินเดียเมืองกัลกัตตานี้ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ตั้งขึ้นตรงกับสมัย ร.๓ (พ.ศ. ๒๓๕๗) เก่าแก่กว่าพิพิธภัณฑ์สถานแ่ห่งชาติที่กรุงเทพฯซึ่งตั้งสมัย ร.๕ มีห้องจัดแสดงทั้งหมด ๓๖ ห้อง รวบรวมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุไว้มากมาย
กว่าคนจะได้เข้าดู ที่นี่ก็อายุ ๖๔ ปีเข้าไปแล้ว ดูไม่ออกเลยว่าแก่เกือบ ๒๐๐ ปีแล้ว ( ๑๙๖ ปี)
เดินดูไปก็พอเห็นความเก่าของอารยธรรม เห็นความเกี่ยวข้องของกรีกกับอินเดียอยู่ค่ะ แต่ฉันไม่ใคร่เข้าใจจนสามารถร้อยรัดเป็นเรื่องราวมาเล่าได้
อากาศในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ระบายไม่ดีเลย ตรงที่ไม่มีแอร์อากาศไม่หมุนเวียน มีกลิ่นสาบๆด้วย พี่ๆผู้สูงวัยบางท่านตัดสินใจขอไม่เดินตามไปดูให้ทั่ว ๔ ท่านขอนั่งรอในห้องใหญ่ที่มีแอร์
มีอยู่ชั้นหนึ่งแสดงนิทรรศการวิถีชีวิตของคนอินเดีย ฉันว่าตรงนี้น่าชมกว่าส่วนอื่นๆ ห้องที่อยู่ใกล้ๆกันเป็นสัตว์ใหญ่ๆที่สต๊าฟเก็บไว้ ช้างสต๊าฟในห้องนี้ตัวใหญ่มากกกกกกกกก ตรงนี้มีห้องน้ำอยู่ข้างทางเดิน แล้วมีแต่ห้องน้ำชายแปลกจริงๆ
พวกเราลืมผู้อาวุโสที่ขอนั่งพักรอกันไปเลย จนน้องนุชเข้ามาบอกว่ามีคนหายไป จึงมีคนจำได้ว่าพี่ๆขอนั่งรออยู่ น้องนุชเข้าไปรับตัวมาได้ครบคนขบวนของเราก็เคลื่อนต่อไป
ระหว่างยืนรอรถซึ่งยังไม่มา ก็มีเด็กหนุ่มหลายคนมาห้อมล้อมเสนอขายกำไล มีคนซื้อกันหลายคน ลำดับเวลา ลำดับราคาแล้ว ราคากำไลหดผกผันกับเวลาน่าดูเลยค่ะ คนที่ไม่สนใจซื้อของจับกลุ่มถ่ายรูปเป็นที่ระลึก สุดท้ายความช้าของรถ ก็ทำให้คนกว่าครึ่งในคณะซื้อกำไลติดมือกลับบ้าน ราคาถูกที่สุดอยู่ที่ ๓ โหลร้อยรูปี แพงที่สุดอยู่ที่โหลละ ๑๐๐ รูปี
ขบวนเดินทางกันต่อไปที่วัดพระแม่ลักษมี ฉันเพิ่งมารู้ทีหลังว่าวัดชื่อนี้มีอยู่ในหลายรัฐ ที่ไปวัดนี้กันก็เพราะมีคนจะไปขอพร
หน้าตาศาลาเป็นอย่างนี้ พบเพื่อนเก่ามายืนเรียงแถวทักทายด้วย ใช้บอกข่าวความสะอาดของสิ่งแวดล้อมได้เลยมั๊ย
พระแม่ลักษมีมีกำเนิดจากฟองน้ำ ในคราวเทวดาและอสูร กวนเกษียรสมุทร ทำน้ำอมฤต จึงได้นามว่า ชลธิชา (เกิดแต่น้ำ) หรือ กษีราพธิตนยา (ลูกสาวแห่งทะเลน้ำนม) เป็นเทวีแห่งความงดงาม ความร่ำรวยและความอุดมสมบูรณ์ มักประทานความสำเร็จในการประกอบกิจการ การเจรจาต่อรอง การทำมาค้าขาย การประกอบธุรกิจทุกสาขาตลอดจนประทานโภคทรัพย์ เงินทอง สมบัติแก่ผู้หมั่นบูชาพระองค์และประกอบความดีอยู่เป็นนิจ ผู้ศรัทธาถือเป็นเทพนารีผู้อำนวยโชค มีน้ำพระทัยเมตตาปราณีอยู่เป็นนิจ เป็นผู้นำมาซึ่งความเจริญทุกประการ นับกันว่าเป็นผู้อุปถัมภ์บรรดาสตรีทุกชั้น
พระแม่ลักษมี มีอีกนามว่า ปัทมา หรือ กมลา เพราะในขณะที่ผุดขึ้นมานั้นนั่งมาในดอกบัวและมือถือดอกบัวด้วย
ในคัมภีร์วิษณุปุราณะจะกล่าวไว้ว่า พระแม่ลักษมีเป็นธิดาของพระฤาษีภฤคุกับนางขยาติ และเป็นมารดาพระกามเทพ
วัดที่แวะไปเป็นวัดไม่ใหญ่ เดินเข้าไปก็เจอห้ามถ่ายรูปอีกแล้ว เรียนรู้กันมาแล้วจากหลายที่คนมีกล้องเลยยืนอยู่หน้าวัดให้คนที่จะถ่ายภาพยืนในวัด เท่านี้ก็ซูมกล้องถ่ายภาพมาได้โดยไม่แหกกฏเจ้าบ้าน
วัดที่เห็นเหมือนศาลาหรือเก๋งจีนเล็กๆ มีผู้คนนั่งอยู่ ๒-๓ คน ทั้งชาย-หญิง ชายแต่งกายพราพมณ์นั่งเ็ด็ดใบกระเพราอยู่ เห็นแล้วฉันนึกไปโน่นว่าเด็ดช่วยคนที่บ้านเตรียมทำกับข้าว(มั๊ง) ที่ไหนได้นั่นนะเขาเด็ดไว้บูชาพระของเขาเชียวนา เชยซะไม่มีเลยฉันนี่
ตามคนเข้าห้องน้ำไปเก็บภาพ ได้ภาพมาให้ดูอย่างนี้ ซ้าย-อยู่ในวัดพระลักษมี ขวาอยู่ในห้องน้ำชาย พิพิธภัณฑ์อินเดีย
เพิ่งเข้าใจว่าทำไมพราหมณ์แต่งกายด้วยสีขาว ผู้รู้เล่าว่าเมื่อมีการแบ่งวรรณะ สีผิว “ขาว” “ดำ” ที่เคยมีถูกแปลงความหมายไปเป็นเชิงหน้าที่ สีประจำวรรณะถูกกำหนดขึ้นมาคู่กับวรรณะเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์
พราหมณ์- สีขาว กษัตริย์- สีแดง แพศย์ - สีเหลืองหรือส้ม “ศูทร” - สีดำ
นัยยะความหมายของสีไม่ใช่เป็นแค่ความสวยงามแต่หมายไปถึงระบบคุณค่าของชีวิต สีที่ถูกกำหนดขึ้นมาแบบเบ็ดเสร็จ มีอิทธิพลต่อความคิดและความรู้สึก สีขาวคือ ความสะอาดบริสุทธิ์ คนอินเดียเชื่อว่าพวกพราหมณ์เป็นพวกที่สะอาด พวกที่บริสุทธิ์ สีแดง คือ ความกล้าหาญ การต่อสู้ เพราะพวกกษัตริย์ใช้สีแดง สีเหลืองหรือสีส้มเป็นสีของพวกแพศย์ เป็นเรื่องของการติดต่อค้าขาย สีดำหมายถึงคนงาน
เก็บภาพจากริมถนน ชีวิตที่มีธรรมชาติเป็นบ้านกับวิธีคิดของคนสมัยใหม่ ตัดกันดีเนอะ
เวลานึกถึงภาพของวรรณะให้นึกถึงภาพของสี เมื่อนึกถึง ภาพของสีก็จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของความหมายในชีวิตประจำวัน
การต่อสู้ในวัฒนธรรมของอินเดียโบราณเป็นลักษณะของการต่อสู้เรื่องความเชื่อด้วย สีจึงถูกกระจายไปสู่เทพเจ้าต่างๆ
เมื่อตอนที่อินเดียเป็นเวทีของการต่อสู้ระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำมีพระเจ้าของแต่ละฝ่ายซึ่งเป็นสัญลักษณ์ได้ต่อสู้กันด้วย เทพเจ้าสูงสุดจึงถูกทำให้เป็นเทพเจ้าของชาวอารยัน เช่น มหาเทพ หรือ “รุทธะ” จะเป็นเทพที่มีสีขาว
เทพในส่วนที่เป็นกษัตริย์จริงๆที่คนไทยรู้จักในชื่อ ท้าวกุเวร จะใช้สีแดง เป็นเทพรักษาแว่นแคว้นแผ่นดิน
บางเทพที่ลักษณะสีไม่ชัดเจน ต่อมาจะถูกทำให้มีความหมาย มีสีเข้าไปผสม เช่น พระอินทร์-สีเขียว ตามความหมายเดิมพระอินทร์ในอินเดียคือสีส้ม ส่วนเทพของชนพื้นเมืองเดิม เช่น พระแม่กาลี พระพฤหัส มีสีดำ
อินเดียใช้สีเป็นสัญลักษณ์อยู่ตลอดเวลาจนกลายมาเป็นสิ่งที่มีนัยยะแห่งความหมายในการแบ่งคนเป็นกลุ่มแล้วทำให้เกิดความเป็นเอกภาพ เวลาแบ่งคนเป็นกลุ่มเขาแบ่งจากความเคารพในพระผู้เป็นเจ้า อือ ความคิดนี้สอนอะไรบางอย่างให้ฉันเหมือนกันนะ
คนอินเดียจะตั้งชื่อตัวที่บอกความหมายว่านับถือเทพเจ้าองค์ใด จึงต้องมีสามชื่อ หนึ่งในสามคือชื่อที่แสดงว่านับถือพระผู้เป็นเจ้าองค์ใด อ่านชื่อคนอินเดียครบก็จะพบว่ามีชื่อที่หมายถึงว่าเขานับถือพระผู้เป็นเจ้าองค์ใด
เห็นมิติวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในเรื่องสีของคนอินเดียและการตั้งชื่อแล้วรู้สึกว่าเขามีอัตลักษณ์ที่ลึกซึ้งเนอะค่ะ
๕ สิงหาคม ๒๕๕๓
Next : ให้นำไฟฉายมาด้วยทำไม » »
ความคิดเห็นสำหรับ "แดง-เหลืองในอินเดียก็มี"