ฐานคิดของคนอินเดีย
ท่านทูตเล่าให้ฟังคร่าวๆเรื่องศาสนาพุทธว่าที่นี่เป็นต้นกำเนิด มีหลักฐานที่เป็นประจักษ์พยานก็คือสังเวชนียสถานสำคัญที่ ณ วันนี้กลายเป็นวัตถุดิบที่อินเดียใช้เป็นฐานเพิ่มฐานะด้านเศรษฐกิจให้บ้านเขา
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ รัฐบาลไทยได้ลงมือร่วมฟื้นฟูศาสนาพุทธด้วยการฉลองวาระกึ่งพุทธกาลตามคำเชิญของอินเดียด้วยการสร้างวัดไทยพุทธคยา และในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ก็ได้จัดโครงการอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนพรรษา ๘๐ พรรษา
มีคนเล่าว่าการที่ศาสนาพุทธในอินเดียเสื่อมถอยเกี่ยวข้องกับการกรีฑาทัพเข้ายึดครองประเทศของมุสลิมเมื่อคริสตศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ แล้วทำลายล้างศาสนาพุทธ ผสมผสานกับการที่พราหมณ์ในศาสนาฮินดูช่วยกันทำลายล้างพระธรรมคำสั่งสอน เข้ายึดครองศาสนสถานไปเป็นของตน และทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าพระพุทธเจ้าเป็นองค์อวตารที่ ๙ ของพระนารายณ์ แต่ก็ยังนำเอาอหิงสธรรมของพระองค์ไปบรรจุไว้ในสินธูธรรมของตน เป็นเหตุให้อหิงสธรรมไม่สูญหายไป เพราะลักษณะพิเศษของคนอินเดียที่มีความเคร่งครัดทางด้านศาสนามากนี่แหละที่ช่วยให้คงอยู่
การทำลายล้างทำให้บรรดาพุทธศาสนิกชนและบรรพชิตผู้เผยแพร่ศาสนาที่ทำให้เกิดความเสื่อมภายในในยุคนั้นถูกสังหาร ทรมานและหนีตายไปยังต่างประเทศ และการที่ศาสนาพุทธไม่สูญสลายไปสิ้นในอินเดียเลยนั้น เกิดจากคนชั้นจัณฑาลที่ใช้หลักของศาสนาพุทธดำรงตนไว้
บรรยากาศของการเรียนรู้…ขรึมกันหน่อยในตอนแรกๆ
มีเรื่องเล่าว่าความคิดในความเชื่อต่อศาสนาพุทธทำให้คนจัณฑาลที่ร่วมพัฒนาระบอบการปกครองของประเทศอินเดียตอนได้รับเอกราชขัดคอกับมหาตมะ คานธี คนๆนี้ชื่อนายอัมเบดก้าเป็นนักปราชญ์ นักนิติศาสตร์และนักการเมืองคนสำคัญของอินเดีย ที่มีบทบาทอย่างโดดเด่นในการร่างรัฐธรรมนูญให้ประเทศตอนได้รับเอกราช จนได้รับฉายาว่า “บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย”
ท่านประกาศตนเป็นพุทธมามกะเพราะท่านเกิดมาเป็นจัณฑาลซึ่งถือว่านอกวรรณะหรือต่ำช้าที่สุดในระบบของพราหมณ์ ที่ขัดกับมหาตมะ คานธี ก็เป็นเรื่องความเชื่อตามคติพราหมณ์ซึ่งถือว่าทำดีในชาตินี้แล้วย่อมไปเกิดในสถานะที่ดีขึ้นในชาติหน้า แต่ท่านไม่เชื่อจึงขอไม่ตายอย่างคนฮินดูแม้จะเกิดมาเป็นฮินดู ท่านจึงต้องการเปลี่ยนศาสนา
นายอัมเบดก้าสมาทานพุทธศาสนา ณ วันขึ้นสิบค่ำเดือนสิบ พ.ศ. ๒๔๙๙ (ทางอินเดียคือ พ.ศ. ๒๕๐๐) ณ เมืองนาคปุระ (ซึ่งเป็นวันที่พระเจ้าอโศกมหาราชประกาศตนเป็นพุทธมามกะ เมื่อ พ.ศ. ๓๐๐) คนจัณฑาลเรือนล้านก็หันมาเป็นพุทธศาสนิกด้วยเป็นจำนวนถึง การเพิ่มปริมาณพุทธศาสนิกจากชนชั้นที่ต่ำสุดนั้นขยายตัวออกไปเรื่อยๆยังเมืองต่างๆ แทบทั่วประเทศ และชะลอลงเมื่อนายอัมเบดก้าเสียชีวิตลงหลังจากเป็นพุทธมามกะได้ ๒ เดือน
ช่วยกันฟัง ช่วยกันสังเกตมุมดีๆเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกันเมื่อกลับเมืองไทยเน้อ
คุณค่าของพุทธศาสนาที่เน้นในเรื่องความเสมอภาคอย่างปราศจากการแบ่งชั้นวรรณะและภราดรภาพ โดยเฉพาะก็จากคณะสงฆ์ผู้ซึ่งเป็นแบบอย่างให้อุบาสกอุบาสิกาและพุทธศาสนาเน้นที่เสรีภาพจากความโลภ โกรธ หลง นี่แหละที่ท่านถือว่ายิ่งใหญ่กว่าคำประกาศในทำนองเดียวกันนี้ของพวกนักปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส ณ ปี พ.ศ. ๒๓๓๒ (ค.ศ. ๑๗๘๙) เพราะนั่นเต็มไปด้วยความรุนแรง และไม่สำเร็จได้ เพราะปราศจากอหิงสธรรมและศาสนธรรม
นายอัมเบดก้าไม่ได้พบพระเถระที่มีความเป็นเลิศในทางธรรมปฏิบัติเพราะท่านนั้นๆมักไม่รู้ภาษาอังกฤษและมักเก็บตัวกันตามป่าเขาลำเนาไพร และนายอัมเบดก้าเองก็ใช้หัวสมองมากเกินไปจึงเข้าไม่ถึงการภาวนาในทางจิตสิกขา
พระภิกษุในลังกาและพม่าที่ท่านพบขาดศีลาจารวัตรและขาดสมาธิภาวนาอย่างยิ่ง เมื่อท่านตายคนซึ่งหันมาสมาทานพุทธศาสนาจึงหาที่มั่นทางใจแทบไม่ได้ ในช่วงนั้นมีพระพม่าและพระลังกาอยู่ที่อินเดียไม่กี่รูป ท่านนั้นๆก็ขาดกำลังเพียงพอที่จะสั่งสอนพุทธศาสนิกใหม่ๆ ซึ่งมีปัญหาทั้งทางภาษาและทางวัฒนธรรมที่ถูกกดขี่มานาน(พระพม่าและพระลังกา รู้แต่ภาษาอังกฤษ หรือภาษาฮินดี ในขณะที่พวกจัณฑาลส่วนใหญ่ใช้ภาษามารตีตามแถบเมืองมาทราฐและเมืองปูนาซึ่งเป็นแดนของพุทธศาสนิกใหม่)
พุทธศาสนิกใหม่เหล่านี้ถูกพวกฮินดูรังแกด้วยประการต่างๆด้วย ดังนั้นแม้จะสมาทานพระรัตนตรัยแล้วแต่ขาดครูบาอาจารย์ก็ย่อมไม่อาจกล่อมเกลาจิตใจไปในทางสันติวิธีและอหิงสธรรมได้ ความเคียดแค้นคนฮินดูอื่นๆ อยู่จึงยังคงอยู่ ซึ่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงเท่าที่โอกาสจะอำนวยด้วย
มีเหตุผลลึกๆที่เขาเปลี่ยนจากฮินดูมาเป็นพุทธโดยดำเนินตามหัวหน้ากลุ่มของตน เปลี่ยนฐานะตัวเองเพื่อให้หลุดพ้นจากการถูกเหยียบย่ำให้เป็นคนชั้นสองของสังคมซึ่งถูกย่ำยี ไม่ได้ีัรับความยุติธรรม ไม่มีทางต่อสู้ เมื่อหันมาเป็นพุทธการดำเนินชีวิตก็ยังคงเป็นฮินดู เมื่อชีวิตดีขึ้นเขาก็กลับไปเป็นฮินดูอีกครั้งอยู่ด้วย
การที่ชีวิตและผลงานของนายอัมเบดก้าและขบวนการพุทธศาสนารุ่นใหม่เหล่านี้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นนั้น เิกิดจากคนอังกฤษคนหนึ่งที่เข้าไปบวชในอินเดียราวๆพ.ศ. ๒๔๙๖ สมณฉายาว่า สังฆรักขิต (เขียนอย่างสันสกฤตว่า สังฆรักษิตะ) ได้อุทิศตนให้คนจัณฑาลที่มาเป็นพุทธศาสนิกได้ช่วยเขียนแนะนำพุทธศาสนิกซึ่งเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆในอังกฤษและเมืองฝรั่งอื่นๆให้รู้จัก
ฟังไปกินไป..ดื่มไป…ที่เห็นเป็นน้ำหวานนะคะ…ไม่ใช่ของเมา
จนเมื่อปี ๒๕๑๐ ท่านกลับไปอังกฤษ ก็ใช้สมณฉายา Denis Lingwood ตั้งคณะสงฆ์อย่างใหม่ในทำนองของมหายาน มีชื่อในภาษาอินเดียแปลว่า Western Buddhist Orders และในอังกฤษใช้คำว่า Friends of the Western Buddhist Order มีนักบวชเป็นอนาคาริกที่ถือพรหมจรรย์นุ่งห่มแบบพระของเราหรือไม่ก็แต่งชุดขาวและทำพิธีคล้ายๆ พวกนักพรตทางญี่ปุ่นแต่เคร่งกว่านักพรตญี่ปุ่น ถือศีลห้าเป็นอย่างน้อยและมีเวลาเจริญสมาธิภาวนา พุทธศาสนาจึงขยายขอบเขตของเครือข่ายออกไปในยุโรปหลายประเทศด้วยวิธีอย่างนี้
ส่วนในอินเดียก็มีหน่วยงานต่างๆ ที่ทำการเคียงบ่าเคียงไหล่กับชนชั้นจัณฑาลเดิมอย่างเท่าเทียมกัน คนที่ทำการแทนในบัดนี้มีสมณะชื่อว่า “สุภูติ” และฆราวาสชื่อว่า “โลกมิตร” เขาจัดตั้งศูนย์ภาวนาให้พุทธศาสนิกได้มีเวลาหลีกเร้นไปเจริญจิตสิกขาและเน้นในศีลสิกขาโดยให้เข้าใจโครงสร้างทางสังคมอันรุนแรงและอยุติธรรมด้วย คนรุ่นใหม่ได้รับการฝึกปรือให้ทันสมัย รู้เท่าทันโลกาภิวัตน์และลัทธิบริโภคนิยมอย่างน่าชมเชย คนอังกฤษที่ออกไปอยู่กับจัณฑาลพวกนี้ก็เพิ่มขึ้นและโยงให้คนเหล่านี้คบหาสมาคมกับชาวพุทธอินเดียอื่นๆ ด้วย
เหตุการณ์ที่ทำให้พุทธมามกะ ในอินเดียเพิ่มพูนขึ้น ยังมาจากการเกิดพุทธศาสนศึกษาสถานสำหรับชาวธิเบตที่แพร่หลายไปเรื่อยๆ หลังจากทะไลลามะและพวกธิเบตลี้ภัยจากจีนไปอยู่อินเดียเพราะคนอินเดียรุ่นใหม่ที่สนใจใคร่ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อพยพเหล่านี้จนได้ตั้งตัวกันเป็นชมรมเพื่อนของธิเบต Friends of Tibet แล้วทำให้คนเหล่านี้เริ่มสนใจพุทธธรรมและวัฒนธรรมอย่างธิเบตพลอยหันมาถือพุทธยิ่งๆขึ้นทุกที อีกทั้งยังมีผู้ใหญ่ที่ได้รับธรรมะจากองค์ทะไลลามะแล้วประกาศตนเป็นพุทธศาสนิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างมีคุณภาพ คือไม่ได้สักแต่ถือพุทธแต่ถือการภาวนาเป็นประการสำคัญและมีเวลาไปเรียนธรรมะจากพระอาจารย์เจ้าชาวธิเบตให้สูงส่งขึ้นไปเรื่อยๆด้วย
แล้วยังมีนายโคเองก้าที่สอนวิปัสสนาแบบพม่าในอินเดียอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งจนเป็นที่รู้จักกัน หมู่คนฮินดูและมุสลิมก็ให้ความเคารพนับถือ จำนวนคนปฏิบัติธรรมเพิ่มปริมาณขึ้นทั้งยังมีคุณภาพอย่างน่าพอใจ นอกไปจากนี้แล้วคนอินเดียที่ไปถือพุทธในต่างประเทศจากสายท่าน นัท ฮันห์ ทางฝรั่งเศส สายท่านอาจารย์ชา ทางอังกฤษ และสหรัฐ ฯลฯ ก็กลับมาปฏิบัติธรรมในบ้านเกิดเมืองนอน นี่คือการเพิ่มพูลความเป็นพุทธในอินเดียที่เกิดขึ้น
ถ่ายภาพกันหน่อยเป็นประจักษ์พยานว่ามาถึงสถานทูตกันแล้วนะ
ผู้ที่มีบุญคุณทำให้พุทธศาสนากลับคืนมาในอินเดียและในโลกอีกคน คือ เซอร์อเล็กซานเดอร์คันนิงแฮมซึ่งเป็นชาวอินเดีย การขุดพบโบราณสถานทางพระพุทธศาสนาอันเป็นมรดกอันเก่าแก่ของตนเองและชาวโลกทำให้ชาวอินเดียเริ่มสนใจ จึงเกิดการศึกษาพระพุทธศาสนาขึ้นในหมู่ปัญญาชนชาวอินเดียโดยองค์กรเผยแผ่พุทธศาสนายังไม่เกิดขึ้น
คนไทยเราที่ไปทำบุญในสังเวชยสถาน ๔ ตำบล ทั้งสถานที่ประสูติที่ตำบลลุมพินี เนปาล สถานที่ตรัสรู้ที่ ตำบลพุทธคยา ในรัฐพิหารของอินเดีย สถานที่ปฐมเทศนาที่ตำบลสารนาถและสถานที่ปรินิพพานที่ตำบลกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ คณะพระธรรมทูตอันได้แก่พระเทพโพธิวิเทศ เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย พระราชรัตนรังสี (วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ) ประธานสงฆ์วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์-อินเดีย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ที่อินเดีย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ ดร.พระครูปลัดโกวิท อภิปุญฺโญ เจ้าคณะอำเภอด่านขุนทด นครราชสีมา ซึ่งเป็นพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย ฯลฯ ก็มีส่วนช่วยให้คนอินเดียบางส่วนกลับมาสนใจศาสนาพุทธกันใหม่ค่ะ
สำหรับจำนวนคนพุทธในอินเดีย เพิ่งไปรู้มาว่าจากการสำรวจสำมะโนประชากรของอินเดียว่า ในปี ๒๕๓๔ คนพุทธในอินเดียมีประมาณ ๖.๕ ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐมหาราชและอุตตระประเทศ แล้วเมื่อปี ๒๕๔๔ ก็มีชาวฮินดูชื่อ ราม ราช หรือ Udit Raj รณรงค์ให้ชาวจัณฑาลเปลี่ยนศาสนาเป็นพุทธถึงกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คน เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการออกกฎหมายห้ามเปลี่ยนศาสนาในบางรัฐ จนถูกต่อต้านจึงยกเลิกไป
ในปี ๒๕๔๕ คนจัณฑาลได้ประกาศว่าจะเปลี่ยนศาสนามาเป็นพุทธให้ได้จำนวน ๒๐ ล้านคน ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๙ ทำให้เมื่อเวลาผ่านมาถึงปี ๒๕๔๗ คาดว่าพุทธศาสนิกในอินเดียจะมีอยู่ประมาณ ๑๐ ล้านคนแล้ว จำนวนไม่น้อยเลยนะคะ ผู้นำคนการรณรงค์เป้นคนจัณฑาลชื่อ เคนซิง ราม
การเปลี่ยนศาสนาของคนอินเดียต่างจากบ้านเรา ของเขาเป็นการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของชาวจัณฑาลซึ่งมีจำนวนร้อยละ ๑๖ ของประชากรที่นับถือศาสนาฮินดูที่มีถึงร้อยละ ๘๐ ของประชากรทั้งประเทศเขา เขาเชื่อว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ให้อิสระและเปิดรับทุกคนอีกทั้งยังสอนให้ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่แบ่งแยกชนชั้นวรรณะ ผู้เปลี่ยนศาสนาก็มีความหวังว่าการเปลี่ยนศาสนาจะช่วยให้ตัวเองมีศักดิ์ศรีและสิทธิเท่าเทียมในความเป็นคนขึ้นมา
ในมุมดีๆที่เกิดขึ้น ก็มีมุมผลกระทบเกิดขึ้นกับศาสนาพุทธในอินเดียด้วย นั่นก็คือ การขาดศาสนสถาน องค์ความรู้ วัดและพระ และมีการต่อต้านจากชาวฮินดูหัวขวาจัดในหลายรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐที่อยู่ภายใต้การบริหารของพรรค “ภารติยะ ชนตะ” ซึ่งเป็นพรรคชาตินิยมฮินดูได้ออกกฎหมายคุมเข้มเรื่องการเปลี่ยนศาสนา
คนจัณฑาลที่เปลี่ยนศาสนามาเป็นพุทธเหล่านี้ถูกมหาตมะ คานธีตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “หริชน” หมายความถึง “ผู้เจริญ”
สถานการณ์พุทธศาสนาที่กระเตื้องขึ้นเกิดจากชาวอินเดียรู้จักพุทธศาสนามากขึ้นยังเป็นเพราะมีการจัดฉลองพุทธชยันตีและมีการนำสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาคือธรรมจักรไปไว้ในธงชาติอินเดียด้วย
๖ สิงหาคม ๒๕๕๓
« « Prev : ฟังเรื่องนักเรียนไทย
ความคิดเห็นสำหรับ "ฐานคิดของคนอินเดีย"