ฟังเรื่องนักเรียนไทย
ท่านทูตเล่าว่า เราส่งเสริมความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมและปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชนกับบ้านเขา ศูนย์วัฒนธรรมอินเดียจึงเกิดในบ้านเรา และมีกิจกรรมที่รัฐได้จัดสัมมนาทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของการศึกษา เรามีนักเรียนไทยมาเรียนที่บ้านเขาประมาณ ๓ พันกว่าคน เป็นเด็กทุนของสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ บ้าง ทุนรัฐบาลไทยบ้าง ซึ่งฉันคิดว่าไม่รวมเด็กไทยที่มาเรียนเองด้วยทุนที่บ้านนะ ในเดลีเขาเรียนกันอยู่ที่ DI JNU และ Jamia Islamia
ฉันก็เพิ่งรู้เมื่อจากสถานทูตมาแล้วว่ามีการรับรองวิทยะฐานะของปริญญาบัตรของกันและกันด้วย อินเดียรับรองปริญญาบัตรของสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ของไทยและมหาวิทยาลัยบางแห่ง ไทยโดยก.พ. รับรองวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยอินเดียกว่า ๑๖ แห่งทีเดียวละ
มหาวิทยาลัยเดลี (DI) นั้นมีดีที่ภาษาศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ บัญชี การบริหารจัดการ เป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ ๒ ของคนอินเดีย เอเชียวีคประกันคุณภาพทางการศึกษาให้ในด้านสาขาทั่วไป รองลงมาจาก JNU การบริหารแบ่งเป็น ๒ วิทยาเขต และมีวิทยาลัยอยู่ภายใต้ทั้งหมด ๘๕ แห่ง เป็นมหาวิทยาลัยที่ขึ้นตรงกับรัฐบาลกลาง ได้งบจากรัฐบาลกลาง รองประธานาธิบดีของอินเดียเป็นอธิการบดีของที่นี่โดยตำแหน่ง แต่บริหารจริงโดยรองอธิการบดีที่ประธานาธิบดีแต่งตั้งโดยตรง แถมยังมีประธานศาลสูงสุดเป็นผู้ช่วยอธิการบดีด้วย มหาวิทยาลัยนี้มีที่พักให้คณาจารย์และนักศึกษาด้วยเบ็ดเสร็จ ตามไปชมบรรยากาศกันได้ค่ะ
ว่าแต่ว่าพอเห็นโครงสร้างการศึกษาที่ฉันเล่าว่าเขาใช้มหาวิทยาลัยสร้างชาติกันหรือยัง
บรรยากาศการเรียนรู้ ไม่ได้เคร่งเครียดหรอกนะคะ
ดูจากชื่อและสาขาของมหาวิทยาลัยแล้ว จัดกลุ่มคนไทยที่ไปเรียนอินเดียได้ว่ามีทั้งฆราวาส พระสงฆ์ และมุสลิมเนอะค่ะ การที่คนมุสลิมไปเรียนที่มหาวิทยาลัยอินเดียก็มีทั้งเรื่องภาษา และองค์ความรู้ด้านอิสลามศึกษา ทั้งนี้เพราะอินเดียมีมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยทางศาสนาอิสลามที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติและการเดินทางมาศึกษาที่นี่ทำให้ครอบครัวที่เมืองไทยมีความอบอุ่นใจว่าพวกเขาจะได้บำเพ็ญกิจวัตรทางศาสนาได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ดีกว่าการศึกษาที่เมืองไทย อีกทั้งส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่างๆของอินเดียจะมีหอพักสำหรับนักศึกษามุสลิมที่จัดให้สอดคล้องเหมาะสมกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิมและแยกเป็นเอกเทศจากนักศึกษาฮินดู ๒ ประเด็นหลังนี้ฉันว่าน่าคิดสำหรับวงการศึกษาเมืองไทย
ระบบการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับหลักความเชื่อทางศาสนานี้ เขาถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในเรื่องของระบบและรูปแบบของการศึกษาที่อนุวัติตามหลักความเชื่อทางศาสนา การศึกษาและการปฏิบัติกิจวัตรทางศาสนาจึงเป็นไปควบคู่กันขณะที่เป็นนักศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย เมื่อมองกลับมาบ้านเราฉันว่าการศึกษาบ้านเราต่างจากเขาตรงนี้แหละเนอะ
เสน่ห์การศึกษาที่มีมิติทางศาสนาในสังคมอินเดียที่ยังมีความศักดิ์สิทธิ์และมีพลังนี้แหละ ที่ทำให้อุดมศึกษาของอินเดียมีบรรยากาศพลังแห่งการเรียนรู้จนชาวต่างชาติเดินทางมาอินเดียเพื่อศึกษา
ผู้รู้เขาบอกว่าการศึกษาลักษณะนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ของการศึกษายุคฮินดูและยุคราชวงศ์โมกุล คิดดูเอาเถิดว่าสมัยก่อนอินเดียเป็นเมืองขึ้นอังกฤษเขาเจริญแค่ไหน
ฆราวาสที่ไปเรียนอินเดียนั้น มีคนไทยเชื้อสายอินเดียมากที่สุด เขาไปศึกษาที่นี่ก็เพราะครอบครัวต้องการให้ลูก-หลานของตนเองได้เรียนรู้ในความเป็นอินเดียไปพร้อม ๆ กับวิชาการที่จะนำไปประกอบอาชีพต่อไปซึ่งก็มักจะเป็นสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในขณะที่คนอื่นๆเรียนมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
นอกจากเราเองให้ทุนนักเรียนของเราไปเรียนอินเดียแล้ว อินเดียเขาให้ทุนนักเรียนของเราไปเรียนที่ประเทศเขาด้วยนะ ส่วนใหญ่ทุนที่ให้ก็เป็นทุนด้าน ศึกษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ภาษาศาสตร์ พานิชยศาสตร์ และเทคโนโลยี มีทุนต่างๆดังนี้ ทุน Government of India General Cultural Scholarship Scheme(g.c.s.s.) (ประมาณ ๑๐ ทุน) ทุน Cultural Exhange Program (CEP) (ประมาณ ๔ ทุน) มีทุนเรียนภาษาฮินดี “Propagation of Hindi Abroad” ด้วยซึ่งทุนนี้นักศึกษาที่ได้รับทุนต้องมีความรู้ภาษาฮินดีขั้นพื้นฐานอยู่บ้างแล้ว
ท่านทูตเมตตามากที่กรุณาบรรยายให้พวกเราฟังด้วยตัวท่านเอง
ผู้รู้เล่าว่าเพราะอินเดียมีความหลากหลายแตกต่างสูงมาก แต่ละที่แต่ละแห่งจึงแตกต่างกันจนทำให้ความเป็นอินเดียในที่หนึ่งแตกต่างไปจากอีกที่หนึ่งอย่างสิ้นเชิง ความเป็นอินเดียที่คนไทยแต่ละคนไปประสบพบเห็นมาจะไม่เหมือนกัน จะให้นึกภาพชีวิตความเป็นอยู่ของนักศึกษาไทยในอินเดียให้ได้ภาพที่ถูกต้องและชัดเจนเป็นเรื่องยากมาก
ฉันเคยได้ฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับการปรับตัวของนักเรียนไทยพอเห็นภาพบ้างจึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังซะเลย ฟังแล้วจินตนาการจะมองมุมบวกหรือมุมลบก็ได้แต่เจ้าของเรื่องเขามองมุมบวกกับมันแล้วค่ะ ณ วันนี้ เช่น
การใช้ช้อนแล้วถูกมองเป็นคนใช้มือเปิบข้าวไม่เป็นแล้วมีสายตาหลายๆคู่มากๆมายืนจ้องมองเวลากินข้าวด้วยช้อน
การแย่งห้องน้ำในหอพักและการเข้านอนในหอพักที่พักร่วมกับเพื่อนๆชาวอินเดีย
การเข้าออกหอพักที่มีกฎระเบียบเคร่งครัดของหญิงและชายซึ่งแยกหอพักกัน ถ้าคนอินเดียเห็นชายหญิงเดินไปด้วยกันหายลับเข้าหอพัก มีการแจ้งตำรวจมาดูกันด้วย
การซื้อจักรยานมาใช้ไม่ยอมเดินทั้งๆที่จุดหมายที่จะไปให้ถึงอยู่ในระยะแค่ ๐-๓ กม. แต่คนอินเดียเขาใช้เดินกัน
การถูกมอง มอง มองและมองที่แม้จะมองสวนกลับไป แขกก็ไม่สนไม่หลบสายตาเหมือนบ้านเรา จะมองอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะเบื่อ จนคนถูกมองรู้สึกประมาณว่า “มองอะไรกันวะ มองอยู่ได้”
การไปซื้อของ ไปตลาด ไปร้านอาหาร การเจอกับราคาสินค้ามหาโหด แท๊กซี่ รถ Auto ที่ถูกโกงราคาเพราะไม่รู้ราคาจริง เช่น ราคาจริงๆประมาณ ๒๐ รูปี ก็ชาร์จ ๘๐-๑๐๐ รูปี ยิ่งถ้าเป็นตอนกลางคืนไม่ต้องพูดถึงราคาเพิ่มเป็น ๒ เท่าเลยทีเดียว
เรื่องอาหารก็มีสารพัด พิซซ่า แมคโดนัล อาหารจีนมีให้ซื้อแต่ซื้อทุกวันไม่ไหวเพราะเบื่อและแพง แถมเครื่องปรุงไทยๆ เช่น น้ำปลา,เต้าเจียว, ซอสถั่วเหลือง และพวก กุนเชียง, มาม่า,อาหารแห้ง, อาหารกระป๋องก็แพง น้ำปลาขวดละ ๑๒๐-๑๖๐ รูปีเข้าไปโน่น
ฝีมือคนทำกับข้าวก็แล้วแต่บุญพาวาสนาส่งเพราะหอพักในมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้ทำอาหารในหอพัก
ฟังๆไปก็มีเรื่องข้องใจอยู่เหมือนกัน เป็นความข้องใจที่เกิดจากความสะดุดใจในความเป็นอินเดียที่ไม่เหมือนใครนั่นแหละ
สถานทูตไทยเล็งเห็นว่าหากชาวอินเดียได้มีโอกาสเรียนรู้ภาษาไทย และมีความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย ก็จะทำให้การติดต่อสื่อสารและการเจรจาธุรกิจระหว่างชาวไทยและชาวอินเดียมี ความสะดวกและราบรื่นมากยิ่งขึ้น จึงให้การสนับสนุนการเรียนการสอนภาษา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมไทยในอินเดียอย่างต่อเนื่องโดยการสร้างและกระชับความสัมพันธ์กับสถานศึกษาชั้นนำของอินเดียเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนและนักศึกษาไทยที่ต้องการไปศึกษาในอินเดียและนำไปสู่การแลกเปลี่ยนทางวิชาการระหว่างสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยของไทยกับอินเดีย รวมทั้งช่วยประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างภาพพจน์ของประเทศไทยในแวดวงวิชาการของอินเดียด้วย
เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑ เอกอัครราชทูตจีระศักดิ์ ธเนศนันท์ ณ กรุงนิวเดลี ได้มอบสื่อการเรียนการสอนภาษาไทย รวมทั้งหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยให้แก่ห้องสมุดและห้องปฏิบัติการภาษาของมหาวิทยาลัยให้กับรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเยาวหะราล เนห์รู (Jawaharlal Nehru University , JNU ) ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาชั้นแนวหน้าของอินเดีย ที่จัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยมากว่า ๒๐ ปี ภายใต้การดูแลของศูนย์ศึกษาเอเชียใต้ เอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ (Centre for South, Central, Southeast Asia and Southwest Pacific Studies) และปัจจุบันวิชาภาษาไทยเป็นหนึ่งในวิชาบังคับสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Southeast Asian Studies) โดยนักศึกษาทุกคนจะต้องลงทะเบียนเรียนวิชาภาษาไทยเป็นเวลาอย่างน้อย ๒ ภาคการศึกษา (๔ ชั่วโมง/สัปดาห์/ภาคการศึกษา) มหาวิทยาลัยนี้ยวาหระลาล เนห์รู มีดีที่วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยนา
๖ สิงหาคม ๒๕๕๓
ความคิดเห็นสำหรับ "ฟังเรื่องนักเรียนไทย"