ไปดูวิถีชีวิตอีกแบบ

อ่าน: 1378

กินข้าวอิ่มกันแล้ว พวกเราก็เดินทางไปดูงานต่อ สถานที่ถัดไปตามโปรแกรมไกด์เรียกว่า “วังหินอ่อน Marble Palace” ฟังแล้วเหมือนกับเป็นสมบัติของราชวงศ์เลยนะคะ ตามมาค่ะ ตามไปดูงานด้วยกัน

ระหว่างทางที่รถแล่นไปนั้น อาคารสองข้างทางมีสถาปัตยกรรมหลากหลาย สีสันของตึกเป็นโทนเก่าๆโบราณ สถาปัตยกรรมที่เห็นมีหลายแบบปะปนอยู่ ความหลากหลายทั้งคนและสิ่งก่อสร้างที่เห็นดูเหมือนมีความไร้ระเบียบ แต่ก็มีความลงตัวของมันเองที่สร้างลักษณะเฉพาะให้อินเดีย

บ่ายแก่ๆของวัน ไกด์ก็นำเราไปถึงชุมชนแห่งหนึ่ง  ที่นี่เป็นย่านที่อยู่อาศัยที่ดูต่างจากย่านชุมชนในชนบทและย่านชุมชนเมืองที่รถนำเราวิ่งผ่านมาแล้วในตอนเช้า พื้นที่นี้อยู่ทางเหนือของเมืองโกลกาตาค่ะ

สถาปัตยกรรมรุ่นเก๋าอย่างนี้เห็นเกลื่อนไปทั่วโกลกาตา ขวาสุดปากซอยมีป้ายชี้บอกทางเข้าไปวัง

รถนำเรามาปล่อยลงที่ข้างถนนซึ่งจอแจไปด้วยผู้คนเดินผ่านไปมา มีเพื่อนๆบางคนบอกว่าดูรถราที่วิ่งไปบนถนนแล้ววุ่นวาย ลงจากรถกันแล้ว ไกด์ก็ชวนเราเดินเข้าซอยไปดูชีวิตชุมชน ก็ไม่ได้คุยกับใครเป็นกิจจะลักษณะหรอกค่ะ ได้แค่ใช้ตาสังเกตว่าชีวิตในสังคมตรงนี้อยู่กันอย่างไร

แล้วพวกเราก็ถูกพาเลี้ยวเข้าไปที่บริเวณที่โล่งแห่งหนึ่งซึ่งมีตึกหินอ่อนยืนตระหง่านอยู่ท่ามกลางพื้นที่จัดสวนที่ดูรกๆ  เมื่อเดินตามกันเข้าไปถึงที่ลานตึก พวกเราก็ถูกกั้นไว้ด้วยชายผิวคล้ำ สูง ท้วม พร้อมทั้งบอกว่า “ห้ามถ่ายภาพ”  ไกด์คุยกับเขาด้วยภาษาฮินดี ซึ่งฉันเดาว่าเขาคุยตกลงกันเรื่องการให้พวกเราเข้าไปชมภายในอาคาร สุดท้ายก็ได้ยินไกด์บอกว่า ให้แบ่งพวกเราเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ ๑๐ คน แล้วเดินตามกันเข้าไปที่อาคาร

ย่านชุมชนที่เห็นอย่างนี้เป็นย่านธุรกิจขนาดย่อมของชุมชนอีกรูปแบบค่ะ ขวาสุดเป็นประตูเข้าที่ทำการของอปท.ค่ะ

เข้าไปในอาคารกันแล้ว นึกว่าแต่ละกลุ่มจะได้เดินแยกกันไปชม ที่ไหนได้คนเฝ้าบ้านบอกว่า ให้ ๑๐ คนแรกเข้าไปได้เท่านั้น ที่เหลือให้รออยู่ตรงที่ยืนนี่แหละ  ทำเอาผู้ใหญ่วิญญาณเด็กเซ็งกันไปโหม๊ด เจรจาต๊ะอวยยังไง๊ยังไง คนเฝ้าก็ไม่ยอมให้เดินล้ำเข้าไปจากจุดที่ยืนกันอยู่เกินครึ่งเมตร คนที่เซ็งห่านก็แหกกฏเดินเข้าไปลึกว่า ๑๐ เมตรต่อหน้าต่อตา ท้าทายซะงั้น….อิอิ…

ถ้ามีแขกที่สีหน้าสีตาไม่รับแขกแถมผิวคล้ำ ล่ำ ใหญ่ มายืนอยู่ตรงหน้าจำนวนมากกว่าหนึ่งคน พร้อมพูดเสียงดั๊งดังด้วย ลองสร้างจินตภาพเอาเองก็จะเข้าใจภาพของคนที่แหกกฏกับคนที่ยอมอยู่ใต้กฏนะเออ

อายุของอาคารนี้ย้อนยุคไปถึงสมัย ร.๓ ค่ะ สร้างก่อนโบสถ์เซนต์ปอลที่เล่าให้ฟังแล้ว ๔ ปี  ปีที่สร้าง ค.ศ. ๑๘๓๕ ( พ.ศ. ๒๓๗๘)  ทั้งหลังทำด้วยหินอ่อน สถานะ ณ วันนี้ เป็นสมบัติส่วนตัวของเอกชนผู้หนึ่งซึ่งเป็นราชาที่ดิน

ถ้าไม่เห็นส่าหรี รถลาก สีรถแปลกๆ ภาพก็หลอกว่าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯได้เลยนา

ถนนที่พวกเราเดินผ่านเข้ามาชื่อถนนมุกตารามบาบู  ที่เขาเรียกว่า “วัง” เห็นทีจะมาจากประวัติการสร้างค่ะ ผู้สร้างวังนี้มีชื่อว่า “ราชามัลลิก”

การเข้าชมมีค่าธรรมเนียมด้วยนะคะ ราคาไม่แน่นอนค่ะ มีคนเล่าว่าเขาต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้ทั้งคนนำทางและคนเฝ้าประตู ราคาของคนนำทาง ๑๐๐ รูปี ราคาของคนเฝ้าประตู ๓๐ รูปี สำหรับการเข้าชมวันนี้มีราคาเท่าไร ไม่รู้หรอกค่ะ เพราะว่าไกด์ดูแลให้

ช่วงที่แกร่วกันนั้น เมื่อคนเฝ้าประตูเริ่มอารมณ์ดี ฉันก็พาตัวเข้าไปชวนคุย ได้ข้อมูลส่วนตัวมาว่า ค่าจ้างที่เขารับอยู่เดือนละ ๒,๐๐๐ รูปี ฟังทีแรกฉันเข้าใจว่านั่นคือการให้เงินเดือนแบบที่บ้านเราให้กัน โดยเจ้าของคือผู้ทำธุรกิจและเป็นเจ้าของค่าธรรมเนียมเข้าชมทั้งหมด แล้วนำรายได้ไปบริหารและแบ่งปันกลับมาเป็นค่าจ้างทำงานตามที่เห็น

เดินเข้าไปร้อนๆแล้วไปเจอรอ นึกดูเถิดอารมณ์วัยรุ่นเป็นยังไง บทเรียนทดสอบอารมณ์ดีแท้

ตรงห้องที่พวกเราแกร่วรออยู่ มีโต๊ะสนุ๊กใหญ่เบ้อเริ่มวางอยู่ ๒ ชุดมีผ้าเก่าๆคลุมอยู่ ไม่ได้คลุมแบบเรียบร้อยแต่ก็ไม่มีร่องรอยว่ามีการเปิดเล่น  ถามคนเฝ้าที่ยืนอยู่ด้วยเขาไม่ตอบว่าเป็นของเก่านานแค่ไหน  ภายในของอาคารดูไม่ออกว่าเป็นหินอ่อนเพราะความเก่า  ดูแล้วเหมือนของเก่าที่นำมาใช้ๆๆๆๆเพื่อเก็บเกี่ยวประโยชน์เท่านั้น ไม่รู้สึกถึงความหวงแหนแล้วลงมือทะนุบำรุงให้คงอยู่เท่าไรเลย ที่ด้านนอกของวังเห้นแต่ผนังโบกด้วยปูนทาสีขาว ตัวหินอ่อนที่เห็นชัดๆกลับเป็นชั้นบนของอาคาร

ไม่ทันที่กลุ่ม ๑๐ แรกจะเดินมาเปลี่ยนผลัด กลุ่ม ๑๐ ที่สองก็ฉวยโอกาสเดินปะปนไปกับกลุ่มแรก ทีนี้แหละความสับสนเล็กๆก็เกิดขึ้นมาให้คนเฝ้าบ้าน คนนำทาง และไกด์ท้องถิ่นปวดขมอง  กว่าที่พวกเขาจะได้ข้อสรุปว่าใครเป็นกลุ่มใครอย่างไร ฉันว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นของเขาเป็นความหงุดหงิดนะนา

ระหว่างการเปลี่ยนผลัดนี่เอง ลุงเอกก็ถึงบางอ้ออีกคน ที่แท้ที่พวกเราต้องรอเปลี่ยนผลัดทีละ ๑๐ นั้น เป็นเพราะว่า บรรดาผู้เฝ้าที่เห็นกันอยู่หลายคนนั้น มีเพียงคนเดียวที่ทำหน้าที่นำทางได้ คนอื่นๆทำได้แค่ยืนเฝ้า เมื่อ อ๋อ กันแล้ว แน่นอนว่ายุทธการชำแหละจุดอ่อนอีกรอบเกิดขึ้น ก่อนขึ้นชั้น ๒ ไปก็เห็นโต๊ะเก้าอี้และสิ่งของเครื่องใช้หลายอย่างทำด้วยหินอ่อนวางอยู่กลางลานที่เป็นโถงกลางอาคารชั้นล่าง

อาคารที่ยืนตระหง่านอยู่ภายในบริเวณที่เห็นนี่แหละ วังหินอ่อน

บนชั้น ๒ มีห้องหลายๆห้อง แยกเป็นห้องเก็บภาพและสิ่งของเป็นประเภท  ภาพวาดที่รวบรวมเก็บไว้ติดฝาผนังอยู่มีขนาดใหญ่ เป็นภาพสไตล์ยุโรปแบบที่มักจะเห็นในหนังเกี่ยวกับขุนนางอังกฤษอย่างนั้นแหละ

มีนาฬิกาโบราณ รูปปั้นจากยุโรป และเครื่องเคลือบจากจีน เยอะไปหมด มากขนาดที่น่าจะเรียกว่าป็นโกดังเก็บของเก่ากึ่งพิพิธภัณฑ์ที่ไม่ได้ทำ ๕ ส.ก็คงได้มั๊ง

ที่ฝาผนังชั้นบน บางแห่งมีร่องรอยของลวดลายบางอย่าง ถามไปถามมาได้ความว่าเป็นรอยทองที่ถูกลอกไป เมื่อฉันถามคนนำทางว่ามีคนมาขโมยไปใช่ไหม ฉันรู้สึกว่าฉันสัมผัสพลังแห่งความรู้สึกเสียใจของเขานะคะ และนั่นทำให้ฉันเข้าใจขึ้นมาทันทีว่า ทำไมพวกเขาจึงไม่ปล่อยให้พวกเราเพ่นพ่านดูอะไรได้ตามใจชอบ ก็เขากลัวว่าเขาจะดูแลไม่ทันแล้วของถูกขโมยไปอีก เขาก็แย่ซิ น่าเห็นใจเขาค่ะ

สภาพวังและสิ่งของต่างชำรุดทรุดโทรมลงไปอย่างเห็นชัดว่าขาดการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีและดูแลไม่ดีพอ เรียกว่าอาคารเก่าๆบนถนนดูโทรมเก่าอย่างไร สิ่งของและภายในอาคารนี้ก็โทรมและเก่าไม่แพ้กัน

เพราะรถผลิตเองหรือเปล่า ศิลปะบนตัวถังรถที่ชวนมองจึงปรากฏขึ้น ความวุ่นวายที่อยู่ตรงหน้าดูเบิร์ดๆเมื่อความงามเล็กๆนี้มาอยู่ร่วม

ตอนเดินขึ้นบันไดไปชั้น ๒ บันไดไม้สั่นคลอนให้รู้สึก บันไดไม่ถึงกับไม่แข็งแรงหรอกค่ะ มันเพียงแต่สั่นเตือนว่าถนอมฉันหน่อย อย่ากระแทกเท้าลงมาแรงๆ ไม่งั้นฉันพาเธอลงไปกองพื้นเอานา

ระหว่างที่เดินดูชั้น ๒ มีเสียงภาษาฮินดีดังลั่นไปหมด แล้วก็มีชายคนหนึ่งแต่งตัวแบบพราหมณ์เดินมาตามทางเดิน  ท่าทีที่เขาพูดและความกร้าวที่เขาแสดงให้เห็น บอกให้พวกเรารู้ว่า คนๆนี้คือผู้มีอำนาจสูงสุดของที่นี่ ทีแรกก็ไม่รู้เขาเป็นใคร จนกระทั่งเดินออกมาจากอาคารแล้วเลยไปดูตรงสุดทางเดินใต้อาคาร  ก็เห็นบ้านหลังหนึ่งสร้างอยู่ในบริเวณเดียวกันแอบอยู่ทางด้านหลังชิดไปทางซีกถนน ชายคนนี้นี่เองคือเจ้าของสมบัติที่พวกเราเข้าไปดู

ชวนเป็นนายแบบก็ต้องจ่ายค่าตัวด้วยค่ะ ย่านนี้ดูดีหน่อยใช่ไหมค่ะ

ตอนที่ได้คุยกับคนเฝ้าประตู เขาเล่าให้ฟังว่า ตรงใกล้ทางออกของวังที่เห็นมีอาคารอีกหนึ่งหลังเป็นโบสถ์ ส่วนตัวเขามาทำงานแบบไม่มีวันหยุด ค่าจ้างที่ได้ได้เป็นรายวัน มีคนที่พาตัวมาทำงานที่นี่ด้วยหน้าที่ต่างๆเป็นจำนวนมากกว่าที่พวกเราเห็น วันนี้พวกเราเห็นแค่ ๔-๕ คน แต่แท้จริงแล้ว คนที่มาทำงานมีเป็นร้อยคน ทำสวนก็ส่วนหนึ่ง ทำความสะอาดก็ส่วนหนึ่ง เฝ้าดูแลให้ปลอดภัยก็ส่วนหนึ่ง ทำงานรายวันแล้วแต่เจ้าของจะจ้างงาน

เรื่องค่าจ้างของเขาปรากฏว่าฉันเข้าใจถูกแค่ครึ่งเดียวเอง ค่าจ้างเป็นค่าดูแลอาคารนั้นถูกแล้ว แต่เจ้าของบ้านไม่ใช่เจ้าของธุรกิจค่ะ ค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากคนเข้าชม เป็นค่าทิปเฉพาะตัวที่เจ้าของยอมให้เป็นรายได้เพิ่มของพวกเขา  การขอเข้าชมที่นี่ได้หรือไม่ขึ้นกับคนเฝ้าประตูและคนนำทางเป็นหลัก เขายอมก็ได้เข้าชม เขาไม่ยอมก็ไม่ได้เข้าชม

คนไร้บ้านอย่างนี้เห็นอยู่ทั่วไปในจุดท่องเที่ยว  ไม่แน่ว่าที่เป็นอย่างนี้เพราะตกทะเบียนราษฎร์หรือเพราะวรรณะกันแน่

ความที่ของในบ้านมีมากจนไม่รู้อะไรเป็นอะไร และความรู้พื้นฐานส่วนตัวของฉันเองก็มีน้อย อีกทั้งการเดินชมข้างบนก็เป็นเหมือนได้คนใบ้มาเดินนำ ที่จริงคนนำทางไม่ได้ใบ้ แต่พูดภาษาอังกฤษไม่ถนัด ฟังได้แต่เวลาี่พูดตอบถนัดเป็นภาษาฮินดีมากกว่า ไกด์ก็ให้ข้อมูลไม่ได้มาก สถานที่ส่วนตัวแห่งนี้ เจ้าของไม่มีคำแนะนำใดๆไว้ให้เลยด้วย อยากมาดูก็เรียนรู้เอาเอง ดูแต่ตามือห้ามต้องด้วยนะเออ ทำให้ฉันรู้สึกว่าไม่สนุกกับที่นี่ค่ะ

เพิ่งรู้ว่าสถานที่นี้โดยปกติ เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง เห็นเข้าแล้วกลับรู้สึกว่าเป็นแค่ธุรกิจเช่าช่วงอาคารและสินค้า + งานนายหน้าดีๆนี่เอง ไม่เหมือนงานบริการเลยอ่ะ

๔ สิงหาคม ๒๕๕๓

« « Prev : เอ๊ะ….ทำไมมาอยู่ที่นี่ละ

Next : มาจากไหนรึ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ไปดูวิถีชีวิตอีกแบบ"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.021523952484131 sec
Sidebar: 0.10949802398682 sec