มาจากไหนรึ
ตั้งแต่สัมผัสโกลกาตามาตั้งแต่เช้า ก็เห็นความแตกต่างในอินเดียว่ามีหลายมุมทีเดียว เชื้อชาติ ชนชั้น วัฒนธรรม เผ่าพันธุ์ ภูมิประเทศไม่มีเหมือนแบบพิมพ์เดียวกันให้เห็นเลย ส่วนภาษาพูดนั้นแน่ๆ ตลอดเช้าถึงบ่ายของวันนี้ได้ยิน ๒ ภาษาหลักแล้ว (ฮินดี อังกฤษ) ซึ่งก็เป็นเพียง ๒ ในกว่า ๒๐๐ ภาษาที่คนอินเดียใช้กันอยู่
ออกจากวังหินอ่อนกันแล้ว ก็มีคนหลายคนลงมือเรียนภาษาอังกฤษที่ร้านค้ากัน ผลของการเรียนวันนี้ คือ มีหลายคนสามารถทำให้กระเป๋าสบายและได้เสื้อตัวสวยติดมือกลับไปโรงแรม
ขบวนเคลื่อนไปสู่จุดหมายต่อไปของการดูงาน พวกเราไปพบครูที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในโกลกาตาค่ะ เวลาที่ไปถึงที่นั่นอยู่ในราวๆบ่ายสี่โมงเย็นแล้ว
ไปถึงริมรั้วมหาวิทยาลัย รถไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปเพราะไม่มีที่จอด พวกเราจึงใช้การเดินเข้าไปหาครู ระหว่างเดินเข้าไปมีนักศึกษาเดินอยู่ เพื่อนบางคนพาตัวเข้าไปทักทายและคุยดื้อว่าๆ เดินกันไปคุยกันไปหน่อยได้ไหม นักศึกษาก็เดินไปด้วยแล้วถามว่า “พวกคุณมาจากไหน มาทำอะไรกัน” คำถามนี้ให้ฉันงง “อะไรทำให้พวกเขาสนใจพวกเรา”
เพื่อนพูดออกไปยังไม่ทันจบประโยคว่า “มาจากประเทศไทย มาหาโปรเฟสเซอร์ที่นี่” นักศึกษาก็แสดงอาการว่าเข้าใจ แล้วชะลอฝีเท้าพาตัวแยกไป คนชวนให้อยู่คุยเก้อไปเลย
สภาพและบรรยากาศในมหาวิทยาลัย Jadavpur เมืองโกลกาตา ในยามเย็นของวันที่ไปเยือน
มองไปรอบๆมหาวิทยาลัยก็เห็นพื้นที่ถูกจัดไว้ใช้สอยคล้ายๆโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองไทย ดูหน้าตาของนักศึกษาที่เดินสวนมา ฉันรู้สึกว่านักศึกษาที่นี่ดูเป็นผู้ใหญ่กว่านักศึกษาเมืองไทย
ที่ได้เห็นผ่านตามาตั้งแต่เช้า ฉันไม่เห็นคนเมานอนหลับข้างถนนหรือเห็นเพิงขายเหล้าข้างถนนเลย ป้ายโฆษณาเบียร์ เหล้าตามสองข้างทางก็ไม่เห็นเลย ฉันว่านักศึกษาที่นี่มีสิ่งแวดล้อมของการเรียนที่ปลอดสิ่งยั่วยุให้ใจแตกดีนะคะ
จากที่เห็นผ่านตามาแล้วก็มีอีกเเรื่องหนึ่งที่เหมือนเป็นภาวะจำยอมให้ได้ดี คือ ถ้านักศึกษาต่างชาติพูดอังกฤษไม่ได้หรือไม่ยอมฝึกพูดอังกฤษเอาเลยจะอดตายเอาได้ ความจำเป็นต้องอยู่รอดที่นี่ทำให้หลายคนได้ภาษาอังกฤษติดตัวแบบซึมลึกอย่างให้คุณ
มีคนเล่าเรื่องการศึกษาของอินเดียว่าจะเรียนปริญญาเอก มีเงินแค่ ๓ แสนบาทก็สามารถเรียนให้จบได้ ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาให้ลงเรียนกี่หน่วยกิตต่อปี ค่าใช้จ่ายขนาดนี้น้อยกว่าเมืองไทยแล้วยังได้บทเรียนชีวิตอีกมากมายเลยนะคะ
อินเดียกำหนดการศึกษาภาคบังคับไว้ที่ ป.๖ อายุ ๖ ปีเริ่มเรียนป.๑ เวลาที่ใช้เรียนของเขาจัดไว้อย่างนี้ค่ะ อนุบาล ๒ ปี ประถม ๖ ปี มัธยมต้น ๔ ปีมัธยมปลาย ๒ ปี อนุปริญญา ๑-๒ ปี ปริญญาตรี ๓ ปี ปริญญาโท ๒ ปี สูงสุดที่ปริญญาเอก
การสร้างความเสมอภาคด้านโอกาสและการลดความไม่เสมอภาคกันระหว่างความเป็นอยู่ของมนุษย์นั้น อินเดียมอบให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นองค์กรหลักที่มีความสำคัญที่สุด
วัตถุประสงค์ทางการศึกษาของอินเดียอยู่ที่การปรับคุณภาพของการศึกษาตามสถาบันต่างๆเพื่อที่ประชากรของรัฐทุกชนชั้น เพศ ฐานะ ได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ สร้างความรู้ใหม่ๆในทุกสาขาเกี่ยวกับความรู้และทักษะการแก้ปัญหา มีเจตนารมย์ที่ให้ประชากรควรได้รับการสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ ทั้งจากรัฐบาลหรือเอกชน
อินเดียให้ความสำคัญกับการศึกษามากจนกระทั่งงบประมาณด้านการศึกษาอยู่ในอันดับ ๒ ของงบประมาณทั้งหมด การบริหารรายจ่ายการศึกษาเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามีอัตราสูงกว่า 5% ของรายได้ประชาชาติเล็กน้อย แถบชนบทได้รับงบประมาณด้านนี้ถึง ๔๐% เชียวค่ะ
เห็นภาพแล้วนึกออกหรือยังว่าทำไมนักศึกษาเขาสนใจพวกเรา
จำนวนสถาบันการศึกษาของอินเดียที่เพิ่มขึ้นมาทุกประเภท จำนวนนักศึกษา ความเปลี่ยนแปลงและความหลากหลายของแผนการศึกษาในโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย เปลี่ยนแปลงมากนับแต่อินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ การเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาเพิ่มเป็น ๑๔ เท่าแตกต่างกันอยู่บ้างในบางรัฐ การเข้าเรียนของเด็กหญิงยังค่อนข้างต่ำอยู่บ้างในบางรัฐ การเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาเพิ่มเป็น ๒๐ เท่า และจำนวนครูเพิ่มเป็น ๑๐ เท่า
องค์กรระดับชาติที่มีบทบาทอันสำคัญในการวางแผนการศึกษาของอินเดียมีสภาวิจัยการศึกษาและอบรมแห่งชาติ (National Council of Educational Research and Training - NCERT) สถาบันการวางแผนการศึกษาและการบริหารแห่งชาติ (The National Institute of Educational Planning and Administration -NIEPA) และคณะกรรมการจัดสรรงบประมาณแก่มหาวิทยาลัย (The University Grants Commission - UGC)
องค์กรเหล่านี้รับผิดชอบในการพิจารณานโยบายหลักเกี่ยวกับความเป็นเลิศทางการศึกษา การให้ทุนการศึกษา การเดินทางไปต่างประเทศในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นหรือการให้ทุนกับโครงการแลกเปลี่ยนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ การบริหารงาน การจัดองค์กรด้านสถานศึกษาพิเศษ และบรรทัดฐานการคัดเลือกสำหรับครู-นักการศึกษา-และบุคคลดีเด่น
วิธีคิดด้านการศึกษาเขาเป็นอย่างนี้ ระบบการศึกษาผ่านดาวเทียมจึงเป็นไปเพื่อสนองความต้องการของมวลชน มีโรงเรียนเปิดและมหาวิทยาลัยเปิดให้ผู้เข้ารับการศึกษาสามารถได้รับประกาศนียบัตรหรือปริญญาโดยผ่านการเรียนทางไปรษณีย์ แล้วรัฐยังสนับสนุนแผนการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียนต่างๆที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสภากลางของการศึกษาระดับมัธยม (Central Board of Secondary Education- CBSE) เพื่อให้เด็กๆมีทักษะขั้นพื้นฐานในด้านนี้
เขาเน้นว่าการพัฒนาความเป็นเลิศควรจะแฝงอยู่ในหลักสูตรปรกติ โดยเฉพาะระดับประถมศึกษา ไม่ละเลยการพัฒนาความสามารถพิเศษของเด็กในทุกชั้นวรรณะและศาสนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณสมบัติของการเป็นผู้นำ มีความสามารถในการมองการณ์ไกล มีจินตนาการที่ดี มีความสามารถด้านศิลปะการแสดง และควบคุมอารมณ์ที่ซ่อนอยู่ในวรรณะ
รัฐบาลอินเดียประมาณการแล้วว่าเด็กที่มีความพิเศษเหล่านี้มีอยู่ราวๆ ๓% ลองคำนวณจากพันล้านคนดูเหอะแล้วจะเข้าใจว่าทำไมในอนาคตอินเดียจะเป็นใหญ่ในโลกได้
หนุ่มน้อยประจำร้านหนังสือคนนี้ถามว่า “ในประเทศของท่านมีหลักสูตรสอนดนตรีในมหาวิทยาลัยหรือเปล่า”
ฉันชอบใจเรื่องการวัดผลลัพธ์ทางการศึกษาสำหรับเด็กทั่วไปของเขาจริงๆค่ะ เขาตั้งวัตถุประสงค์ไว้ที่
*พัฒนาด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม
*พัฒนาการทางอารมณ์และค่านิยมทางประชาธิปไตย จริยธรรม และ ศาสนา
*ความมั่นใจในตนเองในทุกสถานการณ์
*การรับรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมด้านกายภาพ สังคม เทคโนโลยี วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ
* ทัศนคติที่ดีต่อการศึกษาของผู้ใช้แรงงานและกรรมกร
* หลักการของการแยกการศึกษาออกจากศาสนาและเน้นความยุติธรรม ทางสังคม
* ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความซื่อสัตย์ และร่วมพัฒนาประเทศ
* มีความเข้าใจระหว่างประเทศ
รัฐบาลอินเดียยอมรับว่าเด็กที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะตัวแต่ละคนคือทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ จึงให้”กระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Ministry of Human Resource Development)” ซึ่งรับผิดชอบด้านการศึกษาและสวัสดิการของประเทศอินเดีย ดำเนินงานโดยไม่ใช้ความเป็นอัจฉริยะเป็นบรรทัดฐาน ไม่ให้ความสำคัญกับผลการทดสอบทางสติปัญญามาเป็นประเด็นสำคัญ แต่ให้พยายามมองความสามารถพิเศษของเด็กแต่ละคนแล้วคัดเลือกเด็กมาพัฒนา
เด็กพวกนี้จะถูกเรียกว่า “บุคคลผู้มีความสามารถพิเศษ” การศึกษาที่พวกเขาได้รับฟรีทุกอย่าง ไม่ว่าค่าอาหาร ที่พัก ตำรา เครื่องเขียน เครื่องแบบ
ไฟฟ้าดับก็เลยได้ไปเห็นห้องเรียนของนักศึกษาที่นี่ เห็นความมีอิสระของนักศึกษาอินเดียมั๊ยค่ะ
วิธีคัดเด็กใช้ทุกภาษาท้องถิ่นในการสอบ คัดเด็กชั้น ม.๕ ซึ่งต้องสอบผ่านชั้น ม.๓ และ ม.๔ ในทุกพื้นที่ที่เข้าสอบมา ๗๕% ที่เหลือคัดมาจากเด็กพื้นที่เมืองและเป็นที่สำรองสำหรับเด็กหญิงและเด็กด้อยโอกาส ข้อสอบที่ใช้คัดเด็กจะเน้นด้านวัฒนธรรมมากที่สุด และข้อสอบความสามารถทางสมองจะเป็นประเภทไม่ขึ้นอยู่กับความสามารถทางภาษา (Non - Verbal) ใช้เวลาสอบ ๒ ชั่วโมง
ในแต่ละปีจะมีเด็กถูกคัดวิธีนี้เข้าเรียนในโรงเรียน ๒๗๕ แห่งใน ๒๙ รัฐที่ได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรอิสระของอินเดีย โรงเรียนแต่ละแห่งจะมีเด็กที่เป็นบุคคลผู้มีความสามารถพิเศษอยู่ปีละ ๘๐ คน
แยกสัดส่วนแล้วใน ๘๐ คน ๗๕ % เป็นของเด็กต่างจังหวัด ๓๓% สำรองให้เด็กผู้หญิง ๑๕% สำรองให้ผู้มาจากสังคมล้าหลัง ๗.๕% เป็นของเด็กจากชนเผ่าต่างๆ
ระบบคู่ขนานที่รัฐบาลอินเดียทำก็คือ จัดทุนการศึกษาไว้สนับสนุนเด็กกลุ่มนี้เริ่มที่ ม.๒ ๗๕๐ ทุน โดยมี ๗๐ ทุนสำหรับผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาสำรองไว้ในนี้ด้วย คัดเด็กให้ทุนโดยการสอบภายในเทอมสุดท้ายของม.๒ ให้อำนาจรัฐในการกำหนดโควต้าทุน และให้สอบคัดมาตามลำดับจากระดับจังหวัดมาระดับรัฐ หรือเข้าสอบระดับชาติ
ข้อต่างของระดับชาติต่างจากระดับรัฐตรงที่จุดเน้นของการทดสอบ ระดับรัฐเน้นที่ความสามารถทางสมองและความรู้ความสามารถพิเศษ ส่วนระดับชาติเน้นที่ความสามารถระัดับสติปัญญาและความรู้ความสามารถพิเศษในด้านฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ ชีววิทยา ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรมประจำจังหวัดและเศรษฐศาสตร์ โดยเด็กที่เข้าทดสอบเลือกสอบเพียง ๔ ใน ๘ ด้าน และข้อสอบมีแค่ ๒๕ ข้อ
สำหรับการทดสอบระดับชาติ สอบผ่านแล้วมีสอบสัมภาษณ์อีก ๒ ชุดในเรื่องวิชาพื้นฐานและสังคมศาสตร์ คนที่ได้ทุนอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๒ วิชานี้ มีสิทธิได้รับทุนเรียนต่อจนจบปริญญาเอก ใครที่ศึกษาวิชาพื้นฐานหรือศึกษาวิชานี้มาต่ำกว่าเกณฑ์ต้องเข้าเรียนภาคบังคับในโรงเรียนฤดูร้อนที่เปิดสอนทุกสิ้นปีการศึกษาเป็นเวลา ๓๐ วัน
คนเรียนสายวิชาการแพทย์หรือวิศวกรรม มีสิทธิที่จะได้รับทุนศึกษาต่อไปจนถึงระดับปริญญาที่สอง จำนวนทุนจะมีความแตกต่างกันไปตามรายได้ของผู้ปกครอง
เรื่องการเรียนภาษา เดี๋ยวนี้ภาษาฮินดี และภาษาอังกฤษ เป็นภาษาสามัญที่เด็กประถมศึกษาต้องเรียนในโรงเรียน
ในอีกระบบหนึ่งซึ่งเป็นระบบที่รัฐบาลดูแลเอง มี ๒-๓ โรงเรียนที่ให้การศึกษาที่มีคุณภาพแก่เด็กที่มีความสามารถพิเศษที่มาจากครอบครัวฐานะปานกลางหรือยากจน โรงเรียนแบบนี้จะไม่มีชั้นเด็กเล็กหรืออนุบาล การคัดเด็กเข้าเรียนแยกระดับประถมและมัธยมแยกผู้ทำหน้าที่คัด ระดับประถมสอบคัดด้วยการทำกิจกรรม ระดับมัธยมสอบคัดโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เรียนฟรีเหมือนกัน แต่ไม่มีทุนการศึกษาให้ แต่มีโครงการสวัสดิการสังคมสำหรับนักเรียนยากจนหรือนักเรียนที่ชอบแยกตัวออกจากสังคมอยู่ด้วย
ส่วนครูผู้สอนก็จะได้รับโอกาสไปดูงาน สัมมนา การอบรมภาคฤดูร้อนซึ่งดำเนินการโดยโรงเรียนหรือสถาบันต่าง ๆ เพื่อเพิ่มทักษะ
แล้วยังมีวิชาสายอาชีพไว้สำหรับนักเรียนที่มีความสนใจในด้านนี้ด้วย การศึกษาเทคนิคในอินเดียถือเป็นหนึ่งในดีที่สุดในโลก
เป็นไงบ้างค่ะ เบื้องหลังของการศึกษาของอินเดียที่ฟังเขาเล่าแล้วนำมาบอกต่อ
ที่นี้ขอกลับมาเข้าไปดูงานมหาวิทยาลัยต่อค่ะ พระอาทิตย์ก็เริ่มอ่อนแรงลงเรื่อยๆแต่ความร้อนระอุของอากาศก็ไม่ผ่อนลงเลย ทั้งๆที่มหาวิทยาลัยมีที่โล่งๆแต่ฉันไม่รู้สึกว่ามีลมพัดโชยมาต้องตัวเหมือนมหาวิทยาลัยในบ้านเราเลยค่ะ พวกเราเดินดุ่มลึกเข้าไปๆผ่านหน้าตึกแห่งหนึ่งมีห้องที่มีหนังสือเยอะๆและมีคนเดินเข้าเดินออก แล้วพากันไปยืนอออยู่ที่หน้าตึกแห่งหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลกัน
ระหว่างที่คนอื่นออรอกันอยู่ ฉันเดินตามพี่หงวน (สงวน ลิ่วมโนมนต์) เข้าไปชมห้องที่เห็นหนังสือเยอะๆนั้น พี่หงวนเข้าไปสำรวจดูว่ามีหนังสืออะไรบ้าง ฉันแค่เดินสำรวจแบบไวๆ เห็นหนังสือบนหิ้งที่วางอยู่เกือบทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษและมีบางส่วนเขียนเหมือนภาษาอาหรับ
เมื่อฉันถามเจ้าหน้าที่ว่ามีหนังสือที่ใช้ภาษาอารบิกบ้างไหม เจ้าหน้าที่เขาบอกฉันว่าทั้งห้องสมุดมีแค่ ๒ เล่มเพราะอินเดียไม่ส่งเสริมให้เรียนภาษาอารบิก และไม่จำเป็นต้องใช้ภาษานี้เขียนตำรา ฉันจึงเดาว่าหนังสืออีกภาษาที่เห็นน่าจะเป็นภาษาฮินดี
เมื่อพี่หงวนคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลจนพอใจแล้ว ก็ขอแลกนามบัตรกัน ระหว่างที่พี่หงวนเดินไปดูหนังสือบนหิ้ง ฉันกล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ผู้ยังอยากคุยต่อแล้วบ๊ายบายมาเข้าห้องประชุม
ปรากฏว่าเมื่อเดินเข้าไปในตึกที่หมาย ไฟฟ้าดับจนมืดหมดทั้งตึก ห้องเรียนที่เข้าไปนั่งรอมืดสลัวเลยหละ
อยากรู้ว่าหน้าตาห้องที่ฉันว่ามีหนังสือเยอะๆเป็นอย่างไร ไปชมเลยค่ะ
๔ สิงหาคม ๒๕๕๓
« « Prev : ไปดูวิถีชีวิตอีกแบบ
Next : แลกเปลี่ยนที่ JADAVPUR » »
ความคิดเห็นสำหรับ "มาจากไหนรึ"