เอ๊ะ….ทำไมมาอยู่ที่นี่ละ

อ่าน: 1923

อินเดียมีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นอันดับสองรองลงมาจากฮินดู คำนวณจำนวนแล้วความหนาแน่นของคนก็น่าจะเยอะพอดู เมื่อรถแล่นไปยังภัตตาคารอาหารจีน เส้นทางที่วิ่งผ่านมีการจราจรหนาแน่น ระหว่างเหลียวมองหาสถาปัตยกรรมที่บ่งบอกความเป็นมุสลิมบนสองข้างทาง พี่โต (วีระ จงไพศาล) ผู้มาจากภาคประชาสังคมจากจังหวัดตราดก็ส่งเสียงอุทานและชี้มือไปที่ของสิ่งหนึ่ง

ภาพที่ปรากฏตามมือชี้ทำให้ฉันเกิดความสงสัย ไม่เคยได้ยินเลยนี่นาว่าอินเดียกับประเทศในยุโรปประเทศนี้มีความสัมพันธ์กัน แต่เมื่อนึกถึงเรื่องราวที่ได้ยินว่าชาวอินโดอารยันคือผู้สถาปนาระบบวรรณะขึ้นในอินเดียและประชาชนทางเหนือของอินเดียมีสัดส่วนของอารยันกับดราวิเดียนประมาณ ๔ : ๑ ก็เลยเฉยไป

ว่ากันว่าในสังคมอินเดียได้แยกกลุ่มคนออกเป็น ๒ ส่วน มีอารยัน (Aryans) และ ดราวิเดียน (Dravidians) มีอารยันอยู่เกือบ ๗๒ เปอร์เซ็นต์ ดราวิเดียนหรือมิลักขะ ๒๘ เปอร์เซ็นต์ ความต่างนี้กระจายอยู่ใน ๒ ภาคเหนือ-ใต้ ต่างที่การสืบชาติพันธุ์และวิถีสังคม

แยกความต่างกันได้ด้วยลักษณะภายนอกและสำเนียงพูด ชาวอินเดียตอนเหนือมีอารยันเป็นต้นตระกูล พูดภาษาอารยัน ชาวอินเดียตอนใต้มีดราวิเดียนเป็นต้นตระกูล พูดภาษาดราวิเดียน

เอ๊ะ โดมตึกคล้ายๆอิสลามแต่ก็ไม่ใช่อิสลาม แถมยังมีเครื่องหมายพิเศษที่บอกอัตลักษณ์ที่ชวนสงสัยอีกแนะ

มีตำนานเล่าว่า ๔,๐๐๐ ปีที่แล้วมา มีคนอารยัน (Aryans) จากเอเชียกลางเข้ามาอินเดีย โดยย้ายเข้ามาเป็น ๒ สาย สายแรกไปยุโรปปัจจุบันกลายเป็นชาวอารยันยุโรป สายที่ ๒ มุ่งสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งรกรากแถวทะเลสาบแคสเปียนในปัจจุบัน แล้วเขาก็แยกออกเป็นสองสายอีก  สายหนึ่งไปตะวันออกกลางกลายเป็นชาวอารยันเปอร์เซีย อีกเผ่ามุ่งตรงสู่อินเดียตั้งรกรากแถวแม่น้ำสิทธุตอนบน ตอนที่ย้ายกันเข้ามา ชาวดราวิเดียนหรือมิลักขะอยู่ในอินเดียมาก่อนแล้ว

อารยันที่เข้ามาในอินเดียไม่ได้มีแค่เผ่าเดียวนะคะ มีหลายเผ่าทีเดียว แต่มีเผ่าหนึ่งที่ชื่อคุ้นๆ “ภารตะ (Bharatas)” เป็นเผ่าที่มีความสำคัญที่สุด ที่เราคุ้นกับคำเรียกอินเดียว่า แดนภารตะ ก็มาจากชื่อเผ่าสำคัญนี้เอง

ชาวอารยันยุคแรกๆซึ่งประกอบด้วยนักรบ สามัญชน พ่อค้า นักบวช ทาส เจริญมากกว่า ชำนาญในการขี่ม้า ใช้หอกและดาบเป็นอาวุธทำการรบมากกว่า เข้ายึดและควบคุมดินแดนทางตอนเหนือของอินเดียไว้ทั้งหมด ยึดแล้วก็ไม่สนใจวัฒนธรรมท้องถิ่น แถมยังผลักดันให้คนท้องถิ่นถอยร่นลงไปทางใต้ แต่ก็ใช่ว่าคนท้องถิ่นจะถอยร่นลงมาหมดนะคะ บางส่วนอยู่และรับใช้ชาวอารยันหรือพากันเลี่ยงไปหาพื้นที่ป่าและภูเขาทางตอนเหนืออยู่กันด้วย

ภาพที่เห็นและสถานภาพที่อยู่อาศัย ท่านเชื่อมั๊ยว่าเด็กอินเดียไม่ด้อยโอกาสและเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับของเขา

การพบกันระหว่างผู้รุกเข้ามาและชนท้องถิ่นดั้งเดิมของอินเดียนี้เป็นที่มาของมหากาพย์อินเดียเรื่อง “มหาภารตะยุทธ์” เรื่องราวมีบรรจุในคัมภีร์ของชาวฮินดูค่ะ

อารยัน มีความหมายว่า “เจริญรุ่งเรือง”  ชาวอารยันจะมีผิวขาว สูงใหญ่ จมูกโด่ง ศีรษะค่อนข้างยาว ผมสีอ่อน หน้าตาได้สัดส่วน หน้าตาออกไปทางฝรั่งยุโรป ถ้าใช้คำไทยอธิบายว่า “แขกขาว”  จะพอเห็น สร้างจินตภาพได้ใกล้เคียงหรือเปล่า ไม่แน่ใจนะ

มิลักขะ มีความหมายว่า เศร้าหมอง หรือมีผิวดำ คนพวกนี้เมื่อเคลื่อนย้ายลงมาภาคใต้ของอินเดียกลายเป็นชนเผ่าทมิฬ เตลุคุ มาลาบาร์ และกนะริส ถ้าใช้คำไทยอธิบายว่า “แขกดำ” จะพอเห็น สร้างจินตภาพได้ใกล้เคียงหรือเปล่า ใครรู้ก็ช่วยมาแลกเปลี่ยนด้วยค่ะ

พอฟังเรื่องราวเหล่านี้แล้วมาฟังตำนานที่เล่าต่อๆกันมาซึ่งกล่าวขานกันว่า เชื่อว่าคนผิวขาวเป็นฝ่ายธรรมะ คนผิวดำเป็นมารร้ายฝ่ายอธรรม ก็ให้รู้สึก เอ๊ะ เอ๊ะ เอ๊ะ มันยังไงๆแฮะตำนานนี้ และยิ่งเห็นอินเดียปัจจุบันมาตั้งแต่เช้าก็ยิ่ง เอ๊ะ เอ๊ะ เอ๊ะ กับเรื่องวิธีการครองอำนาจโดยชนเผ่าที่ใช้อัตลักษณ์เล่าผ่านตำนานมายังคนรุ่นหลัง

ตำนานยังเล่าต่อว่า แม้ว่าชาวอารยันจะปกครองโดยไม่สนใจสังคมวัฒนธรรม สังคมชุมชนได้มีการเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันอย่างฉันมิตร แล้วยังมีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น  วัฒนธรรม ศาสนาที่ได้ผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นจนเข้ากัน เป็นที่มาของการเกิดศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู  และการอยู่ร่วมกันก็กลายมาจนเป็นชนส่วนมากของอินเดียในปัจจุบัน

ฐานที่ทำให้สามารถผสมผสานกันได้เกิดจากความเชื่อที่เหมือนกันของ  ๒ เผ่า ในขณะที่ มิลักขะเคารพบูชาธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ภูเขา ดิน น้ำ ไฟ ลม และถือว่าทุกอย่าง ทุกแห่งมีเทพสิงสถิตย์อยู่  ให้คุณให้โทษแก่ผู้อ้อนวอนบวงสรวงได้  อารยันก็เชื่อถือในธรรมชาติ  เช่น พระอาทิตย์ ดวงจันทร์ดวงดาว ท้องฟ้า เมฆหมอก พายุ ตลอดจนสิ่งอื่นๆและถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพระเจ้าของตนคล้ายกัน

ศาสนาพราหมณ์เกิดขึ้นแล้ว ระบบวรรณะจึงเกิดขึ้น วรรณะของอารยันในสังคมอยู่ในกลุ่มพระ (พราหมณ์ - Brahman) ชนชั้นปกครอง (กษัตริย์ - Kshatria) และ พ่อค้า (แพศย์ - Vasia) ถือเป็นวรรณะสูง  คนดราวิเดียนและลูกครึ่งอารยันกับดราวิเดียนอยู่ในวรรณะอีกวรรณะ คือ ศูทร (Sudra) ถือเป็นวรรณะต่ำสุดในสังคม

ถามว่ารู้วรรณะได้ไง ไกด์ว่าใช้สัญชาตญาณไม่มีหลักสังเกต…แป่วไปเลย…ฟังแล้วเหมือนการแยก “จน-รวย”….เชิงคุณภาพ….มั๊ย

พูดถึงศาสนาพุทธ ชาวอินเดียถือว่าแตกสาขามาจากศาสนาฮินดู โดยพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นเชื้อสายอารยัน ล้มเรื่องวรรณะ กำหนดสังคมนี้ว่าเป็นสังคมที่ไม่เลือกชั้นวรรณะ เคารพต่อผู้มีอาวุโสกว่า ต่างไปจากศาสนาพราหมณ์ สิ่งที่เหมือนกัน คือ เมื่อมนุษย์เกิดมาแล้ว ให้ลงมือปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนาเพื่อให้เป้าหมายของชีวิตมีดุลยภาพต่อกัน

มีคนเล่าให้ฟังว่า ในภาษาของนักมานุษยวิทยา ชาวอารยันก็คือคนที่มีเชื้อชาติอินโด-ยูโรเปียนค่ะ ภาษาอินโด-ยูโรเปียนที่เราคุ้นเคยมีอยู่ ๒ ภาษา เอ่ยชื่อแล้วฉันเชื่อว่าทุกคนร้องอ๋อแน่นอน ภาษานั้นก็คือ สันสกฤต และ บาลีค่ะ เชื่อไหมค่ะว่า ๒ ภาษานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาษาทั้งหมดของกลุ่มอินโด-ยูโรเปียนเท่านั้น

อีกเรื่องหนึ่งที่มีคนเล่าให้ฟังคือ ชาวอารยันที่เข้ามาในอินเดียตอนเหนือเป็นชาวอารยันที่มาจากอิหร่านก็มีนะคะ

ขอกลับไปเรื่องเครื่องหมายในภาพถ่ายข้างบนซะหน่อย พี่โตชวนให้ดูว่า มันใช่เครื่องหมายที่เห็นแล้วนึกถึงใครคนหนึ่งที่ก่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ หรือเปล่า คำตอบคือใช่ค่ะ  มันคือเครื่องหมาย “สวัสดิกะ Swastika” นะคะ  มีผู้รู้บอกว่าที่ใครคนนั้นพบหายนะก็เพราะนำเครื่องหมายนี้ไปใช้ผิดทางค่ะ

ไม่น่าเชื่อเลยนะคะว่าสัญญลักษณ์นี้เกิดมาบนโลกนี้นานกว่า ๑๐,๐๐๐ ปีแล้ว และสามารถพบได้ทั่วทุกหนแห่งในโลกนี้

มันมีวิวัฒนาการมาจากตัว อันค์ (Ankh) หมายถึง ชีวิต (Life) อักษรอียิปต์โบราณ

การค้าและศาสนาทำให้มันถูกเผยแพร่ไปทั่ว เราสามารถพบมันทั้งบนเส้นทางสายไหม เส้นทางขนส่งเครื่องเทศทางทะเล และในศาสนาต่างๆทั่วโลก เช่น ศาสนาพุทธ(บนหน้าอกพระพุทธเจ้า) ศาสนาฮินดู (บนมือพระพราหม์) ศาสนายิว(มีดาววงล้อมสวัสดิกะ) ทิเบต(มี ๔ จุดภายในสวัสดิกะ) ศาสนาคริสต์ (มีสวัสดิกะเล็ก ๔ อันในอันใหญ่ ๑ อัน)ฯลฯ

เอามาให้ดูว่าสวัสดิกะวนขวา วนซ้าย มีจุด หน้าตาเป็นอย่างไร (ขอบคุณภาพจากเว็บ http://www.siamganesh.com)

คำนี้มาจากคำว่า สุ (Su) แปลว่า ดี รวมกับคำว่า อัสติ (Asti) แปลว่า มี และต่อท้ายด้วย กะ เป็นอาคม (ส่วนที่ต่อท้ายคำ) เป็นภาษาสันสกฤต แสดงถึง ความมีชีวิต ความกระตือรือร้น อำนาจ ความแข็งแกร่ง และความโชคดี

ยุคประวัติศาสตร์ มนุษย์ยุคแรก ๆ เขาใช้เป็นรูป + แทนดวงอาทิตย์ ซึ่งหมายถึง พลัง อำนาจ แสงสว่าง ยุคต่อมามนุษย์ก็นำรูปกากบาทมาใช้แทนเทพเจ้าสูงสุด เช่น ในศาสนาพราหมณ์ ความหมายแห่งความเชื่อเรื่องมงคล หมายถึง ความสวัสดี มีโชค กำลัง ความสำเร็จ ในภาษาธรรมท่านหมายถึงอริยสัจ ๔ หรืออริยธรรม ๔ ก็ได้ หรือใช้รำลึกถึงพระธรรมก็ได้

เมื่อมีศาสนาพุทธเกิดขึ้น เมื่อพระพุทธธรรมได้รับการยอมรับมากขึ้น และหลังจากพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ผู้คนเมื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าก็จักใช้ต้นโพธิ์เป็นสัญลักษณ์ นึกถึงพระธรรมก็ใช้รูปสวัสดิกะหรือกงล้อเกวียน นึกถึงพระสงฆ์ก็ใช้รูปกวางหมอบ สัญลักษณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในเวลาที่ยังไม่มีการปั้นรูปเคารพใด ๆ แม้พระพุทธรูปก็ไม่มี

การเขียนสัญลักษณ์นี้เวียนซ้ายหรือขวาหรือใส่จุดมีความหมายนะคะ

พุทธนิกายตันตระและนิกายปอนปะ “เวียนขวาให้พลังอำนาจในการปราบมาร 卐 ” “เวียนซ้าย คือให้พร 卍 “

ฮินดูมีจุดอยู่ด้วย ส่วนใหญ่จะเห็นในพระพิฆเนศวร ๔ แฉก มีจุดแดงตรงกลาง ๔ จุด “เป็นมงคลทุกด้าน ทุกมุม ปราศจากอุปสรรคทั้งปวง”

ภาพนี้นำมาให้ทายว่า ขนมกินเล่นนี้คืออะไร  ร้านอาหารจีนเขานำมาเสิร์ฟให้กินเล่นระหว่างรอเดินทางต่อ

เป็นความเฉพาะที่แปลก รสอร่อยด้วยค่ะ

๔ สิงหาคม ๒๕๕๓

« « Prev : พบกงสุลใหญ่โกลกาตา

Next : ไปดูวิถีชีวิตอีกแบบ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "เอ๊ะ….ทำไมมาอยู่ที่นี่ละ"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.023519992828369 sec
Sidebar: 0.12036681175232 sec