ชะโงกทัวร์วิถีคริสต์

อ่าน: 1298

เส้นทางที่รถนำพวกเราวนชมเมือง สามารถวิ่งต่อจนไปถึงโบสถ์คริสต์ที่สวยงามแห่งหนึ่ง  โบสถ์นี้เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ ชื่อว่า “โบสถ์เซนต์ปอล (St. Paul’s Cathedral)”  สถาปัตยกรรมตรงหน้าเป็นศิลปะนำเข้า และบอกถึงอิทธิพลตะวันตกที่แผ่เข้ามาสู่อินเดียโดยอังกฤษ

ลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมที่เห็นคือความสูงเพรียว ความโปร่ง ใช้เสาขนาดเล็กรองรับน้ำหนักหลังคา ผนังกำแพงมีพื้นที่น้อย ไม่ดูหนาเทอะทะ รูปทรงหลังคาทรงสูง ประตูมีลักษณะโค้งแหลม (Pointed Arch) หน้าต่างใช้กระจกสี ประดิษฐ์สวยงามเน้นความอ่อนช้อยเหมือนจริง  ศิลปกรรมลักษณะนี้มีคนเล่าว่าเกิดมาครั้งแรกในยุคประวัติศาสตร์สมัยกลาง โดยคนในยุโรปสมัยนั้นแสดงความศรัทธาสูงส่งต่อศาสนาผ่านสถาปัตยกรรมประเภทโบถส์ วิหาร

โบสถ์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในระหว่างค.ศ. ๑๘๓๙-๑๘๔๗ ( พ.ศ. ๒๓๘๒-๒๓๙๐) เป็นช่วงที่อินเดียเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษแล้ว และเป็นยุคหลังศิลปกรรมนี้รุ่งเรืองในยุโรปมานานกว่า ๕๐๐ ปีแล้ว

เวลาของการสร้างที่ยาวนานถึง ๘ ปีนี้เทียบเวลากันแล้วตรงกับช่วงปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ ๓ ค่ะ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๔)

ลงจากรถก็พากันบันทึกการเรียนรู้ไว้ไปทำการบ้านส่งลุงเอกกันค่ะ

“ศิลปะโกธิก”  ที่อ่อนช้อย สง่างามและ ปราณีต บอกถึงความเชื่อ ความศรัทธาและจินตนาการที่ผู้คนมีต่อศาสนาคริสต์

โบสถ์ที่สวยงามแห่งนี้มีอายุกว่า ๑๕๐ ปีแล้วนะคะ ที่เห็นหน้าตายังดูเอี่ยมอ่องไฉไลอย่างนี้ก็เพราะมีการบูรณะใหม่หลังเกิดแผ่นดินไหวในอินเดียค่ะ  เดี๋ยวนี้โบสถ์แห่งนี้ยังใช้ประกอบศาสนพิธีอยู่นะคะ อายุของโบสถ์อ่อนกว่าวัดบวรนิเวศน์วิหารไม่ถึง ๑๐ ปีค่ะ (วัดบวรนิเวศน์วิหารสร้างสมัย ร.๓ บูรณะใหม่ พ.ศ. ๒๓๗๕ )

เมื่อพวกเรามาถึงโบสถ์ หลายคนก็ตั้งใจเต็มที่ว่าจะได้ถ่ายภาพนำมาฝากกัน ที่ไหนได้ก่อนลงจากรถ ไกด์ประกาศว่า งดถ่ายภาพในโบสถ์  ส่วนใหญ่จึงได้ภาพถ่ายกลางแจ้งมาให้ดูกัน

ใช้ลีลาวดีและไทรนี่เป็นหลักฐานที่เชื่อได้เลยว่าที่นี่อายุแก่กว่าร้อยปี  มาถึงนี่ก็ยังเจอเพื่อนเก่าค่ะ

ความร้อนของอากาศฤดูมรสุมทำให้หลายคนปรับตัวดูแลตัวเองไม่ให้ป่วยไข้ สิ่งหนึ่งที่หลายคนทำให้ตัวเองคือการเติมน้ำสะอาดให้ตัว เองอยู่เรื่อยๆ  ไกด์เราเตรียมการไว้ดี ในรถจึงมีน้ำดื่มบรรจุเสร็จไว้บริการให้ เกือบครึ่งวันที่ผ่านมาแล้ว หลายคนจึงเต็มอั้น เมื่อรถหยุดจอดสนิท  เสียงถามหาห้องสุขาจึงดังลั่น

การเดินหาห้องสุขาทำให้ฉันมีโอกาสได้สัมผัสธรรมชาติที่มุมร่มรื่นของโบสถ์แห่งนี้  ห้องน้ำของที่นี่ไม่ได้เปิดให้บริการแบบสาธารณะการไม่ใช้แบบสาธารณะและอยู่ใกล้ร่มไม้ไม่ได้ประกันเลยว่ากลิ่นจะดี  เข้าไปใช้จึงได้รู้ว่ากลิ่นเกิดจากความอับของห้องน้ำและการมีน้ำใช้ชำระล้างของเสียค่ะ

ปลดทุกข์ที่จู่โจมแล้ว ฉันก็พาตัวเข้าไปชมภายในโบสถ์  เข้าไปก็จวนหมดเวลาที่ลุงเอกกำหนดให้ ก็เลยใช้วิชาชะโงกทัวร์เก็บเกี่ยวเรียนรู้  ใช้ทีเผลอของคนดูแลโบสถ์ทำตามกฏคนอินเดียอีกครั้ง แหกกฏห้ามถ่ายภาพเก็บภาพวิถีชีวิตที่เห็นในโบสถ์ส่วนหนึ่งมาฝากกัน

ภาชนะที่บริการไว้ให้ใช้ชำระล้างหลังปลดทุกข์เบา-หนัก มีขนาดแค่นี้เอง  โชคดีที่สุขภัณฑ์ที่ใช้เป็นแบบชักโครกนะ ไม่งั้นคนเข้าตามหลังดูไม่จืดแน่เลย

ด้วยความที่โบสถ์แห่งนี้เป็นโบสถ์โปรแตสแตนท์  ทุกวันอาทิตย์ที่พ่อแม่มาโบสถ์เพื่อภาวนา มุมหนึ่งของโบสถ์ได้จัดกิจกรรมให้สมาชิกตัวเล็กๆในครอบครัวที่ตามมาด้วย  โบสถ์ใช้กิจกรรมด้านศิลปะสอนศาสนาให้เด็กๆค่ะ

ก่อนออกจากโบสถ์ฉันเห็นตู้บริจาคเงินอยู่ตรงใกล้ๆทางออก ในตู้มีเงินไทยหยอดเอาไว้ด้วย หลักฐานนี้บอกว่าที่นี่เป็นที่ซึ่งคนไทยมักจะมาเยี่ยมมาชมกัน

โบสถ์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมได้ทุกวันจันทร์ถึงเสาร์ เวลา ๗ โมงเช้า ถึง ๖ โมงเย็นนะคะ วันอาทิตย์ปิดเพื่อใช้ประกอบศาสนกิจค่ะ

สิ่งที่สอนผ่านศิลปะภาพวาด กระตุ้นให้เด็กรู้จักเรียนรู้ธรรมชาติ ใช้ธรรมชาติเติมจินตนาการให้เด็ก

ดูเหมือนโบสถ์แห่งนี้ ทำหน้าที่เชื่อมโยงศาสนิกของศาสนาคริสต์ทุกนิกายด้วยนะคะ ในบริเวณโบสถ์จึงมีป้ายประชาสัมพันธ์เวลาปิด-เปิดของโบสถ์คริสต์ที่อยู่ในบริเวณใกล้กันไว้ให้รู้ด้วย  ใครอยากไปเยี่ยมชมโบสถ์คริสต์อื่นๆอีก หาป้ายประกาศในบริเวณโบสถ์แห่งนี้ดูได้นะคะ

หมดเวลาที่ลุงเอกกำหนดให้เรียน ทุกคนก็ถูกตามตัวขึ้นรถ น้องเป็นต่อช่วยทำหน้าที่ตามเคยในการดูแลว่าคนครบหรือยัง และแล้วรถก็พาพวกเราเคลื่อนตัวไปเรียนต่ออีกที่หนึ่ง ก่อนพาไปกินข้าวค่ะ

โบสถ์แห่งนี้สร้างก่อนมหาตมะ คานธีเกิด ๓๐ ปีค่ะ

๔ สิงหาคม ๒๕๕๓

« « Prev : เพื่อนอย่างนี้หาไม่ยาก

Next : ความรุ่งเรืองที่คิดต่าง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ชะโงกทัวร์วิถีคริสต์"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.097710847854614 sec
Sidebar: 0.42493200302124 sec