เพื่อนอย่างนี้หาไม่ยาก
เมื่อรถวิ่งผ่านเข้าใกล้เขตเมืองเข้าไปเรื่อยๆ สองข้างทางที่รถวิ่งผ่านก็เริ่มเห็นผู้คนพากันออกมาในท้องถนนหนาตาขึ้น การจราจรที่มียวดยานหลากชนิดออกมาใช้ถนนร่วมกัน รถแต่ละคันขับเบียดกันจนเกือบจะชน เสียงบีบแตรที่ดังลั่นถนนนั้นไม่ต้องพูดถึง
ในเส้นทางที่รถวิ่งผ่านก็เห็นการจอดรถทิ้งไว้ตรงไหนก็ได้ของถนนที่ทำความเกะกะขวางทางคนอื่นก็ทำได้โดยไม่มีตำรวจหรือใครๆเข้าไปว่าอะไร รถที่จอดทิ้งอยู่ส่วนใหญ่เป็นรถตุ๊กๆหรือแท๊กซี่
ซ้าย ละหุ่ง ขวา สะเดาอินเดีย เพิ่งรู้แฮะว่าสะเดาอินเดียกับต้นควินินเป็นพืชชนิดเดียวกัน คนอินเดียเรียกว่า “นิมะ”
รถตุ๊กๆที่นี่เขาเรียกว่า “ริกชอว์ (Riskshaw)” เป็นรถติดมิเตอร์ด้วยนะคะ ในโกลกาตาจะเป็นรถหลังคาสีเหลืองตัวรถสีเขียว เห็นสไตล์การขับแล้ว ฝีมือโชเฟอร์ไม่ต่างจากบ้านเรา มีต่างหน่อยตรงที่คนนั่งสามารถนั่งข้างคนขับได้ด้วย และรถคันหนึ่งมีคนขึ้นนั่งด้วยกันมากกว่าหนึ่งคนแบบรถสองแถวบ้านเราได้ด้วย
มีคนเล่าให้ฟังว่าถ้าจะนั่งริกชอว์ให้ต่อรองราคาเอา เพราะว่าถึงจะมีมิเตอร์โชเฟอร์ก็ไม่กด ยกเว้นตกลงกันก่อน เวลาไปถึงที่หมายแล้วยังมีการขอเพิ่มราคา คนเล่าเขาบอกว่าเจอยังงี้ให้จ่ายในราคาที่ตกลงกัน
ส่วนรถเล็กที่เห็นใช้เป็นแท็กซี่ หน้าตาเป็นรถรุ่นเก๋าเก่าเชียว ยี่ห้อรถที่เห็นเต็มไปหมด คือ ยี่ห้อ ทาทา Tata หรือ Ambassador ซึ่งผลิตเองในอินเดีย เจ้าแอมบาสเดอร์นี่ใช้เป็นแท็กซี่ ตัวรถเลียนแบบรถมอริสทาสีเหลือง ส่วนเจ้า Tata มักเป็นรถบ้าน
รถต่างประเทศที่เห็นก็มีอีซูซุกับเชฟโรเล็ตซึ่งเป็นรถขนาดเล็ก
รถเมล์ที่วิ่งอยู่บนถนนมีทั้งที่มีสภาพแบบเศษเหล็กและกลางเก่ากลางใหม่ เรียกว่ารถเมล์ที่โทรมที่สุดของบ้านเรายังใหม่กว่ารถเมล์ที่ฉันเห็นวิ่งเกลื่อนตาในวันนี้ก็แล้วกัน
อีกมุมหนึ่งภาพนี้ก็บอกถึงความสามารถในการพึ่งพาตัวเองของอินเดียว่ามาจากวิธีคิดอย่างไร บรรยากาศขณะถ่ายภาพเป็นเวลาประมาณสิบโมงอินเดีย
สภาพการจราจรเริ่มติดขัดขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาคล้อยเข้าหาเที่ยงวันเข้าไปทุกที
ระหว่างการเดินทางในช่วงนี้ ในรถก็มีกิจกรรมที่ไกด์แนะนำเมืองให้ฟัง ความไม่คุ้นกับสำเนียงอินเดียพูดภาษาอังกฤษทำให้ฉันฟังทันบ้างไม่ทันบ้าง ส่วนไกด์ไทยก็ทำหน้าที่ถ่ายทอดสิ่งที่เธอรู้ให้ฟังเช่นกัน แต่ด้วยตำแหน่งที่ฉันนั่งเป็นที่ซึ่งเสียงจากไมโครโฟนจะดังก้องเหมือนเสียงคนตะโกน สร้างความรู้สึกให้ไม่อยากฟัง ฉันจึงฟังเสียงที่เล่าบ้างไม่ฟังบ้างไปซะงั้น
มีอยู่ช่วงหนึ่งของการแลกเปลี่ยน เพื่อนร่วมรถอยากรู้เรื่องการหาคู่ของคนอินเดียว่าทำไมผู้หญิงจึงเป็นคนให้สินสอดผู้ชาย ไกด์ท้องถิ่นเขาให้คำตอบว่า สินสอดที่ให้ผู้ชายนั้น เป็นทรัพย์ที่ถือว่าฝ่ายหญิงฝากไว้เป็นทุนประกันตัวเองว่า เมื่อพาตัวมาเป็นคู่ครองกับชายคนที่เธอเลือกแล้ว เธอสามารถอุ่นใจได้ว่าอย่างน้อยชายที่เธอเลือกก็มีทุนพอที่ทำมาหากินเพื่อเลี้ยงดูให้เธอสุขสบายได้ตลอดชีวิต
ไกด์ให้ข้อมูลด้วยว่า การแต่งงานข้ามวรรณะกันในปัจจุบันนี้ คนอินเดียจะไม่ใคร่ถือสาแล้ว การแบ่งวรรณะเป็นชนชั้นไม่รุนแรงเหมือนแต่ก่อนแล้ว เรื่องนี้ลุงเอกเตือนว่าให้ฟังไว้อย่าเพิ่งเชื่อ
วันนี้น้องนุชไกด์ตัวน้อยๆมาเล่าเพิ่มให้ฟังว่า เวลาที่คุยกับคนอินเดียแล้วเห็นเขาสั่นหัวจนหัวสั่นหัวคลอน อย่าหลงคิดว่าเขากำลังปฏิเสธนะคะ ไอ้ภาษากายที่เห็นนั่นนะ แปลว่า “Yes” นะคะ
ส่วนถ้าจะบอกว่า “No” ให้พูดเลยหรือใช้ศัพท์ว่า “นาฮี” คนอินเดียเขาจะใช้คำนี้บอกว่า “ไม่” นะคะ เวลาได้ยินคนอินเดียออกเสียงคำนี้ให้ระวังเวลาได้ยินด้วยค่าาาาาาาาาาาาา…อย่าเผลอไปด่าเขาเข้าเชียวนะคะ
ที่น้องนุชเล่าเรื่องนี้ให้ฟังก็ด้วยความเป็นห่วงนักช๊อปทั้งหลาย ให้ดูแลตัวเองเวลาไปซื้อของ อย่าเผลอสั่นหน้าเชียวเวลาถามราคา เพราะจะทำให้แขกงงว่า อีนี่สั่นหน้า แต่เดินหนี จะเอายังไงแน่กันหว่า
ศัพท์อีกคำหนึ่งที่น้องนุชบอกเพิ่มวันนี้ มีคำว่า “นมัสการ” ค่ะ แปลเหมือนกับคำว่า “นมัสเต” คือ “สวัสดี”
ทั้งรถ ทั้งคน มีวัฒนธรรมเข้าคิวให้เห็นอยู่อย่างเป็นเรื่องธรรมดา ข้อสังเกตคือผู้คนที่สัญจรไปมาในตอนเช้ามีแต่ผู้ชาย
เมื่อรถวิ่งเข้าเมืองลึกขึ้นเรื่อยๆ สายตาที่มองไปตามแนวถนนก็ปะทะกับภาพที่มีความตรงกันข้ามกันของเคหะสถานเป็นหย่อมๆ ภาพดังกล่าวเป็นอัตลักษณ์ของอินเดียนะฉันว่า นั่นคือการให้สลัมเรียงรายอยู่สองข้างทางอย่างไม่ยี่หระคนต่างถิ่นอย่างพวกเรา
บริเวณข้างถนนที่มีสลัมเหล่านี้อยู่นี้แหละที่หากต้องพาตัวลงไปเดินเลียบบนถนนจะต้องระวังการเหยียบกับระเบิดสีเหลืองโดยไม่ตั้งใจได้เลยนะขอบอก โชคดีที่ทริปของพวกเราไม่มีการพาตัวให้ลงไปดูงานในแถบถิ่นอย่างนี้เลย
สังเกตดูเร็วๆจะเห็นว่า การสร้างเคหะสถานเพื่อการผ่อนพักของผู้คนในสลัมก็มี class ที่ดูต่างกันไป บ้างมุงหลัังคาด้วยพลาสติก บ้างมุงด้วยกระดาษลัง บ้างมุงด้วยกระดาษฟอยล์แผ่นใหญ่ บ้างมุงด้วยไม้ขนาดเท่าบานหน้าต่างบ้านเรา บ้างไม่มีฝาบ้าน บ้างมีฝาเป็นอิฐโบกปูนแข็งแรง บ้างมีกระดาษลังเป็นฝาบ้าน และบ้างก็มีดินเป็นฝาบ้าน
ไกด์ให้ข้อมูลว่า บรรดาคนที่อาศัยอยู่ในแหล่งพวกนี้เป็นคนจรจัด บ้างเป็นคนที่อพยพเข้ามาจากบังคลาเทศ บ้างมาจากประเทศอื่นๆ คนพวกนี้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับรัฐค่ะ ฟังที่เขาเล่าแล้วดูเหมือนว่า “ขอทาน” เป็นคนอีกวรรณะหนึ่งของเขาค่ะ ซึ่งฉันฟังแล้วก็รู้สึกงงค่ะ
๒ ภาพซ้ายที่เห็นเป็นแนวขาวๆตรงแนวขอบสะพาน น่านหละสลัมริมถนนที่เล่าให้ฟัง ขวา-แผงขายขนมกรุบกรอบริมถนน
เมื่อเราถามไกด์ว่า มีข้อสังเกตอะไรที่ดูแล้วสามารถรู้เลยว่าคนอินเดียคนไหนเป็นคนวรรณะอะไร ไกด์เขาตอบว่า เขาดูกันเองออก แต่เขาก็ตอบไม่ได้ว่ามีวิธีแยกอย่างไร พวกเราบางคนจึงสรุปกันว่า เราขอใช้อาชีพดูก็แล้วกัน ก็ความเคร่งในเรื่องของการจัดวรรณะของคนอินเดียทำให้อาชีพบางอาชีพเป็นเรื่องของคนวรรณะเดียวเท่านั้นทำ เช่น งานทำความสะอาด งานกรรมกร เป็นอาชีพของคนในวรรณะจัณฑาลหรือศูทร คนเป็นนักบวช เป็นคนวรรณะพราหมณ์ เป็นต้น
ในเขตเมืองที่ลึกมาถึงใจกลางเมือง ลักษณะของตลาดริมถนนก็มีให้เห็นไม่ต่างจากชานเมืองที่ผ่านมาในตอนเช้า นั่นคือ มีแผงเล็กๆทำธุรกิจอยู่เป็นระยะๆ ส่วนใหญ่แล้วเป็นธุรกิจขายของกินของใช้ เช่น ขนมกรุบกรอบ ลูกอม กาแฟ ข้าว ขนมทอด สบู่ ผงซักฟอก น้ำอัดลม แผงขายเสื้อผ้าริมทางแบบบ้านเราไม่มีให้เห็นเลยค่ะ
แม้เก่าและโทรม ความงามในอดีตก็ยังมีเค้าให้เห็น ดูลายปูนปั้นและลายเหล็กดัดแล้วไม่แน่ว่าผู้เป็นเจ้าของอาจจะเป็นคนจีนก็ได้นา
เมื่อรถผ่านเข้าถึงกลางเมือง ความเป็นป่าคอนกรีตก็เริ่มปรากฏ ตึกรามบ้านช่องที่เห็นแม้เก่าและดูทรุดโทรม แต่ก็มีมุมความงามให้เห็นอยู่ด้วย
สังเกตดูตึกสูงบางแห่งจะมีลูกกรงเหล็กดัดติดไว้ด้วย สิ่งที่เห็นสามารถบอกอะไรได้เหมือนเมืองไทยหรือเปล่า น่าสนนะคะ ภาพที่ต่างก็คือไม่เห็นเสื้อผ้าตากเกลื่อนระโยงระยางเหมือนในบ้านเรา
ในตอนที่รถวิ่งขึ้นสะพานยกระดับ มองลงไปก็เห็นสีเขียวรายรอบเหมือนสะพานยกระดับในกรุงเทพฯบางตำแหน่ง ความจอแจบนท้องถนนเบื้องล่างยังมีไม่มาก สีเขียวที่เห็นข้างถนนมาจากทั้งไม้ยืนต้นและไม้พุ่มค่ะ
พรรณไม้ยืนต้นที่เห็นอยู่ดาดดื่นริมทางเป็นสะเดาอินเดีย ประดู่ ส่วนไม้พุ่มนั้นฉันไม่แน่ใจว่าเป็นต้นละหุ่งหรือเปล่าค่ะ ที่แปลกก็คือไม่เห็นสีสันจากไม้ดอกเลยค่ะ
สะเดาเป็นพืชเศรษฐกิจของอินเดียนะคะ เขานำมันมาบรรจุเม็ดใช้เป็นยาสามัญประจำบ้าน ยาตัวนี้เป็นยาชนิดหนึ่งที่คนไทยมาเที่ยวอินเดียแล้วนิยมซื้อกลับไปใช้ที่เมืองไทย
สภาพถนนมองจากสะพานยกระดับ การจราจรยังไม่หนาแน่นเท่าไร สภาพอากาศไม่ต่างจากเมืองไทยใช่ไหม
ระหว่างรถวิ่งไปติดไฟแดงอยู่ตรงที่หนึ่ง ทางขวาของรถก็มีรถขยะวิ่งมาเคียงข้าง สักครู่รถคันนี้ก็มีแขกมาเยือน ผู้มาเยือนนี้สูญพันธุ์ไปจากบ้านเราแล้วมั๊ง ร่างกายของมันเป็นสีดำอมน้ำตาล เท่าที่จำได้ฉันว่าลักษณะของมันต่างจากบ้านเราเล็กน้อยนะ เห็นเขาเมื่อไร ก็ใช้เป็นสัญญลักษณ์ได้เลยว่า ในบริเวณไม่ใกล้ไม่ไกลจากที่พบเขานั้น มีขยะสดถูกทิ้งไว้เกลื่อนกลาดแน่นอน แขกกลุ่มนี้เขาชอบกินอาหารสดและเนื้อเน่าๆค่ะ
อีกาเพื่อนยาก ที่พบเห็นได้ทั่วไปในโกลกัตตา ยังดีหน่อยที่ไม่พบหนาแน่นเป็นฝูงเหมือนนกพิราบที่สนามหลวงบ้านเรา
เมื่อรถวิ่งพาเรานั่งชมเมืองไปเรื่อยๆ ไกด์ก็พูดไปเรื่อยๆไม่หยุดเหมือนกัน พูดเก่งจริงๆ ทั้งไกด์ไทย ไกด์ท้องถิ่น
๔ สิงหาคม ๒๕๕๓
« « Prev : สัมผัสความเป็นโกลกาตา
Next : ชะโงกทัวร์วิถีคริสต์ » »
1 ความคิดเห็น
สะเดาอินเดียกับสะเดาเราคล้ายกัน แต่ไม่ใช่ชนิดเดียวกัน นะเจ๊