เด็กสานฝัน ผู้ใหญ่สานงาน

อ่าน: 1438

รถตู้พาเราบึ่งจากหาดบ้านทอน ผ่านเข้าอำเภอเมือง แล้วเลี่ยงทางนำเราไปสู่โรงแรมซีเอส ปัตตานี  เวลาที่ทีมเราไปถึงปัตตานี ตะวันชิงพลบไปเรียบร้อยแล้ว

จัดการตัวเองกับสัมภาระส่วนตัวกันแล้ว แต่ละคนก็ทะยอยกันไปที่ห้องอาหาร  เข้าไปถึงห้องอาหาร ก็เห็นความอลังการงานสร้าง…หุ..หุ…เรามาช้าไป  มีเสียงเพลงบรรเลงก้องห้องตามธรรมเนียม เพื่อนในอีก ๒ สายมากันพร้อมหน้าแล้ว

หันไปดูที่มาของเสียงเพลง อ้าว…นั่นเด็กนักเรียนทั้งนั้นเลยนี่

กินกันอย่างอร่อย หลังจากดูงานกันมาเหนื่อยทั้งวัน

ที่แท้เสียงเพลงที่ดังก้อง บรรเลงโดยฝีมือของเด็กๆนี่เอง วงดนตรีที่เห็นแตกต่างจากที่เคยเห็นตรงที่เป็นวงออเคสตร้าจากนักดนตรีตัวน้อยๆค่ะ เครื่องดนตรีที่อยู่ในวงมีหลากหลายลานตาเชียวค่ะ  เด็กๆเล่นดนตรีอย่างตั้งอกตั้งใจ  เพลงที่เล่นมีอะไรบ้างฉันจำไม่ได้ ฟังไม่เป็น  แต่รู้ว่าคนเล่นตั้งใจเล่นสุดฝีมือค่ะ

รู้มาว่าวงดนตรีวงนี้มีสมาชิกรวมแล้วไม่ต่ำกว่า ๑๖๐ ชีวิตเชียวนะ  ทั้งหมดเป็นเยาวชนเทศบาลนครยะลา  วงเปิดตัวให้สังคมรู้จักครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ในวันที่ ๑-๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ เด็กๆที่เป็นสมาชิกวงเรียนดนตรีด้วยทุนการศึกษาด้านดนตรีที่พวกเขาพยายามหามาด้วยตัวเอง

รู้มาว่าขอแต่เพียงมีใจรักเ็ด็กที่จนก็เข้ามาเป็นสมาชิกวงได้ และสมาชิกในวงเดี๋ยวนี้เป็นรุ่น ๒ แล้ว ดูปราดๆในคืนนี้ เด็กที่มาแสดงฝีมือต่อหน้าพวกเราอยู่ที่ราวๆ ๓๐ คน ได้มั๊ง

ตัวจริงเสียงจริง…ยืนยันได้ว่านี่คือเยาวชนทั้งพุทธและมุสลิมที่มาทำกิจกรรมด้วยกัน

ทำไมจึงเป็นออเคสตร้า ตอบได้ว่าเป็นความฝันของคนหนุ่มคนหนึ่งที่มีความคิดว่าต้องรักษาต้นทุนของการอยู่ร่วมในสังคมไว้ เขาเลืือกใช้ดนตรีในการที่จะให้เยาวชนวัยเรียนเรียนรู้อยู่ด้วยกัน เพราะการซ้อมดนตรีผูกโยงการไปมาหาสู่ใช้ชีวิตด้วยกัน แล้วเขามองเรื่องการพัฒนาสมองไปคู่กัน เห็นว่าดนตรีกล่อมเกลาจิตใจเด็กให้อ่อนโยนอ่อนนุ่มได้ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นดนตรีคลาสสิค เป็นวงออเคสตรา ซึ่งสอนให้เด็กทำงานเป็นทีม รู้จักฟังเสียงที่คนอื่นเล่นไปด้วย

เขาลงมือทำฝันนี้ให้เป็นจริงๆทั้งที่เขาเองไม่รู้เรื่องดนตรีเลยและฟังเพลงไม่เป็น คนๆนี้คือคุณอ๋า(พงษ์ศักษ์ ยิ่งชนม์เจริญ) นายกเทศมนตรีนครยะลา เพื่อนร่วมชั้น ๔ส.รุ่น ๒   ฝันเขาเป็นจริงเมื่อเขาเจอคนฝันร่วมค่ะ  อยากรู้วิธีทำคลอดวงก็ต้องตามไปฟังเรื่องเล่ากันค่ะ

แน่นอนว่าเมื่อเริ่มตั้งท้อง วงต้องมีทุน ครูผู้ฝึกเล่าให้ฟังว่าวงตั้งท้องด้วยทุน ๔-๕ ล้านบาทค่ะ

ถ้าจำกันได้วงออเคสตร้าวงนี้เคยไปออกรายการคุณพระช่วยมาแล้ว ใครที่ไม่เคยดู ตามไปดูย้อนหลังได้นะคะ  และมีเรื่องเบื้องหลังประสบการณ์ของครูฝึกที่น่าอ่านด้วยค่ะ

เครื่องดนตรีมีหลายหลากชนิด ใครใคร่เรียน ใครชอบอะไร เลือกได้เองตามความสนใจ

ระหว่างที่เด็กๆบรรเลงเพลงให้ฟัง ผู้ใหญ่ก็นั่งวิพากษ์กันไป เรื่องที่วิพากษ์กันก็มีหลากหลายตามแต่เพื่อนๆสนใจประเด็นอะไร คุยกันไปสลับกับการมีกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ

เด็กๆร้องเพลงอวยพรและขอบคุณพวกเราด้วย  คุณต้นไม้ (สุชาติ ชวางกูร) เป็นผู้เชื่อมกิจกรรมระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กๆ  พร้อมทั้งช่วยระดมทุนการศึกษาจากพวกเรามอบให้เด็กๆ

พวกเราแสดงความขอบคุณคุณอ๋าที่นำเด็กๆมาเพิ่มความสุขให้พวกเรา  เด็กๆแสดงความขอบคุณพวกเราที่ให้โอกาสเขามาแสดงฝีมือ

บรรยากาศในกลุ่มผู้ใหญ่มีหลากหลายแบบ  ภาพขวาบัณฑิตจิตอาสาจากมอ.ปัตตานีก็มาร่วมงานด้วย

สมควรแก่เวลาที่เด็กๆควรได้พักผ่อนวงก็สลายตัว ก่อนวงสลายตัวพวกเราก็ชวนเด็กๆถ่ายภาพร่วมกันตามธรรมเนียมปฏิบัติ

คืนนี้บรรยากาศในห้องอาหาร จ๊อกแจ๊กจอแจเป็นอย่างยิ่ง  บอกถึงความเป็นกันเองที่เพิ่มมากขึ้นในรุ่น  โต๊ะที่ฉันนั่งกินข้าวอยู่ด้วยมีพี่หลายคนที่อิ่มท้องแล้วก็วิพากษ์เรื่องพหุวัฒนธรรมกัน

แล้วพี่หยัดก็ชวนคุยเรื่องของงานกลุ่ม ฉันกับน้องอุ้มจึงเดินไปชวนเพื่อนสายนราธิวาสมาคุยกันเรื่องงานกลุ่มต่อ  ตกลงกันเรื่องคนนำเสนอ ได้ตัวมา ๔ คน มีพี่หยัด น้องอุ้ม พี่ล้าน และคุณเซี้ย  ส่วนเรื่องของเอกสารรายงานกลุ่ม คุณเซี้ยก็ตกลงว่า ขอให้ทุกคนส่งให้เธอเพื่อรวบรวมภายในวันอังคารที่กำลังจะมาถึง ถ้าเธอไม่ได้รับ ก็ขออนุญาตทุกคนในการทวงถามเพื่อให้ได้มา

ที่ตกลงกันไว้เพียงแค่นี้ ไม่ได้ตกลงประเ็ด็นที่จะสรุปงานเพื่อนำเสนอกัน ก็ด้วยว่าทุกคนไว้ใจฝีมือผู้ที่เลือกขึ้นมาทำหน้าที่วิชาการกลุ่มค่ะ

หลายวงของผู้ใหญ่นั่งวิพากษ์แลกเปลี่ยนความคิด บางวงบางคนก็ทำอะไรตามถนัดและชอบของตน

ด้วยน้องอุ้มกับฉันได้ช่วยกันรวบรวมข้อมูลของเรา ๒ คนกันมาส่วนหนึ่งแล้ว ระหว่างที่เพื่อนๆยังอยู่ในห้องกันหลายคน เราก็มองเห็นประโยชน์ว่าถ้ารวบรวมข้อมูลก่อนกลับกรุงเทพฯกันซะเลย ผู้รับผิดชอบทั้ง ๔ คนจะทำงานเบาขึ้น

เราจึงตกลงร่วมมือกันทำงานรวบรวมข้อมูลไปพลางๆไม่รอให้ไปถึงกรุงเทพฯแล้วค่อยทำ

วิธีทำงานก็ไม่มีอะไรมาก ตกลงกันแค่ให้น้องอุ้มจดบันทึกเรื่องเล่าของเพื่อนๆพี่ๆ ส่วนฉันก็ทำหน้าที่ไปชวนผู้ไปนราธิวาสให้มาเล่าเรื่องดูงานให้น้องอุ้มฟัง แค่นั้นเองทีมนราธิวาสก็ทำงานต่อไปด้วยกันแบบสบายๆผ่อนคลาย  คุยๆแล้วใครใคร่เล่น เต้น ร้อง ก็ทำได้ ใครมีอารมณ์คุยแล้วก็ให้มาคุยต่อ สลับกับผ่อนคลายตัวเองอย่างสนุกไปได้เลย ไม่ว่ากัน

เรื่องที่ให้เล่าก็แค่ประเด็น “เห็นอะไร คิดอย่างไร” ง่ายๆอย่างนี้เองค่ะ

สนุกอย่างไร ดูได้จากในภาพค่ะ  ขำเพื่อนๆบางคนที่เมื่อชวนมาเล่าการดูงานให้ฟังแล้วออกตัวว่าไม่เห็นอะไร แต่พอชวนคุยไปเรื่อยๆเรื่องราวที่เห็นหลุดจากปากเป็นพรวนจนบันทึกแทบไม่ทัน

บรรยากาศ ร้อง เล่น เต้น ยิ้ม และ หัวเราะก่อนนอน ที่เกิดขึ้นหลังเด็กๆสลายตัวกันไปหมดแล้ว

ฉันยกนิ้วให้น้องอุ้มค่ะ เธอเก่งนะคะ มีทักษะเด่นที่ไม่มีใครเหมือน ใครบ้างที่มีความสามารถฟังคน ๒ คนได้พร้อมกันแล้วเก็บประเด็นที่พูดบันทึกไว้ได้หมด ชวนมาทำงานแข่งกับเธอค่ะ ทำได้ยังไงน่าสนใจมั๊ยค่ะ

อ้อ ระหว่างทำงานกัน คุณเซี้ยก็แวะเวียนมาช่วยกันด้วย มาให้กำลังใจกันและกัน  เราสามารถตามข้อมูลจากทุกคนมาได้เป็นจำนวนกว่า ๑๐ คน เป็นเรื่องที่น่าพอใจค่ะ

คืนนี้เราชวนกันเข้านอนไม่ดึก แค่ ๒๒ น.เท่านั้้นเอง

สานงาน สานสัมพันธ์ สานความฝันงานวิชาการกันในบรรยากาศอย่างนี้ก็ได้งานค่ะ

๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓

« « Prev : ไปเที่ยวถิ่นนางฟ้าทะเลใต้

Next : ไปดูเขาทำให้คนมีไฟ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 สิงหาคม 2010 เวลา 18:20

    รุ่นผมได้ไปดูพิพิธภัณฑ์ที่โรงเรียนอนุบาลยะลาก็ถือว่าสุดยอดเหมือนกัน เป็นแหล่งรวบรวมความรู้และภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างดีเลยครับ

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 สิงหาคม 2010 เวลา 21:34

    ลุงเอกก็บอกเหมือนกันว่าหากมีโอกาสให้แวะไปดูพิพิธภัณฑ์ที่โรงเรียนอนุบาลยะลาค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.28205704689026 sec
Sidebar: 0.4483380317688 sec