ไปเที่ยวถิ่นนางฟ้าทะเลใต้

อ่าน: 1373

ทหารหน่วยนย.นำทางเราเข้าไปที่หมู่บ้าน เส้นทางที่รถวิ่งไปคดเคี้ยวบ้างตรงบ้าง ข้างทางพอจะเห็นมีป่าละเมาะเล็กๆอยู่บ้าง มีนาอยู่บ้าง แล้วรถก็พาเรามาหยุดลงที่ริมหาดแห่งหนึ่ง

ริมหาดที่รถหยุดตัวเองลงนั้น มีกลุ่มชาวบ้านจำนวนหนึ่งยืนออกันอยู่ ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายแต่งกายแบบมุสลิม ส่วนน้อยแต่งเครื่องแบบทหาร เมื่อลุงเอกพาตัวลงจากรถ ก็ได้ยินเสียงทหารที่มารอรับเข้ามารายงานตัวพร้อมรายงานอะไรบางอย่าง จบแล้วลุงเอกก็พาตัวเข้าไปคุยกับชายร่างใหญ่ที่ยืนอยู่กับกลุ่มชายมุสลิิมกลุ่มนั้น

ลงจากรถ พี่อู๊ด ป้าแจ๋ และพวกเราก็พาตัวเข้าไปคุยกับชาวบ้านกลุ่มนี้ด้วย ทีแรกก็ชวนเขายืนคุย จนทหารเห็นพวกเราบางส่วนยืนรอกันอยู่อีกด้าน เขาจึงชวนชาวบ้านให้ย้ายกลุ่มไปนั่งบนศาลาไม้ริมหาดที่มีสภาพบังแดดพอได้ แต่ให้บังฝนน่าจะไม่ไหว

ช่วงก่อนลงไปภาคใต้ ลุงเอกออกทีวีบ่อย เมื่อไปถึงริมหาดชาวบ้านจึงจำได้และพาตัวเข้ามาหาอย่างไว้ใจ

ใกล้ศาลามีผู้หญิงกลุ่มหนึ่งยืนกันอยู่แบบอายๆใต้เพิงเก็บเรือที่เรียงรายอยู่ตามชายหาด ฉันกวักมือเรียกพวกเธอมาใกล้แล้วก็แปลกใจที่เธอไม่กล้าเข้ามา เมื่อฉันออกเสียงพูดภาษาใต้ออกไปเธอจึงเดินเข้ามา

คุยไปคุยมาก็ได้ความว่า ชาวบ้านที่มาเหล่านี้ไม่ได้มาจากหมู่บ้านเดียวกัน สถานที่ที่เรานั่งคุยอยู่ไม่ใช่ตัวหมู่บ้าน จะเข้าไปเห็นหมู่บ้านจริงๆต้องเดินทางไปอีก

ผู้หญิงมุสลิมกลุ่มนี้ขี้อายมาก ชวนคุยเธอก็เอาแต่ยิ้ม มีคนเดียวที่คุยด้วย สงสัยเรื่องที่คุยกันทำให้ชายที่อยู่ใกล้ๆสนใจ เขาจึงแทรกคำพูดเข้ามาช่วยเติมเต็มเรื่องราว

ส่วนพวกเราก็ยืนรีรอว่าจะเลือกมุมคุยกับชาวบ้านตรงไหนดี เมื่อทหารชี้ชวนชาวบ้านให้ไปนั่งที่ศาลา พวกเราก็เลือกมุมคุยตามถนัด

ชาวบ้านผู้หญิงบอกว่าเธอรับจ้างแกะปลาข้าวสารได้ค่าแรงอยู่ในราวกิโลละ ๔๐ บาท ฉันฟังแล้วตกใจ ก็ฉันเคยแกะเจ้าปลาข้าวสารนี้มาตั้งแต่เด็ก กว่าที่จะแกะให้ได้สักหนึ่งกิโลใช้เวลานานนัก ชาวบ้านต้องเลี้ยงลูกแล้วทำงานบ้านด้วย อย่างนี้ในแต่ละวันจะมีรายได้เท่าไรเชียว

ชาวบ้านเล่าว่าแหล่งอาหารยังชีพประจำวันแม้แต่ของทะเลต้องเข้าไปซื้อถึงในตลาดไม่ได้หาเองจากทะเล ฉันเ็ห็นภาพรางๆว่าชีวิตชาวบ้านที่นั่นมีรายจ่ายมากกว่ารายรับขึ้นมาทันที

ความที่เราเป็นคนแปลกหน้า และเขาแปลกกับการพูดภาษาที่ไม่คุ้นเคย เหล่านี้สร้างช่องว่างเล็กๆให้เกิดขึ้นในระยะแรก

ฉันได้พบกับครอบครัวมุสลิมที่คุ้นเคยที่กระบี่เมื่อกลับมาแล้ว เขาเล่าให้ฟังว่าแถวบ้านเขาเลิกหาอาหารทะเลกินเองตั้งแต่มีกฏหมายเหวี่ยงแหไปทั่วประเทศ ห้ามทำประมงน้ำตื้น  กฏหมายฉบับนี้เมื่อประกาศใช้ การหาของทะเลเป็นอาหารประจำวันของชาวบ้านกลายเป็นผิดกฏหมาย นับแต่นั้นชาวบ้านก็ต้องไปซื้อของทะเลจากตลาดมากิน

สิ่งหนึ่งที่เขาบ่นให้ฉันฟังคือ เมื่อชาวบ้านปักไม้ลงทะเลเพื่อวางโพงพางดักปลามาเป็นอาหารเขาผิด แล้วทีนายทุนสร้างบ้านปักเสาลงในทะเลกลับไม่ผิด อย่างนี้กฏหมายเอื้อให้นายทุนใช่หรือเปล่า  ใครก็ได้ช่วยให้ความกระจ่างในเรื่องนี้หน่อยเหอะ….แหะ..แหะ…

ฟังเรื่องนี้แล้วนึกถึงทะเลที่เวิ้งว้างว่างเปล่าไร้เกาะแก่งและเรื่องชาวบ้านริมหาดนราธิวาสที่ได้เจอ แล้วสงสัยตัวเองว่าทำไมตอนนั้นไม่สงสัยอะไรเลยเมื่อชาวบ้านบอกว่าอาหารทะเลที่เขามีกิน เขาไม่ได้หาเอง ต้องไปซื้อจากตลาดมากิน

เห็นมั๊ยค่ะ แม้ว่าชาวบ้านเขาเขียมกันแค่ไหน แต่เขาก็ให้ใจกับการดูแลพวกเราค่ะ

มีเรื่องหนึ่งที่ฉันรู้สึกติดใจตั้งแต่ได้ยินเรื่องราวออกจากปากของผบ.หน่วยนย. เรื่องนั้นก็คือ หน่วยนย.ให้บริการรักษาพยาบาลชาวบ้านด้วย และชาวบ้านมักจะบอกว่ายาที่รับจากสถานีอนามัยและโรงพยาบาลดีไม่เท่ายาของทหาร ที่ติดใจไม่ใช่เรื่องยาหรอกค่ะ แต่ติดใจว่าไม่มีหน่วยงานสาธารณสุขลงพื้นที่ดูแลชาวบ้านจริงหรือ

เมื่ออยากรู้ก็ต้องถาม ฉันถามชาวบ้านไปว่าผู้คนที่นี่เป็นโรคอะไรกันเยอะ ปรากฏว่าชาวบ้านเขาตอบได้แฮะ อย่างนี้แปลว่าที่ฉันสงสัยว่าหน่วยงานสาธารณสุขไม่ลงพื้นที่นั้นไม่ใช่เลย โรคที่ชาวบ้านบอกว่าเป็นกันเยอะคือความดันโลหิตสูง อืม…ทำไม๊ ทำไม คนที่นี่เป็นโรคฮิตเหมือนกับคนในพื้นที่ฉันเลยหละ

ฉันถามเขาต่อเรื่องเขาสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้แค่ไหน เขาเล่าว่าทีแรกก็ลำบากแต่เดี๋ยวนี้ดีขึ้น ทุกเดือนจะมีหมอจากร.พ.มาให้บริการถึงหมู่บ้าน มาแล้วก็ตรวจกันและจ่ายยาลดความดันให้  เมื่อถามลึกเข้าไปอีกถึงกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ เขาบอกว่าไม่เห็นมีอะไรพิเศษ นอกจากรับยา คุยกันไม่กี่คำแล้วกลับ…แป่ว….คุณภาพงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ยังไม่ดีเลยอ่ะ น่าสนใจว่าเป็นด้วยเหตุอะไร

ดูเหมือนทหารที่เห็นในรูปกำลังสำรวจรายชื่อผู้ที่มาพบกับพวกเรานะ

พวกเราใช้เวลาคุยอยู่ที่นี่นานกว่าจุดดูงานอื่นๆ  เมื่อถามชาวบ้านเรื่องเหตุการณ์ไม่สงบ ชาวบ้านคนหนึ่งตอบว่าที่นี่ไม่เกิดเรื่องอะไรอย่างนั้นหรอก ทำให้ฉันแปลกใจมากทีเดียว ดูเขามั่นใจมากว่าเรื่องราวไม่เกิดขึ้นที่นี่นะ

บนหาดใกล้กับศาลาที่นั่งคุยกันมีเพิงเก็บเรืออยู่ เรือที่มองไปเห็นมีลวดลายระบายสีสวยงาม ก่อนที่พวกเราจะชวนกันกลับ ฉันเดินเข้าไปดูเรือใกล้ๆ แปลกใจอีกแล้วหละ คนต่อเรือเขาคิดยังไงนะจึงสร้างเรือหาปลาที่ต้องมีลวดลายสวยงามอย่างนี้ขึ้นมาแทนที่จะปล่อยลายไม้ไว้เฉยๆ  ใช่แล้วฉันกำลังเล่าถึงเรือกอและ เรือประมงพื้นบ้านที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งจะเห็นได้ที่หาดบ้านทอน ต.โคกเคียน จ.นราธิวาสแห่งนี้เท่านั้นอยู่ค่ะ

ฉันเพิ่งรู้เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้วว่าเรือทุกลำที่ใช้ทำประมงนั้นมีกำนันเป็นเจ้าของเพียงคนเดียว…นี่ก็แปลกอีกเรื่อง

มีคนนำเรือไปจำลองย่อส่วนทำเป็นของที่ระลึกด้วย ซึ่งน้องปอ พี่จิตร์ และอีกหลายคนได้ไปอุดหนุนและนำติดตัวกลับบ้านด้วย

เห็นเรือย่อส่วนที่เขาผลิตแล้ว ฉันนึกสงสัยว่ามีข้อจำกัดของพื้นที่เรื่องตลาดจำหน่ายหรือเปล่า อย่างพวกเรามาวันนี้ บริเวณหาดที่เราเห็นไม่มีคนนอกเข้ามาเที่ยวกันเลย คนผลิตบอกว่าทำไว้ขายนักท่องเที่ยวแล้วจะขายยังไง  กลับมาถามอาจารย์กูก็ได้ความกระจ่างขึ้น ชวนให้ตามไปดูและฟังจากเด็กนักเรียนในพื้นที่ มีเรื่องเล่าตลาดของสินค้านี้ค่ะ

เมื่อใช้เวลาอยู่ด้วยกันนานขึ้น ความรู้สึกห่างก็เขยิบใกล้เข้ามา แล้วความคุ้นเคยกันที่มากขึ้นก็ทำให้เกิดรอยยิ้มให้กัน

มองไปทั่วบริเวณก็เห็นมีแต่ต้นมะพร้าวที่ชาวบ้านเล่าว่าอยากกินเมื่อไรเก็บมากินได้เจ้าของไม่ว่า เขาบอกว่าเขาไม่ใช่เจ้าของ  งานแกะปลาข้าวสารที่เล่าให้ฟังข้างต้นเขารับต่อมาจากคนที่นำงานมาส่งที่บ้านอีกต่อ นายทุนไม่ใช่คนในหมู่บ้าน งานอย่างอื่นที่พอมีให้ทำอีกเป็นงานบรรจุน้ำบูดูลงขวดเพื่อจำหน่าย งานสานผลิตภัณฑ์กระจูดค่ะ

ฟังชาวบ้านและเห็นภูมิประเทศแล้ว นึกถึงการบ้านที่ ๔ส.รุ่น ๑ ทิ้งไว้เรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต ในสภาพแวดล้อมอย่างที่เห็นพวกเขาจะมีรายได้จากการทำอะไรได้อีกจึงช่วยให้ค่าครองชีพคุ้มกับแรงงานและเวลาที่เขาลงทุนไป  อาชีพผลิตเรือย่อส่วนที่เห็นๆก็เป็นเรื่องต้องใช้ฝีมือเฉพาะตัวซะมากกว่า  ถามตัวเองว่าจะแก้โจทย์ที่รุ่นพี่ส่งมาได้ไหม ได้คำตอบว่าพอไหวแต่ข้อมูลความเป็นอยู่ของชาวบ้านยังไม่พอให้ใช้ตัดสินใจ

หุ่นจำลองที่อวดสายตาอยู่ใต้ศาลาริมหาดและถูกย่อส่วนพร้อมที่จะไปกับใครก็ได้ที่สนใจ สวยสมสมญานางฟ้าทะเลใต้เลยนะคะ

เมื่อตะวันส่งสัญญาณว่าจะชิงพลบ การรวมพลขึ้นรถก็เริ่มขึ้น เมื่อรถวิ่งออกจากหาดได้ไม่ไกลนัก ได้ยินน้องปอคุยโทรศัพท์กับใครคนหนึ่ง ปรากฏว่ารายการดูงานของเรายังมีอีกจุด ที่แหล่งผลิตบูดูบรรจุขาย  ลุงเอกเห็นเวลาจวนชิงพลบแล้วและพวกเรายังต้องเดินทางไปสมทบกับพรรคพวกอีก ๒ สายที่ซีเอสปัตตานี จึงตัดใจของดไป

การงดนัดคราวนี้ฉันเห็นด้วยกับลุงเอก  เวลาจะชิงพลบอย่างนี้มุสลิมเขาน่าจะใช้บำเพ็ญกิจทางศาสนาประจำวันของเขา ไปดูงานช่วงเวลานี้รบกวนเวลาส่วนตัวของเขาเต็มๆ สมควรแล้วที่งดค่ะ

๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓

« « Prev : ไปคารวะเสด็จเตี่ยที่ค่ายจุฬาภรณ์

Next : เด็กสานฝัน ผู้ใหญ่สานงาน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 silt ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 สิงหาคม 2010 เวลา 14:59

    กฏหมายหวี่ยงแหนี่ ไม่ใช่เฉพาะประเด็นการประมงชายฝั่งนะครับพี่
    พี่น้องชายป่า ที่เคยไปแบ่งผืนดินเล็กๆปลูกข้าวไร่แถวภูพานก็โดนกฏหมายอุทยานห้ามเขาไปหาอยู่หากินเหมือนกันครับ (แต่นายทุนไปทำรีสอร์ทได้เหมือนกัน)
    พี่น้องชาวมุสลิมน่ารัก ต้อนรับคนแปลกหน้าด้วยใจจริงๆครับ
    ผมเคยไปแถวเกาะเล็กๆ ของภูเก็ตและสตูลมีต้นไม้ไม่กี่สิบต้น แต่พี่น้องก็ยังหาน้ำมะพร้าวมาให้ดื่ม หายอดมะม่วงกาหยูมาให้กินกับแกงแพะ จนหลังๆมาต้องสั่งห้ามฆ่าแพะมาเลี้ยงดู  
    โดยส่วนตัวแล้วชอบไปทำงานชุมชนกับคนมุสลิมครับ เพราะปลอดเหล้า

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 สิงหาคม 2010 เวลา 20:13

    การเมืองที่ไม่ช่วยสร้างเมือง มันพาชาวบ้านจนมุมอย่างนี้แหละอ้ายเปลี่ยน แล้วก็มาตามแก้กันแบบลิงแก้แห…..เฮ้อ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.042892932891846 sec
Sidebar: 0.16812992095947 sec