ไปคารวะเสด็จเตี่ยที่ค่ายจุฬาภรณ์

อ่าน: 1736

ขบวนเคลื่อนจากบ้านทาร์ซานบ่ายคล้อยแล้ว  ลุงเอกเหมือนมีตาวิเศษเลยอ่ะ  ก็ลุงเอกพาตัวมาสมทบกับทีมเราตรงจุดดูงานถัดไปในเวลาเดียวกับที่ขบวนเราไปถึงที่นั่นนี่ค่ะ  ป้าแจ๋ พี่จุก พี่อู๊ด เดินทางไปที่จุดดูงานแห่งใหม่นี้กับเราด้วย

รถตู้พาเราไปจอดที่ลานกว้างแห่งหนึ่ง เมื่อลงจากรถก็เห็นพระรูปของเสด็จเตี่ยยืนสง่าอยู่ตรงหน้า  ตรงลานนั้นไม่มีร่มไม้ใบบังให้หลบแดดได้แต่อย่างไร แดดบ่ายที่สว่างจ๊าให้แดดจ๋าจนหนุ่มๆสาวๆหลายคนในคณะของเราแหยง

ตรงลานว่างนั้น มีทหารรอต้อนรับอยู่กลุ่มหนึ่ง พวกเขาชวนเราถวายความเคารพเสด็จเตี่ยด้วยกัน ลุงเอกเป็นผู้ทำหน้าที่ถวายพวงมาลัยสักการะ  ถวายความเคารพเสด็จเตี่ยแล้ว ทั้งขบวนก็รวมพลถ่ายภาพเป็นหลักฐานการมาเยือนที่นี่ด้วยกัน

เรารีรออยู่ตรงหน้าพระรูปเสด็จเตี่ย สักครู่ลุงเอกก็มาสมทบ

แล้วเราก็ขึ้นรถตู้อีกครั้ง รถเคลื่อนพาเราเข้าไปสู่บริเวณที่ลึกเข้าไปอีก  เพิ่งรู้ว่าที่นี่คือแหล่งพำนักกายของทหารเรือนาวิกโยธิน (นย.)ที่เคยได้ยินกิตติศัพท์จากป้าแจ๋นี่เอง

ลงจากรถกันแล้ว ผู้นำของทหารนย. ที่มารอต้อนรับเราทักทายพี่จิตร์อย่างคุ้นเคย แล้วเชิญพวกเราให้เดินเข้าไปที่ตึกชั้นเดียวแห่งหนึ่ง เข้าไปแล้วก็พบว่ามีทหารหลายนายนั่งรอพวกเรากันอยู่ แล้วการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับพื้นที่ภาคใต้อีกส่วนก็เริ่่มขึ้น

ชวนกันจัดแถวเพื่อคารวะเสด็จเตี่ย ลุงเอกได้พวงมาลัยดอกดาวเรืองที่ทหารเตรียมให้เป็นเครื่องสักการะ

ลุงเอก ป้าแจ๋นั่งหัวโต๊ะ ผู้นำของทหารในค่ายแห่งนี้ลงมือแบ่งปันความรู้ด้วยตัวเอง มีพี่เสริฐนั่งให้กำลังใจอยู่ใกล้ๆ ท่าทางพี่เสริฐมีความสุขมากที่ได้มาเยี่ยมทหารเรือเหล่านี้ด้วยกัน

บนโต๊ะที่ทางค่ายจัดไว้ให้เรานั่งต่างจากที่อำเภอสุไหงปาดี ไม่มีเอกสารในเรื่องที่นำเสนอ มีแต่ขนม น้ำร้อนที่บรรจุในกระติกเล็กๆ และขวดน้ำเย็นวางไว้ให้

สิ่งที่ผู้นำเหล่านย.แบ่งปันให้ฟัง มีหลายแง่มุม มุมหนึ่งที่ฉันชอบใจคือ การมอบอำนาจที่ให้เอกภาพแก่ทหารเหล่านี้จากกองทัพเรือ และฉันว่านี่คือสิ่งที่ทำให้พวกเขาสามารถทำงานได้เต็มศักยภาพที่มีในตัวของเขา  ถือเป็นความไว้ใจอย่างยิ่งต่อวินัยทหารของทั้งเหล่า และพวกเขาก็ยอดมากที่พิสูจน์ตัวเองว่าพวกเขาไว้ใจได้จริง

บรรยากาศการแบ่งปันเรียนรู้ ณ ห้องประชุมค่ายจุฬาภรณ์ กรมทหารราบที่ ๓ กองพลนาวิกโยธิน

ฉันฟังการแบ่งปันแล้วทึ่งค่ะ ฉันว่าที่หน่วยทหารแห่งนี้ทำงานได้ผลดีในเรื่องการเพิ่มสันติให้เกิดในพื้นที่ เป็นเพราะว่าพวกเขามีเป้าหมายชัดร่วมกันทั้งองค์กร

ผู้บังคับการกองพลแห่งนี้เล่าว่า สิ่งที่เขาได้รับมอบอำนาจมาคือทำงานภาพรวมในนามของกองทัพเรือ ยึดนโยบายของหน่วยเหนือเป็นเป้า พลิกแพลงสู่การปฏิบัติที่หวังผลประสิทธิภาพที่ให้ความสำเร็จ คือ ยึดภูมิศาสตร์เพื่อความปลอดภัย ยึดพื้นที่หัวใจของประชาชนเพื่อได้สันติภาพอย่างยั่งยืน

กรอบของการทำงานที่ยึดร่วมกันนั้นทำงานอย่างเสรีได้ มีอิสระได้เมื่อลงมือปฏิบัติ แต่ไม่เกินขอบเขตของแนวทางปฏิบัติ  “17 มาตรฐานและกฎเหล็ก 7 ข้อ”  สั่งงานตามลำดับชั้นและให้ยึดถือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด ถือว่าทำงานเสียเหงื่อดีกว่าเสียเลือด ความเหนื่อยยากคือความอยู่รอด

เหล่านี้ฉันมองเห็นว่าถือเป็นยอดวิธีทั้งสิ้นในการทำงานในภาวะวิกฤต

กองทัพเรือชัดเจนเรื่องนโยบาย “การเมืองนำการทหาร”

เมื่อเขาแบ่งปันมากขึ้นเรื่อยๆ ฉันก็ดีใจที่รู้ว่าพวกเขาใช้เครื่องมือนี้ในการทำงานด้วย อย่างนี้ซิถึงจะใช่ทหารอาชีพ เครื่องมือที่ว่านี้เป็นอะไรที่วงการ KM รู้จักกันดี มันชื่อว่า “AAR - After Action Review” ซึ่งเขานำเสนอมาด้วยคำว่า “เรียนรู้บทเรียนการรบและปรับหาแนวทางแก้ไข ” ค่ะ

ตอนที่รู้จัก AAR ครั้งแรก ผู้ถ่ายทอดบอกกับฉันว่า AAR เป็นวิธีที่กองทัพสหรัฐอเมริกาเขาใช้ทบทวนยุทธวิธีการรบเพื่อปรับปรุงกลศึกให้ชนะศึกได้  วันนี้ได้มารับรู้ว่าทหารใช้เป็นเรื่องจริงก็รู้สึกดีใจที่พบครูค่ะ

ดูบรรยากาศการกลับมาเป็นนักเรียนโข่งของผู้ใหญ่หลายๆคนแล้ว…อิอิ..กับฉันมั๊ย

หลายท่านที่ทำงานอย่างอิสระคงนึกไม่ออกว่าหากมีการสั่งการจากเบื้องสูงแล้วทำให้เกิดเอกภาพได้อย่างไร ทหารที่นี่ได้สอนให้รู้จักมันค่ะ

เครื่องมือที่สร้างเอกภาพให้องค์กรของเขามีหัวใจอยู่ที่ “สั่งการตามลำดับชั้น ยึดถือคำสั่งอย่างเคร่งครัด และแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติโดยอิสระ” ค่ะ

ตัวอย่างคำสั่งที่สั่งมาตามลำดับชั้นเป็นตัวอย่างมีอย่างนี้ค่ะ

ผู้บัญชาการทหารเรือ-ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังและไม่ประมาทรวมทั้งยึดในหลักการปฏิบัติการร่วมกันกับทุกหน่วยงานในลักษณะปิดทองหลังพระ

ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน-ร่วมมือกับทุกหน่วยงาน หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ใช้การมีวินัยที่ดีนำเข้าหาประชาชน

หลักการปฏิบัติการร่วมกันกับหน่วยงานความมั่นคงอื่นมีการกำหนดไว้ชัด

การปฏิบัติการที่เขาทำล้วนเป็นภาพคุ้นตาสำหรับคนทำงานใน field ฉัน ก็เรื่องราวที่เขาลงมือทำเป็นเรื่องการทำงานกับภาคประชาสังคมทั้งสิ้น

มีเพื่อนรุ่นพี่ที่เรียนร่วมชั้นซึ่งทำงานด้านกฏหมายบอกฉันว่าเขางง คำพูดเขาว่าอย่างนี้ค่ะ “ไม่เข้าใจ ทำไมทหารไปทำอะไรที่ไม่ใช่หน้าที่ทหาร”  แต่ฉันว่าฉันเริ่มเข้าใจและนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ฉันเพิ่งเห็นภาพงานของตัวเองว่าเป็นงานสร้างสันติด้วยนะ ก็มันเป็นการ(สร้าง)เมืองที่ประชาชนต้องการนี่นา

แค่ใช้หลัก “รักเขามั๊ย เข้าใจเขามั๊ย” แล้วลงมือจีบให้รักด้วยความจริงใจ เสี่ยงกับการเจ็บตัวบ้างก็ให้ยอม แล้ว “สันติภาพ” ก็จะเกิดสมใจ

ที่ฉันฟังแล้วชื่นชมก็เห็นจะเป็นเรื่องของกฏนี้  “ผู้บังคับบัญชาต้องดูแลทุกข์สุขของผู้ใต้บังคับบัญชา ร่วมเป็นเรื่องตาย ไม่ทอดทิ้งกันอย่างเด็ดขาดเมื่อเกิดเหตุการณ์”  ฉันว่านี่คือคำอธิบายว่าทำไมทหารหน่วยนี้จึงมีขวัญในการทำงานสูงมากอย่างที่เห็น

ผบ.ท่าน เล่าว่า ในทุกๆวัน ทหารที่นี่เขาจะมีการมาพบปะกันเพื่อถอดบทเรียน ทุกข์สุขในใจมีการถ่ายทอดสู่กันฟัง

เมื่อการแบ่งปันจบลง ป้าแจ๋ได้เอ่ยคำชื่นชมออกมาตรงๆไปยังพี่เสริฐว่า กองทัพเรือมีบุคลากรที่น่าชื่นชม การบ่มเพาะคนของกองทัพเรือดีมากๆ การรู้ตัวเองว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ การมีวินัยในมาตรการที่กำหนด ทำให้ทหารเรือได้รับคำชื่นชมจากชาวบ้าน

ระหว่างนั่งฟังผบ.เล่าว่ามาอยูนานไม่ได้กลับบ้านเลย รู้สึกเหมือนมีใครกำลังอยากร้องไห้ มองไปก็เห็นทหารที่นั่งด้านหลังบางคนนั่งตาแดงๆ

ก่อนการดูงานที่นี่จะจบลง ผบ.ก็มีความเห็นฝากมากับกลุ่ม ๔ส.รุ่น ๒ ด้วยเพื่อนำมาทำการบ้านกันต่อ  เรื่องราวที่ฟังมาบอกให้รับรู้ว่า ความคิดแบ่งแยกดินแดนมีจริง แต่เป็นคนกลุ่มน้อย  ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐทำงานอย่างทุ่มเท จริงจังและยุติธรรม การยึดพื้นที่ในหัวใจของประชาชนก็มีความเป็นไปได้

ลุงเอกให้กำลังใจและแลกเปลี่ยนเป็นคนสุดท้ายก่อนลาจากกัน

๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓

« « Prev : ปีนต้นไม้ไปกินข้าว

Next : ไปเที่ยวถิ่นนางฟ้าทะเลใต้ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ไปคารวะเสด็จเตี่ยที่ค่ายจุฬาภรณ์"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.047744035720825 sec
Sidebar: 0.15260696411133 sec