ดูเบื้องหน้า เรียนเบื้องหลัง
ที่ขบวนของเราใช้เวลาที่มัสยิดกามาลียะห์ อิสลามียะห์ไม่ได้นานก็เพราะมีจุดดูงานในอีกตำบลที่เรายังต้องแวะไป
ที่แห่งใหม่ที่ป้าแจ๋พาพวกเราไปเรียนรู้เป็นวัดไทยในพื้นที่ตำบลสุไหงปาดีที่มีภูมิหลังน่าสนใจกับการทำงานในรูปแบบ “รวบ” (โรงเรียน วัด บ้าน) ค่ะ
วัดที่เราไปเยี่ยมชมแห่งนี้ มีพระภิกษุจำวัดอยู่ทั้งหมด ๘ องค์รวมสมภารเจ้าอาวาส เมื่อมีกิจกรรมทางศาสนาประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมมีจำนวนกว่า ๕๐๐ คนทุกครั้งไปค่ะ
อืม ลืมเล่าไปว่า ที่มัสยิดตาดีกามีครูทำงานอยู่ ๖ คน เป็นครูชาย ๓ คน หญิง ๓ คน ส่วนทีมบริหารของมัสยิดมี ๓ คน คนที่เข้าร่วมกิจกรรมที่มัสยิดมีพุทธ ๓๖ ครอบครัว มุสลิม ๑๒๓ ครอบครัว
ทิวทัศน์บริเวณวัดประชุมชลธารา ต.สุไหงปาดี อ.สุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส
เมื่อมาถึงวัดแห่งนี้และรับฟังเรื่องราว ฉันสัมผัสถึงเรื่องดีๆที่ฝังตัวอยู่ในสังคมที่นี่หลายมุมทีเดียว มุมหนึ่งที่ชอบใจอยู่ตรงที่มัสยิดปลูกฝังความรู้ด้านอิสลาม ปลูกฝังความสัมพันธ์ในสังคมด้วยการสอนการแบ่งปัน วัดแห่งนี้ก็ปลูกฝังความรู้ด้านพุทธธรรม ปลูกฝังพื้นฐานภาษาที่ทำให้การอยู่ร่วมกันราบรื่น ปลูกฝังให้รู้จักพึ่งพาตัวเองและสร้างอาชีพคู่ขนานไป
อย่าเพิ่งงงค่ะว่าไปเกี่ยวกันได้อย่างไรในเมื่อต่างอยู่คนละตำบล ก็วัดแห่งนี้มีโครงการมากมายที่มีทิศทางและเป้าหมายคือการให้การศึกษาทุกรูปแบบ ที่นี่่ส่งเสริมการศึกษาให้พระเณรและฆราวาสผ่านการบริหารงานการศึกษาในโรงเรียนปริยัติธรรมและโรงเรียนสามัญที่ตั้งอยู่ในอำเภอสุไหงปาดีค่ะ
พลังของชุมชนที่กลมกลืนด้านวัฒนธรรมอยู่ในกลุ่มบัณฑิตจิตอาสาที่เห็นอยู่ในทุกจุดดูงานที่เราได้ไปเยี่ยมดูงาน
ที่ทำได้อย่างนี้จะเป็นเพราะสมภารท่านเป็นส่วนหนึ่งของกรรมการโรงเรียนทั้งหลายหรือเปล่าฉันไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ๆนั้นก็คือท่านเป็นพระนักพัฒนาตัวจริงเสียงจริง อันนี้ฉันสรุปจากรางวัลต่างๆที่หน่วยราชการนำมามอบให้วัดในฐานะที่เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะๆค่ะ
มีสิ่งที่น่าสนใจเรื่องการสร้างอาชีพอยู่ที่นี่ด้วย วัดนี้แบ่งธรณีสงฆ์ที่ว่างเปล่าให้ชาวบ้านทำการเกษตรด้วย เสียดายที่ไม่ได้เห็นผืนดินดังกล่าวกับตา ที่นี่มีธนาคารข้าวในหมู่บ้านด้วยแหละ
ดูเหมือนวัดแห่งนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ของหมู่บ้านเลยนะ ก็ที่นี่เป็นที่ติดตั้งระบบโทรศัพท์ ศาลาประชาคม หน่วยตำรวจชุมฃน หน่วยบริการประชาชน ที่พักของข้าราชการทหารที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ คลังยาหมู่บ้าน แถมมีบริการขนส่งมวลชนสาธารณะแก่ประชาชนที่เจ็บป่วย เดือดร้อนด้วย
ที่ฉันเล่าว่าที่นี่ปลูกฝังพื้นฐานภาษาก็เป็นเพราะว่าที่นี่จัดหลักสูตรการเรียนชุมชนร่วมกับกศน. สอนภาษามลายูท้องถิ่น/กลาง อังกฤษและคอมพิวเตอร์พื้นฐานให้กับฆราวาสที่สนใจได้มาเรียนกัน
การปลูกฝังการพึ่งตัวเองนั้น พวกเขาทำเรื่องของการช่วยกันสร้างที่อยู่อาศัย ที่วัดแห่งนี้เป็นศูนย์รับผู้อพยพหนีภัยจาก ๑ หมู่บ้านในตำบลสุไหงปาดี และ ๒ หมู่บ้านในตำบลปะลุรูเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่หลังเหตุการณ์ไม่สงบกรณีปล้นปืนที่อำเภอเจาะไอร้องเกิดขึ้นค่ะ
นั่งอยู่ใกล้ๆก็เห็นดวงตาคมกล้าที่เปล่งแสงแห่งความจริงใจของสมภารนักพัฒนา
ความเป็นหมู่บ้านของผู้อพยพนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถมอบทรัพย์ให้เป็นทุนสร้างที่อยู่อาศัยใหม่รายละประมาณ ๕ แสนเศษ ในรูปแบบของการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปในการซื้อที่ดินขยายหมู่บ้าน เติมระบบสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ประปา)ในภาพรวม ให้มีพร้อมใช้ทุกหลัง เรื่องที่กำลังเล่าให้ฟังมาจากเจ้าของพื้นที่ พวกเราไม่ได้ไปถึงหมู่บ้านแห่งนี้กันหรอกค่ะ
ระหว่างนั่งคุยกับสมภารเจ้าอาวาส พวกเราบางคนไม่ได้เข้ามานั่งฟังใกล้ๆ หลายคนจึงไม่ได้ยินว่า สมภารท่านนี้เป็นคนของที่นี่มาแต่เกิด ท่านเกิดที่นี่ เรียนที่นี่มาตลอดชีวิตของท่าน ที่ฉันเล่าว่าเรียนที่นี่หมายถึงเรียนชีวิตนะคะ เมื่อรู้ว่าชีวิตท่านผ่านการรับบทการปกครองมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๖ ได้เห็นตัวจริงของท่าน รับรู้ว่าท่านกับโต๊ะอิหม่ามที่ได้เจอมาก่อนเป็นญาติกัน ฉันก็ไม่แปลกใจกับผลงานของท่านค่ะ
พักกายผ่อนคลาย รับคำเตือนสติก่อนลาจากกันมา
ฉันว่าการที่ท่านมีจิตใฝ่การพัฒนาแล้วได้มาอยู่ในตำแหน่งผู้นำภายใต้จุดแข็งอีกมากมายที่ท่านมีเป็นทุนในเรื่อง “เข้าใจและเข้าถึง” นี่แหละค่ะที่หนุนให้เกิดโครงการได้มากมายและทำให้การพัฒนาสำเร็จได้
ก่อนที่พวกเราจะนมัสการลา ท่านได้ยืนยันหลักสำคัญของสันติวิธีกับป้าแจ๋เรื่องหนึ่ง ท่านบอกว่า “ความจริงใจ” เป็นเรื่องสำคัญในวิธีสร้างสันติ
ขออภัยด้วยค่ะ เกือบลืมแนะนำไปซะแล้ว สมภารวัดท่านนี้ชื่อว่า พระเทพศีลวิสุทธิ์ ดำรงศักดิ์ ณ วันนี้เป็นเจ้าคณะจังหวัดนราธิวาส วัดที่เราไปเยี่ยมศึกษาชื่อว่า วัดประชุมชลธารา
๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓
ความคิดเห็นสำหรับ "ดูเบื้องหน้า เรียนเบื้องหลัง"