หมู่บ้านต้นทุนต่ำ?

อ่าน: 1303

ขบวนของเราเดินทางจากศูนย์ฝึกอาชีพไปยังจุดดูงานใหม่  เมื่อไปถึงที่นั่นปรากฏว่ามีชาวบ้านจำนวนมากนั่งรอเราอยู่จำนวนมากในเต๊นท์ใหญ่  ที่นี่เป็นมัสยิดซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ศาสนาอิสลามของหมู่บ้าน  ที่ใหม่ที่เรามาเยือนนี้อยู่ในพื้นที่ตำบลที่ชื่อว่า “ปะลุรู”

ตำบลแห่งนี้มีตำนานเล็กๆเรื่องการเปลี่ยนชื่อที่นักการเมืองระดับอบต.ได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง พื้นที่ของอบต.แห่งนี้ดูแลโดยนายกที่ใช้นามสกุลเดียวกับสว.อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์

เมื่อพวกเราลงจากรถ ปรากฏว่าป้าแจ๋เดินไปจนถึงเต๊นท์แล้ว ท่าทีของการสนทนาพบปะกับเจ้าบ้านบอกว่า ป้าแจ๋คุ้นเคยกับผู้คนที่นี่มาก่อน โต๊ะอิหม่ามทำความตกลงกับเราเรื่องเวลาว่า วันนี้เป็นวันศุกร์ อีกไม่นานจำเป็นที่ผู้ชายมุสลิมที่มารอกันอยู่ต้องเข้ามัสยิดไปละหมาด มีอะไรอยากสัมภาษณ์ก็เชิญได้ก่อนเวลา ป้าแจ๋จึงทำความตกลงว่า อิหม่ามมีอะไรจะบอกเล่าพวกเราก็ให้บอกก่อน ถึงเวลาที่ผู้ชายต้องไปละหมาดก็ให้ไปได้ตามสะดวก เหลือแต่ผู้หญิงอยู่คุยกับเราไม่เป็นไร

ป้าแจ๋นำทีมในช่วงที่ลุงเอกหายไป

อิหม่ามเล่าให้เราฟังว่าที่นี่สอนตาดีกา สอนศาสนาอิสลามเหมือนกัน เป็นโรงเรียนที่รับเด็กไว้เรียนจนจบประถมต้นคล้ายโรงเรียนประถมสายสามัญที่จังหวัดฉันค่ะ เพียงแต่วิชาสอนของเขาหนักไปที่สอนศาสนา

ตาดีกาต่างจากโรงเรียนปอเนาะตรงที่เป็นศูนย์การศึกษาอิสลามที่ตั้งอยู่ที่มัสยิด นักเรียนมาเรียนแบบไป-กลับและวัยของนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการมีระเบียบควบคุมโรงเรียนตาดีกาอยู่ค่ะ

ตาดีกา เป็นภาษามลายู มาจากคำว่า TA + DI + KA  แปลว่า สวนดูแลเด็กตัวเล็กๆ  รายละเอียดหลักสูตรหน้าตาเป็นอย่างไรชวนไปอ่านค่ะ

ฟ้า ดิน และแดด ณ เวลาที่เราไปถึงมัสยิด

ที่นี่มีเรื่องน่าสนใจตรงที่ มัสยิดแห่งนี้มีทั้งมุสลิมและพุทธมาทำกิจกรรมร่วมกัน การดูแลช่วยเหลือกันตามหลักอิสลามที่เรียกว่า ซากาด ก็เผื่อแผ่ไปถึงคนพุทธด้วย

ลืมเล่าไปว่า ชื่อของหมู่บ้านแห่งนี้ แปลว่า “สะบ้า” ต้นไม้ที่ให้ฟองเหมือนสบู่ซึ่งมีมากมายในพื้นที่

ชาวบ้านดั้งเดิมเป็นชาวจีนที่อพยพมาจากมลายู มีอาชีพทำสวนยางพาราและสวนผลไม้กันค่ะ  แต่ละครัวเรือนมีสมาชิกโดยเฉลี่ย ๕ คน ที่แปลกก็คือ รายงานประชากรมีจำนวนหญิงและชายเท่ากันเลย

อัตราคนย้ายเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน ๓ เท่าของอัตราคนย้ายออกจากหมู่บ้าน ทั้งๆที่รายได้เฉลี่ยของคนที่นี่อยู่แค่ ๒,๐๐๐ บาทต่อเดือน บอกให้รู้ว่าที่นี่มีความพิเศษบางอย่างอยู่นะ

แล้วก็จริงค่ะ ที่นี่มีการบริหารกองทุนหมู่บ้านที่น่าสนใจคือ ๘๖% ของชาวบ้านมีหนี้สิน แต่ไม่มีครัวเรือนที่ยากจนตามเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน เด็กกำพร้าได้รับการดูแล

ผู้คนที่มาต้อนรับคับคั่ง พลังของชุมชนที่นี่ดูเหมือนจะมีผู้สูงอายุอยู่เป็นหลักชัยให้คนวัยอ่อนกว่า

ที่มัสยิดมี mini clinic ด้วย ซึ่งคงมีบริการเหมือนในศูนย์เด็กเล็กที่ฉันรู้จักมั๊ง (เดาค่ะเดา)

คนที่นี่มีสวัสดิการยามเจ็บป่วยด้วยนะ เวลาไม่สบายมัสยิดจะให้เงินช่วยเหลือด้วยวันละ ๑๐๐ บาท คลอดบุตรช่วยคนละ ๑,๐๐๐ บาท เสียชีวิตช่วยทำศพ ๗,๐๐๐ บาท บริจาคช่วยเจ้าภาพ ๕,๐๐๐ บาท

โต๊ะอิหม่ามที่นี่ต่างจากที่พบที่มัสยิดตะโละมาเนาะในเรื่องความเต็มใจใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และคุ้นเคยกับมัน สิ่งที่เขาบอกเล่าพวกเราที่บอกว่าเขามีเครื่องเสียงไม่พอใช้นั่นแหละค่ะที่ทำให้ฉันฟันธงข้อสรุปนี้

ระหว่างที่นั่งฟังเรื่องที่อิหม่ามแลกเปลี่ยนนั้น อากาศนอกเต๊นฑ์ค่อนข้างร้อน เป็นเพราะเป็นเวลาใกล้เที่ยงแล้วกระมัง โชคดีหน่อยที่มีพัดลมเป่าไล่ลมร้อนให้  ที่นี่ก็ไม่ต่างจากจุดดูงานที่อื่นที่เราผ่านมาแล้ว คือ มีบัณฑิตอาสามาช่วยให้บริการน้ำแก่เรา

พลังในกลุ่มแม่บ้านก็ไม่เบากว่าผู้เฒ่าชาย  ภาพขวาสุดนี่ไงมัสยิดที่เรามาเยี่ยมชื่อ มัสยิดกามาลียะห์ อิสลามียะห์สีหวานแหว๋วขนาดนี้เลยหละ

สังเกตการเตรียมการต้อนรับพวกเราแล้ว ดูุเหมือนว่าเขาตั้งใจต้อนรับและนำเสนอสิ่งที่เขาภูมิใจให้พวกเราได้รู้ บรรยากาศของการเตรียมมันคุ้นๆ นึกไปนึกมาก็อ้อ เหมือนการต้อนรับที่ชาวบ้านช่วยลูกน้องฉันเวลาผู้ใหญ่จากหน่วยเหนือลงมาเยี่ยมพื้นที่ทำงานของเราเลย  บอร์ดผลงานมีเตรียมไว้พูดให้ฟัง ชวนชาวบ้านมารอรับจำนวนมาก เตรียมคนนำเสนอแบบจ๊าบๆไว้

เห็นภาพก็แปลได้ต่อว่า พวกเขาใช้เวลามารอเรานานมากน้อยแค่ไหน รู้สึกเกรงใจกับการที่ทำให้เขารอเราเหมือนกันแฮะ อีกความรู้สึกที่ผุดขึ้นมาพร้อมกันก็คือ พวกเขายินดีอย่างแท้จริงที่เรามาเยี่ยมและมีความตื่นเต้นที่จะพบเราด้วย เสียดายที่เขาเตรียมเก้อด้วยเวลาที่เรามีจำกัดจึงไม่ได้ชมค่ะ

แต่ถึงแม้จะมีความยินดีมากแค่ไหน ตื่นเต้นยังไง สีหน้าของพวกเขาก็ยังบอกให้รู้ว่าทุกๆวันใจของเขาแบกรับความทุกข์ใจมากกว่าคนในพื้นที่ของฉันมากมายนัก

ทุกพื้นที่ที่ไปดูงาน มีชายในเครื่องแบบคอยให้ความดูแลเหมือนกันไปหมด

แต่เมื่อดูจากสีของมัสยิดที่เห็นประจักษ์ตาตรงหน้า ฉันว่าพวกเขามีความหวังกับชีวิตที่กำลังงอกงามอยู่ภายในที่ช่วยผ่อนปรนความทุกข์นั้นลงได้นะ ก็สีมัสยิดสวยหวานซะอย่างนั้น

การจัดการที่ได้รับรู้บอกให้ฉันรู้ว่ามัสยิดแห่งนี้มีเงินทุนไม่เบา ค้นลึกลงไปจากรายงานก็พบว่าที่นี่มีการจัดการรายได้แบบสหกรณ์ มีที่ดินสาธารณประโยชน์ของตัวเองด้วย เสียดายที่ได้แต่ใช้ตาดู หูฟังเท่านั้น ไม่ได้คุยกับใครเพราะขบวนของเรารีบเคลื่อนย้ายหลังจากชายมุสลิมทั้งหมดย้ายตัวไปละหมาดไม่นาน จึงไม่ได้ทำความรู้จักสถานที่แห่งนี้เพิ่มขึ้นเท่าไร

๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓

« « Prev : ถนนรู้รัก สามัคคี

Next : ดูเบื้องหน้า เรียนเบื้องหลัง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "หมู่บ้านต้นทุนต่ำ?"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.021089792251587 sec
Sidebar: 0.12381911277771 sec