ถนนรู้รัก สามัคคี

อ่าน: 1462

จากค่ายชาวบ้านตำบลสากอ เราก็เดินทางมาที่จุดดูงานต่อมา ที่จุดดูงานแห่งใหม่นี้มีเบื้องหลังของวิธีคิดและพัฒนาที่น่าสนใจ (,,,) เป็นผลงานต่อเนื่องที่รุ่นพี่ ๔ส.๑ ได้สร้างไว้ก่อนหน้าเนิ่นนานแล้วค่ะ

วิธีคิดซึ่งเป็นเบื้องหลังที่มาของโครงการที่เห็นๆอยู่นั้นเป็นวิชาสร้างความมีส่วนร่วมกับชุมชนที่ได้บูรณาการแนวคิด CSR ในภาคธุรกิจไว้ด้วยเลยนะคะฉันว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็ได้ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้นในแง่ของรายได้ครอบครัวและสุขภาพจิตด้วย

ด้วยพื้นฐานของความเรียบง่ายในวิถีของผู้คนในพื้นที่ ด้วยฝีมือที่ผลิตเครื่องใช้สอยจำพวกเสื้อผ้ามาก่อนแล้ว ด้วยฐานเดิมที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าจำพวกเครื่องแต่งกายมุสลิมมาก่อนหน้า แล้วมาต่อยอดด้วยการรวมตัวเป็นกลุ่มสร้างอาชีพโดยมีผู้นำกลุ่มที่ใส่ใจและมุ่งมั่น สินค้าที่ผลิตของที่นี่ก็ได้รับการยอมรับให้เป็นสินค้า OTOP

เมื่อพากันเดินเข้ามาในสวนยาง ลุงเอก ป้าแจ๋ เดินมาด้วยอย่างคุ้นเคย ดูสีหน้าชาวบ้านที่มารออยู่เห็นมั๊ยว่าพวกเขาดีใจ มีความสุข

พื้นฐานเหล่านี้มีอยู่มาแต่เดิมตั้งแต่ปี ๒๕๔๖  และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบในระหว่างปี ๒๕๔๗-๒๕๔๘  ทำให้ต้นทุนของกลุ่มสูงขึ้นจนสู้ไม่ไหว งานของกลุ่มจึงหยุดชะงักไป แล้วกลับมาฟื้นขึ้นใหม่จากการสานสัมพันธ์ระหว่างหน่วยฉก.ที่ ๓๙ กับชุมชน

เมื่อชุมชนได้หน่วย ฉก.ที่ ๓๙ เป็นพี่เลี้ยงหนุน ชุมชนจึงมีโอกาสได้รับงบพัฒนาจากศอบต. จนได้มาซึ่งอาคารที่เราเข้าไปเยี่ยมเยียน อาคารแห่งนี้สร้างขึ้นในยุคที่ พลตรีพิเชษฐ์ วิสัยจรเป็นรองแม่ทัพภาคที่ ๔

อาชีพเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะพวกเธอรักเรียนและสู้ชีวิต  ผู้หญิงคนหนึ่งมีเวลาให้ที่นี่แค่ ๔ ชั่วโมงก็สามารถเย็บเสื้อตัวใหม่ได้ตั้ง ๔๐ ตัวแนะ เก่งจริงๆ

การสร้างงานอาชีพให้กับกลุ่ม พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งขยายเป็นวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีหน่วยงานอีก ๒ หน่วยเข้ามาร่วมดูแล นั่นก็คือ อบต.สากอ และที่ทำการปกครองอำเภอสุไหงปาดี  การพัฒนาที่ต่อเนื่องทำให้ในที่สุดแล้วที่นี่ก็กลายเป็นชุมชนต้นแบบที่หน่วยงาน ๓ หน่วยหนุนให้เป็นแบบอย่างหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและส่งเสริมอาชีพแม่บ้านในรูปแบบศูนย์การเรียนรู้และศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน

ปีที่ยี่ห้อเสื้อแตงโมเข้ามาให้ความเกื้อหนุนแก่ชุมชนนั้นเริ่มขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๙  การพัฒนาของกลุ่มจึงมีความเป็นมืออาชีพยิ่งขึ้น จนกระทั่งได้สินค้าเกรดคุณภาพส่งออกอย่างที่เราได้สัมผัสตรงหน้า  ในช่วงที่แตงโมสมานฉันท์เกิดขึ้นแล้ว พี่ลอง(พล.ตรีจำลอง คุณสงค์) เพื่อนร่วมรุ่น ๔ส.๒ รองแม่ทัพภาคที่ ๔ ได้เข้ามาร่วมดูแลด้วย

สัมผัสความภูมิใจกับตัวเองของพวกเธอมั๊ย อาคารที่เห็นนี้ได้งบเพิ่มจากเจ้าของเสื้อแตงโมจนสามารถขยายพื้นที่เป็นศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน

ก่อนที่เราจะมาถึงอาคารฝึกอาชีพแห่งนี้ รถนำเราเข้าไปที่สวนยางแห่งหนึ่ง ตรงสวนแห่งนั้นมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งกำลังทำถนนด้วยกันอยู่  คนที่มาลงแรงร่วมกันทำถนนอยู่นั้นมีทั้งหญิงและชาย ผู้ชายมีทั้งวัยเยาวชนและวัยกลางคน

ระหว่างทางที่เดินเข้าไป มีชายคนหนึ่งกำลังทำอะไรบางอย่างอยู่ตรงสวนยางข้างทาง ทีแรกฉันก็ไม่รู้ว่าเขากำลังทำอะไร จนกระทั่งคุณจันทรา ลีมิง ผู้มาต้อนรับพวกเราเล่าให้ฟัง เป็นอะไรที่บอกถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าทึ่งปัญญาชาวบ้านจริงๆ เขากำลังผ่าต้นไผ่โดยใช้ไม้ที่คาดอยู่กับต้นยางพาราเป็นมีดค่ะ เชื่อหรือเปล่า ไม่เชื่อดูภาพเอาเองนะคะว่าไม้ผ่าไม้ไผ่ได้ยังไง

ผ่าไม้ไผ่ด้วยไม้และต้นยางพารา….เพิ่งเคยเห็นที่นี่แหละ….ทึ่งนะ…ขอบอก

ไม้ไผ่ที่เขาผ่านั้นเขานำมาปูทำพื้นถนนแทนเหล็กเส้นค่ะ  ปูนทั้งหลายเขาใช้แรงคนผสมและช่วยกันขนมาเทราดและเกลี่ยกันคนละหลายๆรอบ

ฉันแอบถามหนุ่มน้อยที่มาช่วยขนดินอยู่ว่าคิดยังไงจึงมาช่วยทำถนน เขาตอบว่า ช่วยทำแล้วได้ถนนที่ขี่มอร์เตอร์ไซด์วิ่งได้สะดวกกว่าเดิม เห็นด้วยจึงมาช่วยทำ

วิธีการจัดการการงานทำถนนของคนกลุ่มนี้น่าสนใจไม่น้อยเลยค่ะ  เขาบอกว่าที่เห็นมาทำถนนให้เห็นอยู่นั้น วันนี้แค่มาโชว์เพราะเรามาเยี่ยม ที่จริงแล้ววันนี้เป็นวันศุกร์ ถ้าแอบมาดูเงียบๆก็จะไม่เห็นอะไรเพราะทุกคนจะหยุดงานไปมัสยิดกันหมด ความลับแตกดังโพล๊ะเลยนะนี่

การจัดการการงานที่ฉันว่าน่าสนใจไม่ใช่เรื่องนี้หรอกค่ะ แต่เป็นการจัดผลัดและจำนวนคนหมุนกำลังมาช่วยแบบผลัดเวรกันทั้งหมู่บ้านวันละ ๓๐ คนต่างหาก เขามีเวทีกันอย่างไรน่าสนใจมั๊ยละ เขาจัดการความขัดแย้งกับ “คนที่ไม่อยาก” ได้ลงตัวอย่างไรนะ จึงทำให้ถนนแห่งนี้ไม่สะดุดหยุดลงแต่กลางคันและใกล้ความสำเร็จที่เขาหวังเข้าไปทุกที

ลงมือลงแรงลงใจกันแล้วก็ได้ถนนมาเป็นช่วงๆอย่างที่เห็นนี้แหละค่ะ ไม่บอกก็ไม่รู้ว่าถนนนี้ไม่ใช้เหล็กเป็นโครงฐานล่างยึดปูนให้เกาะกัน

ระหว่างเดินย้อนกลับออกมาที่ต้นทางเพื่อเตรียมตัวกลับ ฉันได้มีโอกาสคุยกับผู้ชายวัยกลางคนคนหนึ่งและถามถึงวิธีคิดว่าเหตุใดเขาชวนกันสร้างถนนโดยลงมือกันเอง เขาบอกว่าแต่ก่อนถนนแห่งนี้สัญจรลำบาก เข้าร่วมทำประชาคมกับอบต.แล้ว แจ้งความต้องการแล้ว แต่ก็ไม่เคยถูกบรรจุในแผนพัฒนาของอบต. ไม่รู้ว่างบหายไปใช้พัฒนาตรงไหนหมด  สุดท้ายพวกเขาจึงตัดสินใจลงมือสร้างเอง

ทีแรกฉันนึกภาพไม่ออกว่าอะไรทำให้พวกเขาเดือดร้อนใจมากมายจึงตัดสินทำถนนเอง จนเมื่อได้รู้ว่าสถานที่แห่งนี้มีผู้คนจากต่างประเทศมาดูงานด้วย เช่น สื่อต่างประเทศจากสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซียและมาเลเซีย คณะทูตต่างประเทศจากกลุ่ม OIC เอกอัครราชทูต สาธารณรัฐเช็ค ประจำประเทศไทย หัวหน้าคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรป ฯลฯ เมื่อพวกเขาบางส่วนมาเยี่ยมในหลวงที่กรุงเทพฯ และกลับไปเล่าการทรางงานของในหลวงให้เพื่อนๆในหมู่บ้านฟัง การตัดสินใจสร้างถนนเส้นนี้ก็เกิดขึ้น ฉันจึงเข้าใจความไม่สบายใจของเขาค่ะ

ถนนเส้นนี้เหลืออีกราวๆครึ่งกิโลเมตรก็เสร็จแล้ว  ความยาวของถนนทั้งเส้น ๑.๕ กิโลเมตร ถนนนี้พวกเขาตั้งใจทำให้เสร็จทันถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของในหลวงปี ๒๕๕๓ นี้แหละค่ะ

ปูไม้ไผ่ โรยหิน โรยทราย ผสมปูนกับทรายแล้วราดลงไปทีละช่วงๆทีละช่วง

ตอนที่เดินทางกลับกันมาแล้ว มีเพื่อนร่วมทางบางคนคุยกันให้ได้ยินว่าไม่เข้าใจว่าทำไมถนนแห่งนี้จึงเป็นจุดดูงานของ ๔ส.รุ่น๒ ด้วย แต่ัฉันว่าฉันเข้าใจนะ

ความเข้าใจของฉันอยู่ตรงเรื่องสันติวิธีค่ะ ฉันเห็นว่านี่เป็นสันติวิธีอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำได้ง่ายมากๆ เพียงนึกถึงและแวะไปเยี่ยมคนที่เขารู้ว่าที่อยู่ของเขาอยู่ห่างไกลจากถิ่นที่เราอยู่มากอย่างตั้งใจแค่นี้ เขาก็รับรู้ว่าเขาเป็นคนสำคัญที่เราให้เกียรติเขามาก ทำแค่นี้ใจเขาก็มาอยู่ใกล้ใจเราแล้ว

มาแล้วก็ได้รับรู้กับตัวเองด้วยว่าที่มีคนยืนยันว่าคนที่นี่รักในหลวงนะเรื่องจริงแท้ๆทีเดียว  มาแล้วก็เป็นกำไรชีวิตซะอีกนะนา ใช่ป่ะ

เก็บภาพในหมู่บ้านมาให้ดู น่าอยู่มั๊ยค่ะ เขียวไปโหม๊ดเลย ดูเหมือนจะเห็นฝายเล็กๆในสวนอยู่แวบๆตอนรถวิ่งผ่าน ไม่รู้ใช่หรือเปล่า

แหละนี่ก็เป็น Peace talk ที่ป้าแจ๋กับลุงเอกทำให้เห็นเป็นตัวอย่างจะจะตาด้วย พร้อมกับได้เห็นเงาของ Peace Net ที่ก่อกำเนิดยึดโยงอยู่ที่นี่และถักทออย่างแข็งแรงด้วยนะ ใครไม่เห็นยกมือลงเหอะ แล้วลองดูใหม่เน้อ

๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓

« « Prev : ไปพบชุดคุ้มครอง

Next : หมู่บ้านต้นทุนต่ำ? » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ถนนรู้รัก สามัคคี"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.049372911453247 sec
Sidebar: 0.21467804908752 sec