เจาะลึกมัสยิดตาโละมาเนาะ
ระหว่างเรื่องมัสยิดตาโละมาเนาะได้ถ่ายทอดจากปากผู้เฒ่า ฉันก็ใช้เวลาระหว่างนั้นบันทึกประสบการณ์ส่วนตัวไปพลาง
ภาพต่างๆเป็นส่วนหนึ่งที่ฉันถ่ายมาเพื่อทำความเข้าใจความเป็นพื้นถิ่นที่นั่นที่เกี่ยวเนื่องและเคยได้ยินใน ชั่วโมงเรียน ๔ส๒. ที่รศ.ดร.ครองชัย หัตถาได้นำมาเล่าให้ฟัง
ชั่วโมงเรียนดังกล่าวอาจารย์ทำให้ฉันทึ่งกับการตามรอยพัฒนาการทางสังคมผ่านภูมิสถาปัตย์ค่ะ ( เรื่องราวในมุมนี้อาจารย์ปูพื้นไว้ให้ แต่ฉันไม่มีเวลาพอจะถอดและเขียนบันทึกเล่าให้ฟัง ขอแปะโป้งไว้ก่อนค่ะ)
การท่องเที่ยวเขาโปรโมทว่ามัสยิดแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมผสมมลายู-จีน สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง
มัสยิดตาโละมาเนาะแห่งนี้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อหนึ่งในหลายแห่งของจังหวัดนราธิวาส ทะเบียนทางการปกครองระบุว่าอยู่ที่ตำบลตาโละมาเนาะ ตำบลลุโบะสาวอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส อยู่บนทางหลวงแผ่นดินเส้นที่ ๔๒ ห่างจากอำเภอบาเจาะ ๔ กิโลเมตร
มัสยิดงามด้านฝีมือช่างแห่งนี้มีชื่อเป็นทางการว่า “มัสยิดวาดีอัลฮูเซ็น” อายุอานามถึงวันนี้ก็เกือบ ๔๐๐ ปีเข้าไปแล้วนับจากปีที่ก่อสร้าง (สร้างปี ๒๑๖๗) ผู้สร้างเป็นสามัญชนค่ะ
เก๋งจีนบนหลังคาที่เห็นเป็นหออาซาน
นั่งมองตัวมัสยิด เห็นตัวมัสยิดแล้ว นึกถึงความเป็นบ้านมากกว่า สิ่งสวยงามที่มีอยู่จะเห็นก็ต่อเมื่อตาเงยมองขึ้นเบื้องสูงค่ะ มองตรงแค่ระดับสายตาจะเห็นก็แต่ฝาไม้เป็นแผ่นๆของตัวเรือน
ตอนที่มีเสียงเข้าหูแว่วๆว่า มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง แปลกที่ฉันเห็นไม้ตะเคียนตกมันอยู่กลางเรือนอย่างในฉากหนังไทยสมัยฉันยังเด็กขึ้นมาทันที
อ๊ะๆ อย่าเพิ่งนึกว่า บรรยากาศในมัสยิดจะวังเวงและน่ากลัวอย่างในหนังไทยยุคเก่าทำฉากให้ดูนะคะ ไม่มี๊ ไม่มีค่ะ บรรยากาศอย่างนั้นกลางวันแสกๆไม่เกิดหรอก แม้ฝนจะครึ้มมาแต่ไกลก็เหอะน่า
ที่เห็นเป็นดอกไม้คว่ำหน้าลงพื้น คือ ไม้แกะรูปดอกนมแมวค่ะ
มองไปจากที่นั่งอยู่ ยกมุมสายตาสูงขึ้นหน่อยก็เห็นรูปปั้นหน้าตาคล้ายๆมังกรและชั้นเชิงหลังคาไม้ที่มีรูปแกะสลักดอกไม้ห้อยแขวนอยู่ เพิ่มมุมสายตาเงยขึ้นอีกหน่อยก็มองเห็นหอที่มีรูปร่างเหมือนเก๋งจีน มีโทรโข่งด้วย บอกว่านี่คือช่องทางที่มัสยิดใช้สื่อสารกับชุมชนช่องทางหนึ่ง
เพิ่งรู้เมื่อจากมาแล้วว่า หอกระจายข่าวของมัสยิดอย่างที่เห็นในภาพเขาเรียกว่า “หออาซาน”
การที่มัสยิดต้องมีหออาซานเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมาหลังจากการสิ้นชีวิตของศาสดามุฮัมมัด หออาซานจึงกลายมาเป็นอัตลักษณ์ของมัสยิดตั้งแต่นั้นมา และฉันเดาเอาเองว่าที่เรียกชื่อหอเป็นสากลอย่างนี้ เพราะคำว่า “อาซาน” มีความหมายเชิงศัพย์ว่า “ประกาศ เชิญชวน” ภาษาอังกฤษเรียกว่า “มินาเร่ (minaret)” ซึ่งมีความหมายว่า calling tower นี่ค่ะ
ความอยากรู้ว่าทำไมหออาซานที่นี่จึงมีรูปร่างแบบเก๋งจีนได้ ทั้งๆที่อยู่ใกล้มาเลเซียและมัสยิดในมาเลเซียก็เป็นรูปโดมเท่านั้น ทำให้ฉันได้รับรู้ที่มาของอัตลักษณ์ “หออาซาน” นี้โดยบังเอิญจาก เรื่องเล่า ที่ได้อ่าน จึงขอลิงค์มันไว้เืพื่อชวนไปเรียนรู้ร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากเรื่องพหุวัฒนธรรมต่อไปค่ะ
เหนือหลังคามีฐานหน้าจั่วมารองรับหลังคาอีกชั้นหนึ่ง
ดูๆไปแล้ว หลังคาของมัสยิดเหมือนหลังคาบ้านทรงไทยในภาคเหนือเลยนะคะ ฉันไม่แน่ใจความคิดหรอกค่ะ จึงไปค้นดูว่าสัญชาตญาณของตัวเองผิดเพี้ยนหรือเปล่า ถามอาจารย์กู(เกิ้ล) ก็ได้คำตอบยืนยันว่า ใช่เลย ที่เห็นนั่่นนะหลังคาทรงไทยแท้ๆ แล้วหลังคาที่ใช้อิฐมุงคล้ายๆวัดในภาคเหนือนั่นก็ใช่เลย
มัสยิดแห่งนี้คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บอกว่าชาวบ้านที่นี่มีบาดแผลจากการใช้อำนาจและใช้อาวุธมาแต่บรรพบุรุษ ก็ผู้สร้างมัสยิดแห่งนี้เป็นหนึ่งในผู้ที่หลบภัยสงครามมาอยู่ที่นี่ มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นในเวลาให้หลังจากสมเด็จพระนเรศวรเสด็จสิ้นพระชนม์ ๑๙ ปี เสียดายที่ไม่มีบันทึกว่าผู้สร้างมัสยิดนี้มีอายุเท่าไรตอนที่สร้างมันขึ้นมา แต่พอจะเดาได้ว่าเป็นผู้มากบารมีและเป็นไปได้ที่จะมีฐานะถึงขั้นเศรษฐี
รู้เรื่องอย่างนี้แล้ว ฉันก็เห็นภาพว่าทำไมคนรุ่นปัจจุบันกลัวทหาร พวกเขามีความรู้สึกสะสมมาจากเรื่องเล่าปากต่อปากเกี่ยวกับความเดือดร้อนที่บรรพบุรุษของเขาได้รับจากทหารไง ภาพเงาของทหารในจินตภาพที่บันทึกนั้นไม่มีมุมดีบันทึกอยู่เลย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนในพื้นที่จะเกลียดกลัวทหาร
ถ้าเข้าใจกลไกความไม่ชอบที่คนไทยรู้สึกต่อพม่า ความไม่ชอบอยู่ใกล้ตำรวจของผู้คน ความรู้สึกอย่างนั้นแหละที่คนพื้นที่มีต่อทหาร กลไกการเกิดไม่แตกต่างค่ะ
ทีแรกที่ได้ยินอาจารย์ครองชัยเล่าในชั่วโมงเรียนว่าเมื่อกรุงเทพฯประโคมข่าวหนังสมเด็จพระนเรศวร กษัตรย์ผู้ประกาศเอกราชปลดแอกไทยจากพม่าทีไร ความรุนแรงในปัตตานีก็จะระเบิดขึ้นมาด้วย ฉันแปลกใจค่ะ แต่พอได้รู้เรื่องนี้และประวัติมัสยิด ความแปลกใจของฉันหายไปแล้วค่ะ
เห็นเสาที่สร้างเป็นฐานค้ำจุนตัวเรือนนี้ ฉันเดาว่า ก่อนมีมัสยิด พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่น้ำขึ้นถึงหรือเป็นที่ลุ่มน้ำขัง หรือไม่ก็ผู้ที่สร้างมันมาจากถิ่นฐานที่เป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงถิ่นที่เคยอยู่….แต่ที่ไหนได้เดาผิดซะนี่ ตามฉันไปพบคนเฉลยด้วยกันมั๊ยค่ะ
ช่องลมที่แกะเป็นลวดลายต่างๆมีหลากหลาย ลวดลายบางรูปแบบก็บ่งบอกความเป็นจีน
ภายในของมัสยิด มีบรรยากาศคล้ายๆบรรยากาศบ้านทรงไทยภาคกลางที่สร้างด้วยไม้ แต่ลมไม่โกรกด้วยไม่มีชานพักโล่งอย่างบ้านในภาคกลาง อากาศที่อยู่ภายในถ่ายเทเข้าออกได้ด้วยช่องลมลายไม้ที่แกะสลักลายสวยงาม
ฝีมือช่างที่สร้างมัสยิดยืนยันความเก๋าไว้ตรงการเข้าสลักเสากับขื่อโดยไม่ต้องใช้ตะปูสักตัวเดียว สิ่งนี้ยืนยันว่าใช่เลยสถาปัตยกรรมที่เห็นถูกผลิตขึ้นในยุคประวัติศาสตร์ ส่วนหน้าของมัสยิดเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไปและเป็นสถาปัตยกรรมยุคหลัง ความต่างของสถาปัตยกรรมพอจะเห็นได้จากภาพล่างขวานะคะ
เข้าใจแล้วว่าทำไมคนโบราณนับถือเจ้าแม่ตะเคียน ความแข็งแรงของไม้ตะเคียนแผ่นที่นำมาสร้างมัสยิดทั้งหลังแล้วยังอยู่ยั้งยืนยงมาเกือบ ๔๐๐ ปีนี่ไง ก็ความเชื่อของคนเกิดจากความมั่นใจไม่ใช่หรือ ความศรัทธาของคนเกิดจากความเชื่อที่พิสูจน์ว่าใช่….หรือเปล่า
มีแบบร่างมัสยิดติดไว้ที่ผนังภายในมัสยิดพร้อมอักษรเขียนว่า Tampak Kanan ไม่รู้แปลว่าอะไร แล้วก็ยังมีแผ่นป้ายที่ใช้อักขระซึ่งคนมลายูเท่านั้นอ่านแล้วเข้าใจอีกหลายป้ายห้อยแขวนอยู่ในมัสยิด นี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ฉันรู้สึกอยากอ่านอักขระเหล่านั้นได้รู้เรื่อง แบบร่างที่เล่าถึงนี้ คือภาพแรกข้างบนของบันทึกนี้แหละค่ะ
เห็นหน้าบาบอแล้วเห็นภายในของสถานที่ก็เริ่มเข้าใจชีวิตบางส่วนที่มีบาบอช่วยสอนและทำให้ชาวบ้านดู
ขอบคุณบาบอที่สอนให้รู้ว่าชีวิตของการให้ที่เจ้าของมีความสุข แม้อยู่ท่ามกลางความยุ่งและยาก ก็สร้างความสุขให้ชีวิตเสมอ
ตู้ไม้ที่เห็นอยู่ไม่รู้ทำด้วยไม้อะไรใครรู้บ้าง สีหน้าของบาบออ่อนโยนสมกับเป็นผู้ดูแลสถานที่อย่างนี้นะคะ
ได้เวลาก็ลากัน ลุงเอกมอบของที่ระลึกให้ ถ่ายภาพร่วมกันแล้วก็จากมา มาแล้วจึงรู้ว่าด้านข้างมัสยิดมีกุโบ (สุสานของชาวมุสลิม) อยู่ด้วย เสียดายที่ไม่เห็นกับตาว่ากุโบที่นี่ต่างจากกุโบที่จังหวัดฉันอยู่อย่างไรบ้าง
๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓
ความคิดเห็นสำหรับ "เจาะลึกมัสยิดตาโละมาเนาะ"