เที่ยวบ้านเพื่อน

อ่าน: 1516

หลังจากกินข้าวเที่ยงอิ่มแล้ว ทีมดูงานสายนราธิวาส ๒๖ คนก็ขนสัมภาระของตัวมาที่รถ ฉันเลือกรถตู้คันเดียวกันกับลุงเอก นอกจากลุงเอกแล้วก็มีสมาชิกร่วมทางไปด้วยอีกหลายคน น้องปอ พี่ล้าน (ศิริชัย จันทร์สว่าง) น้องอุ้ม(เกษรา รื่นภิรมย์)  คุณจิตร์ (พรจิตร์ หรุ่นเริงรมย์) น้องเต้ (พ.ต.อ. วรเศรษฐ วิทยกุล) คุณอู๊ด( สุดาทิพย์ มุสิกะสินธร) น้องทร(พ.ต.อ.สุนทร เฉลิมเกียรติ)

ก่อนรถจะวิ่งออกจากโรงแรม ลุงเอกเห็นทหารมาเยอะไปหมด คาดว่าถูกส่งมานำทาง ลุงเอกจึงเป็นธุระอีกในการจัดการให้ทหารงดวิ่งนำขบวนเรา

รถวิ่งนำเรามาตามเส้นทางจนกระทั่งถึงทางแยกแห่งหนึ่งก็เห็นทหารยืนอยู่บนถนนประปราย แล้วรถก็เลี้ยวขวับวิ่งเข้าทางแยกขวาแล่นพาเข้าไปตามเส้นถนนลึกเข้าไป ๒๐๐ เมตรก็จอด  จุดที่รถจอดเป็นโรงเรียนมีชื่อว่า “ลาลอวิทยา”  ตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.2 ต.ละหาร จ.ปัตตานี

เมื่อลงจากรถก็มองเห็นสาวน้อยหน้าแจ่มหลายคนพากันเดินมาหา สาวน้อยทั้งกลุ่มนี้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใสเชียว หันมองไปอีกทิศ ก็เห็นหนุ่มคนหนึ่งยืนยิ้มอยู่ เอ๊ะนั่นเพื่อนร่วมชั้นที่ชวนฉันไว้เมื่อคืนว่า “ไปนอนบ้านผมมั๊ย” นี่นา

อาคารสีหวานๆที่เห็นเป็นอาคารเรียนในบริเวณโรงเรียนลาลอวิทยา อาคารสีอิฐที่เห็นเป็นที่พำนักของเจ้าของโรงเรียน

งั้นโรงเรียนนี้นี่กระมัง ที่เพื่อนเคยเล่าว่าช่วยบริหารอยู่  เมื่อกิจกรรมที่ทำให้แวะมาเริ่มต้นขึ้น คำตอบก็ยืนยันว่า ใช่เลย เพื่อนเราเป็นลูกเขยเจ้าของโรงเรียนนี้นี่เอง

สภาพภายในโรงเรียนสะอาด เป็นระเบียบ สวยงาม น่ามอง บอกให้รู้ว่า ผู้บริหารที่นี่ใส่ใจกับความสุขของนักเรียนและครู และเป็นคนที่รักความสวยงาม จิตใจสดใส และเน้นหนักที่ความมีวินัย

ป้ายผ้าที่เขียนอักษรต้อนรับไว้บอกให้ฉันรู้ว่า โรงเรียนที่นี่สอนภาษาไทยด้วย  ภาษามลายูบนผืนผ้าที่เขียนคู่ไว้บนป้ายกระตุ้นให้ฉันอยากอ่านมันออก  รู้สึกขัดใจเล็กๆที่ตัวเองไม่สามารถอ่านได้ นี่แหละหนากิเลสคนเกิดง่ายๆอย่างนี้เอง

สถานที่ที่เจ้าบ้านชวนเข้าไปนั่งเป็นอาคารไม้หลังหนึ่งที่อยู่ใกล้กับตึกเรียนสีหวานแหววด้านหน้า สงสัยจะใช้แบบอเนกประสงค์ทั้งเป็นห้องประชุมและห้องทำกิจกรรมของนักเรียน  เดาว่าใช้สอยอย่างนี้จากรางวัลที่เห็นวางเรียงรายอยู่ที่ฝาห้องด้านหนึ่ง หน้าห้องมีโต๊ะตอไม้วางคอมพิวเตอร์อยู่หนึ่งตัว อีกมุมของห้องก็มีโต๊ะเก้าอี้วางไว้เป็นสัดส่วน

อาคารที่เห็นทำด้วยไม้ในรูปนั่นแหละที่เล่าว่าภายในจัดไว้ใช้แบบอเนกประสงค์ เด็กที่อยู่นอกหน้าต่างเป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนเดียวกันแปลกใจเหมือนกันที่ไม่เห็นไทยมุง

เด็กนักเรียนดูเหมือนตื่นเต้นกับคณะเราพอๆกับทีมบริหารโรงเรียนนะคะ ดูจากสีหน้าตั้งใจกับการต้อนรับจนกระทั่งพิธีการของภารกิจที่นำพวกเรามาจบลง สีหน้าของทุกคนเปื้อนไปด้วยความสุขใจ  เด็กที่ไม่มีหน้าที่อะไรนั่งกันอยู่เรียบร้อยอย่างอิสระนอกห้องประชุม การที่เด็กในวัยนี้ไม่สนกับการมีวัฒนธรรมไทยมุง ทำให้ฉันฉงนว่าเด็กที่นี่คุ้นชินกับการมีแขกแปลกหน้ามาเยี่ยมโรงเรียนหรือไร หรือว่าความมีวินัยที่ครูปลูกฝังให้ทำให้เด็กรู้ว่าควรวางตัวยังไง อืม น่าสนใจๆ วิธีการของครู

หลังจากผู้อำนวยการโรงเรียนกล่าวต้อนรับ ทุนการศึกษาร้อยกว่าทุนได้ถูกส่งมอบให้นักเรียนชาย-หญิง  ลุงเอก พี่เสริฐ(พล.ร.อ. ประเสริฐ บุญทรง) พี่หนุ่ย(พล.ต.ท. สุวัฒน์ ธำรงศรีสกุล) น้องปืน ( สรัณย์ธร ดวงดีกมลทัศน์) พี่ดวง (ดวงกมล ทรงวุฒิวิชัย) เป็นตัวแทนหมุนเวียนกันมอบ

บรรยากาศต้อนรับที่สัมผัสตรงหน้า บอกให้รู้ว่าทีมเจ้าบ้านดีใจที่ทีมเรามาเยี่ยม และให้เกียรติพวกเรามาก

เด็กๆให้การต้อนรับเราด้วยอาหารว่างเป็นน้ำหวานและขนมพื้นเมือง แถมด้วยมีของฝากให้เป็นลูกหยีกวน อาหารฮาราลที่ผลิตขึ้นในท้องถิ่น  นอกจากลูกหยีแห้งแล้วมีของฝากทีเด็ดจากเด็กๆด้วย ทีเด็ดเป็นเรื่องจริงหรือไม่ถามคุณเซี๊ย (ดร.พิชญ์ดา เดอเยซูซ์) เพื่อนร่วมทีมได้ เพราะเธอถึงกับน้ำตาซึมเมื่อได้สัมผัสกับมัน

ส่งมอบทุนการศึกษา สนทนา เยี่ยมเยียน ผูกไมตรีกันระหว่างคนต่างวัย ต่างวัฒนธรรม เป็น peace talk รูปแบบหนึ่งนะฉันว่า

ของฝากที่เด็กๆเขาฝาก ส่งผ่านลำนำเพลงที่เด็กๆใส่เนื้อร้องไว้ถึง ๔ ภาษา มลายู ไทย อังกฤษ  อาหรับ เรียกชื่อว่า เพลงอานาเซดค่ะเสียงใสๆไพเราะก้องกังวานขึ้น สะกดให้พวกเราซึ้งไปเลย เด็กๆที่มาร่วมกันร้องมีฝีมือนัก ครูเล่าว่าพวกเขาได้ผ่านขั้นชนะเลิศการประกวดร้องเพลงนี้ รางวัลที่เห็นในห้องประชุม ยืนยันว่าฝีมือเด็กที่นี่ไม่เบาเลย

อานาเซดทำนองไพเราะ งามลงตัวกับสาวน้อยผู้สดใสทั้งหมด น่าสนใจครูผู้ประพันธ์เนื้อเพลง…..ตั้ง ๔ ภาษาแน่ะทำได้ไง

รับของฝาก สนทนากับเจ้าของบ้านพอหอมปากหอมคอแล้ว ก็ได้เวลาขอลาจากไปดูงานต่อ  ก่อนจากกันก็ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกด้วยกันตามฟอร์ม แล้วชวนกันขึ้นรถเดินทางต่อ น้องอดุลย์เจ้าของบ้านตามไปด้วย

สีสันของเสื้อผ้า บอกให้เห็นว่าคนที่นี่มีความหวังที่สดใส มีพลังในการเดินหน้า  เห็นคนสวยๆมีความสุขกับการเอาหน้าสู้กล้องหรือเปล่า

การเดินทางออกจากโรงเรียนมีเรื่องให้เอ๊ะ รู้สึกเหมือนทหารมาเร็วและมาเยอะแฮะ ยืนเรียงแถวอยู่ในถนนซอยที่เข้าโรงเรียนเรียงรายตลอดทาง จนเมื่อโผล่ขึ้นมาที่ถนนใหญ่ เหลียวทางซ้ายของปากซอยเห็นทหารยืนเต็มไปหมดก็นึกในใจอะไรกันหนอ มีอะไรหรือเปล่า

ให้หลังไป ๒ ชั่วโมง ก็เกิดเหตุบึมขึ้นตรงแถวนี้ แล้ว ๕ ชีวิตทหารก็จากไป เอะใจอะไรบ้างไหมกับเหตุการณ์อย่างนี้

๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓

« « Prev : ก่อนเดินทางต่อไป

Next : ดูงาน ดูงาม » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 กรกฏาคม 2010 เวลา 7:10

    รู้สึกเอ๊ะ…ว่าทำไมค่ะ

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 กรกฏาคม 2010 เวลา 10:08

    นึกถึง ๓ เรื่องค่ะ น้องสร้อย

    เรื่องที่ ๑  นึกถึงนายพรานนำเที่ยวป่า ถ้าทุกครั้งที่นำแขกเที่ยว ท่ามกลางดงที่รู้ว่ามีสัตว์ร้ายที่เห็นตัวยาก นายพรานทำตัวอย่างทหารที่เห็น นายพรานจะพาตัวให้รอดปลอดภัยได้ยังไง  

    เรื่องที่ ๒  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับทหาร เรารู้ก่อนเข้าไปในพื้นที่ เรายังเสียววาบๆอยู่ในใจเลย แต่ผู้คนในโรงเรียนเขายังสดใส แจ่มใสซะขนาดนั้น หรือว่าที่เขารู้สึกแจ่มใส สดใสนั้น เป็นเพราะเราไปเป็นตัวกวนกะเทาะอะไรบางอย่างที่คุ้นชินให้หลุดไป

    เรื่องที่ ๓  น่าสนใจกลไกการครองสติของเขานะน้องสร้อย

  • #3 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 กรกฏาคม 2010 เวลา 19:44

    พี่ตาขา
    เบิร์ดถามจริงนะ ว่าคนในพื้นที่เค้าคิดยังไงกับการที่มีคนลงไปดูไปหาเค้ามากมาย-ชอบใจ ไม่ชอบใจ รำคาญ ฯลฯ ?!?

  • #4 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 กรกฏาคม 2010 เวลา 20:34

    พี่ว่าเบิร์ดน่าจะเคยสัมผัสคนชนบทที่ไม่ใคร่มีคนให้ความสำคัญ ชวนเบิร์ดลองทวนย้อนเรื่องราวดูว่าความรู้สึกที่รับรู้เมื่อเบิร์ดไปเยี่ยมของเขาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นยังไงนะ

    ความรู้สึกบวกหรือลบก็อยู่ที่ความคาดหวังมิใช่หรือ คนที่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง แม้จะทระนงยังไงว่าข้าอยู่ได้ เขาก็ยังโหยหาการเหลียวแลอยู่นาเบิร์ดนา

    เรื่องนี้พี่ไม่ได้สังเกตนาน และไม่ได้สัมภาษณ์เจาะลึกค่ะ 

    มีคำพูดก่อนจากที่ได้ยินว่า “มาอีกนะ” ดังจากปากเข้าหูให้ได้ยิน  พอบอกอะไรได้บ้างมั๊ยน้อง


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.092544078826904 sec
Sidebar: 0.13068008422852 sec