ก่อนเดินทางต่อไป
ฟ้าสว่างในตอนเช้า ส่องให้เห็นความเงียบสงบและน่าอยู่ในพื้นที่รอบๆเมืองที่มองเห็นผ่านช่องหน้าต่างห้อง ภายใต้บรรยากาศแห่งความไม่สงบที่หลุดรอดออกไปให้คนภายนอกเขตคามได้รับรู้ข่าวและหวาดกลัวนั้น เมืองปัตตานีมีมุมเงียบและสงบไม่ต่างจากเมืองอื่นๆเลยนะคะ
มองไปนอกหน้าต่างเห็นฝูงนกเล็กๆสีดำบินว่อนอยู่มากมาย รูปร่างนกที่เห็นคุ้นตายิ่ง นกนางแอ่นหรือเปล่า ใช่เลย นั่นไงมีบ้านนกอยู่ที่นั่นด้วย ไม่รู้เลยนะว่าที่นี่ก็เป็นเมืองที่เลี้ยงนกนางแอ่นเหมือนกัน บ้านนกที่มองเห็นก่อสร้างแล้วไม่ทำให้เมืองไม่สวยอย่างที่เคยคิดเลยอ่ะ
บรรยากาศยามเช้าตรู่รอบๆโรงแรมซีเอสปัตตานีสดใส สงบ งาม
จัดการตัวเองและสัมภาระแล้วยังเห็นว่ามีเวลาเหลือ ก่อนลงไปกินข้าวเช้า น้องอุ้มก็ชวนฉันทบทวนเรื่องราวที่คุยกันเมื่อคืน คุยไปทบทวนไปก็ได้ประเด็นตั้งโจทย์ให้หาข้อมูลมาเพิ่มและเห็นทางแก้ในบางมุมเพิ่มขึ้นมาอีก จนรู้สึกหิวจึงชวนกันลงมาจากห้องพัก
ที่ช่วยกันทำงานอย่างนี้ เป็นเพราะเห็นว่าไม่ช่วยกันแล้วละก็ เพื่อน ๔ คนที่เพื่อนมอบหมายให้เป็นวิชาการกลุ่มจะงานหนักค่ะ
เมื่อพาตัวเข้าไปห้องอาหาร ปรากฏว่าเพื่อนในรุ่นส่วนใหญ่นั่งคุยนั่งกินกันอยู่แล้ว ทักทายสวัสดีตอนเช้า แล้วพาตัวไปสำรวจอาหารตกลงใจเลือกเมนูอาหารถิ่นมาลองชิม ชื่อที่เขาเรียกจำยากค่ะ
สดใสทั้งนอกตึก ในตึก และในใจคนที่มาเยือน กับ ข้าวมันราดแกงกะหรี่ปลาโรยมะพร้าวคั่ว อาหารเช้าอร่อยนี้ชื่อ นาซิดาแฆ
ระหว่างที่เดินเลือกอาหารเช้า พี่สืบ(สืบพงษ์ ม่วงชู) ก็เดินมาบอกด้วยสีหน้าแจ่มใสและตื่นเต้น “หมอๆ สบายแล้ว พี่วิชย์ (ดร.วิชย์ จีระแพทย์) บอกว่าจะให้หนังสืองานวิจัยเรื่องพหุวัฒนธรรมที่พี่เขาทำไว้” เช้านี้จึงมีเรื่องให้แปลกและดีใจเพิ่มขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่งอย่างนี้ค่ะ อิ่มท้องมื้อเช้ากันแล้ว ก็ตามอาจารย์ไปดูงานในห้องประชุมเดิมอีกครั้ง
ผู้รู้ในพื้นที่ที่มาแบ่งปันในวันนี้เป็นภาคประชาสังคมจากกลุ่มสื่อและนักวิชาการมหาวิทยาลัยในพื้นที่ มีครู นักหนังสือพิมพ์ ผู้นำศาสนาทั้งมุสลิมและพุทธมาร่วมกันแบ่งปันมุมมองให้ฟัง หัวข้อของการแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องเดิม “สถานการณ์และแนวทางการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยสันติวิธี” ค่ะ
เวที peacetalk กลุ่มประชาสังคมมุสลิม-พุทธที่ให้เวลามาแบ่งปันมุมมองของคนพื้นที่ ( ครู นักหนังสือพิมพ์ ผู้นำศาสนา นักวิชาการ)
เรื่องราวที่นำมาแบ่งปันในวันนี้ เป็นหลายเรื่องของมุมต่าง ทุกเรื่องเล่าเป็นข้อมูลจริงที่ออกมาจากบุคคลจริง สัมผัสที่รับรู้ฉายภาพให้เห็นสัจจธรรมของข่าวว่า ข่าวลือ-ข่าวจริงต่างก็เป็นข่าวจริงที่หลุดออกมาจากปากคนให้ข่าว จะเชื่อหรือไม่เชื่ออย่างไรอยู่ที่สติและภูมิรู้เดิมที่มีอยู่เองของตัวเรา
ภาพรวมที่รับรู้ยืนยันฉันว่าผู้คนในพื้นที่มิได้ปฏิเสธ หลักการ “เข้าใจ เขาถึง พัฒนา” มีคนคิดเรื่องการแบ่งแยกพื้นที่การปกครองจริง และไม่น่าจะใช่ในความหมายของการแบ่งแยกดินแดนที่ไม่เป็นผืนดินไทย ไม่เอาในหลวง อย่างที่นำไปพูดกัน หากแต่เป็นในแง่ขอปรับกติกาเล็กๆของการดูแลกันและกันในสังคมให้ลงตัวกับหลักศาสนาและยังสอดคล้องกับกฎหมายการปกครองของประเทศไทยอยู่ หลักการคิดมีแค่นี้เท่านั้นเอง
มีแนวคิดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่จริงในพื้นที่ ซึ่งฉันฟังว่าเจตนาการขอมีส่วนเลือกผู้นำเองนั้น มีรากมาจากคนที่ราชการเลือกมาให้ไม่เข้าใจหลักการครองวิถีแห่งชีวิตที่ประชาชนยึดเป็นหลัก ถ้าเลือกเองได้ก็สามารถเลือกคนที่รู้อยู่ว่าเข้าใจจึงอยากเลือกเอง ไม่ได้เป็นเรื่องเชื่อมโยงไปถึงการแบ่งเขตปกครองพิเศษใหญ่โตอย่างที่คิดกันไกลอย่างไรเลย
ความสนใจร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเข้มข้นหรือไม่ ดูจากในภาพได้ค่ะ
มีภาพหนึ่งที่สะกิดใจฉันหลังจากนั่งฟังวิทยากรบนเวทีแบ่งปัน สิ่งที่สะกิดใจนั้นก็คือ ในระหว่างผู้คนกลุ่มนี้มีช่องว่างของความสัมพันธ์ที่ยังห่างอยู่มากมาย ทั้งระหว่างคนพุทธและมุสลิม มุสลิมและมุสลิม แต่อย่างน้อยที่ถือว่าเป็นสัญญาณดีที่พวกเขายอมมาสนทนากันผ่านเวทีสาธารณะอย่างที่เห็น สัญญาณนี้บอกให้รู้ว่า คนทั้งกลุ่มยอมรับการใช้สันติวิธีแก้ปัญหาในพื้นที่ และนี่คือ peace talk รูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นได้
การถกแถลงในเวทีวันนี้มีคำพูดหนึ่งที่ชวนให้ค้นหาข้อมูลเชิงลึกเพิ่ม คำพูดนั้นคือคำถามจากชาวพุทธในพื้นที่ว่า “เหตุใดผู้นำท้องถิ่นซึ่งเป็นชาวมุสลิมถึง ๙๕% จึงไม่สามารถจัดการปัญหาในพื้นที่ให้สงบเรียบร้อยได้ ทั้งๆที่ทั้งหมดเป็นตัวแทนที่ชาวมุสลิมเลือกขึ้นมา”
อีกคำพูดหนึ่งที่ชวนค้นหาก่อนลงมือทำต่อไป คำพูดนั่นคือ “ถอนทหารให้เถิด หยุดใช้กฏหมายพิเศษเถิด” คำพูดนี้สะกิดใจฉันให้นึกไปถึงข้อมูลที่ได้เรียนรู้จาก DSW เรื่องการบาดเจ็บ สัดส่วนการบาดเจ็บเกิดในทหารมากกว่าตำรวจนี่นา นัยยะนี้มีความหมายที่กำลังสื่อถึงอะไรที่มีจุดอ่อนในกลุ่มทหารหรือเปล่า แต่อย่างน้อยมันก็บอกว่าประชาชนที่นี่ไม่ชอบทหารมากกว่าไม่ชอบตำรวจ น่าสนใจไม่เบา ถ้าค้นหาข้อมูลเชิงลึกได้ ฉันว่าความรุนแรงของการบาดเจ็บในกลุ่มทหารก็จะป้องกันได้ด้วยนา
มีคำพูดหนึ่งที่น่าสนใจ “หยุดพาเยาวชนออกไปอบรม/ทัศนศึกษานอกพื้นที่เถิด” ฉันว่ามีนัยยะบางอย่างที่บอกถึงความไม่ถูกใจอะไรบางอย่างกับการอบรมอยู่นะ เพียงแต่ในวันนี้ข้อมูลที่ฉันมีไม่พอที่จะสื่อถึงนัยยะนั้นได้
เพิ่งนึกได้เรื่องหนึ่งว่าลืมเล่า เรื่องของลุงเอกกับป้าแจ๋ค่ะ เมื่อวิทยากรขึ้นเวทีกันแล้ว บาบอคนหนึ่งก็ฉวยไมค์แล้วเอ่ยบอกว่า เขาชื่นชมป้าแจ๋มาก และอีกคนหนึ่งที่ไม่เคยเห็นหน้าแต่ก็ชื่นชมคือ พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ ลุงเอกค่ะ คำพูดที่ออกจากปากคนๆนี้ บ่งบอกว่าเขาไว้ใจและเชื่อใจทั้ง ๒ ท่านมากมาย ชื่นใจไปกับลุงเอกและป้าแจ๋ด้วยที่ได้หัวใจบาบอมาอยู่ใกล้ๆค่ะ
วันนี้ลุงเอกมีผู้ช่วยคุมเกมส์อยู่บนเวที การถกแถลงจึงสามารถควบคุมเวลาได้ดี สำหรับผู้ป้อนคำถามจากกลุ่มนักเรียนโข่ง ลุงเอกคุมเกมส์เองค่ะ แน่นอนว่ามีขาประจำหลายคนส่งคำถาม ถามพอหอมปากหอมคอแล้วกิจกรรมก็ยุติลง
ก่อนที่จะไปกินข้าวกัน ประธานรุ่นและพี่จุก(บุญศรี สุธรรมานุวัตน์) เจ้าแม่บิ๊กซีก็ชวนกันมอบของที่ระลึกให้วิทยากรที่ข้างๆเวที ของที่ระลึกที่มอบให้บาบอและครูเป็นฟุตบอลถุงใหญ่สำหรับเด็กๆได้ใช้เล่นกันค่ะ
ลุงเอกและอาจารย์สุนีย์นั่งคุมเกมส์อยู่ข้างล่าง ยุติเวทีแล้วก็ลุกไปสานเสวนากับทีมวิทยากร ก่อนประธานรุ่นมอบฟุตบอลให้ แล้วก็ไปกินข้าว
กินข้าวกันอิ่มแล้ว ทุกคนก็แยกย้ายกันจัดการแยกตัวเองไปกับสายดูงาน ๓ สาย จังหวัดละ ๑ สาย สายยะลา ปัตตานี พักต่อที่ซีเอสปัตตานี สายนราธิวาสขนสัมภาระติดตัวย้ายที่นอนไปที่นราธิวาส ๑ คืน แล้วกลับมา
ฉัน น้องอุ้ม ลุงเอก น้องปอ อยู่สายนาราธิวาสด้วยกันค่ะ
สรุปบทเรียนของเช้านี้ ฉันก็เห็นปัญหาเหมือนรุ่นพี่ ๔ส.๑ ว่าประชาชนตาดำๆเป็นเหยื่อ
มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือค่านิยมความรุนแรงผ่อนปรนลง ความรู้สึกอยากตอบโต้รัฐที่มีทางออกผ่านเวทีพูดคุยสันติภาพอย่างเช้าวันนี้ทำให้เกิดความมีส่วนร่วมในการหาทางออกให้เกิดความลงตัวต่อกัน ความเก็บกดลดลง มีการยอมรับความต่างเกิดขึ้นแม้จะมีความขัดแย้งในความคิด
ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐมีเพิ่มขึ้นแต่ยังเป็นการเชื่อใจเฉพาะคนที่ได้เห็นและรับรู้ว่าทำดีและทำต่อเนื่อง ความรู้สึกต่ออัตลักษณ์เป็นเรื่องสำคัญและละเอียดอ่อนยิ่งต่อการปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง
ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประชาชนกับประชาชนยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้มีข้อจำกัดในการสื่อสารทำความเข้าใจและเข้าถึงประชาชน อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาสังคม
ยังมีความรุนแรงบางแง่มุมที่ถูกหล่อเลี้ยงด้วยพฤติกรรมละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์จากเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มอยู่โดยไม่ได้สนใจปรับปรุงให้หดหายไป
ได้ข้อสังเกตว่าความจริงคนละชุดบอกอะไรบางอย่างได้เหมือนกันเมื่อนำมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกันและเหลียวมองให้หลายมุม ไม่มองด้วยสายตาหวาดระแวง
ความเป็นเอกภาพในการจับมือกันแก้ปัญหาในกลุ่มมุสลิมยังมีความคลุมเครืออยู่
ชัดเจนว่าคุณภาพชีวิตที่ต้องการนั้นเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่สามารถสนองอย่างง่ายๆได้ภายใต้กรอบของกฎหมายที่มีอยู่แล้วตามปกติ
๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓
« « Prev : พักผ่อนที่ซีเอสปัตตานี
ความคิดเห็นสำหรับ "ก่อนเดินทางต่อไป"